×

ไวน์ก่อนเบียร์ เบียร์ก่อนไวน์ หรือดื่มแบบไม่ตีกัน แฮงน้อยกว่าจริงไหม? งานวิจัยมีคำตอบ

27.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ผลสรุปออกมาว่า ไม่ว่าจะเริ่มค่ำคืนด้วยไวน์ก่อน หรือเบียร์ หรือดื่มอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ผสมกัน ความแฮงก็ยังคงอยู่
  • ผลการศึกษานี้ยังเผยให้เห็นอีกว่า หากคุณรู้สึกตัวว่าเมา หรือมีการอาเจียนร่วมด้วย นั่นมีโอกาสที่อาการแฮงของคุณจะหนัก
  • การอาเจียนยังมักเกิดมากในกลุ่มที่ดื่มไวน์ทั้งคืน และกลุ่มที่ดื่มเบียร์ทั้งคืน โดยเฉพาะในผู้หญิง

เชื่อว่านักดื่มน้อยคนนักที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์เมาค้าง หรือ Hangover และความทรมานยังอยู่นานขึ้นอีก เมื่อเลขอายุมากขึ้น แต่จะดื่มอย่างไรให้แฮงน้อยที่สุดล่ะ? “Grapes or grain but never the twain” คำกล่าวเตือนนักดื่มของอังกฤษเขาว่าไว้ให้เลือกดื่มไวน์หรือเบียร์ แต่อย่าเอามาตีกัน ขณะที่ฝั่งเมืองเบียร์อย่างเยอรมนี “Wein auf Bier, das rat’ ich Dir—Bier auf Wein, das lass’ sein” แนะให้ดื่มเบียร์แล้วค่อยตามด้วยไวน์ให้แฮงน้อยหน่อย และแน่นอนว่า คนฝรั่งเศสต้องบอกว่า “Bière sur vin est venin, vin sur bière est belle manière” หรือ “เบียร์ก่อนไวน์เป็นพิษร้าย แต่ไวน์ก่อนเบียร์ ชีวิตดี๊ดี”

 

ความเชื่อเก่าแก่ที่บอกๆ ต่อกันมา แนะให้เลือกดื่มอะไรสักอย่างก่อน เพื่อลดระดับความแฮงนี้ หลายคนอาจรู้บ้างไม่รู้บ้าง แต่จะเวิร์กจนต้องบอกต่อไปอีกหลายภาษาจริงไหม หรือเป็นแค่สิ่งที่บอกกันให้ดื่มเยอะอยู่ดี ไม่นานมานี้มีคนนำไปพิสูจน์แล้ว

 

 

Photo: giphy.com

 

การศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition ลองนำความเชื่อที่ว่าไปศึกษาเพื่อหาคำตอบว่า สิ่งที่นักดื่มพูดๆ กัน แท้จริงแล้วจริงแท้แค่ไหน หรือเป็นเพียงคำกล่าวในวงเหล้า “ผลทดสอบที่ชัดเจนอาจช่วยลดอาการแฮงให้นักดื่มไม่ต้องทนทรมานมากนักในวันรุ่งขึ้น แต่เรายังคงแนะให้ดื่มในปริมาณพอเหมาะอย่างระมัดระวังเช่นเคย” ดร.ไค เฮนเซล (Dr. Kai Hensel) นักวิจัยอาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้เขียนงานวิจัยกล่าว

 

การศึกษาที่ใช้เวลาเตรียมการกว่า 2 ปีนี้ มีผู้เข้าร่วมทดสอบที่พกใจกล้าๆ มายอมเมาเพื่อวิทยาศาสตร์เกือบ 300 คนด้วยกัน โดยถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกพิสูจน์ความเชื่อแบบเยอรมนี ลองดื่มเบียร์แล้วตามด้วยไวน์ กลุ่มที่ 2 ท้าทายนักดื่มเมืองน้ำหอม ดื่มไวน์แล้วต่อด้วยเบียร์ และกลุ่มสุดท้ายท้าความเชื่อแบบอังกฤษ ดื่มไวน์หรือดื่มเบียร์ แต่ห้ามผสมกันตลอดทั้งค่ำคืน “เราอยากทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก แต่ก็ยังถูกต้องและปลอดภัยไปพร้อมกัน” ไคกล่าว

 

 

Photo: giphy.com

 

ผู้ดื่มทั้งหลายต้องรายงานว่า ตอนท้ายนั้นพวกเขารู้สึกเมาในระดับไหนจากคะแนน 0-10 และมีอาเจียนร่วมด้วยหรือไม่ จากนั้นจึงให้คะแนนระดับความแฮงในวันถัดไป โดยใช้มาตรการวัด Acute Hangover Scale ที่บ่งชี้ถึงความเหนื่อยล้า ปวดหัวมากน้อย กระหายน้ำ วิงเวียน คลื่นไส้ ปวดท้อง รวมไปถึงระดับการเต้นของหัวใจ และความอยากอาหาร

 

ทีนี้ก็มาถึงผลลัพธ์ที่ได้ที่คงทำให้นักดื่มนานาชาติต้องอกหักดังเป๊าะ เพราะผลสรุปออกมาว่า ไม่ว่าจะเลือกดื่มชนิดไหนก่อน หรือดื่มอย่างใด ความแฮงก็ยังคงอยู่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลการศึกษานี้ยังเผยให้เห็นอีกว่า หากคุณรู้สึกตัวว่าเมาใช่ย่อย หรือมีการอาเจียนร่วมด้วย นั่นมีโอกาสที่อาการแฮงของคุณจะหนักจนอยากเบือนหน้าหนี

 

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การอาเจียนยังเกิดมากในกลุ่มที่ดื่มไวน์ทั้งคืน และกลุ่มดื่มเบียร์ทั้งคืนอีกด้วย โดยเฉพาะในผู้หญิง

 

 

Photo: giphy.com

 

“วิธีเดียวที่จะบอกล่วงหน้าได้ว่าคุณจะรู้สึกแย่แค่ไหนในวันรุ่งขึ้นก็คือ ระดับความรู้สึกเมา และอาเจียนหรือไม่ สองสิ่งนี้เป็นสัญญาณอันตรายที่ควรสังเกต หากอยากเลี่ยงอาการแฮง” ไคกล่าว

 

ในการทดลองนี้ ผู้เข้าร่วมทดสอบดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณจำนวนมาก โดยอาจเรียกได้ว่า ‘Binge Drinking’ หรือ ‘การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากภายในช่วงเวลาอันสั้น’ โดยซดตั้งแต่เบียร์ 2 แก้วครึ่ง ไปจนไวน์ 4 แก้วขึ้นไป แต่ทั้งนี้ทำอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ โดยไคเผยว่า “ผู้เข้าร่วมศึกษาไม่ได้ดื่มเยอะเกินกว่าปกติจากเวลาที่เขาพวกออกไปดื่ม และทุกคนได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด”

 

นอกเหนือจากหัวข้อการทำวิจัยที่ฟังดูเมามาย การศึกษาชิ้นนี้ถูกวางแผนมาอย่างดีเยี่ยม โดยทุกคนดื่มแอลกอฮอล์ชนิดเดียวกัน นั่นคือเบียร์ลาเกอร์ของ Carlsberg และไวน์ขาวจากองุ่นแชสเซอลาสของ Edelgräfler และหลังจบการดื่ม พวกเขาดื่มน้ำที่พอเหมาะกับร่างกาย โดยวัดจากส่วนสูง น้ำหนัก และนอนในห้องแล็บ ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

 

 

Photo: giphy.com

 

“นี่เป็นการศึกษาที่น่าสนใจที่ช่วยไขข้อข้องใจให้กับนักดื่ม กับผลที่เกิดขึ้นเมื่อเราดื่มแอลกอฮอล์ แต่ผลที่ออกมานั้นเดาได้ไม่ยาก เนื่องจากการผสมเบียร์กับไวน์เข้าด้วยกันในท้อง ไม่ว่าอะไรจะก่อนหรือหลังก็ไม่เป็นผลดี” โจริส เวิร์สเตอร์ (Joris Verster) ศาสตราจารย์ด้านกลุ่มเภสัชศาสตร์ และศูนย์วิจัยเรื่องอาการเมาค้างจากแอลกอฮอล์แห่งมหาวิทยาลัยยูเทรกต์ เสริม

 

ดร.ไค เฮนเซล ยังบอกสิ่งที่น่าสนใจอีกว่า แท้จริงแล้วอาการเมาค้างนั้น ในหลายๆ แง่แล้วอาจพยายามช่วยพวกเราอยู่ต่างหาก

 

“การเมาค้างอาจจะทรมานและไม่น่าพิสมัย แต่เราควรคำนึงถึงประโยชน์ของมัน นั่นคือสัญญาณบอกให้มนุษย์ทุกยุคทุกวัย ไม่ว่าจะรุ่นไหน ปรับพฤติกรรมการดื่ม หรือว่าง่ายๆ คือให้เรียนรู้จากประสบการณ์นั่นเอง”

 

 

Photo: giphy.com

 

ดังนั้น ไม่ว่าจะเบียร์ก่อน หรือไวน์ก่อน หรือจะเลือกคราฟต์เบียร์ทั้งคืน หรือโรเซออลเดย์ เจ้าแฮงโอเวอร์อาจยังเกาะคุณแน่นไม่หนีไปไหน ขึ้นอยู่กับปริมาณที่คุณดื่มนั่นเอง

 

แต่คำถามคือ เราฟังสิ่งที่ร่างกายกำลังบอกหรือยัง หรือฟังได้กี่วัน…

 

ภาพ: Courtesy of Warner Bros. Pictures

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X