×

ฟังเพลงเศร้า แต่ทำไมเราถึงรู้สึกดี: วิทยาศาสตร์แห่งการฟังเพลง

17.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • การศึกษาเรื่อง ‘ดนตรีปลุกเร้าอารมณ์ด้านบวกผ่านความทรงจำส่วนตัว’ พบว่าถ้าเรานึกย้อนกลับไปถึงความเศร้าในบริบทของดนตรี เช่น การฟังเพลงที่ทำให้หวนรำลึกถึงความเศร้านั้นๆ ปรากฏว่าเราอาจ ‘รับรู้’ อารมณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะปัจจุบันว่าเป็นความเพลิดเพลินได้ ทั้งที่ความทรงจำเป็นเรื่องที่เศร้าโดยแท้
  • ‘อำนาจ’ สำคัญของดนตรีก็คือมันไปปลุกเร้าอารมณ์ด้านบวกให้เกิดขึ้น โดยถ้ายิ่งมีความทรงจำส่วนตัวร่วมด้วยก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้น ไม่ว่าความทรงจำนั้นจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องเศร้าก็ตามที

คุณเคยสงสัยไหมครับว่าทำไมเวลาเราฟังเพลงที่ทำให้นึกถึงอดีตอันแสนเศร้า เราถึงกลับรู้สึก ‘มีความสุข’ ขึ้นมาได้ ทั้งที่เรื่องนั้นมันเศร้าจริงๆ นะ

 

มีการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย (ที่ไม่รู้ว่าอ่านชื่อว่าอะไร) Jyväskylä ในฟินแลนด์ รายงานอยู่ในวารสาร Nature การศึกษานี้มีชื่อว่า Music Evokes Powerful Positive Emotions Through Personal Memories หรือดนตรีปลุกเร้าอารมณ์ด้านบวกผ่านความทรงจำส่วนตัว

 

ในการศึกษานี้มีคำสำคัญคำหนึ่งคือคำว่า Paradox of Art หรือปฏิทรรศน์ของศิลปะ นั่นคือเขาศึกษาพบว่าแม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเศร้า’ (Sadness) ซึ่งไม่ว่าจะในทางจิตวิทยาหรือทางไหนก็ตามย่อมเห็นว่าความเศร้าเป็นสภาวะอารมณ์แง่ลบ แต่ถ้าเรานึกย้อนกลับไปถึงความเศร้าเหล่านั้นในบริบทของดนตรี เช่น การฟังเพลงที่ทำให้หวนรำลึกถึงความเศร้านั้นๆ ปรากฏว่าเราอาจ ‘รับรู้’ อารมณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะปัจจุบันว่าเป็นความเพลิดเพลินได้ ทั้งที่ความทรงจำเป็นเรื่องที่เศร้าโดยแท้

 

มีการสำรวจพบความเศร้าจากการฟังเพลงที่ทำให้เกิดความสุขในกลุ่มคนสูงวัยที่เคยผ่านยุคดิสโก้มาก่อน คนเหล่านี้จะเชื่อมโยงเพลงดิสโก้เข้ากับความสุขตอนวัยรุ่นที่ได้เต้น ได้ออกท่าออกทางต่างๆ ในช่วงปลายยุค 70s แต่พอถึงยุค 80s และ 90s พวกเขากลับพบว่าเพลงดิสโก้ที่เคยฟังกับเพื่อนตอนวัยรุ่นนั้นกลับถูกนำไปเชื่อมโยงกับความตายของเพื่อนจำนวนมาก เพราะยุคนั้นเป็นยุคที่โรคเอดส์ระบาด และยังไม่มีวิธีรักษาหรือบรรเทา ผู้คนจึงล้มตายราวใบไม้ร่วง แต่กระนั้นถ้าได้ฟังเพลงดิสโก้ก็กลับทำให้คนเหล่านี้รู้สึกมีความสุขขึ้นมาได้

 

การสำรวจที่ว่าสอดคล้องกับรายงานอีกชิ้นหนึ่งในวารสาร Scientific Reports คือรายงานที่มีชื่อว่า The Effect of Memory in Inducing Pleasant Emotions with Musical and Pictorial Stimuli หรือผลของความทรงจำในการปลุกเร้าอารมณ์เพลิดเพลินด้วยสิ่งกระตุ้นที่เป็นดนตรีและภาพ

 

เรารู้กันมานานแล้วว่าสภาวะ ‘อารมณ์ดี’ นั้นถูกปลุกเร้าขึ้นได้ด้วยตัวกระตุ้นหลายๆ อย่าง แต่ยังไม่มีการศึกษาโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ออกมามากเท่าไร การศึกษาที่ว่านี้จึงลองศึกษา ‘ดนตรี’ เปรียบเทียบกับ ‘ภาพที่เห็น’ ว่าอะไรทำให้คนเราอารมณ์ดีได้มากกว่ากัน

 

คำถามสำคัญในงานวิจัยนี้มี 2 คำถามคือ

 

1. ความทรงจำถึงเรื่องราวในอดีตมีส่วนทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่เข้มข้นขณะได้ฟังดนตรีหรือเปล่า

 

2. อารมณ์ที่ถูกดนตรีปลุกเร้าขึ้นมานั้นจะรุนแรงขึ้นไหม ถ้าหากว่ามีความทรงจำส่วนตัวเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

 

พบว่าคำตอบต่อทั้งสองคำถามคือใช่ ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ‘อำนาจ’ สำคัญของดนตรีก็คือมันไปปลุกเร้าอารมณ์ด้านบวกให้เกิดขึ้น โดยถ้ายิ่งมีความทรงจำส่วนตัวร่วมด้วยก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้น ไม่ว่าความทรงจำนั้นจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องเศร้าก็ตามที

 

การศึกษานี้ทำโดยขอให้ผู้เข้าร่วมทดลองฟังเพลงต่างๆ โดยมีการวัดคลื่นสมองไปด้วย นั่นก็คือการศึกษาที่นำเอาประสาทวิทยา (Neuroscience) มาจับมือกับจิตวิทยา เพื่อหาคำตอบต่อเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์

 

โดยเพลงที่ผู้เข้าร่วมฟังนั้นแบ่งออกเป็น 4 แบบ ได้แก่

 

1. เพลงที่ผู้เข้าร่วมทดลองนำมาเอง เป็นเพลงที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำส่วนตัว เช่น เพลงที่เคยฟังกับคนรัก เพลงที่แม่เคยกล่อมให้ฟัง เพลงคริสต์มาสที่ฟังตอนเด็กๆ ฯลฯ แต่เป็นเพลงที่ทำให้นึกถึงความสุขสมัยก่อน

 

2. เพลงที่ปลุกเร้าอารมณ์ด้านบวกโดยไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความทรงจำเดิมของผู้เข้าร่วมทดลอง เช่น เพลงเต้นรำสมัยใหม่ เพลงที่มีจังหวะสนุกสนาน เพลงที่ไม่ใช่เพลงเศร้า

 

3. เพลงที่ฟังแล้วทำให้เกิดอารมณ์เศร้า ไม่พึงพอใจ ไม่สมหวัง ฯลฯ อันเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่สมหวังทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่ฟังกับคนรัก แต่คนรักทิ้งไปหรือเสียชีวิต เพลงที่เคยฟังตอนอกหัก เพลงในงานศพของแม่ ฯลฯ คือเป็นเพลงที่เกี่ยวกับความทรงจำ แต่ไม่ได้ทำให้อารมณ์ดีโดยตรง

 

4. เพลงเศร้าๆ ทั้งหลายแหล่ แต่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความทรงจำของผู้เข้าร่วมทดลอง

 

ถ้าเป็นสมัยก่อน เราอาจต้องถามผู้เข้าร่วมทดลองว่าฟังเพลงประเภทต่างๆ แล้วรู้สึกอย่างไร ซึ่งอาจให้ผลที่ผิดพลาดได้ แต่เมื่อมีการวัดคลื่นสมอง เราก็จะรู้ได้โดยอัตโนมัติว่าผู้เข้าร่วมทดลองคิดอย่างไรหรือมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรกับเพลงนั้นๆ โดยดูจากกิจกรรมทางสมองที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

 

เขาพบว่าไม่ว่าจะเป็นเพลงแบบไหนก็ตาม ถ้าเป็นเพลงที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำส่วนตัวแล้ว สุดท้ายก็จะปลุกเร้าให้เกิดอารมณ์ด้านบวกขึ้นมาเสมอ

 

ในทางวิทยาศาสตร์เรียกกระบวนการนี้ว่า Induction Mechanism หรือกลไกเหนี่ยวนำ คือจะมีสิ่งเร้ามาเหนี่ยวนำอารมณ์ของเราให้รู้สึกอะไรบางอย่างขึ้นมา ซึ่งกลไกที่ว่านี้เป็นได้หลายอย่าง ตั้งแต่การพบเห็นเรื่องบางเรื่อง การจินตนาการ หรือประสบการณ์ทางกาย รวมไปถึงการแสดงออกของตัวเองที่ตัวเองรับรู้ด้วย แต่สิ่งที่มีอิทธิพลมากที่สุดก็คือความทรงจำที่ ‘ฝัง’ อยู่ในส่วนต่างๆ ของสมอง โดยสิ่งที่ไปมีอิทธิพลต่อความทรงจำอีกต่อหนึ่งมากที่สุดก็คือเสียงดนตรี

 

การศึกษาทดลองนี้ยังเปรียบเทียบระหว่างดนตรีกับภาพด้วย คือให้เลือกภาพ 4 ภาพ (แบบเดียวกับดนตรี คือภาพที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำและไม่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ) ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็คือภาพนั้นแทบไม่มีผลอะไรเลยต่ออารมณ์ความรู้สึกในปัจจุบัน ไม่เหมือนเสียงดนตรีที่มีผลมาก

 

น่าเสียดายที่ยังไม่มีการศึกษาคล้ายๆ กันกับ ‘กลิ่น’ เพราะกลิ่นก็เป็นอีกประสาทสัมผัสหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ (เหมือนในนิยายเรื่อง Remembrance of Things Past ของมาร์แซล พรูสต์ ที่ใช้กลิ่นของขนมไข่นำทางกลับไปสู่อดีต แล้วเขียนออกมาเป็นนิยายหนาหลายพันหน้า)

 

อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้เวลาฟังเพลง อยากให้คุณลองสังเกตตัวเองดูสักหน่อยนะครับว่าดนตรีมีผลต่ออารมณ์ของคุณแบบเดียวกับการศึกษาที่ว่าหรือเปล่า

 

ถ้าเป็นแบบนั้น บางทีอาจต้องลองหาหูฟังดีๆ มาเป็นตัวช่วยเสียแล้วล่ะครับ ขอแนะนำหูฟังยี่ห้อ…

 

(เอ่อ ไม่ใช่แล้ว!)

 

เอาเป็นว่าปีใหม่นี้ถ้าไม่ได้ไปไหน ลองวางแผนฟังเพลงอยู่กับบ้าน เลือกเพลงที่ทำให้คุณหวนย้อนกลับไปในความทรงจำ เพียงแค่นี้ก็อาจทำให้คุณอารมณ์ดีข้ามปีได้แล้วโดยไม่ต้องเสียเงินทองมากมาย

 

ลองดูนะครับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X