×

ทำไมผู้หญิงควรเลิกนั่งไขว่ห้าง และผู้ชายควรเลิกนั่งทับกระเป๋าสตางค์

23.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • เมื่อหัวเข่าถูกกดทับด้วยของหนักเป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป สิ่งที่ตามมาคือเข่าข้างนั้นต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อแบกรับน้ำหนักของอีกข้าง ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะยืน เดิน หรือทรงตัว บางคนปวดสะโพกขณะเดินหรือปวดตอนนอนตะแคงทับด้านที่มีปัญหา เสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่าย และอาจทำให้กระดูกสันหลังคดหรือโค้งงอได้
  • Wallet Syndrome เกิดจากการนั่งทับกระเป๋าสตางค์เป็นประจำจนสะโพกด้านที่คุณนั่งทับกระเป๋าอยู่สูงกว่าอีกข้าง ส่งผลให้เกิดการกดทับกล้ามเนื้อ รบกวนเส้นประสาท จนบางครั้งก่อให้เกิดอาการปวดบริเวณสะโพก ก่อนปวดร้าวไปทั้งขา อีกทั้งยังทำให้ปวดหลัง ปวดเอว และคอได้อีกด้วย

ปัญหาของคนยุคปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่ออฟฟิศซินโดรม หรือคอ บ่า ไหล่ทรุด เนื่องจากก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือ แต่พฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ทำกันจนเป็นปกติอย่างการนั่งไขว่ห้างหรือนั่งทับกระเป๋าสตางค์ก็ล้วนส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน ไม่ต่างจากพฤติกรรมเนือยนิ่งที่เอาแต่นั่งๆ นอนๆ เลย

 

 

สาวๆ จ๋า อย่าทำ อย่าทำ

แม้การนั่งไขว่ห้างจะเป็นท่านั่งที่ทรงอำนาจหรือนั่งสบายจนติดเป็นนิสัยไปแล้วสำหรับบางคน หารู้ไม่ว่าการนั่งไขว้ขาที่ต้องเอาขาข้างหนึ่งพาดทับขาอีกข้างส่งผลต่อร่างกายมากกว่าที่คิด เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราอยากให้คุณสำรวจท่านี้ไปพร้อมๆ กันด้วยการนั่งไขว่ห้างหน้ากระจก จากนั้นมองหาจุดกึ่งกลางที่แบ่งระหว่างร่างกายซีกซ้ายและขวา

 

จากจุดนี้ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าจุดที่คุณพาดทับคือหัวเข่าอีกข้าง ซึ่งเมื่อหัวเข่าถูกกดทับด้วยของหนักเป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป สิ่งที่ตามมาคือเข่าข้างนั้นต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อแบกรับน้ำหนักของอีกข้าง และเมื่อไล่สายตาขึ้นมาจนถึงระดับสะโพก จะเห็นว่าสะโพกของคุณไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกัน เพราะสะโพกด้านหนึ่งเอียงขึ้น (ด้านที่ขาอยู่ข้างบน) ซึ่งต่างจากการนั่งเอาขาลงทั้งสองข้างที่สะโพกของคุณอยู่ในแนวเดียวกันอย่างเป็นธรรมชาติ

 

ความไม่เท่ากันนี่เองที่ก่อให้เกิดปัญหา เนื่องจากกล้ามเนื้อสะโพกด้านใน (Hip Adduction หรือต้นขาด้านใน) เกิดการตึงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กล้ามเนื้อสะโพกด้านนอก (Hip Abductor หรือต้นขาด้านนอก) อ่อนแรง สิ่งที่ตามมาคือกล้ามเนื้อไม่สมดุล (Muscle Imbalance) ทั้งทางด้านความแข็งแรงและการตึงเกร็ง ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะยืน เดิน หรือทรงตัว บางคนปวดสะโพกขณะเดินหรือปวดตอนนอนตะแคงทับด้านที่มีปัญหา เสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่าย และอาจทำให้กระดูกสันหลังคดหรือโค้งงอได้ หรือหลายครั้งที่เราได้ยินคนบ่นว่านั่งไขว่ห้างแล้วปวดเอว นั่นเป็นเพราะเวลานั่งท่านี้แล้วกระดูกเชิงกรานของคุณจะหมุนเข้า ซึ่งกระดูกชิ้นนี้เป็นส่วนที่รองรับกระดูกสันหลังและคอ เมื่อมันอยู่ผิดรูปไปนานๆ ย่อมเกิดอาการปวดหลัง ปวดคอตามมา และถ้านั่งจนติดเป็นนิสัย วันดีคืนดีเกิดอาการขาตาย ก้าวไม่ออกก็มีให้เห็นมาแล้ว ต้องแก้ด้วยการทำกายภาพบำบัดให้วุ่นวายทั้งเวลาและเงินทอง    

 

 

เลิกได้ไหม อย่านั่งทับ

คุณอาจเคยได้ยินคนแนะนำว่าอย่าพกกระเป๋าสตางค์ตุงๆ เพราะมันดูไม่ดี แต่ไม่เคยมีใครบอกคุณว่าการนั่งทับกระเป๋าสตางค์จะทำให้สุขภาพของคุณพัง หรือที่รู้จักกันในชื่อ Wallet Syndrome

 

เราอยากให้คุณลองหากระเป๋าสตางค์มาใส่ไว้ที่กระเป๋าหลังแล้วนั่งทับ จากนั้นส่องกระจกสำรวจตัวเองดูว่าร่างกายทั้งสองฝั่งมีอะไรต่างกันไหม เราเฉลยให้ก็ได้ว่าสะโพกด้านที่คุณนั่งทับกระเป๋าสตางค์จะอยู่สูงกว่าอีกข้าง ส่งผลให้เกิดการกดทับกล้ามเนื้อ Piriformis หรือกล้ามเนื้อก้น รบกวนเส้นประสาท Sciatic จนบางครั้งก่อให้เกิดภาวะ Sciatica ซึ่งเป็นภาวะที่เริ่มจากการปวดบริเวณสะโพก ก่อนปวดร้าวไปทั้งขา โรคนี้ใครเป็นจะรู้ดีว่าทรมานขนาดไหน อีกทั้งยังทำให้ปวดหลัง ปวดเอว และคอได้อีกด้วย ซ้ำร้ายยังเสี่ยงต่อโรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis หรือกระดูกสันหลังคดเป็นตัว S แทนที่จะเป็นเส้นตรง) จนเสียบุคลิก เพราะคุณจะยืนเหมือนคนยักไหล่ข้างหนึ่งตลอดเวลา  

 

 

นอกจากนี้การนั่งทับกระเป๋าสตางค์ยังบังคับให้คุณต้องนั่งหลังค่อมแทนที่จะนั่งตัวตรงๆ กลายเป็นว่าร่างกายท่อนบนก็พลอยพังไปด้วย กรณีนี้ผู้เขียนเคยพยายามย้ายกระเป๋าสตางค์มาไว้กระเป๋าหน้า ปรากฏว่าไปไม่รอดเช่นกัน เพราะเปลี่ยนมากดทับบริเวณต้นขาหน้าแทน บางครั้งดึงรั้งจนขาชาไปเลยก็มี ดังนั้นทางแก้คือหากรู้ว่าต้องนั่งนานๆ อย่างการนั่งทำงานหรือขับรถ ควรเอากระเป๋าสตางค์และมือถือออกมาไว้ข้างตัวแทนการใส่ในกางเกง   

 

สิ่งเล็กๆ เหล่านี้แม้ฟังดูไม่เป็นสาระสำคัญ แต่หากสะสมไปนานๆ อาจสายเกินแก้ เพราะร่างกายคนเราทำงานเกี่ยวพันกันหมด เป็นฟันเฟืองที่ทุกชิ้นมีความสำคัญ ดังนั้นต่อให้น็อตเพียงตัวเดียวมีปัญหาก็ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลได้ ถ้าไม่ระวัง  

 

ภาพประกอบ: Pantitra H., Tanya S.

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X