×

โลกภาพยนตร์จะเป็นอย่างไรต่อไปหลังไม่มีโควิด-19

01.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงและยาวนานเกินกว่าที่ทุกคนคาดการณ์ไว้ ในมุมคนดูหนัง เราอาจจะแทบไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่โรงหนังปิดทำการยาวนาน ไม่เคยรู้สึกถึงการที่โลกนี้ไม่มีหนังใหม่ๆ เข้าฉายเป็นเดือน และเคยชินกับการที่ ‘สัปดาห์หน้าหนังเรื่องอะไรเข้าฉาย’ อยู่ตลอด
  • ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน การเปิดโทรทัศน์ขนาดใหญ่และเช็กดูว่าวันนี้แพลตฟอร์มสตรีมมิงที่สมัครสมาชิกไว้มีอะไรใหม่บ้าง กลายเป็นกิจกรรมประจำวันแทน แล้วตัวเราก็เริ่มค่อยๆ ลืมไปว่ามีโรงหนัง และไม่ได้รอคอยหนังเรื่องใหม่ที่เตรียมเข้าฉายแต่อย่างใด
  • ภาวะโลกหยุดหมุนนี้จึงไม่ใช่แค่อุบัติเหตุชั่วคราวอีกต่อไป เพราะมันจะค่อยๆ กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงหรือเป็นนิสัยใหม่ ส่วนตัวผมรู้สึกเองว่าระยะเวลาที่นานขนาดนี้มันอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างได้
  • นี่คือเวลาทองของ Netflix, Amazom Prime, Hulu, HBO Go และอื่นๆ อีกมากมาย สถานการณ์ในเวลานี้แทบจะเป็นยุคในฝันของพวกเขา คือทุกคนอยู่บ้านกับทีวี ออกไปไหนไม่ได้ ไม่มีหนังใหม่เข้าโรง ฉะนั้นจะโกยก็ต้องโกยกันตอนนี้ จะสร้างฐานก็ต้องสร้างกันตอนนี้ ว่าง่ายๆ คือการจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนดูหนังให้รักการดูหนังอยู่บ้านจะทำให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ได้ก็วัดกันที่ปีนี้นั่นแหละ

 

ปี 2020 เป็นปีที่ชีวิตจริงเหมือนกับหนังเสียยิ่งกว่าหนังจริงๆ อะไรที่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นได้แค่ในหนังมันก็เกิดขึ้นมาต่อหน้าของพวกเรา เวลาตื่นมาในทุกๆ วันรู้สึกเหมือนใช้ชีวิตอยู่ในหนังหายนะสักเรื่อง เดี๋ยวซีนสำคัญจะต้องโผล่มาในทุกๆ วัน  ไม่มีวันไหนเป็นวันธรรมดาเลย แน่นอนว่าถ้าเป็นในหนัง เรารู้ว่าเดี๋ยวอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้ามันก็จะสิ้นสุดลง ในขณะที่ในชีวิตจริง หนังเรื่องนี้ที่เราเผชิญกันอยู่ เราไม่รู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไรและจบลงอย่างไร

 

ผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงและยาวนานเกินกว่าที่ทุกคนคาดการณ์ไว้ ในมุมคนดูหนัง เราอาจจะแทบไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่โรงหนังปิดทำการยาวนาน ไม่เคยรู้สึกถึงการที่โลกนี้ไม่มีหนังใหม่ๆ เข้าฉายเป็นเดือน เราคุ้นชินกับการเข้าถึงโรงหนังเกือบตลอดเวลา (แม้กระทั่งรอบเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง) และเคยชินกับการที่ ‘สัปดาห์หน้าหนังเรื่องอะไรเข้าฉาย’ อยู่ตลอด

 

 

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน การเปิดโทรทัศน์ขนาดใหญ่และเช็กดูว่าวันนี้แพลตฟอร์มสตรีมมิงที่สมัครสมาชิกไว้มีอะไรใหม่บ้างกลายเป็นกิจกรรมประจำวันแทน แล้วตัวเราก็เริ่มค่อยๆ ลืมไปว่ามีโรงหนัง และไม่ได้รอคอยหนังเรื่องใหม่ที่เตรียมเข้าฉายแต่อย่างใด เพราะยังมีซีรีส์ตรงหน้าที่ต้องเคลียร์อีกหนึ่งซีซัน ไหนจะหนังใหม่รายวันที่ผลิตโดยเจ้าของสตรีมมิงนั้นๆ

 

ภาวะโลกหยุดหมุนนี้จึงไม่ใช่แค่อุบัติเหตุชั่วคราวอีกต่อไป เพราะมันจะค่อยๆ กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงหรือเป็นนิสัยใหม่ ส่วนตัวผมรู้สึกเองว่าระยะเวลาที่นานขนาดนี้อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างได้ ในขณะที่บรรดาผู้ผลิตหนัง สตูดิโอต่างๆ รวมถึงเทศกาลหนังเองก็ขยับตัวกันวุ่นวายจนทำให้เรารู้สึกว่ามันสะเทือนต่อวงการหนังอย่างแน่นอนโดยที่ไม่ได้คิดไปเองคนเดียว

 

วันก่อนผมเองได้มีโอกาสคุยกับ พี่ต้อย-ภาณุ อารี ตัวแทนซื้อหนังจากค่ายสหมงคลฟิล์ม เราได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน ทำให้ผมสรุปออกมาได้ดังนี้

 

 

เดิมพันที่สูงขึ้นของสตูดิโอหนัง

ภารกิจใหญ่ของสตูดิโอต่างๆ คือการหาทางจัดการกับหนังที่ค้างเติ่งอยู่ในสต๊อกทั้งหลาย ปัญหาใหญ่ที่สุดคือหนังที่เริ่มทำการโปรโมตไปแล้วเรียบร้อยช่วงก่อนเกิดโรค แต่ทั้งหมดก็โดนเบรกกลางคันจนต้องเลื่อนฉายกันไปหมด ซึ่งนั่นหมายถึงว่างบประมาณมหาศาลที่เสียไปในการโปรโมตนั้นถือว่าสูญสลายไปในอากาศ และนั่นแปลว่าถ้าหนังจะกลับเข้ามาฉายใหม่อีกครั้งหลังไวรัสสิ้นสุด ค่ายหนังก็ต้องทุ่มทุนใส่เงินโปรโมตเข้าไปใหม่อีกครั้ง และนั่นก็จะแปลว่าต้นทุนการผลิตของหนังเรื่องนั้นก็จะต้องสูงขึ้นอีกมากมาย วี่แววแห่งการกำไรคุ้มทุนอาจจะยากขึ้น ต่อให้เป็นหนังแบบ No Time To Die หรือ Fast 9 ก็ตาม เพราะแม้ว่าจะมีท่าทีแห่งความสำเร็จอยู่ แต่คงไม่มีใครอยากเล่นเกมที่ยากขึ้นในช่วงเวลาหลังโรคระบาดที่ยังไม่มีใครเดาออกว่าคนดูจะเป็นอย่างไร จะอยากดูหนังไหม และจะกล้าเข้าโรงหนังกันหรือเปล่า

 

 

นอกเหนือจากหนังใหม่ยังมีบรรดาหนังกึ่งใหม่กึ่งเก่าที่ได้รับการปล่อยยานฉายโรงไปแล้ว แต่ดันถูกหยุดกลางคัน ตัวอย่างเช่น The Invisible Man ที่กำลังได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดี กำลังมาเลย แต่พอโรงหนังหยุดกันหมด หนังก็ต้องจบไปอย่างนั้น ทางสตูดิโอก็ต้องรีบคิดกันต่อว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งสุดท้ายพวกเขาก็ตัดสินใจรีบเอาลงระบบ Video on Demand โดยทันทีเพื่อที่จะต่ออายุของหนัง แม้ว่ามันจะไปอยู่แค่ในทีวีตามบ้านเร็วกว่าที่ควรจะเป็น 

 

จริงๆ แล้วระบบ Video on Demand นี้เป็นสิ่งที่สตูดิโอหนังไม่ชอบเอามากๆ เพราะพวกเขาพยายามเสมอที่จะแยกหนังโรงออกจากหนังสร้างเพื่อลงทีวีหรือลงแผ่น สำหรับพวกเขา หนังโรงมันจะต้องพรีเมียมกว่า และโทรทัศน์เป็นเพียงแค่โรงหนังชั้นสองที่ไว้ฉายหนังเก่าเท่านั้น แต่ในเมื่อเวลานี้ไม่มีทางเลือก การเอาหนังโรงพรีเมียมไปลง Video on Demand อาจจะเป็นทางรอดเดียวของหนังเรื่องนั้น ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

           

 

ช่วงทำคะแนนของสตรีมมิงเซอร์วิส

อย่างตรงไปตรงมา นี่คือเวลาทองของ Netflix, Amazom Prime, Hulu, HBO Go และอื่นๆ อีกมากมาย สถานการณ์ในเวลานี้แทบจะเป็นยุคในฝันของพวกเขา คือทุกคนอยู่บ้านกับทีวี ออกไปไหนไม่ได้ ไม่มีหนังใหม่เข้าโรง ฉะนั้นจะโกยก็ต้องโกยกันตอนนี้ จะสร้างฐานก็ต้องสร้างกันตอนนี้ ว่าง่ายๆ คือการจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนดูหนังให้รักการดูหนังอยู่บ้านจะทำให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ได้ก็วัดกันที่ปีนี้นั่นแหละ ก็ไม่แน่ว่าคนดูหนังอยู่บ้านไปนานๆ แล้วอาจจะรู้สึกชินและรู้สึกโอเคมากกว่าการออกไปดูหนังโรง 

 

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อโรงหนังกลับมาเปิดอีกครั้ง คนก็อาจจะโหยหาการออกไปดูหนังที่โรงหนังมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนก็เป็นได้ เนื่องจากโดนกักตัวนานนับเดือน ใครก็อยากจะออกจากบ้าน และกลายเป็นว่าโมเมนต์นี้อาจจะทำให้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าของจอใหญ่ยักษ์ในโรง รวมถึงประสบการณ์การดูหนังร่วมกับคนอื่นก็เป็นได้ (หลังจากที่ต้องดูหนังคนเดียวที่บ้านกับจอเล็กๆ มาเป็นเดือนๆ) ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เราจะได้เห็นเพดานของสตรีมมิงเซอร์วิสว่ามันไปได้ขนาดไหนด้วย

 

 

เทศกาลหนังเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดพร้อมๆ กับชีวิตของคนทำหนังอิสระ

กลายเป็นว่าผู้ประสบภัยตัวจริงของงานนี้คือคนทำหนังอิสระทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าอีกหลายๆ คน เพราะว่าคนทำหนังอิสระนี้ โดยปกติแล้วพวกเขาพึ่งพาเทศกาลหนังในการเป็นสปริงบอร์ดพีอาร์ไปสู่จุดต่างๆ ของโลก เนื่องจากพวกเขาไม่ได้มีเงินโปรโมตหนังใหญ่โตแบบสตูดิโอหนัง ดังนั้นบรรดาเสียงวิจารณ์ต่างๆ จากนักวิจารณ์รวมถึงคนดูในเทศกาลหนังยักษ์ใหญ่อย่างคานส์และเวนิสจะเป็นการต้นทุนหลักในการโปรโมตหนังของพวกเขา รวมถึงถ้าหนังได้มีโอกาสเข้าสายประกวดและได้รางวัล นั่นจะยิ่งทำให้หนังเรื่องนั้นมีสิทธิ์จะแจ้งเกิดอย่างงดงาม 

 

สิ่งเหล่านี้สำคัญมากๆ โดยเฉพาะกับคนทำหนังหน้าใหม่ที่ไม่ได้มีภาษีหรือแต้มบุญใดๆ ในการจะชวนให้คนดูสนใจหนังของพวกเขา พอเทศกาลใหญ่ต่างๆ ประกาศเลื่อนก็สร้างความสั่นสะเทือนให้กับคนทำหนังอิสระ เพราะพวกเขาหมดโอกาสที่จะฉายหนังใหม่ครั้งแรก หมดโอกาสที่จะได้เจอผู้ซื้อหนังต่างๆ ในตลาด รวมถึงบางคนที่อาจจะมีโอกาสเข้าสายประกวด พอเทศกาลเลื่อนก็หมายความว่าหนังของพวกเขามีสิทธิ์จะหลุดจากสายประกวดเช่นกัน เพราะหากเทศกาลย้ายไปจัดปีหน้าก็เป็นไปได้ที่เทศกาลก็จะต้องฉายหนังที่อัปเดตตามปีหน้า หนังที่ได้เข้าเทศกาลปีนี้ก็อาจจะฟาวล์ไปโดยปริยาย (และการพยายามดันหนังให้เข้าสายประกวดให้ได้นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ ต้องใช้กำลังภายในกันเยอะพอสมควรกว่าจะได้สิทธิ์นี้มา)

 

ถ้ามองปัญหาให้เป็นปัญหา มันก็จะเป็นปัญหา แต่ถ้ามองปัญหาให้เหมือนเป็นปัญญา เราอาจจะได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ก็เป็นได้ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะส่งผลร้ายต่อวงการหนังในเวลานี้ แต่ในขณะเดียวกันเหตุการณ์ไม่ปกติก็มักจะพาพวกเราไปเจอภูมิปัญญาใหม่ๆ โมเดลใหม่ๆ พฤติกรรมใหม่ๆ ในรูปแบบที่คาดไม่ถึงเช่นกัน ก็ขอให้พวกเรารักษาสุขภาพเอาไว้ จะได้มารอดูกันว่าอะไรจะเกิดขึ้นในตอนจบของหนังในชีวิตจริงเรื่องนี้

  

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising