×

องค์การอนามัยโลกเตือน! ไข้หวัดใหญ่อาจรุนแรงสุดในรอบ 2 ปี เร่งฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ลดเสี่ยงป่วยรุนแรง เลี่ยงเสียชีวิต

โดย THE STANDARD TEAM
25.07.2022
  • LOADING...
องค์การอนามัยโลก

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเตือนประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในเขตอบอุ่นซีกโลกใต้ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย ให้เฝ้าระวังเพื่อติดตามและเตรียมรับมือกับโรคไข้หวัดใหญ่และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) หลังพบการระบาดหนักสุดในประเทศออสเตรเลีย ยอดผู้ป่วยสะสมพุ่ง 147,155 ราย
  • ประเทศไทยยิ่งต้องเฝ้าระวัง หลังกรมควบคุมโรคเผยตัวเลขติดตามผู้ป่วยตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 27 มิถุนายน พบผู้ป่วยสะสม 2,820 ราย แม้ยังไม่พบตัวเลขผู้เสียชีวิตแต่มีแนวโน้วผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น
  • การเปิดเรียนเต็มรูปแบบและการเปิดประเทศอาจเป็นสถานการณ์ที่เพิ่มความเสี่ยงให้การระบาดในประเทศไทยรุนแรงขึ้น 
  • การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยลดโอกาสเข้ารับการรักษาใน ICU น้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนถึง 59% และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตถึง 31% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 

รายงานจากหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศออสเตรเลียเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สะสมถึง 147,155 ราย เป็นผู้ป่วยในที่รักษาในโรงพยาบาล 989 ราย ร้อยละ 6.1 หรือประมาณ 60 รายต้องเข้ารับการรักษาในห้อง ICU และมากถึง 54 รายที่เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่

 

ตัวเลขดังกล่าวกำลังสร้างความหวั่นวิตกให้กับคนทั่วโลก เนื่องด้วย 2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในทุกประเทศลดลง จนกระทั่งพบการแพร่ระบาดอย่างหนักครั้งแรกในออสเตรเลีย ฝั่งออสเตรเลียเองยังออกมายอมรับว่าสถิติตอนนี้มากเป็นประวัติการณ์ ถึงขั้นที่ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเตือนประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในเขตอบอุ่นซีกโลกใต้ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย ให้เฝ้าระวังเพื่อติดตามและเตรียมรับมือกับโรคไข้หวัดใหญ่และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) รวมถึงเพิ่มการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจมีการติดเชื้อร่วมกับโควิด-19 ได้ 

 

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่
และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก)

 

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันของโรคไข้หวัดใหญ่ที่กำลังจะกลับมาระบาดอีกครั้งรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากช่วงฤดูฝนเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ประกอบกับมาตรการผ่อนคลายการป้องกันโควิด-19 และยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยเป็นบางส่วน รวมถึงมีการเปิดประเทศอย่างเสรีนั้นก็อาจเร่งให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างมากขึ้น 

 

เมื่อดูตัวเลขจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 27 มิถุนายน 2565 พบผู้ป่วย 2,820 ราย และมีแนวโน้วที่จะเพิ่มสูงขึ้น จนถึงตอนนี้ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ ส่วนกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ อายุ 15-24 ปี (11.45%) รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 25-34 ปี (10.11%) และกลุ่มเด็กแรกเกิด – 1 ปี (9.93%) และจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นราธิวาส, เชียงราย, ตาก, น่าน และพิษณุโลก 

 

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี เตือนให้เฝ้าระวังการระบาดครั้งนี้อาจรุนแรงกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่มีการเว้นระยะห่างและสวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งถือเป็นเกราะป้องกันเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี ทว่าหลังจากมีการประกาศยกเลิกมาตรการป้องกันต่างๆ ประชาชนจึงมีโอกาสรับเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศได้ง่ายขึ้น 


อีกทั้งสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดจากภาวะโลกร้อนจะกลายเป็นปัจจัยเร่งให้หลายประเทศอยู่ในช่วงฤดูฝนนานขึ้น มีอากาศชื้นทำให้เชื้อไว้รัสแพร่กระจายได้ง่ายและมีอายุนานขึ้น”  

 

 

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้การระบาดไข้หวัดใหญ่รุนแรง

สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้มี 2 ส่วนหลักๆ ที่อาจส่งผลให้การระบาดรวดเร็วและรุนแรง คือ

 

  • การเปิดเรียนเต็มรูปแบบ เนื่องจากเด็กช่วงวัย 0-19 ปี ถือเป็นตัวกลางที่จะนำพาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แพร่สู่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว หากในบ้านมีผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงสูงต่อโรครุนแรงหากได้รับเชื้อ จากการศึกษาในต่างประเทศอื่นๆ ยังพบว่า 7 ใน 10 คนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคปอดบวม การอักเสบของสมอง ความล้มเหลวของอวัยวะหลายส่วน และภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตอีกด้วย

 

จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์โดย The Lancet (ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565) พบว่าผู้ป่วยที่เป็นทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากขึ้นถึง 2-4 เท่า เมื่อเทียบกับเป็นโรคโควิด-19 เพียงโรคเดียว ในขณะที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงถึง 2 เท่า

 

  • การเปิดพรมแดนระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่าปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน สิ่งที่กังวลคือนักท่องเที่ยวจะมีแนวทางปฏิบัติในการป้องกันโควิด-19 ต่างจากคนไทย เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือไม่มีการเว้นระยะห่าง 

 

นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวจากซีกโลกใต้ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นโซนที่กำลังมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่อาจส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวรายอื่นๆ รวมถึงคนไทยจนทำให้เกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทยเป็นวงกว้างมากขึ้น 

 

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี เตือนผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในช่วงวัย 0-19 ปี ซึ่งจะเป็นกลุ่มนำพาโรคกลุ่ม 608 ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเดียวกับโควิด-19 รวมถึงประชาชนทั่วไป ไม่ควรเพิกเฉยต่อการป้องกันไข้หวัดใหญ่และควรป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ “การที่ร่างกายห่างหายจากภูมิคุ้มกันเป็นเวลานานถือเป็นปัจจัยที่ทำให้โรคทวีความรุนแรงและกว้างขวางกว่าปกติ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่รุนแรง เช่น สตรีมีครรภ์, เด็กเล็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี, ผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคอ้วน” 

 

 

องค์การอนามัยโลก

 

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ลดเสี่ยงป่วยรุนแรง เลี่ยงเสียชีวิต

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยปกป้องตนเองและคนในครอบครัวให้รอดพ้นจากความรุนแรงของการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่และการติดเชื้อร่วมกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้

 

Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC สหรัฐอเมริกา เผยผลการศึกษา พบว่า ผู้ใหญ่ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีโอกาสรับการรักษาใน ICU น้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนถึง 59% มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลง 31% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 

 

“ปัจจุบัน โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกในประเทศไทย มีบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในฤดูกาลปี 2565 หรือเรียกว่า ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซีกโลกใต้ 2022’ ประชาชนสามารถรับบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ได้ที่โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกทั่วไป”

 

ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ http://www.ift2004.org/ หรือ Facebook: มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising