×

เทคโนโลยี VAR ‘ผู้ตัดสินวิดีโอ’ ฮีโร่หรือผู้ทำลายเสน่ห์เกมกีฬา?

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • VAR หรือ Video Assistant Referee คือระบบการตัดสินโดยใช้ภาพรีเพลย์หรือไฮไลต์การแข่งขัน โดยใช้ผู้ตัดสิน 2 คนประจำอยู่หน้าจอโทรทัศน์สื่อสารกับผู้ตัดสินที่หนึ่งกลางสนาม
  • นักฟุตบอลบางคนกลัวว่าการเรียกดูรีเพลย์ของการแข่งขันอาจทำลายความลื่นไหลของเกมซึ่งเป็นหัวใจหลักของฟุตบอล
  • VAR ยังอยู่ในช่วงทดลอง แต่กัลโช เซเรีย อา อิตาลี ในฤดูกาล 2018-2019 และฟุตบอลโลกปี 2018 ที่ประเทศรัสเซียเตรียมใช้งาน VAR อย่างเต็มตัว

     ฟุตบอลยุโรปประจำฤดูกาล 2016-2017 ต่างก็ได้บทสรุปเป็นที่เรียบร้อย แต่สิ่งที่คนในวงการฟุตบอลกำลังเฝ้าติดตามต่อจากนี้คือการนำเทคโนโลยี VAR (Video Assistant Referee) หรือ ‘ผู้ตัดสินวิดีโอ’ ที่ฟีฟ่าเตรียมใช้ในศึกฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียมาใช้

 

จานนี่ อินฟานติโน่ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหลังการแถลงข่าวทดลองการใช้งานของระบบ Video Assistant Referee (VAR) ที่สนาม ซาน นิโคลา เมืองบารี ประเทศอิตาลีเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2016

 
เทคโนโลยี VAR คืออะไร

     เทคโนโลยี VAR คือการใช้ภาพวิดีโอเพื่อช่วยกรรมการในสนามตัดสินเกมได้อย่างแม่นยำ โดยการใช้เทคโนโลยีนี้จะมีผู้ตัดสิน 2 คนประจำการอยู่ในห้องส่งและข้างสนาม ซึ่งมีจอมอนิเตอร์ ลิงก์สัญญาณจากกล้องถ่ายทอดสดความละเอียดสูงมาให้ดู เมื่อผู้ตัดสินในสนามสงสัยในบางจังหวะก็สามารถติดต่อให้ผู้ตัดสินในห้องมอนิเตอร์เช็กภาพ ก่อนอธิบายเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกลับไปยังกรรมการในสนามที่เป็นผู้ตัดสิน

     เทคโนโลยีนี้ถูกนำมาทดลองใช้ครั้งแรกในศึกฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกปี 2016 แต่ได้รับเสียงวิจารณ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการทำลายสิ่งที่เป็นเสน่ห์ของฟุตบอล นั่นคือความลื่นไหลของเกม เนื่องจากกรรมการจำเป็นต้องหยุดเวลาและเรียกดูภาพช้าจากผู้ตัดสินวิดีโอ ทำให้หลายฝ่ายไม่ค่อยปลื้มกับเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้เท่าไรนัก ถึงแม้ว่าการใช้งาน VAR จะช่วยให้กรรมการสามารถตัดสินได้อย่างแม่นยำขึ้นก็ตาม

 

ผู้ตัดสินรอฟังคำแนะนำจากกรรมการที่เฝ้าดูระบบ VAR ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลสโมสรชิงแชมป์โลก รอบรองชนะเลิศระหว่าง อัตเลติโก นาซิอองนาล กับ คาชิม่า แอดเลอร์ ที่โอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2016

 

VAR สร้างความยุติธรรมหรือทำลายเสน่ห์เกมฟุตบอล

     อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีนี้ได้นำมาทดลองใช้งานอีกครั้งในแมตช์อุ่นเครื่องระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน ซึ่งผลการแข่งขัน สเปนเป็นฝ่ายชนะไป 2-0 และในระหว่างการแข่งขัน กรรมการก็ได้เรียกใช้งาน VAR ถึง 2 ครั้งเพื่อกลับคำตัดสินล้ำหน้าของ อองตวน กรีซมันน์ ศูนย์หน้าชาวฝรั่งเศส และจังหวะทำประตูของเคราร์ด เดวโลเฟว นักเตะทีมชาติสเปน ที่กรรมการไม่มั่นใจว่าล้ำหน้าหรือไม่ แต่เมื่อดูภาพจากวิดีโอเห็นว่าไม่ล้ำ จึงตัดสินให้เป็นประตู

     หลังเกมนี้ เสียงของนักเตะและโค้ชแตกออกเป็นสองฝั่ง ดิดิเยร์ เดสชองส์ กุนซือทีมชาติฝรั่งเศสออกมายอมรับว่า VAR นำความยุติธรรมมาสู่ฟุตบอล ถึงแม้ว่าความยุติธรรมนั้นจะตัดสินตรงข้ามกับทีมเขาก็ตาม ขณะที่เควิน กาเมโร และ อูโก โยริส นักเตะทีมชาติฝรั่งเศสมองว่า VAR นั้นกำลังทำลายเสน่ห์ของฟุตบอล โดยเฉพาะจังหวะการยิงประตูที่ทำให้นักเตะต้องมารอกรรมการตรวจสอบวิดีโอก่อนที่จะฉลองประตูได้

     ซึ่งข้อถกเถียงของทั้งนักเตะและโค้ชได้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง 2 ด้านที่ VAR อาจจะนำมาสู่วงการฟุตบอล

     นั่นก็คือการตัดสินที่ยุติธรรม และจังหวะของเกมที่เปลี่ยนไป

 

ระบบ VAR ที่ตั้งไว้ข้างสนามก่อนการแข่งขันฟุตบอลสโมสรชิงแชมป์โลกรอบรองชนะเลิศระหว่าง เรอัล มาดริด และ คลับ อเมริกา ที่ สนามอินเตอร์เนชันแนล สเตเดี้ยม หรือนิสสัน สเตเดี้ยม ในเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2016

 

ผู้ตัดสินวิดีโอไม่ใช่เรื่องใหม่ เทนนิสก็ใช้ อเมริกันฟุตบอลก็มี

     ก่อนหน้านี้กีฬาอย่างแบดมินตัน เทนนิส ฮอกกี้น้ำแข็ง อเมริกันฟุตบอล และรักบี้ ที่มีผู้คนชื่นชอบติดตามจากความลื่นไหลและตื่นเต้นของเกมไม่ต่างกับฟุตบอลได้นำเทคโนโลยีภาพรีเพลย์มาใช้กันแล้วทั้งสิ้น

     โดยกีฬารักบี้นั้นใช้คำว่า TMO หรือ Television Match Official ผู้ตัดสินผ่านระบบวิดีโอก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยในรักบี้ชิงแชมป์โลกปี 2015 มีการเรียกใช้ TMO ถึง 132 ครั้ง ส่งผลให้ระยะเวลาของเกมนานกว่ากำหนดและ TMO ขัดจังหวะเกมอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ได้มีการเรียกร้องให้ยุติบทบาทของ TMO แต่ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการใช้งานอย่างต่อเนื่อง

     แต่กีฬาเทนนิสได้รับประโยชน์จากการใช้วิดีโอรีเพลย์ช่วยตัดสินเป็นอย่างมากในการตัดสินว่าลูกลงเส้นหรือลูกออก เพื่อไม่ให้นักเทนนิสต้องมาตะคอกใส่กรรมการที่ตัดสินพลาดในบางครั้ง นอกจากนี้เทคโนโลยี Hawk-eye ที่ใช้กล้องจากหลายมุมเพื่อสร้างภาพรีเพลย์สามมิติยังสามารถตรวจจับความเร็วของลูกเพื่อช่วยให้นักกีฬาได้บันทึกศักยภาพของตัวเองระหว่างแข่งขันได้อีกด้วย

     ขณะที่อเมริกันฟุตบอลในระบบรีเพลย์ รีวิว ได้ช่วยให้กรรมการตัดสินได้อย่างแม่นยำขึ้น ถึงขั้นแฟนกีฬาได้เรียกร้องให้มีภาพช้าจากหลายมุมมากขึ้นระหว่างแข่งขัน โดยในปี 2016 จังหวะเพลย์ 345 ครั้งถูกผู้ตัดสินเรียกดูรีเพลย์ ผลคือกรรมการย้อนคำตัดสินหลังดูรีเพลย์ถึงร้อยละ 43 เท่ากับว่าระบบรีเพลย์ช่วยป้องกันไม่ให้ NFL ตัดสินพลาดถึง 149 ครั้ง

 

Photo: Major League Soccer

 

เมื่อลีกฟุตบอลชั้นนำ ฟุตบอลโลก 2018 ตอบรับ VAR อะไรคือความน่าเป็นห่วง

     ฟุตบอลคือกีฬาที่มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลทั้งการทุ่มทุนสร้างทีมตั้งแต่สนามแข่งยันค่าจ้างโค้ชและนักเตะ แน่นอนว่าทั้งผู้ลงทุนและแฟนกีฬาต่างก็ต้องการชมกีฬาที่สนุกสนาน ลื่นไหล และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการแข่งขันกันแบบแฟร์ๆ

     ปัจจุบันเทคโนโลยี VAR ได้รับการตอบรับจากผู้บริหารลีกฟุตบอลอย่างเอลีก ลีกฟุตบอลสูงสุดของออสเตรเลีย เป็นชาติแรกที่นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการแข่งขัน ส่วนกัลโช เซเรีย อา อิตาลี ก็พร้อมนำมาใช้งานในฤดูกาล 2017-2018 เช่นเดียวกับเมเจอร์ลีก ซอกเกอร์ สหรัฐฯ และบุนเดสลีกา เยอรมัน ก็กำลังพิจารณาและมีแนวโน้มว่าจะนำมาใช้เช่นกัน ส่วนทางฟีฟ่าก็ได้เตรียมผลักดันให้มีการเปิดตัวเทคโนโลยีนี้ในฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียอย่างแน่นอนแล้ว

     แต่คำถามสำคัญคือ ระยะเวลาในการปรับปรุงระบบการทำงาน โดย ESPN สื่อกีฬาชื่อดังจากสหรัฐฯ มองว่า VAR นั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโลกฟุตบอลจริง แต่เทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในช่วงทดลองใช้งานและต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอีกมาก ซึ่งขั้นตอนในการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎข้อบังคับต่างๆ ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ต้องผ่านที่ประชุม FIFA Congress ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในเดือนมีนาคมของทุกปี

     เท่ากับว่าหากระบบ VAR ได้เริ่มต้นใช้งานจริงในฤดูกาล 2017-2018 การปรับปรุงหรือแก้ไขระบบก็จำเป็นต้องรอการประชุมใหญ่อีกครั้งในเดือนมีนาคม 2019 เนื่องจากเดือนมีนาคม 2018 ฟุตบอลในยุโรปยังไม่ปิดฤดูกาล เพื่อเตรียมไว้สำหรับฟุตบอลฤดูกาลปี 2019-2020 หรือใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงและเปลี่ยนระบบถึง 2 ปีต่อ 1 ครั้ง

     ซึ่งในจุดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ระบบ VAR จะพบเจอ เนื่องจากหากระบบไม่ประสบความสำเร็จหรือต้องปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน แฟนบอล นักฟุตบอล ผู้ตัดสิน และผู้บริหารของฟีฟ่าจะมีความอดทนเพียงพอเพื่อนำความยุติธรรมมาสู่ฟุตบอลผ่านระบบ VAR นี้ได้หรือไม่

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

     – www.goo.gl/dBJded

     – www.on.si.com/2sESY6q

     – www.goo.gl/c4wQji

     – www.goo.gl/8NRjYf

     – www.goo.gl/AbIJyO

     – www.goo.gl/s9lc4K

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising