×

วัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดสมาจากไหน และควรจัดสรรให้ใคร

โดย THE STANDARD TEAM
06.07.2021
  • LOADING...
pfizer
  1. วัคซีน Pfizer-BioNTech หรือวัคซีนโคเมอร์เนตี (Comirnaty vaccine) เป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ตารางการฉีด 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 สำหรับผู้ที่อายุ 12 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกับองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ซึ่งเดิมอนุมัติสำหรับอายุ 16 ปีขึ้นไป ต่อมามีงานวิจัยรองรับความปลอดภัยและประสิทธิภาพในวัยรุ่น 12-15 ปี จึงสามารถฉีดให้กลุ่มนักเรียนได้

 

  1. ในแผนจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดสภายในปี 2564 มีสัดส่วนของวัคซีน Pfizer จำนวน 20 ล้านโดส ลงนามเอกสารแล้ว 2 ฉบับคือ Confidential Disclosure Agreement (ข้อตกลงเรื่องการเก็บรักษาข้อมูลเป็นความลับ) เมื่อวันที่ 29 เมษายน และ Binding Term Sheet (เอกสารเงื่อนไขเบื้องต้นว่าด้วยการจองซื้อวัคซีน) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน เหลือเอกสารฉบับที่ 3 สัญญาซื้อที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันนี้ (6 กรกฎาคม) คาดว่าวัคซีนล็อตนี้จะได้รับภายในไตรมาส 3 ของปี 2564 

 

  1. เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ในสังคมออนไลน์มีการแชร์เอกสารสรุปประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุข 3 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทำงานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2564 ที่กรมควบคุมโรค ทำให้ประชาชนทราบว่าจะมีวัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดสเข้ามาในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคมนี้

.

  1. มติที่ประชุมเห็นชอบให้ฉีดวัคซีน Pfizer ที่ได้รับในระยะแรกเป็นเข็มที่ 1 ทั้งหมดแก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปในพื้นที่ที่ทีการระบาดรุนแรง ซึ่งในขณะนี้คือพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต แต่ในเอกสารเดียวกันมีความเห็นในที่ประชุมระบุว่า “10. ในขณะนี้ ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3 (บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า) แสดงว่าเรายอมรับว่า (วัคซีน) Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น”

.

  1. ถึงแม้จะเป็นความเห็นหนึ่งในอีกหลายความเห็น เช่น “4. อยากเสนอให้ Boost (ฉีดวัคซีนกระตุ้น) เข็มสามให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า” แต่ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจต่อการ ‘ไม่ยอมเสียหน้า’ หรือ ‘รักษาหน้า มากกว่ารักษาชีวิตบุคลากรทางการแพทย์’ ซึ่งก่อนหน้านี้ภาคีบุคลากรสาธารณสุขก็รณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีนชนิด mRNA รวมถึงสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยที่เสนอให้เร่งรัดจัดหาวัคซีนชนิดอื่นมาแทนวัคซีนชนิดเชื้อตายด้วย

 

  1. เมื่อวานนี้ (5 กรกฎาคม) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า วัคซีนล็อตดังกล่าวได้รับการบริจาคมาจากสหรัฐฯ โดยเงื่อนไขต่างๆ อยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะต้องแจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุข ส่วน พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. ระบุว่า จะต้องแบ่งวัคซีนส่วนหนึ่งให้กับชาวต่างประเทศซึ่งอยู่ในประเทศ อาจเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือจึงจะใช้ประโยชน์กับคนในประเทศได้ 

 

  1. ดังนั้นแผนการกระจายวัคซีน Pfizer ล็อตนี้จึงยังไม่มีความชัดเจน หรือรัฐบาลยังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยต่อประชาชน แต่เนื่องจากวัคซีนที่ได้รับมามีจำนวนจำกัดจึงเลี่ยงไม่พ้นคำถามว่า “ใครควรได้รับการจัดสรรวัคซีนล็อตนี้ก่อน” ซึ่งในเอกสารดังกล่าวมี ‘ข้อเสนอเพื่อพิจารณา’ ว่ามีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. บุคคลอายุ 12-18 ปี 2. กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ได้แก่ ผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ และ 3. บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

 

  1. แต่ละกลุ่มมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน กล่าวคือ กลุ่มที่ 1 จะได้รับวัคซีนเร็วขึ้นและเพิ่มความครอบคลุมของวัคซีน ทำให้เปิดโรงเรียนได้ปลอดภัย แต่อาจมีความกังวลผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กลุ่มที่ 2 จะลดการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์หลักของการฉีดวัคซีนในขณะนี้ และยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีและเร็ว ส่วนกลุ่มที่ 3 หมายถึงบุคลากรในโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยโควิด จะเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อกลายพันธุ์และสร้างขวัญกำลังใจ

 

  1. สถานการณ์โควิดในประเทศในขณะนี้ถือว่าวิกฤต เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ที่พบเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นนั้นได้ แม้กระทั่งผู้ป่วยหนักเพราะเตียง ICU ไม่เพียงพอ และยังมีกรณีบุคลากรติดเชื้อ ทำให้ขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจก็เริ่มเหนื่อยล้ากับมาตรการทางสังคม วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และรวดเร็วจึงเป็นความหวังของทุกคน

 

  1. ข้อมูลในปัจจุบันพบว่า วัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิผลสูงกว่าวัคซีนชนิดเชื้อตายในทุกด้าน เช่น ในประเทศชิลี ทั้งการป้องกันการป่วย (90.9% เทียบกับ 63.6%) ป่วยปานกลาง (97.1% เทียบกับ 87.3%) และเสียชีวิต (91.8% เทียบกับ 86.4%) ดังนั้นวัคซีน Pfizer ที่จะได้รับมา 1.5 ล้านโดสจึงสามารถนำมาจัดสรรเพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขไม่ให้ล่มสลาย ทั้งลดจำนวนผู้ป่วยหนักในชุมชนและลดการติดเชื้อในบุคลากรด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโดยตรงได้

 

บุคคล + สถานที่ เสี่ยงจึงน่าจะเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการจัดสรรวัคซีนล็อตนี้ก่อน กล่าวคือ ผู้สูงอายุ/ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก และบุคลากรบางส่วน เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาลสนาม/หอผู้ป่วย ห้อง ICU ห้องแล็บ ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายครบแล้ว + จังหวัดที่มีการระบาดหนัก ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจจะไม่ต้องตอบคำถามเหล่านี้เลยถ้าเร่งรัดจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาตั้งแต่ที่ทราบผลการศึกษาในต่างประเทศ 

 

หรือ ‘ไหวตัว’ ปรับแผนจัดหาวัคซีนสำหรับปี 2565 ใหม่ตั้งแต่ตอนนี้

 

อ้างอิง:

  • จดหมายเปิดผนึกกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ของนายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย วันที่ 29 มิถุนายน 2564
  • สรุปประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทำงานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน วันที่ 30 มิถุนายน 2564
  • อย. ขึ้นทะเบียนวัคซีน ‘ไฟเซอร์’ https://news.thaipbs.or.th/content/305497 
  • อนุทิน รับเอกสารหลุดจริง ปมค้านฉีดไฟเซอร์ ยันยังไม่ใช่ข้อสรุป https://news.thaipbs.or.th/content/305784 
  • ศบค. ระบุไฟเซอร์ล็อตบริจาค 1.5 ล้านโดส ต้องแบ่งให้ชาวต่างชาติในไทย https://news.thaipbs.or.th/content/305790
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising