×

หนี้ทั่วโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2023 ส่วนหนี้ทุกภาคส่วนไทยสูงใกล้ 3 เท่าของ GDP แล้ว หวั่นฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

22.02.2024
  • LOADING...
หนี้ทั่วโลก

HIGHLIGHTS

4 min read
  • ยอดรวมหนี้ทั่วโลก (ทุกภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือน เอกชน และรัฐบาล) พุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 313 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2023 เพิ่มขึ้น 15 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปีเดียว
  • ส่วนหนี้ทุกภาคส่วนในไทยสูงเกือบ 3 เท่าของขนาดเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ที่ 264.8% ต่อ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) และสูงที่สุดในอาเซียน
  • จับตาทิศทางอัตราดอกเบี้ย ดอลลาร์สหรัฐ และความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์จ่อดันหนี้โลกทำ New High ต่อเนื่อง

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) เปิดเผยรายงาน Global Debt Monitor ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024 โดยระบุว่าในปี 2023 ยอดรวมหนี้ทั่วโลก (ทุกภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือน เอกชน และรัฐบาล) พุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 313 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปีเดียว

 

สำหรับสัดส่วนหนี้ต่อ GDP โลกในปี 2023 ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว แต่ก็ชะลอตัวอย่างมากในปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากการลดลงของสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ในประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง (Mature Markets) เช่น มอลตา และนอร์เวย์

 

ในทางตรงกันข้าม อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) กลับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (New High) ในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 255% ต่อ GDP

 

 

หนี้ไทยทะลุ 264% ต่อ GDP สูงสุดในอาเซียน

 

สำหรับสถานการณ์หนี้ไทย ในรายงานของ IIF แสดงให้เห็นว่าหนี้ต่อ GDP ของไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 อยู่ที่ 264.8% ต่อ GDP (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) โดยแบ่งเป็น

  • หนี้ครัวเรือนที่ 91.6%
  • หนี้บริษัทเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ 86.2%
  • หนี้รัฐบาลที่ 54.2% (ทั้งนี้ หนี้รัฐบาลในความหมายของ IIF ไม่รวมหนี้รัฐวิสาหกิจ)
  • หนี้ภาคการเงินที่ 32.8%

 

ตามข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ไทยมีหนี้ทุกภาคส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) และสูงที่สุดในอาเซียน

 

จับตาความเสี่ยงฉุดสถานการณ์หนี้โลกแย่ขึ้น

 

ในรายงาน IIF ระบุอีกว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และดอลลาร์สหรัฐ อาจเพิ่มความผันผวนในเงื่อนไขการระดมทุนระหว่างประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการและความสามารถของกลุ่มประเทศ EM ในการเจาะตลาดตราสารหนี้ระหว่างประเทศ

 

นอกจากนี้ หนึ่งในปัจจัยที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือ ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ลึกขึ้น (Geoeconomic Fragmentation) และการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น อาจกระทบต่อ Risk Sentiment ทั่วโลก และอาจทำให้ความเปราะบางของหนี้ (Debt Vulnerabilities) หรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดการผิดนัดชำระ ‘รุนแรงขึ้น’

 

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์กระทบถึงการคลังสาธารณะ

 

ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เกิดความกังวลว่า การกู้ยืมของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมในบางประเทศอาจพุ่งสูงขึ้นอย่างกะทันหัน 

 

ขณะที่มาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ก็อาจส่งผลกระทบทางลบต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบของรัฐบาลสูงขึ้น 

 

ท่ามกลางภาวะที่รัฐบาลหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ยังขาดดุลงบประมาณสูงกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด

 

วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์หนี้ไทย พุ่งต่อหรือจ่อชะลอตัว?

 

สำหรับสถานการณ์ ‘หนี้ครัวเรือนไทย’ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH โดยประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยในปีนี้ 2567 ยังไม่น่าต่ำกว่า 90% ต่อ GDP ท่ามกลางความไม่แน่นอนมากมาย

 

ขณะที่สถานการณ์ ‘หนี้สาธารณะไทย’ ก็ยังไม่น่าจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดได้ หลังจากเมื่อเดือนกันยายน ปี 2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะไทยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 62.44% ต่อ GDP ตามข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และน่าจะทำสถิติใหม่ (New High) ต่อ

 

โดยตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2571) ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2566 ก็พบว่าประมาณการยอดหนี้สาธารณะคงค้าง หนี้สาธารณะต่อ GDP และการขาดดุลงบประมาณ น่าจะยังไม่กลับไประดับก่อนโควิด และยังคาดว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

โดยตามแผนการคลังระยะปานกลางที่รัฐบาลวางไว้ในปี 2569 หนี้สาธารณะไทยคาดว่าจะแตะระดับ 64.23% ต่อ GDP เลยทีเดียว

 

 

ภาพ: Tim Grist Photography / Getty Images 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising