×

WHO รับรองการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 จาก AstraZeneca เป็นกรณีฉุกเฉิน ส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม

16.02.2021
  • LOADING...
WHO รับรองการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 จาก AstraZeneca เป็นกรณีฉุกเฉิน ส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม

วันนี้ (16 กุมภาพันธ์) องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศรับรองการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 จาก AstraZeneca-Oxford เป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว เพื่อรับมือวิกฤตโรคระบาด นับเป็นวัคซีนตัวที่สองต่อจาก Pfizer-BioNTech ที่ได้รับการรับรองไปก่อนหน้านี้ช่วงเดือนธันวาคม ปี 2020 

 

การให้ไฟเขียวของ WHO จะช่วยส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมเพิ่มมากขึ้น โดยวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตจากสถาบันวิจัยเซรุ่มในอินเดีย และ AstraZeneca-SKBio ในเกาหลีใต้ จะช่วยสนับสนุนโครงการ COVAX ของ WHO และพันธมิตร ในการส่งวัคซีนช่วยเหลือประเทศที่มีรายได้น้อยและขาดแคลนทุนในการจัดซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 

 

โดยวัคซีน AstraZeneca-Oxford ได้รับการรับรองการใช้งานเป็นกรณีฉุกเฉินแล้วเกือบ 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย เนื่องจากราคาที่ถูกกว่า และวิธีการจัดเก็บที่ยุ่งยากน้อยกว่าวัคซีนจาก Pfizer-BioNTech ที่จะต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิเฉพาะเท่านั้น การรับรองวัคซีนจาก AstraZeneca ในครั้งนี้จึงจะเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้น และเริ่มต้นฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองของประเทศตัวเอง 

 

วัคซีน AstraZeneca-Oxford มีชื่อทางการว่า วัคซีน AZD1222 มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 82.4% หากฉีดทั้ง 2 โดสห่างกัน 12 สัปดาห์ สามารถจัดเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติได้อย่างน้อยนาน 6 เดือน 

 

ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมแล้วกว่า 109 ล้านราย (109,140,617 ราย) รักษาหายแล้ว 84,213,019 ราย หรือคิดเป็นราว 74% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด เสียชีวิตแล้ว 2,407,537 ราย อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 2.2% พบผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 186 จาก 193 ประเทศทั่วโลก

 

ล่าสุด สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด (27,692,690 ราย) และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมมากที่สุดกว่า 4.8 แสนราย ตามมาด้วยอินเดีย (10,916,589 ราย) บราซิล (9,866,710 ราย) สหราชอาณาจักร (4,059,695 ราย) และรัสเซีย (4,040,505 ราย)

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

ภาพ: John Beckmann / BSR Agency / Getty Images

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising