×
SCB Index Fund 2024
SCB Omnibus Fund 2024

ขวากหนามที่แหลมคมของ ‘ยีลด์’ ระดับต่างๆ

02.03.2021
  • LOADING...
ขวากหนามที่แหลมคมของ ‘ยีลด์’ ระดับต่างๆ

ในที่สุดตลาดการเงินก็ ‘ปรับฐาน’ อย่างที่เรากังวลกันจนได้

 

เหตุผลมีมากมาย เริ่มจากงบประมาณการคลังของสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น พร้อมกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ตลาดกังวลกับเงินเฟ้อ ต่อด้วยภาพการแจกจ่ายวัคซีนที่คืบหน้า ลดความเสี่ยงล็อกดาวน์ให้แทบหายไปหมด จนนักลงทุนเชื่อว่าธุรกิจกลุ่ม Reopening จะต้องฟื้นคืนชีพ เปลี่ยนกลุ่มผู้นำ (Rotation) ของตลาด 

 

เป็นครั้งที่สามนับตั้งแต่ปลายปี ที่การลงทุนกลุ่มมูลค่า (Value) ชนะกลุ่มเติบโตสูง (Growth) หุ้นเล็กพุ่งแซงหุ้นใหญ่ กลุ่มพลังงานทำผลตอบแทนฉีกกลุ่มสาธารณูปโภค และธนาคารที่พลิกขึ้นมาชนะเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว แต่ที่แตกต่างที่สุด คือ ‘ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี’ ซึ่งเป็นตัวแทนของสินทรัพย์ปลอดภัย ปรับตัวขึ้น (ราคาบอนด์ลดลง) อย่างรวดเร็ว จนทำให้การลงทุนกลุ่ม Hyper Growth ที่เคยโดดเด่น ถูกขายทำกำไรอย่างหนัก

 

ในอดีต การปรับตัวขึ้นของยีลด์ ถ้าเป็นผลมาจากเศรษฐกิจฟื้นตัวหรือนักลงทุนกลับมาถือสินทรัพย์เสี่ยง มักไม่ได้ทำให้ตลาดปรับฐานขนาดนี้ แต่ด้วยระดับ Valuation ที่สูงมากในปัจจุบัน บวกกับการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของหลายสินทรัพย์ในช่วงก่อนหน้า ต้องยอมรับว่าการพุ่งขึ้นของยีลด์เป็นเหมือนขวากหนาม (Spike) บนทางเดินที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม

 

ผมมองว่ามีตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับยีลด์ต้องจับตาอยู่หลายระดับ และบางจุด ‘แหลมคม’ พอที่จะเจาะฟองสบู่โลกการเงินให้แตกลงได้

 

2.0% คือกำแพงหนามชั้นแรกที่เราต้องเจอในไม่ช้า

 

แค่ขยับขึ้นด้วยความเร่งปัจจุบัน เราจะเจอบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ระดับ 2.0% ในเดือนมิถุนายนนี้แล้ว เลข 2 หน้าจุดทศนิยมนี้ไม่ได้ไกลตัว เราเคยเห็นในช่วงปลายปี 2020 ก่อนวิกฤตโควิด-19 

 

ถ้าไปถึงได้จริงมีความหมายสองอย่าง หนึ่ง อาจตีความได้ว่านักลงทุนกลับมารับความเสี่ยงได้ ‘เท่ากับ’ ช่วงปกติแล้ว หมายความว่า 2.0% นี้เกิดจากเงินลงทุนที่หลบความเสี่ยงกลับเข้าตลาด หรือสอง อาจมาจากความเชื่อว่าระดับราคาของสินค้าและบริการกลับมาอยู่ในระดับ ‘ปกติ’ หรือถ้าเทียบจากดัชนี Reopening ของ Goldman Sachs ที่ตอนนี้อยู่ที่ 4/10 น่าจะขึ้นไปที่ 10/10

 

อย่างไรก็ดี เรื่องความแหลมคมของระดับ 2.0% นั้นเมื่อมองจากอดีตถือว่าไม่ได้น่ากังวลมาก เทียบด้วย Earning Yield ของ S&P 500 ที่ 4.6% (P/E 22เท่า) ยังมีส่วนต่างอยู่ถึง 2.6% ไม่ถือว่าน้อยเกินไป ทิศทางของตลาดน่าพุ่งเป้าไปที่การย้ายจากกลุ่ม Technology และ Growth ไปที่ Value นำโดย Energy Service และ Finance ตามภาพ Reopening เป็นหลัก  

 

3.00% คือกำแพงหนามด่านที่สอง

 

เช่นเดียวกัน ด้วยความเร่งระดับนี้ ถ้าไม่มีอะไรขัดจังหวะเลย ตลาดมีโอกาสเห็น 3.0% ในช่วงปลายปี 2020 

 

เทียบความน่ากลัวแล้วถือว่ารุนแรงกว่า 2.0% มาก โดยในปี 2018 บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปีเคยขึ้นไปถึง 3.0% ไม่นานก็กดดันจนดัชนี MSCI World Index ปรับฐานลง 18% Fed จำเป็นต้องหยุดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% และกลับมาลดดอกเบี้ยในปีถัดมา เปราะบางที่สุด คือกลุ่ม Technology โดยในตอนนั้นดัชนี Nasdaq ปรับตัวลงถึง 23% และใช้เวลากว่า 5 เดือน จึงจะฟื้นตัวกลับมาที่เดิมได้

 

แต่การจะไปถึงจุดนั้นไม่ใช่เรื่องปกติ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาต้องมีแรงส่งจากนโยบายการเงินที่เข้มงวด หรือตลาดต้องมั่นใจกับการเติบโตของเศรษฐกิจมาก หรือต้องกังวลกับงบประมาณขาดดุลการคลังที่มหาศาลกว่าตอนนี้

 

นักลงทุนจึงยังมีเวลาปรับตัวรับแนวโน้มนี้ เมื่อเข้าสู่ช่วง 2.0% ไปถึง 3.0% ผมเชื่อว่าจะเห็นการขายกลุ่ม Cyclical Growth และกลับเข้าซื้อ Defensive Value ลดความพองของฟองสบู่ในตลาดการเงินนี้อย่างมีนัย

 

และสุดท้าย 250bps คือพื้นหนามสุดชันที่ตลาดไม่เคยทรงตัวอยู่

 

อีกหนึ่งตัวเลขที่ผมมองว่าสำคัญมาก คือความชันของ U.S. Treasury Curve ซึ่งตลาดใช้ส่วนต่างของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี กับ 2 ปี วัดความ Overheat 

 

ตัวเลข 250bps หรือ 2.5% นี้เกิดขึ้นได้ทั้งช่วง 2.0% ไปถึง 3.0% ถ้ายีลด์ระยะสั้นยังถูกกดไว้ที่ระดับต่ำ และที่ 3.0% หรือเกินกว่านั้น ถ้าบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 2 ปีขึ้นมาเท่ากับดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% 

 

ในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา ความชันระดับ 250bps เคยเกิดขึ้นมา 4 ครั้งคือ กันยายน 1992, 2003, 2009 และธันวาคม 2013 ซึ่ง 3/4 จบด้วย Financial Crisis หรือเข้าสู่ Bear Market กดดันตลาดให้ติดลบ 30-50% 

 

ครั้งนี้ด้วยระดับ Long-term P/E ของ S&P 500 ที่ 30 เท่า ถ้าให้ปรับลงไปอยู่ระดับค่าเฉลี่ย 20 เท่า ก็มีดาวน์ไซด์มากถึง 30% แต่คำถามคือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะปล่อยให้ Curve ชันไปถึงจุดนั้นหรือไม่ เพราะความชันจะทำให้ทุกจุดของเศรษฐกิจต้องกู้สั้นเพื่อลงทุนยาว เพิ่มความเสี่ยงเรื่องการ Over Leverage ในอนาคตไปอีก

 

ทั้งหมดคือตัวเลขของยีลด์แบบต่างๆ ที่ผมมองว่าเราต้องจับตาให้ดี แม้จะไม่มีใครบอกได้ว่าบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปีจะไปถึงจุดไหน แต่ผมเชื่อว่าเราเตรียมพร้อมรับมือได้

 

สำหรับนักลงทุนมีเป้าหมายเน้น Growth สามารถเพิ่มการลงทุนสาย Value เช่น Finance Materials และ Emerging Market เข้ามาในพอร์ต เพื่อรับแรงหนุนจากยีลด์ขาขึ้นระยะสั้น ขณะเดียวกัน ผมก็มองว่าเป็นจังหวะในการรอรับการลงทุนสไตล์ Innovation ที่ย่อลงแรงเพื่อลงทุนระยะยาว

 

ส่วนนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่เหมาะสมสม่ำเสมอ ต้องระวังการลงทุนในบอนด์สหรัฐฯ ให้มาก โดยผมยังเชื่อมั่นในการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Multi-Asset Portfolio) และย้ายการลงทุนมายังบอนด์ฝั่งเอเชียที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า

 

การปรับฐานน่ากลัวเสมอ แต่เมื่อมีความกลัวก็มีโอกาสซ่อนอยู่เช่นกัน 

 

และบางครั้ง ถ้าหนทางข้างหน้าเต็มไปด้วยขวากหนาม การวิ่งอ้อมแม้จะเสียเวลาบ้าง แต่อาจคุ้มกว่าชนกับความเสี่ยงตรงๆ ครับ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

 


 

โอกาสของเศรษฐกิจโลกอยู่ตรงไหน ไทยตกขบวนการฟื้นตัวหรือไม่? บิตคอยน์คือ สินทรัพย์ทางเลือก หรือฟองสบู่ที่รอวันแตก? เราควรปรับพอร์ตอย่างไรเพื่อเติบโตท่ามกลางความตกต่ำ

 

ร่วมกันค้นหาคำตอบใน THE STANDARD WEALTH FORUM: Catch the Next Curve

 

สิทธิพิเศษ! ลงทะเบียนรับรหัสจำนวนจำกัด เพื่อเข้าชมถ่ายทอดสดได้ที่ thestandard.co/events

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising