×

เปิด 5 เหตุผลที่เปิดทางให้ผู้เชี่ยวชาญมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2024 ในเชิงบวก

02.01.2024
  • LOADING...

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีนักในปี 2023 แต่อย่างน้อยที่สุดบรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย รวมถึง Justin Wolfers ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ต่างเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาก็ไม่ถือว่าเลวร้าย เพราะจากที่คาดว่าจะเผชิญกับภาวะถดถอยอย่างรุนแรง กลับกลายเป็น Soft Landing และมีการฟื้นฟูอย่างน่าทึ่ง แสดงให้เห็นความอึดและถึกของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา 

 

สำหรับในปี 2024 ที่เพิ่งจะเริ่มต้นมาได้เพียง 2 วัน เหล่านักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่าปีนี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นไปในทางบวกมากขึ้น มีความหวังมากขึ้น และขยับขยายเติบโตไปข้างหน้าได้มากขึ้น 

 

โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายมากมาย ตั้งแต่สงครามอิสราเอล-ฮามาส ไปจนถึงตลาดที่อยู่อาศัยที่มีราคาตกต่ำ แต่อย่างน้อยก็มี 5 เหตุผลหลักที่ทำให้นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นไปในทางบวก 

 

เหตุผลแรกสุดก็คืออัตราเงินเฟ้อที่ชะลอความร้อนแรงลงอย่างมีนัยสำคัญ และปี 2024 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่บรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนในตลาด Wall Street เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงอีก หลังจากทุบสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปีเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2022 

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะชะลอตัวได้อย่างรวดเร็วมากน้อยแค่ไหน โดยขณะนี้มาตรวัดเงินเฟ้ออย่างดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.1% แต่ก็ถือว่าลดลงอย่างมากจาก 9.1% ในเดือนมิถุนายน 2022 

 

ด้าน Mark Zandi หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Moody’s Analytics คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาใกล้เป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ภายในสิ้นปี 2024 

 

เหตุผลประการที่สองคือการประกาศชัยชนะเหนือเงินเฟ้อของ Fed ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการตัดสินใจระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขนาดใหญ่ซึ่งคุกคามต่อเศรษฐกิจตกต่ำและทำให้นักลงทุนวิตกกังวล พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ถือเป็นตัวแทนผลลัพธ์การประกาศชัยชนะในสงครามเงินเฟ้อครั้งนี้ 

 

ด้าน Zandi ประเมินว่า Fed น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ โดยน่าจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างจริงจังในช่วงเดือนพฤษภาคม ขณะที่รายงานของ Goldman Sachs คาดว่า Fed จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยคลายแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ลดต้นทุนในการจำนองบ้าน การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ และการชำระหนี้บัตรเครดิต 

 

เหตุผลประการที่สามคือการที่ปีนี้จะเป็นปีทองของหุ้น หรือ Blockbuster year for stocks โดยอัตราเงินเฟ้อที่ลดความร้อนแรงลง ความหวาดกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จางหายไป และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่กำลังเกิดขึ้น กระตุ้นให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนอย่างคึกคักในตลาด Wall Street อีกครั้ง 

 

สำหรับมุมมองทางบวกของหุ้นได้แรงหนุนจากการที่หุ้นสหรัฐฯ ปิดท้ายปี 2023 ด้วยการปรับตัวพุ่งขึ้นอย่างถล่มทลาย โดยดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้นมา 9 สัปดาห์ก่อนสิ้นปี ซึ่งเป็นการชนะติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2004 ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 43% แม้จะพลาดปีที่ดีที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษไปอย่างหวุดหวิดก็ตาม 

 

แม้ว่าตลาด Wall Street จะไม่ใช่ภาพสะท้อนเศรษฐกิจทั้งหมด แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมองว่าในกรณีนี้การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสะท้อนถึงการมองโลกในแง่ดีเป็นส่วนใหญ่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และความเชื่อมั่นใน Soft Landing ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับ Wall Street และ Main Street

 

เหตุผลประการที่สี่คือการเลิกจ้างงานในอัตราต่ำมาก (Extraordinarily low layoffs) โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่าแม้ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่เพียง 3.7% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบครึ่งศตวรรษ 

 

ขณะเดียวกันการขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกซึ่งเป็นตัวแทนของการเลิกจ้างยังคงต่ำเป็นประวัติการณ์เพียง 218,000 ราย ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่านายจ้างจำนวนมากไม่เต็มใจที่จะปล่อยคนงานที่พวกเขามีให้หลุดลอยไป ดังนั้นหากแนวโน้มการเลิกจ้างงานระดับต่ำยังคงอยู่ ก็จะส่งผลสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดย Zandi ย้ำว่า ตราบใดที่การเลิกจ้างยังค่อนข้างต่ำ เศรษฐกิจก็น่าจะไปได้สวย 

 

สำหรับเหตุผลประการสุดท้ายคือเงินเดือนมากกว่าราคาค่าครองชีพ (Paychecks over prices) โดยผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า หลังจากโควิด การฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากราคาที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าเช็คเงินเดือน ซึ่งหมายถึงการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างจริงไม่ทันกับการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ทำให้การใช้จ่ายลดลงและเศรษฐกิจหดตัวลง 

 

อย่างไรก็ตาม เทรนด์ดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไป เนื่องจากเงินเฟ้อเริ่มลดลง ทำให้ตัวเลขเงินเดือนกลับมาเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้ง Zandi และ Wolfers ต่างแสดงทัศนคติในแง่ดีว่าการเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริงจะได้รับแรงผลักดันในปี 2024 กล่าวคือ เมื่อเวลาผ่านไปและอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ รายได้จะไล่ตามและแซงหน้าอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ผู้คนรู้สึกดีและมีความเชื่อมั่นที่จะจับจ่ายมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงคุกคามหลายอย่าง เหล่านักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายสรุปว่า ต่อให้เป็นปีที่มีแนวโน้มบวกมากมาย นักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลายยังคงต้องใช้ความระมัดระวังรอบคอบให้มาก รวมถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารและหมั่นบริหารความเสี่ยงอยู่เสมอ เพื่อลดผลกระทบทางลบจากเหตุไม่คาดฝัน 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising