×

‘เยนันชอง’ ดินแดนที่สายน้ำอิรวดีแห้งเหือด กับศาสตร์แห่งพระราชาในต่างแดน

04.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins read
  • เยนันชองตั้งอยู่ในภาคมะกวย ตอนกลางของเมียนมา จัดอยู่ในเขตแห้งแล้ง เพราะฝนตกต่อปีไม่ถึง 10 วัน
  • ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นความยากจน คือ ต่ำกว่า 1.25 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อวัน
  • ชีวิตชาวเยนันชองแร้นแค้นเพราะขาดแคลน ‘น้ำ’ ความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต
  • ไม่ใช่จุดหมายท่องเที่ยวแบบเดิมๆ แต่เป็นการท่องโลกเชิงประสบการณ์ ไม่มีห้างหรูแอร์ฉ่ำให้เดินช้อปปิ้ง  มีแต่ถนนทรายฝุ่นฟุ้งที่วัว แพะ เกวียน เป็นเจ้าของเส้นทาง     
  • ‘ศาสตร์พระราชา’ และ ‘ตำราแม่ฟ้าหลวง’ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดย ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์’ แปรเปลี่ยนดินแดนแห่งนี้ให้ชุ่มชื้นด้วยความหวังอีกครั้ง

สองชั่วโมงแล้วที่ห้อตะบึงออกจากสนามบินมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ภาพนอกหน้าต่างมีเพียงพุ่มไม้เตี้ยขึ้นหรอมแหรมบนผืนทรายแห้ง เป็นความเรียบเรื่อยที่สวนทางกับสภาพผู้โดยสารในรถ ซึ่งต่างพยายามประคับประคองเครื่องในตนไม่ให้กระเทือนตามลีลานักขับเมียนมาที่ควบรถกันเต็มฝีเท้าทุกคนและทุกคัน คลอเคลียด้วยกลิ่นที่กำจายจากปากสีปูนของคนขับ ซึ่งเคี้ยวหมากหยับๆ ลอยระเรื่อแตะจมูกเป็นระยะ

 

อีกราวสองชั่วโมงกว่าๆ การเดินทางบนถนนที่ไม่มีแม้แต่เส้นทางจราจร ไม่มีไฟสัญญาณ หรือกระทั่งป้ายบอกทางใดๆ จะสิ้นสุดลง ณ อำเภอเล็กแห่งหนึ่งที่เจิดจ้าด้วยแสงแดดในทุกระดับการแผดเผา ‘เยนันชอง’ (Yenan Chaung) ที่นี่อาจไม่ใช่จุดหมายในการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ ที่คุ้นเคยกัน แต่คือการท่องโลกเชิงประสบการณ์ ที่ไม่มีห้างหรูแอร์ฉ่ำให้เดินช้อปปิ้ง มีแต่ถนนทรายฝุ่นฟุ้งที่วัว แพะ เกวียน เป็นเจ้าของเส้นทาง และนักเดินทางหลายคนยอมที่จะ ‘จ่าย’ เพื่อให้ได้มาพบกับชีวิตอีกโลกหนึ่ง ชีวิตที่ไม่เรียกร้องอะไรมากไปกว่าความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์

 


สภาพทั่วไปในหมู่บ้านของชาวเยนันชอง

 

อำเภอเยนันชองตั้งอยู่ในภาคมะกวย ตอนกลางของเมียนมา เป็นเขตแห้งแล้งที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะปีหนึ่งฝนตกไม่ถึง 10 วัน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นภาคมะกวยระบุว่า อำเภอนี้คือหนึ่งในพื้นที่แร้นแค้นและยากจนที่สุด ชาวบ้าน 29 หมู่บ้าน รวมแล้วกว่า 12,000 คน มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นความยากจน คือ ต่ำกว่า 1.25 เหรียญสหรัฐ หรือราว 37 บาทต่อคนต่อวัน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นผืนทรายทอดยาว บางตอนตะปุ่มตะป่ำเห็นเป็นเนิน ด้วยเพราะไม่มีต้นไม้ ทัศนียภาพที่ปรากฏต่อสายตาจึงเหมือนทะเลทรายกว้างที่มีลอนทรายเรียงเป็นคลื่นใหญ่เล็ก ทั้งเวิ้งว้างและร้อนระอุในคราวเดียว ดินทรายเก็บกักน้ำแทบไม่ได้ ฝนตกมาครั้งใดก็วับหายไปใต้ผืนทรายทันที การทำการเกษตรที่ต้องพึ่งพาน้ำจากฟ้าจึงทำได้เฉพาะพืชทนแล้งจำพวกถั่ว งา ฝ้าย และทานตะวัน

 

ภูมิประเทศสุดแห้งแล้งเก็บกักน้ำไม่ได้

 

คนที่นี่จึงเป็นหนี้กันแทบทุกบ้าน พวกเขาต้องกู้เงินมาซื้ออาหาร น้ำ ยารักษาโรค ไปจนถึงกู้เงินมาเป็นทุนซื้อเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูก ใครที่ไม่มีพื้นที่ทำกิน ก็ต้องรับจ้างเก็บถั่ว เก็บงา ทำงานกลางแดดจัดที่แผดเผาผิว เพื่อแลกกับค่าแรง 3,000 จ๊าด หรือราวๆ 90 บาทต่อวัน ซึ่งถือว่าดีกว่าหลายปีก่อนที่ได้เพียงวันละ 1,000 จ๊าด หรือราว 30 บาท ธรรมชาติบังคับให้ชีวิตคนที่นี่ ‘ต้อง’ ไม่เรื่องมาก ในทางตรงกันข้าม พวกเขาเป็นนักสู้ที่ทรหดอดทนจนน่านับถือ โดยเฉพาะเรื่อง ‘น้ำ’ เพราะเป็นสิ่งที่กินเวลาเป็นครึ่งวันกว่าจะได้มา

 

สาวๆ ชาวเยนันชองต้องไปตักน้ำด้วยกันที่แม่น้ำทราย

เพราะต้องช่วยกันยกหม้อดินขึ้นเทินหัว

 

‘แม่น้ำทราย’ เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของสาวๆ เยนันชอง ไม่ว่าจะอยากมาหรือไม่ก็ตาม ผืนทรายกว้างเหมือนชายหาดทอดยาวไม่สิ้นสุด เป็นแม่น้ำที่ไม่เคยมีน้ำขัง ทำหน้าที่เป็นเพียงทางผ่านของน้ำที่จะไหลมาตอนใด นาทีไหน ก็เป็นเรื่องที่ต้องคาดคะเนกันเอง เคราะห์หามยามร้าย ทั้งคนและสัตว์ที่กำลังสัญจรบนทางนั้นก็มีสิทธิ์ถูกกวาดเรียบไปพร้อมกับมวลน้ำที่ไหลมาอย่างรวดเร็ว ยามเช้าหรือบ่ายแก่เมื่อแดดราแสง สาวๆ จะแบกถังบ้าง หม้อบ้าง เดินไปที่แม่น้ำทราย เมื่อพบจุดเหมาะๆ เจ้าหล่อนทั้งหลายก็จะช่วยกันขุดหลุมลึกลงไปเรื่อยๆ บางครั้งลึกเท่าขนาดความสูงคนขุด จากนั้นก็รอให้น้ำค่อยๆ ซึมขึ้นมา ระหว่างนั้นก็ไม่มีอะไรดีไปกว่านั่งคุยกันจุ๊กๆ จิ๊กๆ รอให้น้ำเอ่อมากพอจนตักใส่ภาชนะที่เตรียมมาแล้วจึงเทินหัวกลับบ้าน

 

ชาวบ้านขุดหลุมในแม่น้ำทราย แล้วรอจนกว่าน้ำจะเอ่อขึ้นมาให้ตักได้

 

ในขณะที่เยนันชองแล้งน้ำในการหล่อเลี้ยงชีวิต ธรรมชาติกลับเล่นตลกด้วยการมอบน้ำมันให้แทน รัฐจึงให้สัมปทานจีนขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่นานถึง 20 ปี ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ต่อทรัพย์ในดินใดๆ ทั้งสิ้น ทำได้เพียงเป็นลูกจ้างรายวัน ซ่อมแซมถนนที่มุ่งตรงไปยังแท่นขุดเจาะ นั่นหมายความว่า แม้จะมีน้ำมันให้ขุดเจาะ แต่กระนั้นก็ไม่ได้ช่วยให้ปากท้องคนที่นี่อิ่มขึ้นมาได้

 

ยามเย็นที่ Lei Thar Gone

 

ท่ามกลางความพื้นบ้านจนติดจะดิบๆ เยนันชองกลับมีเกสต์เฮาส์แสนสงบและอบอุ่น ชื่อว่า ‘Lei Thar Gone’ มีความหมายว่า ‘สายลมอันอ่อนโยน’ ห้องพัก 15 ห้องปลูกสร้างด้วยหินลาวาแข็งแรง ตั้งอยู่บนผาสูง มองเห็นพื้นที่เกษตรกรรมด้านล่าง ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำอิรวดีอันแห้งขอด เคียงข้างด้วยส่วนที่ยังมีน้ำ มองเห็นเป็นเส้นยาวคดเคี้ยวทอดผ่านความแห้งแล้งของภูมิประเทศ ให้ความรู้สึกเหงา โดยเฉพาะเมื่อนั่งมองเงียบๆ จากระเบียงสูงของ Lei Thar Gone ในยามเช้า หรือในแสงสุดท้ายก่อนพระอาทิตย์ตก

 

อิรวดีที่ลากยาวผ่านความแห้งแล้ง

 

Lei Thar Gone มอบความสะดวกสบายด้วยห้องพักสะอาด ห้องน้ำในตัว อาหารเช้าอร่อย โดยเฉพาะขนมปังเนื้อนุ่มหนึบ กินกับแยมกล้วยบด รสดี ติดลิ้น แก่นักท่องเที่ยว

 

ต้นตาลเป็นพืชสารพัดประโยชน์สำหรับคนเยนันชอง

 

‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์’ ที่ดำเนินงานพัฒนาอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา’ และ ‘ตำราแม่ฟ้าหลวง’ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ฝังตัวทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง นำศาสตร์ที่แก้ปัญหาระดับพื้นฐานที่สุด คือ ความหิวโหย มาช่วยให้ชาวบ้านคลายความทุกข์ร้อน

แต่สำหรับชาวบ้านในละแวกนี้ ที่นี่คือครอบครัวใจดี ซึ่งมีหัวหน้าครอบครัวชื่อ เอริก ทรัตไวน์ (Eric Trutwein) อดีตวิศวกรชาวเมียนมา ผู้กลับมาบ้านเกิดหลังเกษียณและพบว่าผู้คนที่นี่จนยิ่งกว่าจน ความขมขื่นผลักดันให้เขาเริ่มต้นอุปการะเด็กกำพร้าในพื้นที่ และค่อยๆ พัฒนาจนกลายเป็นโรงเรียน Light of Love Private High School ในปัจจุบัน กำไรที่ได้จากเกสต์เฮาส์ เอริกนำมาใช้ในการบริหารโรงเรียน นักเรียนที่นี่เรียนฟรี อาหารฟรี มีเครื่องแบบสะอาดสะอ้านให้ใส่ ความรู้ที่เด็กๆ ได้คือการสร้างโอกาสให้พวกเขามีอนาคตที่ดีขึ้น ส่วนนักท่องโลกที่เป็นแขกของ Lei Thar Gone นอกจากจะได้เที่ยวเชิงประสบการณ์แล้ว เงินที่ใช้จ่ายออกไปส่วนหนึ่งก็คืนกลับไปเป็นทุนด้านการศึกษาของเด็กๆ ในพื้นที่นั่นเอง

 

แพะเป็นสินทรัพย์ที่ทำให้คนเยนันชองลืมตาอ้าปากได้

 

วัวเทียมเกวียน พาหนะหลักของคนเยนันชอง

 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เยนันชองหลับและตื่นบนความยากลำบากที่ดูคล้ายไม่มีจุดจบ แม้รัฐบาลเมียนมาเองก็ส่งเสริมให้ NGO เข้ามาช่วยพัฒนา ตั้งแต่เมื่อครั้งประสบภัยจากไซโคลนนาร์กิสเมื่อปี 2551 ก็มีหลายองค์กรเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ บ้างก็ ‘ให้’ ไปจนถึง ‘ทำให้’ แต่มีหน่วยงานหนึ่งจากเมืองไทยก้าวเข้ามาเมื่อ 6 ปีก่อน และทำในสิ่งที่ต่างออกไป ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์’ ที่ดำเนินงานพัฒนาอย่างยั่งยืนตาม ‘ศาสตร์พระราชา’ และ ‘ตำราแม่ฟ้าหลวง’ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ฝังตัวทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง นำศาสตร์ที่แก้ปัญหาระดับพื้นฐานที่สุด คือ ความหิวโหย มาช่วยให้ชาวบ้านคลายความทุกข์ร้อน พาชาวบ้านลงมือแก้ปัญหาต่างๆ ไปด้วยกัน มีการจัดตั้ง ‘ธนาคารแพะ’ เพื่อให้โอกาสคนจนที่สุดได้มีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง ปัจจุบันแพะในพื้นที่เพิ่มจำนวนขึ้นนับหมื่นตัว รายได้จากการขายช่วยให้พวกเขาใช้หนี้หมด มีเงินส่งลูกเรียน ไปจนถึงสร้างบ้านใหม่ และบทเรียนทั้งหมดไม่มีเรื่องการแบมือขอและการให้เปล่าอยู่ในแนวปฏิบัติ

 

รายได้จากแพะมอบชีวิตใหม่ให้ชาวบ้าน

 

ถั่ว เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของเยนันชอง

 

ทุกวันนี้คุณภาพชีวิตของคนเยนันชองในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ดีขึ้น พวกเขามีอ่างเก็บน้ำที่สร้างด้วยมือตัวเอง ถ้าชำรุดก็รู้ว่าจะซ่อมอย่างไร ผลผลิตทางการเกษตร เช่น ถั่วและงา ถูกนำมาแปรรูปเป็นขนมหวานเพื่อจำหน่าย เช่น ถั่วตัด งาตัด ของว่างที่เข้าคู่กับน้ำชายามบ่ายได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญพวกเขาเริ่มมีเงินออม เริ่มมีความหวังและความฝันที่อยากจะไปให้ถึง และท้ายที่สุดชาวบ้านเข้าใจแล้วว่า คนที่จะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นอย่างยั่งยืนไม่ใช่ใครที่ไหน หากเป็นตัวพวกเขาเอง

 

ชีวิตที่เริ่มมีทางเลือกและรอยยิ้มที่เริ่มผลิบาน คือดอกผลของศาสตร์การพัฒนาที่สำเร็จได้จริง ไม่ว่าจะปรับใช้ในพื้นที่ใด ไม่ว่าจะในแผ่นดินไทยหรือบนผืนดินอื่น ที่อาจไม่มีใครรู้จักพระราชาผู้ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อพสกนิกร และพระราชมารดาของพระองค์ที่ทรงเชื่อมั่นในศักยภาพของคนเสมอ


รอยยิ้มที่ผลิบานจาก ‘ศาสตร์พระราชา’ และ ‘ตำราแม่ฟ้าหลวง’

 

หัวใจคนเยนันชองไม่ได้หล่นหายไปในความแร้นแค้น ภาพในหมู่บ้านท่ามกลางฝุ่นทรายยังคงเต็มไปด้วยชีวิตชีวา เด็กๆ ยังวิ่งเล่น หัวเราะสดใส คุณลุง คุณป้า ยังมีเวลานั่งมวนบุหรี่ยักษ์จากเปลือกข้าวโพดสูบอย่างสำราญอารมณ์ เวลาสูบต้องเอากระโถนเล็กๆ รองขี้เถ้าไว้ด้วย ไม่ให้ปลิวไปโดนอะไรจนติดไฟลุก เพราะที่นี่อะไรๆ ก็ติดไฟง่าย พอตกบ่ายก็นั่งยองๆ ล้อมวงคุยกันหน้าบ้านใครสักคนหนึ่ง จิบชาและแบ่งขนมที่ทำจาก แป้ง ถั่ว รสหวานแสบคอกินกัน


ความไม่ประดิษฐ์ของเยนันชองคือเสน่ห์ที่นักเดินทางหลงใหล

 

ความสดใสไม่เคยจางหาย แม้ชีวิตจะแร้นแค้นเพียงใด

 

มีเวลาทุกข์ มีเวลาสุข ตรงไปตรงมา เป็นชีวิตธรรมดาที่ครบถ้วนด้วยคุณค่าและความหมาย หลายวันที่เยนันชองทำให้เราย้อนกลับมามองตัวเอง บางทีชีวิตที่ผ่านมาเราก็อาจมีมากจนเกินพอ บ่อยครั้งเราอยากได้สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องมี และละเลยคุณค่าของสิ่งที่เราขาดไม่ได้ แต่เยนันชอง…ดินแดนที่สายน้ำอิรวดี เส้นเลือดใหญ่ของเมียนมายังมีวันแห้งเหือด ได้ฉุดให้เราตื่นขึ้น และเห็นโลกตรงหน้าชัดเจนลึกซึ้งยิ่งกว่าครั้งใดๆ ที่ผ่านมา

 

Photo: ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์’

FYI

Getting There

  • มีหลายสายการบินให้บริการ กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-มัณฑะเลย์-กรุงเทพฯ ทุกวันหลายเที่ยวบินต่อสัปดาห์ เช็กตารางบินได้ที่ Nokair, Airasia, Bangkok Airways, Thai Airways
  • มีรถประจำทางให้บริการจากเมืองใหญ่ เช่น ย่างกุ้ง, มัณฑะเลย์, พุกาม สู่เยนันชอง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมงครึ่ง     
  • การเดินทางจากสนามบินมัณฑะเลย์และพุกาม ติดต่อบริการรับ-ส่ง โดย Lei Thar Gone ได้
  • หากต้องการเช่ารถพร้อมคนขับ สอบถามบริการจาก Lei Thar Gone ได้เช่นกัน

 

Where to Stay

Lei Thar Gone ที่พักที่เต็มไปด้วยเรื่องราว เว็บไซต์ www.leithargone-guesthouse.com

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising