วันนี้ (10 สิงหาคม) ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะให้พลเมืองหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังอิสราเอล ฝรั่งเศส ไทย ไอซ์แลนด์ และอีกหลายประเทศ เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดอย่างหนัก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง
โดย CDC ได้แบ่งประเทศต่างๆ และอาจรวมถึงบางดินแดนในประชาคมโลก เป็น 5 กลุ่มหลักๆ ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดและข้อมูลที่ทางการสหรัฐฯ มี ได้แก่ กลุ่ม Level Unknown ที่ไม่ทราบสถานสถานการณ์แน่ชัด ก่อนที่จะไล่ระดับจากกลุ่ม Level 1 (สีเหลือง) การแพร่ระบาดต่ำ อยู่ในช่วงที่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้แล้ว ไปจนถึงกลุ่ม Level 4 (สีแดงเข้ม) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการแพร่ระบาดสูงมาก ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงเวลานี้
ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 74 ประเทศขณะนี้ที่ได้รับการจัดอันดับจากทางการสหรัฐฯ ให้อยู่ในกลุ่ม Level 4 กลุ่มประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิดรุนแรง ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางมายังประเทศไทยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดครบโดสแล้ว เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ การเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงที่อาจจะเสียชีวิตจากโรคระบาด แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะเข้ารับวัคซีนครบโดสแล้ว ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อโควิดได้ โดยเฉพาะเชื้อกลายพันธ์ุอย่างสายพันธุ์เดลตา
โดยเพื่อนบ้านของไทยอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเมียนมา ก็ได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศ Level 4 นี้ด้วย ขณะที่กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนามอยู่ในกลุ่ม Level 3 (สีแดง) กลุ่มประเทศที่มีการแพร่ระบาดสูง ผู้ที่ยังไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนควรเลี่ยงการเดินทางหากไม่จำเป็น ส่วนสิงคโปร์อยู่ในกลุ่ม Level 2 (สีส้ม) กลุ่มประเทศที่มีการแพร่ระบาดปานกลาง ผู้ที่ยังไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อหากเดินทางไปยังประเทศกลุ่มนี้
มีเพียงบรูไนและลาวที่อยู่ในกลุ่ม Level 1 (สีเหลือง) กลุ่มประเทศที่มีการแพร่ระบาดต่ำ รวมกับประเทศและดินแดนอื่นๆ รวม 43 แห่ง เช่น ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ไนจีเรีย โปแลนด์ และไต้หวัน ส่วนประเทศที่ได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่ม Level Unknown (สีเทา) เช่น เกาหลีเหนือ มาเก๊า ซีเรีย ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน เวเนซุเอลา และซีเรีย
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ไทย–เวียดนาม ประเทศที่มีดัชนีฟื้นตัวจากโควิดต่ำสุด โดย Nikkei COVID-19 Recovery Index: กรกฎาคม 2021
- สำรวจแนวทางการใช้วัคซีน mRNA เป็น ‘วัคซีนเข็มที่ 3’ ในประเทศที่ใช้วัคซีน Sinovac
- สำรวจ ‘วัคซีนเข็มกระตุ้น’ หรือ ‘วัคซีนเข็มที่ 3’ ที่น่าสนใจในประชาคมโลก
- เปรียบเทียบประสิทธิภาพล่าสุด วัคซีน Sinovac vs. Pfizer-BioNTech ในชิลี
- โควิด-19 กลายพันธ์ุสายพันธ์ุต่างๆ มีชื่อเรียกใหม่ว่าอย่างไร
- สำรวจราคาวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก โดสละเท่าไร
- ผลข้างเคียงวัคซีนต้านโควิด-19 ในประชาคมโลก อาการเป็นอย่างไรบ้าง
- เช็กประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุด
ภาพ: Sam Wordley / Shutterstock
อ้างอิง: