×

ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งทำสถิติสูงสุดรอบ 7 ปี นักเศรษฐศาสตร์ห่วงซ้ำเติมค่าครองชีพ เพิ่มความเสี่ยงไทยเข้าสู่ภาวะ Stagflation

19.01.2022
  • LOADING...
ราคาน้ำมันดิบ

ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสที่ซื้อขายในวันที่ 18 มกราคม พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 86.58 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งนับเป็นราคาที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2014 ​​ขณะที่ราคาน้ำมันเบรนต์ทะเลเหนือขยับขึ้นมาอยู่ที่ 88.55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

 

โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นในครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่กลุ่มกบฏในเยเมนส่งโดรนไปโจมตีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งส่งผลให้รถบรรทุกน้ำมันระเบิดใกล้กับคลังเก็บน้ำมัน จนสร้างความกังวลเกี่ยวกำลังการผลิตน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกกลาง

 

ล่าสุด Goldman Sachs หนึ่งในสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนต์จะแตะ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาสแรกของปีนี้ และ 95 ดอลลาร์ในไตรมาสที่ 2 และมีโอกาสทะยานไปถึง 100 ดอลลาร์ในไตรมาสที่ 3 และ 105 ดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า

 

เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า คงต้องจับตาดูสถานการณ์ราคาน้ำมันที่วิ่งขึ้นค่อนข้างเร็วในเวลานี้ว่าจะเป็นภาวะชั่วคราวหรือลากยาว เนื่องจากหากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นระยะเวลานาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ จะขยับขึ้นตามไปด้วย ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งของผู้ประกอบการและภาคธุรกิจจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น

 

เกวลินระบุว่า ก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยฯ มองกรอบราคาน้ำมันดิบในปีนี้เอาไว้ที่ 72-77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยในช่วงครึ่งปีแรกราคาจะอยู่ที่ 80-83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก่อนจะทยอยลดลงในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม ปัญหาความรุนแรงในตะวันออกกลางถือเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายไม่ได้คาดการณ์เอาไว้ ดังนั้นโอกาสที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยในปีนี้จะสูงกว่า 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็มีความเป็นไปได้เช่นกันหากสถานการณ์ลากยาว

 

“แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ต้องพยายามหาจุดสมดุลในการดำเนินนโยบายการเงินระหว่างการดูแลเงินเฟ้อ และดูแลไม่ให้เศรษฐกิจชะลอ แต่เงินเฟ้อที่เกิดจากฝั่งอุปทานเช่นในกรณีนี้ การขึ้นดอกเบี้ยอาจไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงมากเหมือนเงินเฟ้อที่เกิดจากฝั่งอุปสงค์ จึงเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงไม่น่าจะเป็นทางที่ Fed เลือก” เกวลินกล่าว

 

ทั้งนี้ หากมองกลับมาที่ไทยจะพบว่าผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้นมีความน่ากังวลมากกว่า เนื่องจากน้ำมันมีสัดส่วนสูงในตะกร้าคำนวณเงินเฟ้อไทย ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังมีความแตกต่างจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวแล้ว และสามารถใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลเงินเฟ้อได้ 

 

“เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวและมีความไม่แน่นอน หากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นนานๆ ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัว ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่รายได้คนเพิ่มไม่ทัน ซึ่งเป็นคอนเซปต์ของภาวะ Stagflation ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากของเศรษฐกิจไทยในปีนี้” เกวลินกล่าว

 

เกวลินระบุว่า ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจะทำให้ไทยเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยฯ ยังมองว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ตลอดทั้งปีนี้ ทำให้ไทยต้องใช้นโยบายทางการคลังในการประคับประคองต้นทุนของภาคธุรกิจ และค่าครองชีพของประชาชนจนกว่าเศรษฐกิจจะผ่านช่วงเปราะบางไปได้

 

ขณะที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ขณะนี้คงต้องติดตามดูว่าสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางจะบานปลายหรือไม่ เนื่องจากหากมีการยกระดับความรุนแรงจนส่งผลต่ออุปทานน้ำมันในตลาด ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับสูงตลอดทั้งปี ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น

 

“เรายังมองว่าการเร่งตัวของราคาน้ำมันในเวลานี้เป็นภาวะชั่วคราว ราคาอาจปรับขึ้นได้อีกแต่คงไม่ถึงขั้นทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลตลอดทั้งปี โดยราคาน่าจะพีกในช่วงไตรมาสแรกเพราะยังเป็นฤดูหนาวด้วย ก่อนจะปรับตัวลดลงในช่วงที่เหลือของปี แต่ปัจจัยเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศต่างๆ ก็คาดเดาได้ยาก จึงยังต้องจับตาดูต่อไป” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพกล่าวอีกว่า แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกในปัจจุบันจะไม่ได้มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ มากเหมือนในอดีต แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อก็น่าจะทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะเริ่มลดลงในไตรมาส 2 ล่าช้าออกไปอีก ซึ่งอาจทำให้ Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 0.25% และขึ้นต่อเนื่องอีก 0.25% ทันทีในเดือนพฤษภาคม

 

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อมรเทพมองว่า หากราคาน้ำมันโลกในปีนี้ปรับสูงขึ้นและทรงตัวอยู่เป็นเวลานาน อาจทำให้ GDP ไทยขยายตัวได้ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.8% เหลือ 3% โดยไทยจะขาดดุลบัญชีการค้าเพราะมีการนำเข้าน้ำมันสูง ทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้แรง 

 

ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน จะส่งผลให้หนี้ครัวเรือนไทยขยับตามไปด้วย โดยปัญหาจะรุนแรงขึ้นในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising