×

Why are we angry? วิทยาศาสตร์ของความหัวร้อน

20.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ความโกรธเป็น ‘ปฏิกิริยาตอบสนอง’ (Reaction) จากสิ่งเร้าที่ทำให้ไม่สบายใจ (Frustration) ตามด้วยความโกรธซึ่งอาจจะคุกรุ่นอยู่ข้างใน ก่อนระเบิดออกมาเป็นความก้าวร้าวรุนแรง แบ่งได้เป็น 3 เฟสด้วยกันคือ Frustrated –> Anger –> Aggression
  • เวลา ‘หัวร้อน’ เรามักจะทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ เพราะสมองส่วนหน้ามักจะไม่ทำงาน จึงสูญเสียความสามารถที่จะเห็นถึงผลจากการกระทำของเรา
  • ​ความโกรธในระดับพอดีๆ ก็มีประโยชน์ เช่น ส่งผลให้เราอยากเอาชนะสิ่งคุกคามต่างๆ มากขึ้น เป็นแรงผลักดันทำให้ทำงานบางอย่างออกไปได้อย่างแข็งแรงและรัดกุมมากยิ่งขึ้น

​คนเดี๋ยวนี้ ‘หัวร้อน’ กันง่ายมาก เอะอะนิดเดียวก็มีเรื่องกันถึงเลือดถึงเนื้อ ถึงเป็นถึงตาย

​คุณเคยสงสัยไหมครับว่าอะไรทำให้เราเกิดอาการ ‘หัวร้อน’ ขึ้นมาได้

​ถ้าคุณถามใครสักคนว่าทำไมเขาถึงโกรธ คุณอาจได้รับคำตอบประเภท

​“ก็มันมาด่าฉันก่อน” “ก็มันมาจอดรถขวาง” “ก็มันมาแกล้งฉัน” “ก็มันไม่ยอมทำตามคำสั่ง ฉันเป็นเจ้านายมันนะ” “ก็มันบิดเบือนความจริง” “ก็มันหมิ่นประมาทฉัน” ฯลฯ

​เราพบว่ามี ‘คำอธิบาย’ ให้กับอาการหัวร้อน หัวฟัดหัวเหวี่ยง หรืออาการโกรธต่างๆ นานาเหล่านี้ได้หลากแบบ แต่ส่วนใหญ่เป็นคำอธิบายที่บอกถึงเหตุผลทางสังคมมากกว่า คำถามก็คือแล้วในทางวิทยาศาสตร์ล่ะ มีคนมอง ‘ความโกรธ’ อย่างไรบ้าง มันมาจากไหน มีจุดกำเนิดที่ไหน

​นักจิตวิทยาบอกว่าความโกรธของเรามีที่มา 3 แหล่งหลักๆ คือ

​1. เมื่อความปรารถนา ความต้องการ หรือเป้าหมายของเราไม่บรรลุถึง

​2. เรารู้สึกเหมือนถูกข่มขู่คุกคาม

​3. เราพยายามจะซ่อนอารมณ์อื่นของเรา โดยเฉพาะในผู้ชายที่อาจเกิดความรู้สึกอ่อนไหวบางอย่าง เช่น ความเศร้า ความกลัว หรือความไม่มั่นคง ก็เลยต้องแสดงท่าว่าโกรธออกมาแทน

​แต่ถ้าไปดูคำอธิบายเรื่องความโกรธจากนักประสาทวิทยา (ดูรายละเอียดบทความวิชาการชื่อ Considering Anger from a Cognitive Neuroscience Perspective ได้ที่นี่ https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3260787/) เขาบอกว่า ความโกรธก็คือ ‘ปฏิกิริยา’ ที่เกิดจากการถูกกระตุ้น แล้วร่างกาย (หรือจริงๆ คือสมอง) ทำงานแบบนั้นแบบนี้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือความโกรธเป็นเรื่องที่เริ่มต้นขึ้นจากสมองของเรานั่นเอง

​ปกติแล้วความโกรธไม่ใช่เรื่องที่จู่ๆ ก็จะเกิดขึ้นนะครับ แต่มันเป็น ‘ปฏิกิริยาตอบสนอง’ (Reaction) จากสิ่งเร้าอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ (Frustration) ตามด้วยความโกรธซึ่งอาจจะคุกรุ่นอยู่ข้างใน ก่อนระเบิดออกมาเป็นความก้าวร้าวรุนแรง ดังนั้นจึงแบ่งได้เป็น 3 เฟสด้วยกันคือ Frustrated –> Anger –> Aggression

​โดยอาการที่เรียกว่า ‘หัวร้อน’ นั้นน่าจะเป็นอาการในเฟสที่ 2 และ 3 โดยเฟสที่ 2 คือ Anger ที่อาจจะหัวร้อนอยู่ภายใน ยังไม่ได้แสดงออกให้ใครเห็น แต่ตัวเองรู้สึกว่าหัวร้อน ซึ่งความจริงต้องบอกว่าศัพท์ ‘หัวร้อน’ นี้เป็นศัพท์ที่ตรงกับสภาพในสมองของเรามาก เนื่องจากบางส่วนในสมอง (เช่น อะมิกดาลา) ทำงานกันแบบเดือดปุดๆ เลยทีเดียว ทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีหลายอย่าง (เช่น อะดรีนาลีน) ออกมาเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเฟสที่ 3 คือ Aggression นั่นคือมีการแสดงออกให้คนอื่นเห็นว่าคนที่โกรธกำลัง ‘หัวร้อน’ อยู่

​ด้วยเหตุนี้นักประสาทวิทยาจึงบอกว่าความโกรธในระดับที่แสดงความก้าวร้าวรุนแรงให้เห็นนั้นเป็น Reactive Aggression คือเป็นความโกรธที่เกิดจากการถูกกระตุ้นเร้าบางอย่าง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดนะครับ

​ความโกรธคือส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งคุกคามในสัตว์ (ซึ่งก็รวมทั้งมนุษย์ด้วย) ถ้าเป็นอันตรายแบบบางเบา ไม่หนักหนาสาหัส และอยู่ไกล สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลายจะเกิดอาการหยุดชะงัก (Freezing) ก่อน แต่ถ้าระดับการคุกคามเริ่มมากและใกล้เข้ามาก็จะเกิดปฏิกิริยาแรกเริ่มก่อนคือการหนี (Flight) แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ หนีไม่ได้ ก็จะต้องตอบโต้ด้วย Reactive Aggression (หรือ Fight) นี่แหละครับ

​ดังนั้นปฏิกิริยาต่อสิ่งคุกคามของเราจึงมักเริ่มจาก Freeze ตามด้วย Flight และจบด้วย Fight (ถ้าสิ่งคุกคามไม่ได้หายไป) ซึ่งปฏิกิริยาเหล่านี้ล้วนมีระบบประสาทเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งนั้น สมองส่วนที่ตอบสนองต่อปฏิกิริยาพวกนี้มีตั้งแต่อะมิกดาลา, ไฮโปทาลามัส, สมองส่วนที่เป็นเนื้อสีเทา และในมนุษย์ กระทั่งสมองส่วนหน้า (Frontal Systems) ที่คอยควบคุมอารมณ์ความรู้สึกก็ยังเกี่ยวข้องด้วย ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นมีมากมาย เช่น ม่านตาเบิกกว้าง (ลองนึกถึงนางร้ายในละครไทยดูก็ได้นะครับ) กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเร็วขึ้นโดยคุณไม่รู้ตัว อะดรีนาลีน เอพิเนฟริน และนอร์อีพิเนฟรินหลั่งออกมา ความดันเลือดสูงขึ้น แถมยังอาจเหงื่อแตก (แบบที่บอกกันว่าโกรธจนเลือดเดือดนั่นแหละครับ) ซึ่งทั้งหมดนี้เราแทบควบคุมอะไรมันไม่ได้เลย พูดง่ายๆ ก็คือความโกรธนั้นเป็นเรื่องที่ ‘ถูกตั้งโปรแกรม’ เอาไว้แล้วในมนุษย์แต่ละคน ทว่าแต่ละคนจะถูกกระตุ้นให้โกรธง่ายโกรธยากไม่เท่ากัน ด้านหนึ่งเป็นไปตามพันธุกรรม แต่อีกด้านหนึ่งเป็นไปตามการกล่อมเกลาของสังคม พูดแบบบ้านๆ ก็คือแต่ละคนถูก ‘กระตุกต่อม’ ได้เร็วช้าไม่เหมือนกัน

​ปัจจัยที่ทำให้เราเกิดความโกรธ (หรือเกิด Reactive Aggression ซึ่งก็คืออาการ ‘หัวร้อน’) นั้นมีหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือการต้องเผชิญกับภัยคุกคาม (Threats) (หรือสิ่งที่เราอาจ ‘คิดไปเอง’ ว่าเป็นภัยคุกคาม) ในระดับรุนแรง ซึ่งจะทำให้ระบบตอบสนองในร่างกายของเราทำงานขึ้นมาแบบฉับพลันทันที ความโกรธอีกอย่างหนึ่งก็คือการเผชิญกับภัยคุกคามที่ไม่รุนแรง แต่ต่อเนื่องยาวนาน แบบนี้จะก่อให้เกิดอาการที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ‘ประสาทเสีย’ ขึ้นมาได้ แต่จริงๆ ก็คือการที่สมองส่วนหน้า (Frontal Cortex หรือ Frontal System) ที่คอยควบคุมพฤติกรรมต่างๆ มันเกิดอาการไม่ทำงาน (Dysfunction) ขึ้นมา ก็จะทำให้ความโกรธที่ค่อยๆ สะสมตัวอยู่นั้นระเบิดออกมาได้ในคราวเดียว จึงทำให้คนอื่นเห็นว่าคนผู้นั้นมีอาการหัวร้อน

​ความโกรธอีกแบบหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อคนเรามีอาการไม่พอใจในระดับ Frustrate นานๆ แต่ไม่ได้เกิดจากภัยคุกคามนะครับ แต่เกิดเพราะพยายามทำอะไรบางอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ไม่ได้รับผลตอบแทน (Reward) เช่น คุณอาจจะตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน แต่สุดท้ายครูหรือเจ้านายมองไม่เห็นความตั้งใจพวกนี้ ก็จะเกิดความน้อยใจขึ้นมาก่อน แล้วถ้ามากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นความโกรธจนแสดง Reactive Aggression ออกมาได้เหมือนกัน ทั้งนี้ก็เพราะรางวัลหรือผลตอบแทนนั้นจะทำให้สมองหลั่งสารเคมีที่ให้ความสุขออกมา แต่เมื่อไม่ได้รางวัลเสียทีก็จะเกิดผลตรงข้าม

​ทุกคนคงรู้ดีนะครับว่าเวลาเราโกรธหรือ ‘หัวร้อน’ เรามักจะทำอะไรๆ ออกไปโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะสมองส่วนหน้าของเรามักจะไม่ทำงาน เราจึงสูญเสียความสามารถที่จะเห็นถึงผลจากการกระทำของเรา เราก็เลยทำอะไรบางอย่างที่ปกติแล้วเราจะไม่ทำเวลาที่เราสงบๆ

​อย่างไรก็ตาม ความโกรธ (ในระดับที่พอดีๆ) ก็มีประโยชน์ของมันด้วยเหมือนกันนะครับ อย่างแรกก็คือเวลาที่เราโกรธ (ในระดับ ‘หัวระอุ’ ยังไม่ร้อนออกมาให้คนอื่นเห็นน่ะครับ) มันจะส่งผลให้เราอยากเอาชนะสิ่งคุกคามต่างๆ มากขึ้น สิ่งคุกคามที่ว่านี้เป็นได้ตั้งแต่เพื่อน คู่แข่ง การบ้าน การทำงาน ลูกค้าที่ต้องไปพิตช์งาน ฯลฯ สมมติว่าเราไม่โกรธเลย อารมณ์ของเราราบเรียบอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้สึกรู้สาอะไร เราก็จะทำงานออกไปงั้นๆ แต่ถ้าเมื่อไรที่เราโกรธ เราอาจจะใช้ความโกรธเป็นแรงผลักดันทำให้ทำงานบางอย่างออกไปได้อย่างแข็งแรงและรัดกุมมากยิ่งขึ้น

​อีกเรื่องที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงก็คือความโกรธทำให้เรามองโลกในแง่บวกได้ด้วยนะครับ มันอาจฟังดูขัดแย้งกัน แต่ความโกรธจะทำให้เรามองอนาคตในแง่บวกมากขึ้น เพราะเราข้ามผ่านขั้นตอน Flight หรือการหนีเพราะความหวาดกลัวไปสู่โหมด Fight หรือสู้กับสิ่งคุกคามแล้ว มีงานวิจัยที่ไปลองถามคนที่อยู่ในสภาวะกลัวกับโกรธ พบว่าคนที่กลัวจะหวาดหวั่นกับอนาคตมากกว่า พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมองอนาคต (หรือผลลัพธ์ของงาน) ออกมาในแง่ลบมากกว่า แต่คนที่โกรธ (แต่พอดี) จะเห็นว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคนั้นคือความท้าทายที่จะต้องเอาชนะให้ได้ จึงมักมองผลลัพธ์ในแง่บวกมากกว่า ความโกรธยังส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ด้วยนะครับ ยิ่งถ้าเรารู้จัก channel ความโกรธของเราไปสู่งาน มันคือการนำพลังงานอย่างหนึ่งไปแปรเป็นพลังงานอีกอย่างหนึ่งนั่นเอง

​คำถามก็คือ เอ๊ะ! แล้วเราจะควบคุมความโกรธได้ไหม คำตอบก็คือได้สิครับ เราสามารถ ‘ปิดสวิตช์’ ความโกรธได้ด้วยนะครับ ถ้าหากว่าเราสามารถควบคุมสมองของเราได้ นักวิทยาศาสตร์บอกว่าสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความโกรธและอาการก้าวร้าวก็คือสมองส่วน Prefrontal Cortex ซีกซ้าย ถ้าเรา ‘ปิด’ การทำงานของมันได้ เราก็เยือกเย็นราวกับเป็นมหาตมะ คานธี เลย (แต่ไม่รับรองนะครับว่าการทำงานอื่นๆ ที่เกิดจากสมองส่วนนี้จะเสียไปด้วยหรือเปล่า) แต่ในความเป็นจริงก็คือเราเลือกปิดการทำงานของสมองเฉพาะส่วนแบบนี้ไม่ได้หรอกครับ

​ถ้าเราโกรธมากๆ เลือดของเราก็จะเต็มไปด้วยสารเคมีต่างๆ ตั้งแต่ฮอร์โมนอย่างที่ว่าไปแล้ว รวมไปถึงกลูโคสและกรดไขมันด้วย ซึ่งถ้าเราโกรธมากๆ บ่อยๆ ย่อมไม่ดีต่อสุขภาพของเราแน่ๆ บางคนบอกว่าอาจทำให้เส้นเลือดตีบได้เลยทีเดียว

​ด้วยเหตุนี้ ลองมาดูแลตัวเองกันหน่อยดีไหมครับ คือโกรธแต่พอดีๆ เอาแค่ให้เรา ‘หัวระอุ’ ผ่าวๆ หน่อยๆ เพื่อเป็นแรงขับในการทำงานต่างๆ ให้เราเข้าไปสู่โหมด Fight แทนที่จะ Flight ก็น่าจะดีกว่าปล่อยตัวให้ Reactive Aggression มันทำงานถึงขั้น ‘หัวร้อน’ แสดงออกมาโดยลืมไปหมดว่าอาจเกิดผลลัพธ์อะไรได้บ้างเลย

​ก็จริงเนอะ – คนเราเลือกเกิดไม่ได้พอๆ กับเลือกโกรธไม่ได้นั่นแหละ แต่กระนั้นก็มีตัวอย่างเยอะแยะไปครับว่าถ้าฝึกตัวเองบ่อยๆ เราก็จะดูแลความโกรธของเราได้เหมือนกันนั่นแหละ

​แล้วความโกรธ (แต่พอดี) ก็จะกลายเป็นประโยชน์ได้ในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X