×

ม.หอการค้าไทย คาดพื้นที่ปลูกและผลผลิตทุเรียนไทยพุ่งกว่าเท่าตัวภายใน 5 ปี แนะจับตา 10 ปัจจัยเสี่ยงกดดันราคาตก

07.06.2022
  • LOADING...
DURI

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย (Durian Risk Index: DURI) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อประเมินสถานการณ์ทุเรียนไทย โดยพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงประกอบด้วย มาตรการ Zero-COVID, การขนส่ง, ผลผลิตไทย, ความสัมพันธ์ไทย-จีน, คุณภาพทุเรียนผลผลิตเพื่อนบ้าน, การผูกขาดของพ่อค้าคนกลาง, แรงงาน, การสวมสิทธิ์ทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน และสภาพภูมิอากาศ โดยพบว่าดัชนี DURI ปี 2562-2569 มีค่าเท่ากับ 46, 47, 52, 51, 54, 57, 55 และ 60 ตามลำดับ สะท้อนว่าสถานการณ์ทุเรียนปี 2562-2563 มีความเสี่ยงน้อย แต่อีก 5 ปีข้างหน้ายังมีความเสี่ยงสูง

 

อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน จาก 6 แสนไร่ เป็น 9 แสนไร่ ซึ่งส่งผลให้มีผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้น จาก 5 แสนตันต่อปี เป็น 1.3 ล้านตันต่อปี 

 

อย่างไรก็ดี การที่ราคาทุเรียนปรับตัวดีขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 121.4 บาทต่อกิโลกรัม ก็ทำให้เกษตรกรจำนวนมากมีการโค่นพืชชนิดอื่น เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แล้วหันมาปลูกทุเรียนแทน

 

ทั้งนี้จากการประเมินของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศฯ คาดว่าพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านไร่ในปี 2566, 1.3 ล้านไร่ในปี 2567, 1.6  ล้านไร่ในปี 2568 และ 1.8 ล้านไร่ในปี 2569 ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตทุเรียนปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านตัน, 2 ล้านตัน, 2.5 ล้านตัน และ 2.9 ล้านตันตามลำดับ 

 

จากแนวโน้มพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตทุเรียนที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินทิศทางราคาทุเรียนไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้าเอาไว้เป็นฉากทัศน์ต่างๆ ดังนี้ 

 

  1. ราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวน (เฉลี่ยทั้งประเทศ) ในปี 2569 ประมาณ 149 บาทต่อกิโลกรัม ราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวน เฉลี่ยในปี 2565-2569 ประมาณ 136 บาทต่อกิโลกรัม

 

  1. กรณีที่จีนนำเข้าทุเรียนไทยน้อยกว่า 10% ราคาขายส่งทุเรียนหมอนทองไทย ณ ตลาดเจียงหนาน ปี 2569 ประมาณ 312 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเฉลี่ยราคาในปี 2565-2569 ประมาณ 271 บาทต่อกิโลกรัม

 

  1. กรณีที่จีนนำเข้าทุเรียนไทยเพิ่ม 10-15% ราคาขายส่งทุเรียนหมอนทองไทย ณ ตลาดเจียงหนาน ปี 2569 ประมาณ 362 บาทต่อกิโลกรัม เฉลี่ยราคาในปี 2565-2569 ประมาณ 313 บาทต่อกิโลกรัม

 

  1. กรณีที่จีนนำเข้าทุเรียนไทยเพิ่มมากกว่า 15% ราคาขายส่งทุเรียนหมอนทองไทย ณ ตลาดเจียงหนาน ปี 2569 ประมาณ 417 บาทต่อกิโลกรัม เฉลี่ยราคาในปี 2565-2569 ประมาณ 361 บาทต่อกิโลกรัม

 

  1. ราคาตามดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย (DURI) ราคาขายส่งทุเรียนหมอนทองไทย ณ ตลาดเจียงหนาน ปี 2569 ประมาณ 238 บาทต่อกิโลกรัม เฉลี่ยราคาในปี 2565-2569 ประมาณ 212 บาทต่อกิโลกรัม

 

“จะเห็นว่าส่วนต่างของราคาทุเรียนในกรณีที่จีนนำเข้าทุเรียนไทยเพิ่ม กับกรณีที่ประเมินตามดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทยต่างกันเป็นร้อยบาท สะท้อนถึงความเสี่ยงที่สูงของตลาดทุเรียนในช่วง 5 ปีข้างหน้า” อัทธ์กล่าว

 

อัทธ์กล่าวอีกว่า โอกาสที่ทุเรียนไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าจะปังหรือพัง ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1. ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับจีน 2. ผู้บริโภคจีนมีความต้องการสูง 3. คุณภาพทุเรียนดี ไม่มีทุเรียนอ่อน

 

ขณะเดียวกันไทยจะต้องระมัดระวัง 10 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อตลาดทุเรียน ได้แก่ 1. ความสัมพันธ์ไทย-จีนมีปัญหา 2. คุณภาพของทุเรียนอ่อน/แก่เกินไป 3. ทุเรียนจากจีนและประเทศเพื่อนบ้าน 4. สวมสิทธิ์ทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน 5. การขนส่งมีปัญหา 6. ตลาดถูกควบคุมโดยล้ง 7. สภาพภูมิอากาศ 8. ขาดแคลนแรงงาน 9. โรคระบาด 10. ผลผลิตไทยเพิ่มมากขึ้น

 

“หากเราสามารถบริหารจัดการ 10 ปัจจัยเสี่ยงนี้ได้ดี โอกาสที่ทุเรียนจะเป็นสินค้าเกษตรส่งออกเบอร์ 1 ของไทยต่อไปก็จะมีสูง แต่ถ้าปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เรากังวลเกิดขึ้น โอกาสที่มูลค่าของตลาดทุเรียนจะลดลงก็มีสูง ซึ่งหากให้ประเมินตอนนี้ โอกาสที่ตลาดทุเรียนไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าจะปังน่าจะอยู่ที่ 50% และพังอยู่ที่ 30%” อัทธ์ระบุ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising