×

กูรูห่วงสหรัฐฯ เกิด Stagflation กดดันไทยต้องขึ้นดอกเบี้ยแรง ฉุดการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

30.06.2022
  • LOADING...
Stagflation

กูรูเตือนความเสี่ยงสหรัฐฯ เกิด Stagflation ทำไทยต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยตาม Fed กดดันการฟื้นตัว เปรียบไทยเหมือนชาวนาที่รอฝน หลังส่งออกและท่องเที่ยวต้องรอลุ้นเศรษฐกิจโลก

 

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในรายการ WEALTH IN DEPTH ของ THE STANDARD WEALTH ว่ากุญแจสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 2-3 ปีจากนี้จะอยู่ที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเชื่อว่าหากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือ Recession เศรษฐกิจไทยก็จะยังรับมือได้

 

“ปัจจุบัน ธปท. ประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 6 ล้านคนในปีนี้ และ 19 ล้านคนในปีหน้า แต่ผมคิดว่ามีโอกาสที่ตัวเลขจะสูงกว่านี้ได้” ดอนกล่าว

 

ดอนระบุว่า ประเด็นทางเศรษฐกิจที่โดยส่วนตัวมองว่าน่ากังวลว่าภาวะ Recession คือสถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่แม้ว่าในปัจจุบันหลายฝ่ายยังเชื่อว่าจะทยอยปรับลดลงตามการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แต่ในกรณีที่เงินเฟ้อเกิดไม่ลดลงมาจนเกิดเป็นภาวะ Stagflation แล้ว Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อทำให้ดอกเบี้ยแท้จริงเป็นบวก เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า

 

“ตอนนี้หลายคนคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยไทยจะขึ้นไปอยู่ที่ 2-2.5% ในช่วงปลายปีหน้า แต่ถ้า Fed ขึ้นดอกเบี้ยไม่หยุดดอกเบี้ยไทยอาจขึ้นไปเป็น 3, 4, 5, 6% ซึ่งเราจะยิ่งแย่ แม้ว่าโอกาสที่เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นยังมีน้อย และส่วนตัวคิดว่าคงไม่เกิด แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยงเลย เพราะโลกไม่ได้เผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อมา 40 ปีแล้ว” ดอนกล่าว

 

ดอนกล่าวอีกว่า จุดเปราะบางของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ภาคธุรกิจ SMEs และครัวเรือนที่มีรายได้น้อยซึ่งมีความอ่อนไหวต่อเงินเฟ้อและมีหนี้สูง ดังนั้นหากต้นทุนการกู้ยืมถูกปรับขึ้นมากกลุ่มเปราะบางนี้จะยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากเทียบพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในเวลานี้กับในช่วงวิกฤตปี 2540 จะพบว่าเศรษฐกิจไทยในเชิงมหภาคมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก

 

“ปัจจุบันเรามีทุนสำรองมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ สูงว่าเงินกู้ยืมระยะสั้นค่อนข้างมาก สัดส่วนหนี้ต่างประเทศก็อยู่ที่ 38% เทียบกับ 62% ในปี 2539 D/E Ratio (หนี้สินต่อทุน) ของบริษัทเอกชนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7 เทียบกับในอดีตที่เคยสูงถึง 2-3 เท่า สถาบันการเงินก็ทำหน้าที่ได้ดี เห็นได้จากสินเชื่อที่ยังเติบโตได้ 6% ในช่วงวิกฤตโควิด พื้นฐานที่แข็งแกร่งเหล่านี้ถือเป็นจุดแข็งของไทย” ดอนกล่าว

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะฟื้นตัวได้ต่ำกว่าคาด เนื่องจาก 2 ใน 3 เครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ การส่งออกและการท่องเที่ยว ผูกติดอยู่กับปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุมอย่างภาวะเศรษฐกิจโลก

 

“ถ้ามองออกไปที่เศรษฐกิจโลกในตอนนี้จะเห็นว่ายังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จีนยังไม่เปิดประเทศ ยังมีเรื่องโควิด ยุโรปก็มีสงครามเศรษฐกิจไม่ดี ขณะที่สหรัฐฯ ก็เริ่มพูดถึงภาวะถดถอย ทำให้ไทยเราอยู่ในสภาพเหมือนกับชาวนาที่รอฝน” พิพัฒน์กล่าว

 

พิพัฒน์ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมขณะนี้ยังอยู่ในโหมดค่อยๆ ฟื้นตัวหลังจากจมน้ำในวิกฤตโควิดมา 2 ปี โดยการฟื้นตัวมีความไม่เท่าเทียมกัน แม้จะมีหลายกลุ่มที่โผล่พ้นน้ำมาได้แล้วแต่ก็ยังมีหลายกลุ่มที่ยังจมน้ำอยู่ เช่น ภาคบริการธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้ยังไม่พร้อมจะรับมือกับต้นทุนการเงินที่กำลังจะเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทย

 

“การขึ้นดอกเบี้ยของไทยคงไม่ถึงขั้นนำไปสู่วิกฤต แต่จะทำให้คนที่ยังอยู่ใต้น้ำยิ่งฟื้นช้าไปอีก เพราะกลุ่มนี้จะถูกกระทบทั้งจากเงินเฟ้อและดอกเบี้ย” พิพัฒน์กล่าว

 

พิพัฒน์ยังเตือนด้วยว่า ในระยะยาวเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยที่น่ากังวลอีก 3 เรื่อง ได้แก่

1. การเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งหมายถึงจำนวนแรงงานที่ลดลงทำให้นักลงทุนต้องคิดมากขึ้นหากจะเข้ามาลงทุน

2. การสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบันที่ยังไม่แน่ใจว่าเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ จะเลือกมาที่ไทยหรือไม่

3. ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหากไทยไม่สามารถดึงคนออกจากภาวะยากจนได้มากขึ้นปัญหาก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising