×

โฆษกศาลยุติธรรมแจง ความเห็นแย้งหัวหน้าศาล-อธิบดีศาลที่ให้ยกฟ้องลุงพลคดีน้องชมพู่จะถูกส่งไปศาลอุทธรณ์ ส่วนจะมีน้ำหนักเปลี่ยนคดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับองค์คณะ

โดย THE STANDARD TEAM
21.12.2023
  • LOADING...
ลุงพล

วันนี้ (21 ธันวาคม) สรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยกรณีศาลชั้นต้นจังหวัดมุกดาหาร สั่งจำคุก ไชย์พล วิภา หรือลุงพล จำเลยคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ จำนวน 20 ปี ว่า สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนที่ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ที่ตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าควรยกฟ้อง (เห็นแย้ง)​ เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์มีข้อสงสัย ส่วนคำเห็นแย้งก็จะแนบในสำนวนคำพิพากษา เมื่อเวลาคดีขึ้นสู่การพิจารณาศาลอุทธรณ์ องค์คณะศาลอุทธรณ์ก็จะเห็นทั้งตัวคำพิพากษาศาลชั้นต้นและความเห็นแย้ง 

 

ซึ่งทางองค์คณะศาลอุทธรณ์ก็จะเอาข้อมูลทั้งหมดในสำนวนมาประกอบในการพิจารณาทำคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ แต่ความเห็นแย้งดังกล่าวคงไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยนคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์โดยตรง เพราะตัวความเห็นหลักยังเป็นความเห็นขององค์คณะผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เพราะองค์คณะผู้พิพากษาเป็นคนสืบพยาน เป็นผู้ที่เห็นข้อเท็จจริงในตอนที่พยานมาเบิกความ 

 

สรวิศกล่าวต่อว่า ส่วนน้ำหนักความเห็นแย้งจะมีมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับมุมมองขององค์คณะผู้พิพากษาชั้นอุทธรณ์ หากยังเห็นคล้อยไปตามเสียงข้างมากขององค์คณะผู้พิพากษา ก็เป็นดุลพินิจของศาลในชั้นอุทธรณ์ที่จะต้องวิเคราะห์วินิจฉัยจากข้อเท็จจริงจากคำเบิกความที่รับฟังมา ทั้งพยานเบิกความมา จากพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาประกอบกัน

 

สรวิศกล่าวย้ำว่า ในการบังคับบัญชาของผู้พิพากษาหรือตุลาการไม่เหมือนกับข้าราชการฝ่ายอื่น เพราะถึงแม้ว่าโดยสายของการบังคับบัญชาในองค์กร ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะจะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าศาล อธิบดีผู้พิพากษา แต่การบังคับบัญชาไม่มีผลต่อการพิพากษาคดี เพราะหลักการพิพากษาคดีเป็นอิสระ ไม่ว่าจะเป็นอิสระจากการแทรกแซงทั้งภายนอกและภายใน 

 

ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลพินิจในการพิพากษาออกไปได้ โดยที่ไม่ได้เน้นผลของการบังคับบัญชา แต่ในฐานะที่หัวหน้าและอธิบดีศาลเป็นผู้รับผิดชอบราชการในงานของศาลนั้น ก็มีส่วนในการดูแลความเรียบร้อยของศาลที่อยู่ในการดูแลอยู่แล้ว 

 

ส่วนการที่หัวหน้าศาลและอธิบดีศาลภาคมีความเห็นแย้งจะต้องไปนั่งบัลลังก์ด้วยหรือไม่นั้น ระบุว่าเป็นคนละกรณีกัน กรณีที่ไปนั่งในห้องพิจารณาถือเป็นคณะส่วนหนึ่งในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ปกติแล้วคนที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้จะต้องเป็นองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้นมาแต่ต้น หรือได้รับการแต่งตั้งเข้ามาแทนที่กรณีสุดวิสัย แต่อำนาจในการตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้งเป็นอำนาจเพิ่มเติมที่รัฐธรรมนูญศาลยุติธรรมกำหนดมาให้หัวหน้าศาล อธิบดีผู้พิพากษา หรือประธานศาล แม้จะไม่ได้นั่งพิจารณาเอง แต่ในฐานะที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูศาล ก็สามารถตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้งไว้ได้ หากเห็นว่าเป็นกรณีที่สมควรต้องทำความเห็นแย้งไว้ 

 

ส่วนความเห็นแย้งของอธิบดีศาลและหัวหน้าศาลมีความสงสัยตามสมควร จึงเห็นควรยกประโยชน์ให้จำเลยตรงนี้จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์หรือไม่ สรวิศระบุว่า คงไม่ได้เป็นประโยชน์โดยตรง เพราะความเห็นแย้งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นความเห็นแย้งของเสียงข้างมากในคดีนั้น ดังนั้นผลของคำพิพากษาตัวคำความเห็นแย้งตรงนี้ไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนแปลงของคำพิพากษาโดยตรง เพียงแต่เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาในชั้นสูงขึ้นไป 

 

และเรื่องการยกประโยชน์แห่งความสงสัยเป็นเงื่อนไขปกติในกฎหมาย ซึ่งในคดีอาญาหลายคดีก็ต้องพิจารณาอยู่แล้วว่า พยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบมามีเหตุทำให้วิญญูชนทั่วไปเกิดความสงสัยได้หรือไม่ว่าตัวจำเลยหรือผู้ต้องหากระทำความผิดจริง ซึ่งพยานหลักฐานเหล่านี้ที่ผู้ทำความเห็นแย้งดูเป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกัน เพียงแต่บางจุดหรือข้อเท็จจริงบางส่วนอาจจะมีมุมมองที่เห็นต่างกันได้ แต่ในการวินิจฉัยมีหลักอยู่แล้วตามเงื่อนไขของกฎหมาย หากมีเหตุสงสัยสามารถยกประโยชน์ให้จำเลยได้ 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising