×

4 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมียวดี! ด้านมืดของสงครามและผลประโยชน์ริมฝั่งแม่น้ำเมย

01.05.2024
  • LOADING...

“เมื่อวิกฤตการณ์ (สงคราม) ที่เกิดขึ้นกลายเป็นความร้ายแรงอย่างเฉียบพลัน ฝ่ายที่ต้องการให้สงครามดำเนินต่อไปหรือฝ่ายที่ต้องการให้สงครามยุติลง ต่างก็ใช้ความรุนแรงต่อสู้กันเอง 

 

แต่ ‘สายเหยี่ยว’ มักจะเป็นฝ่ายได้เปรียบในวิถีของการเป็นผู้ใช้กำลัง เพราะพวกเขาเป็นผู้ควบคุมกองทัพมากกว่า ‘สายพิราบ’ หรือพวกเขาสามารถเปิดการโจมตีครั้งใหม่ต่อฝ่ายข้าศึกได้ในช่วงเวลาที่มีความเปราะบาง เช่น เมื่อการเจรจากำลังจะเริ่มขึ้น หรือการเจรจากำลังจะจบลงอย่างสมบูรณ์ 

 

ส่วนสายพิราบนั้นมักมีแต่มือเปล่า และมีเวลาน้อยที่จะหยุดยั้งการใช้กำลังในทางที่ผิด โดยเฉพาะการใช้กำลังที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายข้าศึก หากแต่เป็นการใช้เพื่อต้องการทำลายกระบวนการสันติภาพนั้นๆ เอง”

 

Fred Charles Iklé

Every War Must End (1971)

 

สงครามกลางเมืองเมียนมายังคงดำเนินต่อไปและยังมองไม่เห็นจุดจบของสงคราม แม้แต่เดิมจะมีความคาดหวังเป็นอย่างมากว่า สภาวะ ‘เมียวดีแตก’ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความพลิกผันของสงคราม เพราะการสูญเสียเมืองหลักที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์บนฝั่งแม่น้ำเมยนั้น อาจเป็นแรงผลักดันให้ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมายอมที่จะแสวงหาลู่ทางสำหรับการสร้าง ‘สันติภาพเมียนมา’ ได้บ้าง หรืออาจจะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิด ‘ภูมิทัศน์การเมืองใหม่’ ริมชายฝั่งแม่น้ำเมย

 

แต่แล้วความคาดหวังดังกล่าวดูจะ ‘ดับมอด’ ลงอย่างรวดเร็ว จนอาจต้องยอมรับว่า ความหวังของ ‘ขบวนประชาธิปไตยกะเหรี่ยง’ และกลุ่มประชาธิปไตยต่างๆ ที่เข้าร่วมต่อสู้ใน ‘ศึกเมียวดี’ นั้นกำลังเผชิญกับโจทย์ที่มีความยุ่งยากและท้าทายอย่างไม่คาดคิด เพราะความพลิกผันของศึกที่เมียวดีกำลังสะท้อนให้เห็นถึง ‘ตัวละครใหม่’ ในฐานะของการเป็นตัวแสดงที่สำคัญในปัญหานี้ อีกทั้งยังส่งผลอย่างสำคัญที่ทำให้ภูมิทัศน์ของลุ่มแม่น้ำเมยตกอยู่ใน ‘สถานะเดิม’ (Status Quo)

 

สภาวะเช่นนี้ทำให้เราอาจต้องประเมินใหม่ว่า ในบริบทของสงครามที่เมียวดีมีผู้ที่เกี่ยวข้องหรือ ‘ตัวแสดง’ (Actors) ที่สำคัญถึง 4 ฝ่าย คือ

 

  1. รัฐบาลทหาร (The State Administration Council: SAC) และ/หรือ กองทัพฝ่ายรัฐบาล
  2. รัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งวันนี้มีสถานะเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น (The National Unity Government: NUG) ที่มีกองกำลังติดอาวุธของตนเอง (The People’s Defense Forces: PDF)
  3. กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ (EAOs) ซึ่งในพื้นที่ด้านเมียวดีเป็นกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งก็อาจมีจุดยืนทางการเมืองและความสัมพันธ์กับรัฐบาลกลางที่แตกต่างกันไป แต่พวกเขาก็รวมกันอย่างหลวมๆ ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์สงครามปัจจุบัน ได้แก่ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (The Karen National Liberation Army: KNLA) และกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (The Karen National Army: KNA ซึ่งแต่เดิมคือกองกำลังป้องกันชายแดนในสังกัดกองทัพเมียนมา (The Border Guard Force: BGF)
  4. กลุ่มทุนสีเทา ซึ่งโดยพื้นฐานจะเป็น ‘กลุ่มจีนเทา’ แต่ว่าที่จริงแล้วในพื้นที่เช่นนี้ก็ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มจีนเทาเท่านั้น หากยังมีกลุ่มเทาอื่นๆ ที่แสวงหาผลประโยชน์จากกิจกรรมและธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย

 

ตัวแสดงทั้งหลายนี้ทำให้สงครามกลางเมืองเมียนมาใน ‘ยุทธภูมิเมียวดี’ ย่อมมีความซับซ้อนในตัวเองอย่างมาก และยังมีนัยที่ส่งผลต่อปัญหาความมั่นคงของไทยอย่างน่ากังวลอีกด้วย ดังนั้นบทความนี้จะนำเสนอ ‘ด้านมืด’ ของสงครามเมียวดี ที่อาจต้องนำมาพิจารณาควบคู่กับปัญหาการสร้างสันติภาพเมียนมาในอนาคต กล่าวคือ สันติภาพบนริมฝั่งแม่น้ำเมยจะเป็นสิ่งที่แยกไม่ได้กับการขยายอิทธิพลของ ‘กลุ่มสีเทา’ ที่มีลักษณะเป็น ‘องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ’ (Transnational Crime Organization) อันส่งผลโดยตรงให้ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวกะเหรี่ยงต้องเผชิญกับปัญหาที่ยุ่งยากในอีกแบบ

 

แฟ้มภาพ: Bumble Dee / Shutterstock

 

จุดพลิกผันที่เมียวดี

 

เราอาจจะเริ่มต้นด้วยสถานการณ์การสู้รบที่เมียวดีในช่วงสงกรานต์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวถูกมองว่าเป็น ‘จุดพลิกผัน’ ของสงครามกลางเมืองเมียนมา เพราะการเปลี่ยนอำนาจการควบคุมเมียวดีจากรัฐบาลกลางเป็นกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เป็นการสูญเสียเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดการประเมินว่า การสูญเสียเมียวดีอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘การถดถอยทางยุทธศาสตร์’ (Strategic Retreat) ของกองทัพรัฐบาลอย่างชัดเจน นับตั้งแต่การเปิด ‘ยุทธการ 1027’ ที่เกิดในเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา 

 

อีกทั้งการสูญเสียเช่นนี้ยังเป็นภาพในเชิงสัญลักษณ์สำคัญของการพ่ายแพ้ของกองทัพเมียนมา ดังจะเห็นถึงความพ่ายแพ้ทางทหารที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายจุดของประเทศ จนแทบจะกลายเป็นภาพของ ‘โดมิโนเมียนมา’ (Myanmar Domino) ที่เห็นการล้มตามกันของฐานที่มั่นฝ่ายรัฐบาลตามเมืองต่างๆ เช่น ในช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเข้าต้นเดือนเมษายน ค่ายของกองพันทหารราบที่ 355, 356 และ 357 ถูกตีแตก อันเป็นสัญญาณของการเตรียมการเข้าตีค่ายของกองพัน 275 ที่เมียวดี 

 

ดังนั้นในวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา กองกำลังผสม 2 ส่วน คือ KNLA และ PDF ได้เปิดการโจมตีค่ายทหารรัฐบาลที่บ้านผาซอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพันทหารราบที่ 275 และอยู่ใกล้ชิดกับตัวเมืองเมียวดี กองกำลังผสมสามารถยึดค่ายได้ และทหารรัฐบาลราว 200 นายหนีไปอยู่ที่ใต้สะพานมิตรภาพ 2 ด้านฝั่งเมียวดี

 

การแตกของค่ายทหารในระดับกองพันจำนวน 4 กองพันในระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ดูจะเป็นสัญญาณด้านลบในทางยุทธศาสตร์ทหารอย่างชัดเจน

 

ต่อมาในวันสงกรานต์ 13 เมษายนนั้น ข่าวต่างๆ ที่นำเสนอมีทิศทางที่ไม่แตกต่างกันมากนักว่า เมืองเมียวดีกำลังตกอยู่ในการควบคุมของกองกำลังติดอาวุธของชาวกะเหรี่ยง และภาพที่สื่อสารออกสู่เวทีสากลในวันที่ 14 เมษายน จึงมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์อย่างมากคือ การชักธงกะเหรี่ยงเหนือค่ายทหารของรัฐบาลกลางที่เมียวดี พร้อมกับปลดธงเมียนมาลงจากเสาธงของค่าย (ค่ายของกองพัน 275 กองทัพเมียนมา)

 

สัญลักษณ์เช่นนี้ในทางการเมืองคือ การบ่งบอกถึงการเปลี่ยนอำนาจรัฐในพื้นที่ พร้อมกันนี้ยังตามมาด้วยข้อมูลของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังดำเนินการผลักดันให้กองทัพของรัฐบาลกลางออกไปจากพื้นที่ตลอดแนวลำน้ำสาละวิน ซึ่งถ้าเป็นจริงแล้ว ย่อมมีนัยถึงการก่อตัวของ ‘ภูมิทัศน์ใหม่’ ของพื้นที่แถบนี้อย่างแน่นอน ซึ่งดูจะเป็นความฝันของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างมากที่ต้องการเห็นภาวะ ‘ปลอดทหารเมียนมา’ เพราะกองทัพรัฐบาลเคยใช้กำลังในการรังแกกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างยาวนาน 

 

แต่คำถามที่ตามมาทันที 2 ประการหลังวันที่ 14 เมษายน ที่มีการชักธงกะเหรี่ยงที่เมียวดี ได้แก่

 

  1. กองทัพเมียนมาจะเปิดสงครามใหญ่เพื่อชิงเมืองเมียวดีคืนหรือไม่ 
  2. การรุกกลับเพื่อยึดเมียวดีคืนจะดำเนินการอย่างไร

 

สาเหตุที่ต้องตั้งถามคำถาม 2 ประการนี้ เป็นเพราะทุกฝ่ายทราบดีว่ากองทัพของรัฐบาลกลางนั้นอยู่ในสภาวะที่น่าจะตกเป็นฝ่ายรับในสนามรบ เนื่องจากกำลังรบฝ่ายรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำในหลายพื้นที่การต่อสู้ และหน่วยทหารในหลายจุดตัดสินใจยอมแพ้ต่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาล อีกทั้งยังเกิดปัญหาทหารหนีทัพเป็นจำนวนมาก และหน่วยในระดับต่างๆ ประสบกับการขาดแคลนกำลังพลหรือไม่สามารถบรรจุกำลังพลตามอัตราได้จริง จนทำให้ต้องประกาศกฎหมายเกณฑ์ทหารฉบับใหม่ เพื่อนำเอาพลเรือนเข้ามาสู่กองทัพ แต่ก็นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง และทำให้เกิดการหนีการเกณฑ์ทหารอย่างมากเข้าสู่ประเทศไทยเช่นกัน

 

แต่ในทางกลับกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้นำทหารเมียนมายังคงมุ่งมั่นในการทำสงครามไม่เปลี่ยนแปลง พวกเขาเชื่อว่ากองทัพยังรบต่อไปได้ และกองทัพของฝ่ายรัฐเองยังคงมีกำลังพลและอาวุธเหลือมากพอที่จะรบต่อไปได้ด้วย จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่รบต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายรัฐบาลยังคงความได้เปรียบของการใช้กำลังทางอากาศ เช่น การทิ้งระเบิดต่อเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งฝ่ายต่อต้านไม่มีศักยภาพในการตอบโต้กับการทำสงครามทางอากาศของฝ่ายรัฐบาลได้เลย เพราะไม่มีอาวุธต่อสู้อากาศยาน เนื่องจากกองกำลังของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนั้นมีเพียง ‘อาวุธเบาและอาวุธเล็ก’ ที่ใช้ในสงครามก่อความไม่สงบ (Insurgency Warfare) เป็นหลัก แม้จะมีความก้าวหน้าในบางด้าน เช่น การทำ ‘สงครามโดรน’ (Drone Warfare) แต่ก็ไม่มีอาวุธหนักอื่นๆ ในการรับมือการโจมตีของกองทัพรัฐบาล

 

แฟ้มภาพ: Atid Kiattisaksiri / LightRocket via Getty Images

 

จุดพลิกกลับ

 

ดังนั้นหลังวันที่ 14 เมษายน จึงมีรายงานข่าวถึงความพยายามที่จะเปิดการรุกกลับด้วยการใช้กำลังรบทางบก และตามมาด้วยรายงานที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเตรียมการระเบิดสะพาน ตลอดจนการซุ่มโจมตี รวมถึงความพยายามที่จะเหนี่ยวรั้งการเคลื่อนกำลังของฝ่ายรัฐบาล แต่ในอีกด้านหลายฝ่ายมีความกังวลเป็นอย่างมากว่า กองทัพฝ่ายรัฐบาลอาจจะเปิดการโจมตีทางอากาศต่อเมียวดี ซึ่งถ้าหากเป็นจริงแล้ว ย่อมจะสร้างความเสียหายอย่างมากแน่นอน 

 

ในเวลาต่อมา กองกำลังผสมยื่นคำขาดให้ทหารรัฐบาลที่สะพานมิตรภาพยอมแพ้ แต่ได้รับการปฏิเสธ จึงเริ่มเปิดการโจมตีเป้าหมายดังกล่าว กองทัพรัฐบาลตอบโต้ด้วยการเปิดการโจมตีทางอากาศกับพื้นที่ใกล้เคียงกับเมืองเมียวดี ส่งผลให้เกิดผู้อพยพหนีภัยสงครามจำนวนมากข้ามแดนมายังประเทศไทย และหลายฝ่ายดูจะคาดคะเนไม่แตกต่างกันว่า สงครามชิงเมียวดีจะเป็น ‘ศึกใหญ่’ ที่อาจมีส่วนต่อการชี้ถึงทิศทางของอนาคตสงครามกลางเมืองเมียนมา

 

แต่แล้วสงครามกลับหักมุมอย่างคาดไม่ถึง ในวันที่ 23 เมษายน ไม่เพียงการรบใหญ่ใน ‘ศึกชิงเมียวดี’ จะไม่เกิดขึ้นเท่านั้น หากแต่กำลังของฝ่ายกะเหรี่ยงบางส่วนที่เคยทำงานร่วมกับกองทัพรัฐบาลมาก่อนคือ ‘กองกำลัง BGF’ และเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลดังที่กล่าวในข้างต้น กลับเป็นหน่วยที่พาทหารรัฐบาลที่ถูกปิดล้อมที่สะพานมิตรภาพ 2 กลับไปประจำการในที่ตั้งเดิมของกองพัน 275 พร้อมทั้งปลดธงชาติกะเหรี่ยงลงจากเสา และชักธงเมียนมาของฝ่ายรัฐบาลขึ้นสู่เสาแทน 

 

การกระทำเช่นนี้เป็นการ ‘หักมุมสงคราม’ ในแบบที่คาดไม่ถึง เพราะสงครามที่เมียวดีขึ้นถึงจุดสูงสุดที่สำคัญคือ การเข้าควบคุมเมียวดีของกองกำลังกะเหรี่ยงและการชักธงชาติกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นสัญญาณของชัยชนะที่ชัดเจนของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในวันนั้น แต่กลับเกิดอาการพลิกในวันต่อมา และพลิกแบบทันทีในวันที่ 23 อีกทั้งไม่ใช่การพลิกกลับที่เกิดจากเงื่อนไขทางการทหาร แต่เป็นผลจากเงื่อนไขการเมืองที่แขวนไว้ด้วยอนาคตของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งชเวโก๊กโก่ (Shwe Kokko) และเค. เค. พาร์ก (K. K. Park) ที่อาจตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางอากาศ

 

ถ้าการชักธงกะเหรี่ยงเหนือเมืองเมียวดีเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองเช่นไร การชักธงเมียนมากลับขึ้นสู่เสาอีกครั้งก็เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองเช่นนั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ คำตอบว่า ‘สงครามพลิกกลับ’ ในอีกแบบแล้ว อันจะทำให้เกิดคำถามโดยตรงต่อ ‘เอกภาพกะเหรี่ยง’ ว่าจะดำรงอยู่ต่อไปอย่างไร และผู้นำกะเหรี่ยงอีกสายยืนยันว่า กองกำลังกะเหรี่ยง KNLA ไม่เกี่ยวข้องในการเจรจาระหว่าง BGF กับ SAC แต่อย่างใด 

 

คำถามที่ตามมาอย่างสำคัญคือ ใครคือ ‘ผู้เจรจา’ ที่ทำให้เมืองเมียวดีกลับสู่ ‘สถานะเดิม’ (Status Quo) เสมือนเป็นการหยุดยั้งสงครามที่กำลังคืบเข้าสู่พื้นที่ของเมียวดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้จะยังมีการรบและการทิ้งระเบิดในพื้นที่รอบนอกของเมียวดีอยู่ก็ตาม ดังจะเห็นได้ว่าเมืองเมียวดีและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ตกอยู่ในภาวะสงครามเช่นพื้นที่รอบนอกแต่อย่างใด

 

หรือว่าการพาเมียวดีกลับสู่สถานะเดิมเช่นนี้คือ การประนีประนอมผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ใหญ่ที่สุดที่เรากำลังเห็นในสงคราม เนื่องจากเมืองเมียวดีนอกจากจะมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์แล้ว เมืองยังมีความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เมืองเป็น ‘แหล่งทุนสีเทา’ ที่ใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งในระดับโลกที่เกี่ยวข้องทั้งกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การพนัน อาชญากรรมออนไลน์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊งหลอกลวงทางโทรศัพท์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กล่าวคือ ‘องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติจากจีน’ ได้ใช้พื้นที่ของเมียวดีเป็นฐานในการดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมายในหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งยังมีการหลอกลวงคนจากหลายชาติเข้าไปทำงาน แต่ไม่สามารถกลับออกมาได้ ประกอบกับในปัจจุบันพวกเขาได้ย้ายฐานจากทางด้านกัมพูชามาตั้งหลักที่เมียวดีฝั่งตรงข้ามแม่สอด

 

ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงที่เกิดการสู้รบในพื้นที่ทางด้านเมียวดีนั้น สถานที่ที่เป็นแหล่งอาชญากรรมดังกล่าวไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากภัยสงครามแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ เค. เค. พาร์ก หรือชเวโก๊กโก่ก็ตาม ซึ่งสำหรับ ‘กลุ่มสีเทา’ แล้ว สถานะเดิมของเมียวดีเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการประกอบกิจกรรมของพวกเขา เพราะสถานที่ดังกล่าวคือ แหล่งผลประโยชน์และแหล่งเงินมหาศาล ซึ่งมีผู้รับประโยชน์ที่เกี่ยวข้องอยู่ในภาคส่วนต่างๆ จนอาจต้องยอมรับว่า กลุ่มสีเทาไม่ได้มีแต่กรณีของกลุ่มอาชญากรรมจีนเท่านั้น 

 

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดคำถามสำคัญกับผู้นำกลุ่ม BGF ซึ่งก่อนหน้านี้แปรพักตร์จากกองทัพรัฐบาลมาร่วมกับฝ่ายต่อต้าน และเป็นกำลังหลักส่วนหนึ่งในการยึดเมียวดีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่แล้วเขากำลังแปรพักตร์กลับไปหารัฐบาลทหารหรือไม่ในการพากำลังพลกลับเข้าที่ตั้ง 

 

เอกภาพของกองกำลังกะเหรี่ยงตั้งอยู่บนความเปราะบางอย่างยิ่ง!

 

แฟ้มภาพ: Somrerk Witthayanant / Shutterstock

 

กลุ่มผลประโยชน์ในสงคราม

 

ในความเป็นจริงแล้วเราอาจต้องยอมรับว่า กลุ่มเทานี้มี 4 ส่วนที่สำคัญ คือ ‘จีนเทา เมียนมาเทา ไทยเทา และกะเหรี่ยงเทา’ ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มนี้มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้สงครามที่เมียวดีไม่อาจเดินหน้าต่อได้ 

 

ถ้าถามว่าใครคือผู้ชนะศึกเมียวดีแล้ว คำตอบที่ตรงไปตรงมาคือ ‘ชัยชนะของ 4 เทา’ ที่หากินและแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม แต่สงครามจะต้องไม่กระทบกับผลประโยชน์ของพวกเขา และพวกเขายังสามารถที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางของสงครามได้อีกด้วย 

 

ในภาวะเช่นนี้อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า กิจกรรมของกลุ่มสีเทาดังกล่าวที่มีอิทธิพลโดยตรงในการควบคุมเมืองเมียวดีนั้น ไม่มีนัยเชิงบวกกับต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในสงครามกลางเมืองเมียนมาแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่ในบริบทของสงครามเมียวดีนั้นกลุ่มนี้กลับมีสถานะ เป็นตัวแสดงสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย เพราะพวกเขาคือ ‘ผู้ควบคุมทิศสงคราม’ อย่างแท้จริง 

 

ทั้งยังต้องยอมรับความจริงที่น่าหดหู่อีกประการว่า อิทธิพลและเครือข่ายของกลุ่มนี้อาจจะใหญ่มากกว่าที่เราคิด เพราะนอกจากจีนเทาแล้ว มีผู้รับผลประโยชน์อยู่ในโครงข่ายอำนาจทั้งในส่วนของสังคมไทย เมียนมา และกลุ่มกะเหรี่ยงเองบางส่วน ซึ่งต้องเรียกว่า ‘กลุ่ม 4 เทา’ หรือบางทีอาจจะต้องเรียกอีกแบบว่า ‘4 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมียวดี’

 

ดังนั้นความเป็นจริงที่เจ็บปวดในสงครามเมียวดีก็คือ ขบวนการสีเทาเช่นนี้กำลังทำลายภาพลักษณ์ของขบวนประชาธิปไตยกะเหรี่ยงเป็นอย่างมาก เพราะคนในขบวนดังกล่าวสละชีวิตเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลทหารและเรียกร้องประชาธิปไตย พวกเขาไม่ได้สละชีพเพื่อปกป้องแหล่งทุนเทาในพื้นที่ของตน 

 

ปัญหาเช่นนี้ในอีกด้านหนึ่งทำให้เกิดการทับซ้อนระหว่างสงครามกับอาชญากรรมข้ามชาติ และไม่ชัดเจนว่ารัฐใดจะเข้ามาเป็นผู้แก้ไข แน่นอนว่าสภาวะเช่นนี้ทำให้สงครามกลางเมืองเมียนมามีความซับซ้อนในตัวเองอย่างยิ่ง เพราะสงครามกลางเมืองอาจจะจบลงได้ แต่กิจกรรมสีเทาบนริมฝั่งแม่น้ำเมยอาจจะไม่จบตามไปด้วยแต่อย่างใด 

 

โจทย์สันติภาพเมียนมาด้านชายแดนไทยจึงมีความท้าทายจาก ‘ทุนเทา’ เป็นปัญหาสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายในตัวเอง เพราะการขยายอิทธิพลและการแบ่งปันผลประโยชน์ของกลุ่มสีเทาดังกล่าว แต่คงต้องยอมรับในบริบทความมั่นคงของไทยว่า ปัญหานี้เป็นความท้าทายอย่างสำคัญต่อรัฐไทยในอีกทางหนึ่งด้วย เพราะอาชญากรรมข้ามชาติที่เกิดจากด้านเมืองเมียวดี ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอดนั้น มีผลกระทบอย่างมากกับประชาชนไทยและสังคมไทย จนต้องถือว่ามีสถานะเป็น ‘ภัยคุกคามเฉพาะหน้า’ (Immediate Threat) ที่สังคมไทยกำลังเผชิญในยุคปัจจุบัน!

 

แฟ้มภาพ: Andy.LIU / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising