วันอาทิตย์นี้ (20 พฤศจิกายน) ศึกฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว!
ถึงฟุตบอลโลกครั้งนี้อาจจะดูเงียบๆ กว่าที่ผ่านมามากพอสมควรด้วยเหตุผลหลายหลาก แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นฟุตบอลโลก มหกรรมลูกหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติที่ผู้คนทั่วโลกต่างเฝ้าจับตารอกัน ไม่ว่าอย่างไรเราก็ไม่ควรจะพลาดกันอยู่ดี
สิ่งที่จะได้อ่านต่อจากนี้คือ ‘ไกด์บุ๊ก’ หรือสมุดคู่มือประจำการแข่งขันในฉบับของ THE STANDARD ที่จะรวบรวมเอาเรื่องราวและรายละเอียดต่างๆ ที่เราคิดว่าควรรู้ไว้
- เกาะติดการแข่งขัน ‘บอลโลก 2022’ รายงานสดการแข่งขัน โปรแกรม พร้อมกับเรื่องราวที่น่าสนใจในศึกฟุตบอลโลก ที่ thestandard.co/worldcup2022
- อัปเดตโปรแกรมการแข่งขันและช่องทางถ่ายทอดสดได้ที่ โปรแกรมบอลโลก 2022
ฟุตบอลโลกคืออะไร? ทำไมต้องแข่งกันด้วย?
เรื่องมันยาวนะวิ! ถ้าจะรอให้เฮียวิทย์มาเล่าใน 8 Minute History ก็จะนานไป (แต่รอติดตามนะ เดี๋ยวเฮียแกจะเอาเรื่องฟุตบอลโลกมาเล่าเป็นซีรีส์จริงๆ!) เอาเป็นว่าเล่าสั้นๆ ว่าฟุตบอลโลกคือรายการฟุตบอลที่เริ่มแข่งขันกันมาในปี 1930 โดยฟุตบอลโลกครั้งแรกมีการเชิญชาติต่างๆ ให้เดินทางมาแข่งขันกันที่ประเทศอุรุกวัย แต่ก็มีชาติที่ตอบรับเข้าร่วมแค่ 13 ชาติเท่านั้น
แต่หลังจากที่การแข่งครั้งนั้นประสบความสำเร็จ ฟุตบอลโลกก็ได้รับกระแสตอบรับจากชาติต่างๆ ที่อยากจะลงแข่งขันชิงชัยกัน (โดยที่เกมฟุตบอลได้เผยแพร่และได้รับความนิยมไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว) ซึ่งจะมีการแข่งขันกันทุก 4 ปี
ในยุคอดีตที่วันเวลาและการรอคอยมีความหมาย ฟุตบอลโลกจึงเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เฉพาะแค่นักฟุตบอลทีมชาติ แต่รวมถึงแฟนบอลเองก็เฝ้ารอเช่นกัน และนั่นทำให้การแข่งขันยังดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน (เว้นไปในช่วงมหาสงครามโลกครั้งที่ 2)
ความนิยมของฟุตบอลโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาทั้งการแข่งขัน และการจัดการแข่งขันมาตลอดเวลา แต่หัวใจของฟุตบอลโลกไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ คือ ‘ช่วงเวลาที่คนทั้งโลกจะได้หยุดทุกอย่างแล้วมานั่งดูบอลไปด้วยกัน’
เพราะฟุตบอลเป็นเกมของทุกคน และมันเป็นเกมที่งดงาม
แล้วฟุตบอลโลกครั้งนี้แข่งที่ไหน? แข่งวันไหนถึงวันไหน?
ฟุตบอลโลกครั้งนี้ซึ่งเป็นฟุตบอลโลกครั้งที่ 22 จะแข่งกันที่ประเทศกาตาร์ โดยจะเริ่มวันที่ 20 พฤศจิกายน ไปจนจบนัดชิงชนะเลิศวันที่ 18 ธันวาคมนี้
เวลาในการแข่งขันนั้นจริงๆ ถือว่าดีมากสำหรับชาวไทย เพราะคู่แรกจะเริ่มเวลา 17.00 น. ในรอบแรก ไปจนถึงคู่สุดท้ายในเวลา 02.00 น.
ที่ต้องแข่งที่ประเทศกาตาร์ก็เพราะกาตาร์เป็นผู้ชนะในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน ซึ่งจะมีการเลือกเรื่อยๆ โดยคณะกรรมการของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) แม้ว่าชัยชนะของกาตาร์จะนำมาซึ่งข้อกังขามากมาย โดยเฉพาะเรื่องของการ ‘กินสินบาทคาดสินบน’ ให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่คณะกรรมการชาติต่างๆ ที่จะลงคะแนนเสียงให้
แต่เรื่องนี้ทางเจ้าภาพก็ยืนยันว่าพวกเขาไม่รู้เรื่อง ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้องตามกระบวนการ
หากจะมองในแง่ดีคือนี่จะเป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลโลกจัดการแข่งขันกันที่ตะวันออกกลาง ภูมิภาคที่ไม่เคยมีโอกาสเลยสักครั้ง เพราะภูมิประเทศที่แห้งแล้งและสภาพอากาศที่โหดร้าย
ฟุตบอลโลกมันก็ควรจะเกิดขึ้นทั้งโลก
แล้วทำไมต้องมาแข่งกันในช่วงฤดูหนาวด้วย?
ปกติแล้วฟุตบอลโลกจะแข่งกันในช่วงกลางปีราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลา ‘กลางๆ’ ที่สุดสำหรับภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ หรืออเมริกาใต้ ซึ่งต่อให้เผชิญกับสภาพอากาศที่โหดร้ายขนาดไหนก็ยังพอแข่งกันไหว (แต่ตอนแข่งที่สหรัฐอเมริกาในปี 1994 ก็เดือดกันอยู่)
แต่สำหรับสภาพอากาศร้อนระอุแบบทะเลทรายที่อุณหภูมิอาจจะทะลุไปถึง 50 องศาเซลเซียสในช่วงกลางปีของกาตาร์ มันเกินกว่าที่จะทนไหว ต่อให้เจ้าภาพจะติดตั้งเครื่องปรับอากาศไว้ในสนามก็ตาม
เพื่อสวัสดิภาพของนักกีฬาจึงมีการหารือกัน และสุดท้าย FIFA ตัดสินใจที่จะแหกธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยมีด้วยการขอขยับมาแข่งกันช่วงปลายปี
ฟุตบอลโลกครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่เรียกได้ว่า ‘Winter World Cup’ หรือ ‘ฟุตบอลโลกฤดูหนาว’
แต่คำว่าฤดูหนาวของกาตาร์อุณหภูมิก็ไม่ได้เย็นอะไร แค่ 17-30 องศาเซลเซียสเท่านั้น
เมื่อกี้บอกว่ามีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในสนามด้วย?
ใช่! อย่างที่บอกว่าแผนเดิมคือจัดแข่งช่วงกลางปีตามปกติ ซึ่งเพื่อจะให้แข่งขันกันได้ ภายในสนามทั้งหมดจะต้องเป็นสนามที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ
ปัญหาคือไม่มีใครการันตีได้ว่าระบบปรับอากาศแบบไหนจะสามารถทำให้สนามกลางทะเลทรายเย็นพอจะแข่งขันได้ และไม่รู้จะเย็นเพียงพอไหม ไม่นับในแง่ของการรักษาสิ่งแวดล้อมที่จะมีคำถามแน่นอน เพราะการเปิดแอร์ในสนามความจุหลายหมื่นคนหมายถึงการใช้พลังงานอย่างมหาศาล
เพียงแต่เมื่อมีการปรับมาแข่งช่วงปลายปี ฟุตบอลโลกครั้งนี้ก็มีการประกาศว่าเป็น ‘ฟุตบอลโลกครั้งแรกที่เป็นกลางทางคาร์บอน’
มีอะไรล้ำๆ อีกในฟุตบอลโลกครั้งนี้?
นอกจากสนามฟุตบอลติดแอร์แล้ว ฟุตบอลโลกครั้งนี้ยังมีสนามที่ทำมาจากตู้คอนเทนเนอร์ด้วย!
สนาม ‘สเตเดียม 974’ (Stadium 974) เป็นสนามฟุตบอลที่สร้างขึ้นโดยแนวคิดรักษ์โลก ด้วยการนำตู้คอนเทนเนอร์ (กาตาร์อยู่ติดทะเล) จำนวน 974 ตู้ ซึ่งมีความหมายถึงรหัสโทรศัพท์ของประเทศกาตาร์ (+974) มาประกอบร่างเข้ากับโครงสร้างจนกลายเป็นสนามฟุตบอล ซึ่งสามารถยกเอาคอนเทนเนอร์ออกและนำสนามไปประกอบร่างที่อื่นได้ด้วย
นอกเหนือจากนี้ก็คือระบบช่วยตัดสิน ‘Semi-Automated Offside Technology’ หรือ SAOT หรือจะเรียกแบบไทยๆ ก็ ‘ระบบช่วยตัดสินล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ’
ระบบนี้จะมีกล้องติดตั้งเหนือสนาม 12 ตัว ที่จะจับตำแหน่งของนักฟุตบอลและลูกฟุตบอล ซึ่งมีเซ็นเซอร์อัจฉริยะอยู่ข้างใน ทำให้ประมวลผลออกมาเป็นภาพ 3 มิติ ให้ผู้ช่วยผู้ตัดสินสามารถตัดสินว่าล้ำหน้าหรือไม่ได้ง่ายขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
-
ระบบ ‘จับล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ’ ที่จะใช้ในฟุตบอลโลก 2022 ทำงานอย่างไร?
- “ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์คือความผิดพลาด” คำสารภาพจากอดีตประธาน FIFA (และเบื้องหลังอันฉาวโฉ่)
สนามแข่งขันทั้งหมดมีกี่แห่ง?
สนามแข่งขันทั้งหมดในฟุตบอลโลกครั้งนี้มีทั้งสิ้น 8 แห่งด้วยกัน โดยเป็นสนามฟุตบอลที่ถูกสร้างขึ้นใหม่รอบๆ กรุงโดฮาถึง 7 แห่ง
สำหรับสนามที่ใหญ่ที่สุดที่จะใช้ในเกมนัดชิงชนะเลิศคือสนามลูเซล (Lusail Stadium) ที่มีความจุ 80,000 ที่นั่ง
บอกนิดหนึ่งว่างบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างสนาม (และทุกสิ่งทุกอย่าง) เจ้าภาพกาตาร์ใช้เงินไป 2.29 แสนล้านดอลลาร์! มากกว่างบประมาณประเทศไทยทั้งปีอีก! ซึ่งต้องบอกว่าเจ้าภาพคาดหวังว่าจะมีแฟนบอลเดินทางมากาตาร์จำนวน 1.5 ล้านคน แต่จะคุ้มค่าหรือไม่ ไม่แน่ใจจริงๆ
อ่านต่อ: รู้จัก 8 สนามของศึกฟุตบอลโลก 2022
ทีมที่เข้าร่วมแข่งขัน
ฟุตบอลโลกครั้งนี้มีทีมที่เข้าร่วมแข่งทั้งหมด 32 ทีมจาก 5 ทวีปทั่วโลก ได้แก่
ทวีปเอเชีย (AFC) 6 ทีม:
- ออสเตรเลีย, อิหร่าน, ญี่ปุ่น, กาตาร์ (เจ้าภาพ), ซาอุดีอาระเบีย, เกาหลีใต้
ทวีปแอฟริกา (CAF) 5 ทีม:
- แคเมอรูน, กานา, โมร็อกโก, เซเนกัล, ตูนิเซีย
ทวีปอเมริกาเหนือ (CONCACAF) 4 ทีม:
- แคนาดา, คอสตาริกา, เม็กซิโก, สหรัฐอเมริกา
ทวีปอเมริกาใต้ (CONMEBOL) 4 ทีม:
- อาร์เจนตินา, บราซิล, เอกวาดอร์, อุรุกวัย
ทวีปยุโรป (UEFA) 13 ทีม:
- เบลเยียม, โครเอเชีย, เดนมาร์ก, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, โปแลนด์, โปรตุเกส, เซอร์เบีย, สเปน, สวิตเซอร์แลนด์, เวลส์
*โอเชียเนียไม่ผ่านการคัดเลือก
โดยทั้ง 32 ทีมได้มีการแบ่งกลุ่มกันเรียบร้อย ดังนี้
กลุ่ม A
กลุ่ม B
กลุ่ม C
กลุ่ม D
กลุ่ม E
กลุ่ม F
กลุ่ม G
กลุ่ม H
แล้วใครคือเต็งแชมป์
ตามการจัดอันดับของ The Analyst โดยสำนักวิเคราะห์สถิติฟุตบอล Opta ที่ใช้เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์คำนวณแล้วทีมที่เป็นเต็งได้แก่
- บราซิล 16.3%
- อาร์เจนตินา 13.1%
- ฝรั่งเศส 12%
- สเปน 8.9%
- อังกฤษ 8.8%
- เยอรมนี 7.7%
- เนเธอร์แลนด์ 6.8%
- เบลเยียม 5.8%
- โปรตุเกส 5.4%
- เดนมาร์ก 3.2%
สิ่งที่น่าสนุกของฟุตบอลโลกครั้งนี้คือการที่ไม่ได้มีตัวเก็งเต็งจ๋าแบบชัดเจน และแต่ละทีมก็มีเวลาเตรียมตัวกันน้อย ไม่ได้เต็มที่เหมือนฟุตบอลโลกทุกครั้ง ดังนั้นโอกาสน่าจะเปิดกว้างมากที่สุด
อ่านต่อ: เปิดโผ 10 ทีมเต็ง คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2022
นักเตะคนไหนที่น่าจับตามองบ้าง?
เยอะมาก! แต่ให้แนะนำตัวท็อปจริงๆ ก็น่าจะประกอบไปด้วย
ลิโอเนล เมสซี (อาร์เจนตินา)
ราชาลูกหนังโลกที่ยังไม่เคยได้สวมมงกุฎ ฟุตบอลโลกครั้งนี้คือครั้งสุดท้ายสำหรับเมสซี และดูเหมือนเขาจะมีทีมชาติอาร์เจนตินาที่พร้อมหนุนหลังสักที
คริสเตียโน โรนัลโด (โปรตุเกส)
อีกหนึ่ง G.O.A.T. ที่พยายามจะคว้าแชมป์โลกให้ได้กับทีมชาติโปรตุเกส ซึ่งองค์ประกอบในทีมแข็งแกร่งไม่เบา ปัญหาคือฟอร์มการเล่นที่ตกต่ำในปีนี้กับปัญหาในสโมสรที่อาจลามมาถึงทีมชาติได้
คาริม เบนเซมา (ฝรั่งเศส)
นักฟุตบอลเจ้าของรางวัลลูกฟุตบอลทองคำ ‘บัลลงดอร์’ คนล่าสุด ในวัย 34 ปี เบนเซมากลายเป็นนักเตะที่บรรลุศาสตร์ลูกหนังไปแล้ว สามารถดลบันดาลอะไรก็ได้ในสนาม และจะเป็นคนสำคัญของฝรั่งเศสในการลุ้นป้องกันแชมป์โลกแน่นอน
เนย์มาร์ (บราซิล)
เจ้าชายลูกหนังแห่งบราซิล เป็นอีกคนที่หวังจะได้แชมป์ฟุตบอลโลกเช่นกัน ซึ่งเนย์มาร์บอกว่าไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสได้เล่นฟุตบอลโลกอีกหรือเปล่า ดังนั้นฟุตบอลโลกครั้งนี้ใส่เต็มแน่นอน
เควิน เดอ บรอยน์ (เบลเยียม)
กองกลางที่ดีที่สุดในโลกเวลานี้ ทีมชาติเบลเยียมอาจจะโรยรา แต่เดอ บรอยน์ กำลังอยู่ใน ‘ร่างทอง’ สามารถเสกอะไรก็ได้ในสนาม แค่ดูลูกจ่ายก็เพลินแล้ว
อ่านต่อ: 10 ซูเปอร์สตาร์ที่อย่าได้คลาดสายตา ในฟุตบอลโลก 2022
ตัวนี้คือตัวอะไร?
นี่ไม่ใช่ผีน้อยแคสเปอร์ แต่เป็น ‘ลาอีบ’ (La’eeb) ตัวนำโชคประจำการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้
คำว่า ลาอีบ หมายถึง ‘นักเตะผู้มีทักษะการเล่นอันสูงส่ง’ โดยลาอีบอาศัยอยู่ในโลก Mascot-verse (มีมาสคอตอยู่ในนั้นเต็มไปหมด) เป็นเด็กที่สดใส นำความสุขและความมั่นใจไปยังทุกที่ที่ไป
ส่วนแรงบันดาลใจมาจากผ้า ‘กูตรา’ (Ghutra) หรือ ‘เคฟฟิเยห์’ (Keffiyeh) ผ้าคลุมศีรษะของชายชาวอาหรับ
อนึ่ง การใช้มาสคอตเริ่มครั้งแรกในปี 1966 โดยมี Willie เป็นมาสคอตประจำการแข่งขันฟุตบอลโลกตัวแรก
เพลงประจำการแข่งขัน
ธรรมเนียมของฟุตบอลโลกอีกอย่างหนึ่งคือเพลงประจำการแข่งขัน ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 1962 ในฟุตบอลโลกที่ประเทศชิลี กับเพลง ‘El Rock del Mundial’
เพลงประจำฟุตบอลโลกที่อยู่ในใจผู้คนยังมี To Be Number One (1990), La Copa de la Vida (1998), Waka Waka (2010)
ส่วนเพลงประจำการแข่งขันปีนี้คือเพลง Hayya Hayya (Better Together) โดย Trinidad Cardona, Davido, Aisha โดยคำว่า Hayya แปลว่า ‘มา’ ในภาษาอารบิก
เอาล่ะ เล่ามาทั้งหมดนี้คนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลกไหม?
ล่าสุดยืนยันในวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายนแล้วว่า คนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลกทางฟรีทีวีครบทุกคู่แน่นอน (ฮูเร่!)
(อัปเดตโปรแกรมการแข่งขันและช่องทางถ่ายทอดสดได้ที่ โปรแกรมบอลโลก 2022)
เราสัญญาว่าจะกลับมาอัปเดตต่อถึงช่องทางการรับชม เมื่อมีการประกาศอย่างเป็นทางการนะ!
-
เกาะติดการแข่งขัน ‘บอลโลก 2022’ รายงานสดการแข่งขัน โปรแกรม พร้อมกับเรื่องราวที่น่าสนใจในศึกฟุตบอลโลก
-
อัปเดตโปรแกรมการแข่งขันและช่องทางถ่ายทอดสดบอลโลก 2022