×

ยูเครนเลือกบุกรัสเซีย แต่ก้าวต่อไปคืออะไร จะรุกต่อเพื่อรักษาโมเมนตัม หรือโชว์ศักยภาพ สร้างอำนาจต่อรอง

14.08.2024
  • LOADING...

ถือเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ไม่ใช่แต่เฉพาะรัสเซียเท่านั้น แต่ชาติตะวันตกและสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนยูเครนอยู่ก็ประหลาดใจเช่นกัน หลังจากยูเครนส่งกำลังขนาดใหญ่บุกเข้าไปในภูมิภาคคูสก์ของรัสเซีย และเจาะทะลวงเข้าไปได้ลึกและกินพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตร แม้จะไม่ได้มากเท่ากับพื้นที่ที่รัสเซียยึดครองยูเครนอยู่ในตอนนี้ แต่ก็ถือว่ามากพอที่รัสเซียจะไม่ทันตั้งตัว และยังพยายามวิเคราะห์อยู่ว่าจะตอบโต้การเข้ามาของยูเครนในครั้งนี้แบบใดจึงจะเหมาะสม

 

มีหลายเหตุผลที่อาจเป็นไปได้ต่อคำถามที่ว่า ทำไมยูเครนถึงเปิดปฏิบัติการนี้ ทั้งที่สถานการณ์ในแนวหน้าในดอนบาสก็ไม่ค่อยดี เนื่องจากรัสเซียมีความได้เปรียบในการรบจากกำลังที่มากกว่าค่อนข้างมาก การเปิดปฏิบัติการแบบนี้จึงเป็นคำถามตัวโตๆ ว่า ยูเครนต้องการอะไร ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่ามีหลายปัจจัย

 

ข้อแรก ยูเครนต้องการเปิดแนวรบใหม่ เพื่อลดแรงกดดัน และบีบให้รัสเซียต้องส่งกำลังทหารเข้ามารับมือยูเครนในแนวรบใหม่นี้ ซึ่งจริงๆ แล้วรัสเซียเป็นผู้ทดลองก่อนด้วยซ้ำ เนื่องจากรัสเซียบุกเข้ามาในภาคตะวันออกของยูเครนในบางจุด เพื่อทำให้ยูเครนต้องห่วงหน้าพะวงหลัง แม้จะไม่ได้ยึดพื้นที่เพิ่มขึ้นในแนวใหม่นี้ก็ตาม แต่การเปิดแนวรบใหม่ของยูเครนอาจทำให้รัสเซียต้องแบ่งกำลังจากดอนบาสมารับมือ ซึ่งนอกจากจะทำให้กองกำลังยูเครนในดอนบาสสามารถรับมือกำลังของรัสเซียได้ง่ายขึ้น ก็อาจเป็นไปได้ว่ายูเครนจะใช้โอกาสนี้ในการตีโต้ในดอนบาส เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสนามรบให้เกิดขึ้น

 

ข้อต่อมา ยูเครนอาจต้องการแสดงให้โลกและโดยเฉพาะประเทศที่สนับสนุนยูเครนเห็นว่ายูเครนยังมีศักยภาพมากเพียงพอในการทำสงคราม เพื่อหวังได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกต่อไป

 

นอกจากนี้ ยูเครนยังอาจต้องการยึดพื้นที่เพื่อใช้ต่อรองกับรัสเซีย เพราะที่ผ่านมารัสเซียเป็นฝ่ายยึดดินแดนของยูเครนอยู่ฝ่ายเดียว ถ้ายูเครนสามารถยึดดินแดนของรัสเซียได้แม้ว่าจะน้อยกว่า แต่ในทางศักดิ์ศรีของประเทศขนาดใหญ่อย่างรัสเซียอาจส่งผลเสียทางการเมืองถ้ารัสเซียต้องเสียดินแดนบางส่วนไป

 

ขณะเดียวกันยูเครนก็อาจต้องการทำให้ชาวรัสเซียรับรู้โดยตรงถึงภัยและผลลัพธ์ของสงครามที่ชาวยูเครนต้องเผชิญมามากกว่า 2 ปี โดยปัจจุบันมีชาวรัสเซียมากกว่า 1 แสนคนที่ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนไปยังศูนย์พักพิงในแนวหลัง

 

ข้อสุดท้าย ยูเครนต้องการทำให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ขายหน้า ซึ่งในสังคมรัสเซียที่เชิดชูความกล้าหาญและเข้มแข็งของผู้นำอย่างแรงกล้า การแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแออาจทำให้สังคมมองว่าปูตินไม่เหมาะสมที่จะเป็นประธานาธิบดีต่อแล้ว เพราะไม่สามารถปกป้องแผ่นดินที่ถือว่าเป็นแผ่นดินแม่ได้

 

และยิ่งชาวรัสเซียถูกบอกกล่าวมาตลอดช่วงสงครามยูเครนว่า ยูเครนเป็นหุ่นเชิดของตะวันตกและ NATO นั้น ก็อาจทำให้ปูตินถูกมองว่าเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองให้ NATO หรือไม่ อย่างสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมีสมาชิกพรรคของปูตินที่ออกมาวิจารณ์ตรงๆ ว่ามีรายงานการข่าวยืนยันมาพักใหญ่แล้วว่ายูเครนจะเปิดปฏิบัติการนี้ แต่ทำไมกองทัพรัสเซียถึงไม่ใส่ใจจะรับมือ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่นานๆ จะเกิดขึ้นที

 

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีแต่ผลดีอย่างเดียว ยังมีความเสี่ยงสำคัญของยูเครนที่จะต้องพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่เข้าไปยึดครองนั้นถือเป็นพื้นที่ใหม่ที่ยูเครนไม่รู้จักดีนัก การป้องกันอาจทำได้ยาก เพราะต้องวางแนวป้องกันมหาศาล ซึ่งต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงที่หน่วยที่ปฏิบัติการในครั้งนี้ซึ่งเป็นหน่วยที่ดีที่สุดหน่วยหนึ่งของยูเครนจะได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย ถ้ารัสเซียสามารถโจมตีตอบโต้ได้สำเร็จ ซึ่งนั่นก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ในระยะยาวของยูเครนยิ่งเสียเปรียบ เพราะกำลังที่มีน้อยกว่าอยู่แล้วจะน้อยลงอีก รวมถึงการสนับสนุนจากตะวันตกในครั้งนี้อาจไม่เข้มแข็งนัก เนื่องจากเป็นการบุกเพื่อยึดดินแดนของรัสเซียโดยตรง ต่างจากที่ผ่านมาที่ยูเครนสู้เพื่อปกป้องอธิปไตยของตัวเอง

 

แม้ว่าในช่วงแรกนี้จะมองว่ายูเครนค่อนข้างประสบความสำเร็จในปฏิบัติการบุกรอบนี้ และรัสเซียยังอยู่ในระหว่างตั้งตัวไม่ติดทั้งทางการทหารและการเมือง ดังที่แสดงให้เห็นว่าสำนักข่าวของรัสเซียเพิ่งจะยอมรับเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่ายูเครนได้เข้าโจมตีและยึดดินแดนในคูสก์ และเริ่มถ่ายทอดสดการประชุมของกระทรวงต่างๆ กับปูติน ซึ่งเนื้อหาการประชุมดูเหมือนจะยังไม่มีแผนการรับมืออย่างชัดเจนนัก ดังนั้นยูเครนก็อาจยึดพื้นที่นี้ต่อไป หรือแม้แต่เพิ่มพื้นที่ที่จะยึดครองได้มากขึ้น

 

แต่การบุกทางทหารนั้นจะมีโมเมนตัมของการรุก ซึ่งมักจะเสียไปโดยอัตโนมัติเมื่อเวลาผ่านไป นักการทหารที่ดีจึงออกแบบปฏิบัติการให้โมเมนตัมการรุกอยู่กับฝ่ายตนให้มากที่สุด รวมถึงมองหาจุดเปลี่ยนในปฏิบัติการทางทหาร เพื่อสร้างโมเมนตัมการรุกขึ้นอีกครั้งหลังจากระลอกแรกหมดไป

 

แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือการส่งกำลังบำรุงของกองทัพยูเครนที่ต้องยืดยาวออกไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้กำลังในแนวหน้าได้รับทรัพยากรในการรบยากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการรุกนี้เป็นการรุกที่ใช้กำลังภาคพื้นดินแทบทั้งหมด ถ้ารัสเซียตอบโต้ด้วยการใช้กำลังทางอากาศ ก็ยังไม่แน่ชัดว่ายูเครนจะมีระบบป้องกันภัยทางอากาศเพียงพอที่จะรับมือหรือไม่ หรือเครื่องบินขับไล่ F-16 ที่เพิ่งได้รับมอบมาก็อาจยังไม่พร้อมใช้งานในการรุกครั้งนี้

 

นอกจากนี้ รัสเซียอาจเลือกกลยุทธ์คล้ายยูเครน ที่ถือเป็นการย้อนศรกลยุทธ์ของยูเครน ด้วยการเปิดแนวรบเพิ่มที่อื่น เพื่อให้ยูเครนต้องแบ่งกำลังไปรับมือเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้โมเมนตัมการรุกในคูสก์เสียไปก็เป็นได้

 

ดังนั้นยูเครนอาจมีทางเลือกได้หลายทาง ทั้งการพยายามรุกไปข้างหน้าเรื่อยๆ เพื่อกดดันให้รัสเซียต้องถอนกำลังบางส่วนจากแนวหน้าในดอนบาส และเรียกระดมพลอีกรอบและพยายามทำให้ปูตินเสียหน้าให้มากขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันทางการเมืองภายในรัสเซียขึ้นมาอีก หรืออาจเลือกเวลาในการถอนกำลัง เพื่อรักษาสภาพกำลังรบไม่ให้เสียหายจากการโจมตีตอบโต้ และทำให้ปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณให้ทั้งรัสเซียและชาติตะวันตกเห็นว่ายูเครนยังมีศักยภาพในการรบที่ดีอยู่ และยูเครนมีขีดความสามารถในการรุกเพื่อยึดดินแดนของรัสเซียได้ หรืออาจหยุดการรุก แต่รักษาพื้นที่ที่ยึดครองมาได้ให้มากที่สุด เพื่อใช้ในการต่อรองบนโต๊ะเจรจา เพราะแม้พื้นที่นั้นจะน้อย แต่ก็ยังถือว่าเป็นแผ่นดินแม่ของรัสเซีย ที่ถ้าปูตินจะแสดงให้เห็นว่าเขายังเข้มแข็งและพร้อมเป็นผู้นำชาวรัสเซีย ก็ต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อนำดินแดนนี้คืนมา ซึ่งอาจมาจากการแลกเปลี่ยนกับดินแดนที่รัสเซียยึดไปจากยูเครนก็ได้เช่นกัน

 

เพียงแต่ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่ายูเครนจะเลือกทางไหนและเมื่อไร คงทำได้เพียงแค่เฝ้าดูสถานการณ์ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องดูว่ารัสเซียจะตั้งตัวติดและเริ่มการรุกคืนเมื่อไร และผลลัพธ์ของปฏิบัติการเหล่านี้จะเป็นอย่างไร

 

ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศของยูเครนประกาศแล้วว่า พวกเขาไม่มีแผนที่จะยึดครองพื้นที่ในรัสเซียถาวร เพียงแต่ว่าเริ่มมีแรงกดดันให้ยูเครนเร่งตัดสินใจเลือก ระหว่างเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซียไปเรื่อยๆ หรือจะถอนกำลังกลับยูเครนในเวลานี้

 

ภาพ: Roman Pilipey / AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising