×

ระบบ ‘จับล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ’ ที่จะใช้ในฟุตบอลโลก 2022 ทำงานอย่างไร?

02.07.2022
  • LOADING...
Semi-Automated Offside Technology

แค่ไม่นานหลังจากที่มีการส่งสัญญาณว่ากำลังมีการพิจารณาเรื่องการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการตัดสินลูกล้ำหน้า (Offside) ซึ่งเป็นหนึ่งในการตัดสินที่มีความละเอียดอ่อนที่สุดและเป็นประเด็นปัญหามาโดยตลอด

 

ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ‘FIFA’ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะมีนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตัดสินจริง โดยเทคโนโลยีที่จะช่วยอัปเกรดจาก Video Assistant Referee หรือ VAR ที่เริ่มใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2018 และกลายเป็นมาตรฐานของเกมฟุตบอลระดับสูงนั้นมีชื่อว่า ‘Semi-Automated Offside Technology’ หรือจะเรียกสั้นๆ ก็ได้ว่า ‘SAOT’

 


 

 


 

ระบบ SAOT นี้ไม่ได้เป็นระบบการตัดสินแบบอัตโนมัติ แต่เป็นระบบการช่วยตัดสินแบบกึ่งอัตโนมัติเพื่อช่วยเหลือผู้ตัดสินและผู้ช่วยผู้ตัดสินทั้งในสนามและในห้อง VAR ที่จะเป็นผู้ตัดสินขั้นสุดท้ายว่าตกลงแล้วเกิดการล้ำหน้าขึ้นหรือไม่

 

SAOT เป็นระบบที่ FIFA ได้พัฒนาร่วมกับ ‘Adidas’ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันในเรื่องของลูกฟุตบอลที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก และพันธมิตรอีกหลายแห่งโดยเฉพาะ Working Group for Innovation Excellence and Technology Provider จนสามารถอัปเกรด VAR ไปอีกขั้นได้

 

สำหรับหลักการทำงานของระบบช่วยตัดสินล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัตินี้จะทำงานดังนี้

 

  • ใช้กล้อง 12 ตัวที่จะติดตั้งอยู่ใต้หลังคาสนามเพื่อติดตามลูกฟุตบอล 
  • กล้องทั้งหมดจะช่วยให้จับตำแหน่งข้อมูลของผู้เล่นแต่ละคนได้ถึง 29 จุด จำนวน 50 ครั้งต่อวินาที โดยคำนวณจากตำแหน่งที่นักฟุตบอลอยู่ในสนาม 
  • ตำแหน่งทั้ง 29 จุดที่ถูกจับจะรวมแขนขาและทุกจุดที่จะเกี่ยวกับการการตัดสินว่าล้ำหน้าหรือไม่ 
  • นอกเหนือจากกล้อง 12 ตัวแล้ว อีกองค์ประกอบสำคัญคือลูกฟุตบอล โดยลูกฟุตบอลรุ่นใหม่ล่าสุด ‘Al Rihla’ ลูกฟุตบอลที่จะใช้อย่างเป็นทางการในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์จะมีการเติมเซ็นเซอร์แบบ ‘Inertial Measurement Unite’ (IMU) เข้าไปด้านในแกนกลางของลูกฟุตบอล 
  • เซ็นเซอร์ IMU จะตรวจจับเหตุการณ์การล้ำหน้าที่ก้ำกึ่งโดยจะส่งข้อมูลกลับไปยังห้องปฏิบัติการ 500 ครั้งต่อวินาที ทำให้สามารถตรวจจับตำแหน่งการเตะลูกฟุตบอล (การเปิดบอลก่อนล้ำหน้า) ได้อย่างแม่นยำ 
  • ด้วยข้อมูลทั้งภาพจากกล้องและข้อมูลจากลูกฟุตบอลจะถูกนำไปสู่การประมวลผลโดยระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกนำมาใช้สำหรับการเตือนการล้ำหน้าแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะส่งข้อมูลให้แก่ทีม VAR ที่อยู่ในห้องปฏิบัติการก่อนตั้งแต่จังหวะที่ผู้เล่นตัวรุกในตำแหน่งล้ำหน้าได้รับบอล
  • จากนั้นทีมงานผู้ช่วยตัดสินวิดีโอจะทำการตรวจสอบด้วยตัวเองด้วยการเลือกช็อตจุดที่บอลถูกเตะ (kick point – หรือบอลถูกปล่อยออกจากเท้า) เมื่อเลือกช็อตแล้วระบบจะทำการสร้างเส้นการล้ำหน้าโดยอัตโนมัติซึ่งจะคำนวณจากแขนหรือขาหรือส่วนที่ยื่นออกมา 
  • กระบวนการทั้งหมดจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 2-3 วินาที ซึ่งจะทำให้การตัดสินล้ำหน้านั้นเร็วขึ้นและมีความแม่นยำขึ้น
  • เมื่อผู้ตัดสินวิดีโอยืนยันการตัดสินแล้วก็จะมีการแจ้งไปยังผู้ตัดสินที่อยู่ในสนาม จุดที่มีการนำข้อมูลมาตัดสินจะถูกแปลงเป็นภาพ 3D แอนิเมชันที่จะมองเห็นตำแหน่งการล้ำหน้าของผู้เล่นในจังหวะที่มีการเล่นได้อย่างชัดเจน 
  • เพื่อความโปร่งใส ภาพ 3D จะแสดงบนหน้าจอขนาดยักษ์ในสนาม และส่งให้แก่พันธมิตรในการถ่ายทอดสดของ FIFA เพื่อชี้แจงให้แก่ผู้ชมได้อย่างชัดเจนโปร่งใส

 

สำหรับระบบ SAOT ได้เริ่มนำมาใช้ในรายการของ FIFA เอง ไม่ว่าจะเป็น FIFA อาหรับคัพ 2021 และ FIFA คลับเวิลด์คัพ 2021 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยระบบนี้จะช่วยให้ผู้ตัดสินสามารถตัดสินล้ำหน้าได้อย่างถูกต้องแม่นยำในระยะเวลาอันสั้น

 

ในช่วงของการทดสอบนั้นข้อมูลทั้งออนไลน์และออฟไลน์ได้ถูกวิเคราะห์และรับรองผลโดยทีม MIT Sports Lab และ TRACK ในเรื่องของเทคโนโลยีการตรวจจับ ขณะที่ทีม ETH Zurich ได้ร่วมพัฒนาในเรื่องของระบบกล้องแบบติดตามตัว

 

ด้วยระบบนี้ FIFA คาดหวังว่าจะทำให้การตัดสินลูกล้ำหน้าในจังหวะสำคัญที่เคยต้องใช้ VAR มาลากเส้นกันและเกิดความกังขาในเรื่องของความชัดเจนนั้นหมดไป และจะช่วยร่นระยะเวลาการตัดสินลูกล้ำหน้าลงได้อีกมาก

 

เพียงแต่จะได้ผลดีตามที่คาดหวังหรือไม่ ต้องรอติดตามกันในฟุตบอลโลก 2022 ปลายปีนี้เท่านั้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising