×

แม้หลายประเทศเคลื่อนไหวเพิ่มสกุลเงินทางเลือก แต่ ‘ดอลลาร์สหรัฐ’ ยังคงครองตลาดโลก

25.04.2023
  • LOADING...
ดอลลาร์สหรัฐ

สถานีโทรทัศน์ CNBC เผยรายงานอ้างอิงความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ที่ระบุว่า เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวในหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่บราซิลไปจนถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการดำเนินการค้าขายในสกุลเงินอื่นๆ นอกเหนือจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเลิกพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อการค้า 

 

ทั้งนี้ ดอลลาร์สหรัฐถือเป็นสกุลเงินหลักที่ครองตลาดการค้าโลกมานานหลายทศวรรษ ซึ่งสาเหตุไม่ใช่เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ยังเป็นผลสืบเนื่องจากการที่น้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กทั้งหมดทั่วโลก มีราคาซื้อขายอิงกับสกุลเงินดอลลาร์ ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่มีราคาและซื้อขายในสกุลเงินดอลลาร์เช่นกัน 

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างได้รับบทเรียนสำคัญ จากการปรับเปลี่ยนนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีให้หลังที่ Fed เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ จนทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลออก และการอ่อนค่าลงอย่างมากของสกุลเงินของตนเอง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง​: 


 

Cedric Chehab จาก Fitch Solutions กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้การกระจายการถือครองสกุลเงินสำรองไปยังพอร์ตการลงทุนหลายสกุลเงินมากขึ้นมีความจำเป็น และจะช่วยลดแรงกดดันดังกล่าวต่อภาคส่วนภายนอกได้

 

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า พลวัตทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงกำลังผลักดันแนวโน้มที่เรียกว่าการลดการพึ่งพาค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นในหลายๆ ด้าน โดย Marcos Caramuru อดีตเอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศจีน ชี้ว่า การซื้อขายในสกุลเงินท้องถิ่น “ช่วยให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสมดุลกับความเสี่ยง มีทางเลือกมากขึ้นในการลงทุน มีความแน่นอนมากขึ้นเกี่ยวกับรายได้และยอดขาย”

 

ด้าน Mark Tinker จาก ToscaFund Hong Kong กล่าวเมื่อต้นเดือนเมษายนว่า ประโยชน์อีกประการหนึ่งสำหรับประเทศต่างๆ ที่เลิกใช้เงินดอลลาร์ในฐานะตัวกลางในการค้าทวิภาคีคือ “ช่วยให้ประเทศเหล่านี้ขยับสถานะเพิ่มขึ้นในระบบห่วงโซ่มูลค่าบนเวทีโลก” พร้อมกับชี้ว่า การเติบโตของสหรัฐฯ ไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป เพราะประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็มีการเติบโตเช่นกัน 

 

ในขณะเดียวกัน การเติบโตของกลุ่มเศรษฐกิจนอกสหรัฐฯ ยังกระตุ้นให้เศรษฐกิจเหล่านี้ผลักดันการใช้สกุลเงินของตนให้กว้างขึ้น โดย IMF ประมาณการว่าเอเชียสามารถมีส่วนร่วมมากกว่า 70% ในการเติบโตทั่วโลกในปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามในหลายประเทศ โดยเฉพาะในจีน ที่มีความเคลื่อนไหวเพื่อหวังลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างชัดเจน และหันมาค้าขายด้วยสกุลเงินหยวนเพิ่มมากขึ้น กระนั้น มีข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่า สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงครองตลาดทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลก แม้ว่าส่วนแบ่งในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางจะลดลงจากกว่า 70% ในปี 1999 ก็ตาม 

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Currency Composition of Foreign Exchange Reserves (COFER) ของ IMF ระบุว่า ดอลลาร์สหรัฐคิดเป็น 58.36% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั่วโลกในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 ขณะที่เงินยูโรตามมาเป็นอันดับที่ 2 คิดเป็นประมาณ 20.5% ของทุนสำรองระหว่างประเทศ ส่วนเงินหยวนของจีน ซึ่งมีความพยายามอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็มีสัดส่วนเพียง 2.7%

 

อย่างไรก็ตาม จีนมีโอกาสที่จะผลักดันสนับสนุนการใช้สกุลเงินหยวนให้เพิ่มมากขึ้นได้ โดยจากการคำนวณข้อมูลของ IMF เกี่ยวกับทิศทางการค้าในปี 2025 ของ CNBC จีนแผ่นดินใหญ่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดทั้งด้านการนำเข้าและส่งออกของ 61 ประเทศทั่วโลกเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของ 30 ประเทศ

 

Chehab กล่าวกับ CNBC เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การที่เศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าจีนจะมีอิทธิพลมากขึ้นในสถาบันการเงินระดับโลกและการค้า มากจนกระทั่งเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ได้เช่นกัน

 

ปัจจุบันจีนซึ่งเคยเป็นผู้ถือครองสกุลเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อันดับที่ 2 ของโลก ได้ปรับลดการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า จีนมีการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มูลค่าเกือบ 849,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X