×

เกิดอะไรขึ้นในเทศกาล Burning Man คนเหยียบแสนติดกลางทะเลทราย ผลพวงจากโลกรวน?

05.09.2023
  • LOADING...
Burning Man 2023

Burning Man เทศกาลศิลปะและวัฒนธรรมสุดชิคแห่งทะเลทรายแบล็กร็อก รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา ที่หลายคนแอบจดไว้ใน Bucket List ว่าชาตินี้ฉันจะต้องไปเยือนให้ได้สักครั้งหนึ่ง ตอนนี้ถ้าจะเรียกว่า ‘มหกรรมมหันตภัย’ ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะย้อนกลับไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1 กันยายน) พื้นที่ทะเลทรายที่ปกติจะร้อนแล้งหนัก กลับเผชิญกับพายุช่วงปลายฤดูร้อนที่มาแบบผิดปกติ ส่งผลให้ฝนตกลงมาโครมใหญ่ เปลี่ยนพื้นที่ทะเลทรายให้กลายเป็นบ่อโคลนขนาดมหึมาที่ทั้งเหนียว ลึก และลื่น 

 

ภายในงานแค่คนจะเดินกันก็ลำบากแล้ว ไม่ต้องพูดถึงรถยนต์ที่ถ้าฝ่าเข้ามาถึงอย่างไรก็ต้องติดหล่ม ทำให้ผู้ที่มาร่วมงานติดแหง็ก ออกไปไหนไม่ได้ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรถ้ามันเป็นเทศกาลดนตรีเล็กๆ แต่ความจริงก็คือ พื้นที่จัดงาน Burning Man ที่มีสภาพเป็นโคลนนี้กว้างถึง 4,000 เอเคอร์ หรือ 10,120 ไร่! และมีคนติดอยู่ในทะเลโคลนนี้ราว 70,000 คนด้วยกัน!

 

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เทศกาลสุดชิคได้แปรสภาพเป็นฝันร้ายของใครหลายคน ห้องน้ำสาธารณะเต็ม สกปรก และกระดาษชำระหมด เพราะรถที่ให้บริการกำจัดของเสียและทำความสะอาดเข้ามาไม่ได้ ผู้จัดงานเริ่มประกาศให้ทุกคนประหยัดน้ำและอาหาร เพราะพวกเขาอาจติดอยู่ที่นี่อีกหลายวันกว่าที่โคลนจะแห้งพอให้สามารถเดินทางออกไปได้ แม้หลายคนจะทำใจยอมรับสภาพ เพราะ ‘ทำอะไรไม่ได้’ แต่หลายคนก็เริ่มแพนิก โดย Burners หรือผู้ที่มาร่วมงานจำนวนหนึ่ง ยอมฝ่าโคลนลึกเดินเท้ากว่า 10 กิโลเมตร เพื่อไปหาโบกรถบนถนนที่ใกล้ที่สุด 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นเรียกว่าแทบจะลบภาพจำของเทศกาลสุดเก๋ที่ใครๆ ก็อยากจะไปสัมผัสไปแบบหมดเกลี้ยง ถึงขั้นที่มีสื่อต่างประเทศกล่าวว่า ‘สิ่งที่ดีที่สุดในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ คุณไม่ได้ไปอยู่ในเทศกาล Burning Man’

 

เทศกาล Burning Man คืออะไร

 

แม้ในช่วงต้น THE STANDARD จะให้นิยามว่า Burning Man เป็นเทศกาลศิลปะและวัฒนธรรม แต่แท้ที่จริงแล้วเทศกาลที่จัดขึ้นนี้มีนัยที่ลึกซึ้งกว่านั้น โดยผู้จัดได้ให้นิยามว่า มันเป็นงานที่สร้างระบบนิเวศใหม่ ซึ่งหลอมรวมศิลปิน นักสร้างสรรค์ และคณะผู้จัดงานที่เกี่ยวข้องกับการรังสรรค์ผลงานศิลปะ กิจกรรม และความคิดริเริ่มใหม่ๆ จากทั่วโลกมาไว้ด้วยกัน

 

ถ้าถามว่าชื่อ Burning Man หรือแปลเป็นภาษาไทยแบบโต้งๆ ว่า ‘ชายที่กำลังถูกแผดเผา’ มาจากอะไร ก็ต้องเล่าแบบนี้ว่า กิจกรรมที่เป็นไฮไลต์สำคัญที่สุดของงานนี้คือ การเผาหุ่นไม้ขนาดยักษ์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ผู้ชายชื่อว่า ‘The Man’ ในค่ำคืนสุดท้าย อันเป็นสัญญาณว่าเทศกาลนี้ได้ปิดฉากลงอย่างงดงามแล้วนั่นเอง 

 

เทศกาล Burning man นั้นจะต่างกับงานเฟสติวัลหรือเทศกาลดนตรีที่เราคุ้นชินกันในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน แต่ผู้คนที่ซื้อบัตรเข้ามาจะมีการตั้งแคมป์นอนกลางดินกินกลางทรายกันจริงๆ โดยจะมีการรังสรรค์เมืองแห่งใหม่ขึ้นมาคล้ายๆ เป็นชุมชนเสมือนจริงกลางทะเลทรายที่มีชื่อว่า Black Rock City มีหมู่บ้านต่างๆ มีประชากร และมีกฎในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นเรื่องราว โดยแต่ละคนก็จะมาร่วมกันแสดงพลังไอเดียของงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นงานอินสตอลเลชัน งานประติมากรรม คอสตูม หรือแม้กระทั่งรถยนต์หน้าตาแปลกๆ 

 

เทศกาลสุดชิคนี้ก่อตั้งขึ้นโดย ลาร์รี ฮาร์วี และ เจอร์รี เจมส์ ตั้งแต่เมื่อปี 1986 หรือกว่า 37 ปีมาแล้ว โดยครั้งแรกของเทศกาลมีคนมาเข้าร่วมเพียง 35 คนเท่านั้น ก่อนที่ตัวเทศกาลจะได้รับความนิยมมากขึ้น ขยายใหญ่ขึ้น จนกระทั่งมีผู้มาเข้าร่วมงานเหยียบแสนรายในแต่ละปี

 

และภายในเทศกาลนี้ก็จะไม่มีการใช้เงินกันเลยแม้แต่ดอลลาร์เดียว (ยกเว้นค่าบัตรเข้างานและค่าธรรมเนียมสำหรับรถยนต์) เพราะสิ่งที่ผู้คนจะร่วมทำกันคือ การสร้าง ‘เศรษฐกิจของขวัญ’ หรือก็คือการมอบสิ่งของและบริการให้กันแบบฟรีๆ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน หรืออาจจะเป็นในลักษณะของการแลกเปลี่ยนสิ่งของซึ่งกันและกัน ถือเป็นสังคมในอุดมคติที่ไม่มีในโลกแห่งความเป็นจริง

 

สำหรับปี 2023 เทศกาล Burning Man จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 4 กันยายน โดยมีค่าตั๋วเข้างานสนนราคาอยู่ที่ 575 ดอลลาร์ คำนวณเป็นเงินไทยแล้วอยู่ที่ประมาณ 20,360 บาท แต่สำนักข่าว CNBC ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายจริงๆ ของเหล่า Burners ซึ่งมีจุกจิกมากมายนั้นรวมๆ แล้วอาจสูงถึง 1,500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 53,100 บาทต่อคน เพราะอย่าลืมว่าเมื่อมาอยู่กันยาวๆ ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับแคมป์ที่พัก การเดินทาง ของกินที่ต้องตุนมา และเครื่องแต่งกายชิคๆ นี่ยังไม่นับรวมไปถึงงานอาร์ตหรือการดัดแปลงรถยนต์ที่มีค่าใช้จ่ายสูงอีก

 

งานจัดขึ้นที่ไหน

 

หากย้อนกลับไปเมื่อ 37 ปีก่อน เทศกาล Burning Man จัดขึ้นเป็นครั้งแรกบนชายหาดเบเกอร์ รัฐซานฟรานซิสโก โดยเป็นงานแบบเล็กๆ แต่พอช่วงหลังปี 1990 ก็ย้ายมาจัดที่กลางทะเลทรายแบล็กร็อก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐเนวาดา พร้อมกับความนิยมที่ตามมา

 

ที่ตั้งของงานนี้อยู่ห่างจากเมืองใหญ่ๆ ของรัฐอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น มันอยู่ห่างจากเมืองรีโน ไปทางเหนือถึงราว 227 กิโลเมตร โดยพื้นที่จัดงานนี้จะถูกเรียกว่า พลายา (Playa) แต่ในปีนี้ทุกคนพร้อมใจเสริมคำคุณศัพท์เพิ่มไปข้างหน้าอีกตัวคือ ‘Wet Playa’ หรือพลายาแฉะๆ หลังจากที่ฝนกระหน่ำลงมา

 

เกิดอะไรขึ้นกับ Burning Man 2023

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา สิ่งที่ทุกคนไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อจู่ๆ ก็มีฝนตกลงมาห่าใหญ่บนพลายา วัดปริมาณน้ำฝนได้ 13 มิลลิเมตร ขณะที่ผู้คนเหยียบแสนกำลังเมามันอยู่ในงานเทศกาล ทั้งๆ ที่ปกติแล้วพื้นที่แห่งนี้จะมีอากาศที่ค่อนข้างแห้ง

 

ข้อมูลจาก มาร์ก ดอยท์เชนดอร์ฟ นักอุตุนิยมวิทยาจากกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า สำหรับในเมืองรีโนที่อยู่ห่างออกไป ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งเดือนกันยายนปกติจะอยู่ที่เพียง 5.4 มิลลิเมตรเท่านั้น โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกพื้นที่ไล่ตั้งแต่เมืองรีโนยาวไปจนถึงทะเลทรายแบล็กร็อก มีปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติไปเกินเท่าตัว ทั้งๆ ที่เดือนกันยายนเพิ่งดำเนินมาได้แค่ไม่กี่วัน

 

ฝนที่ตกลงมาเปลี่ยนสภาพทะเลทรายให้กลายเป็นทะเลโคลน ขณะที่ทางคณะผู้จัดมีคำสั่งปิดถนนเข้า-ออกงานตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ เนื่องจากรถไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้เพราะจะติดหล่ม ขณะที่กิจกรรมเผาหุ่น The Man อันเป็นไฮไลต์สำคัญที่มีกำหนดเปิดฉากขึ้นในคืนวันเสาร์ ก็เป็นอันต้องล่มไป โดยมีผู้คนราว 70,000 คนที่ติดอยู่ในงาน

 

นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า มีผู้เสียชีวิต 1 คนในงานดังกล่าว เบื้องต้นมีการเปิดเผยรายละเอียดว่า เป็นชายอายุประมาณ 40 ปี แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ระบุสาเหตุของการเสียชีวิต เนื่องจากยังคงอยู่ในขั้นตอนการสืบสวน แต่ถึงเช่นนั้นก็ย้ำว่า การเสียชีวิตของชายคนดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

 

ต้องเท้าความกลับไปก่อนว่า นับตั้งแต่ปี 1997 เทศกาล Burning Man ได้สั่งห้ามไม่ให้เหล่า Burners นำรถและรถกระบะเข้ามาใช้ในชุมชนจำลอง โดยผู้ที่มาเยี่ยมชมงานสามารถขับรถเข้ามาจอดในแคมป์เพื่อขนของได้ และต้องขับออกไปด้านนอก แต่ในเทศกาลจะไม่มีการใช้รถยนต์เลย เหล่า Burners จะสัญจรไปมาด้วยการเดินเท้าและปั่นจักรยานเท่านั้น 

 

แต่ก็มีข้อยกเว้นให้กับสถานการณ์พิเศษบางอย่าง เช่น เจ้าหน้าที่ดูแลหน้างานที่จำเป็นต้องใช้รถยนต์หรือยานยนต์ที่ให้บริการอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงรถยนต์ดัดแปลงที่ไว้แสดงผลงานศิลปะ ก็จะอนุโลมให้สามารถลาดตระเวนบริเวณเทศกาลได้ โดยผู้จัดให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้ผู้ที่ตั้งแคมป์บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์

 

คนทยอยหนีออกจากงาน

 

หลังจากที่ถนนปิด ผู้คนบางส่วนที่คิดว่า ‘ฉันอยู่ไม่ไหวแล้ว’ เลือกที่จะเดินย่ำโคลนออกมาตั้งช่วงสุดสัปดาห์ หลายคนเลือกเดินเท้าเปล่า บ้างก็เอาถุงพลาสติกใหญ่ๆ มาหุ้มเท้า เพื่อที่เท้าจะไม่ติดโคลนมากนัก ขณะที่สำนักข่าว AFP ได้สัมภาษณ์ชายรายหนึ่งที่เปิดใจว่า เขาต้องเดินฝ่าโคลนตมกว่า 10 กิโลเมตรจนขาแข็ง กว่าจะมาถึงถนนที่ใกล้ที่สุดร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ 

 

ส่วนคนที่ยังไม่ออกมาจากบริเวณงาน คณะผู้จัดก็ได้เตือนให้พวกเขาประหยัดอาหารและน้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้นานพอจนกว่าที่พื้นจะแห้งและสามารถเดินทางออกไปได้

 

DJ Diplo ดีเจดังของสหรัฐฯ ซึ่งไปร่วมงานดังกล่าวด้วย โพสต์วิดีโอลงบน Instagram เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (2 กันยายน) ว่า ตัวเขาและ คริส ร็อก นักแสดงตลกชื่อดัง ยอมเดินเท้าอยู่นานหลายชั่วโมงรวมระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร เพื่อออกจากพื้นที่ ก่อนที่จะบังเอิญเจอคนบนถนนซึ่งจำได้ว่าพวกเขาเป็นคนดัง และอาสารับขึ้นรถกระบะไปส่ง

 

สถานการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไร

 

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (4 กันยายน) ผู้จัดงาน Burning Man ได้ประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามใช้ยานยนต์แล้ว เพื่อเปิดทางให้มีการอพยพขนานใหญ่บนทะเลทรายแบล็กร็อก หลังจากที่สภาพอากาศในพื้นที่ทางตะวันตกของเนวาดากลับมามีแดดออกและแห้งขึ้นแล้ว โดยสำนักข่าว CNN ได้ส่งโดรนขึ้นบินสำรวจพื้นที่ เผยให้เห็นภาพของคาราวานยานยนต์ขนาดใหญ่แล่นเป็นทางยาวอยู่บนถนนใกล้เคียง เพื่อพยายามเดินทางออก

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันอาทิตย์ (3 กันยายน) คณะผู้จัดรายงานว่า มีคนที่ติดอยู่ในงาน 72,000 คนด้วยกัน แต่ในช่วงครึ่งวันเช้าของวานนี้ จำนวนคนที่ยังติดอยู่ในงานลดลงมาเหลือที่ประมาณ 64,000 คนแล้ว

 

แม้ปัจจุบันสถานการณ์ทะเลโคลนจะเริ่มดีขึ้นและถนนก็เริ่มแห้งขึ้นแล้ว แต่ผู้จัดยังคงย้ำว่า พื้นที่ทะเลทรายแบล็กร็อกในหลายส่วนยังมีสภาพชื้นแฉะ เต็มไปด้วยโคลน และเดินทางสัญจรยากอยู่เช่นเดิม ผู้ที่ขับขี่รถยนต์รวมถึงผู้ที่กำลังจะเดินทางออกนั้นควรใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง และควรเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ ด้วยความใจเย็น

 

นอกจากนี้ผู้จัดยังแนะนำให้เหล่า Burners ที่ยังพอจะรอไหว พิจารณาเคลื่อนตัวจากพื้นที่ในวันนี้ (5 กันยายน) ต่อเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้การจราจรแออัดจนเกินไป เพราะเมื่อช่วงเย็นวานนี้กว่าที่คาราวานรถจะออกจากทะเลทรายได้นั้นใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมงครึ่งเลยทีเดียว

 

โลกรวนเปลี่ยนทะเลทรายกลายเป็นบ่อโคลน

 

แม้ว่าคุณจะซื้อตั๋วราคากว่า 20,000 บาทเพื่อสนุกกับงานระยะเวลาเพียงแค่ 8 วัน แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ธรรมชาติจะต้องเห็นใจ

 

ไมเคิล แมนน์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาโลกศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า เหตุสภาพอากาศสุดขั้วที่เป็นผลมาจากภาวะโลกรวน ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนที่เทกระหน่ำลงในรัฐทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลานี้ของปี

 

“เราคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักในช่วงฤดูร้อนบริเวณภูมิภาคนี้ โดยมรสุมฤดูร้อนตะวันตกเฉียงใต้จะทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางสภาพอากาศที่อบอุ่น”

 

พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ มีสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นกว่าปกติในปีนี้ โดย NASA Earth Observatory ใช้คำคุณศัพท์อธิบายภาพคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นว่า ‘ไม่ปรานีปราศรัย’ (Relentless) กับมนุษย์เอาเสียเลย และยิ่งโลกร้อนขึ้นเท่าไร ปริมาณน้ำฝนก็มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยมีรายงานว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้ความชื้นในบรรยากาศเพิ่มขึ้นถึง 7%

 

“อากาศที่อุ่นขึ้นนั้นจะกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น และเมื่อใดก็ตามที่เกิดสภาพการณ์ซึ่งเอื้อให้เกิดฝนตกเหมือนดังเช่นในฤดูมรสุม ปริมาณน้ำฝนจึงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ” แมนน์กล่าว

 

และเมื่อฝนตกลงบนสถานที่จัดงาน Burning Man ขนาด 4,000 เอเคอร์ มันจึงทำให้เกิดปัญหาใหญ่ เพราะพื้นที่ของทะเลทรายแบล็กร็อก ‘ประกอบด้วยดินประเภทที่สร้างชั้นโคลนได้เมื่อเจอกับน้ำ’ โดยเทศกาลในปีนี้ประกาศให้คนมาตั้งแคมป์ล่าช้ากว่าปกติด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เผชิญกับสภาพฟ้าฝนไม่เป็นใจจากอิทธิเฮอริเคนฮิลารี ขณะที่มีผลวิจัยที่บ่งชี้ว่า พลายามักจะกลายสภาพเป็นบ่อโคลนในฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนจะตกลงมาในบริเวณดังกล่าว

 

ภาพ: Julie Jammot / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising