อัตราเงินเฟ้ออังกฤษแผ่วจากระดับสูงสุดรอบ 41 ปี เหลือ 10.7% ในเดือนพฤศจิกายน เหตุราคาเชื้อเพลิงและรถยนต์มือสองลดลง ส่งสัญญาณวิกฤตเลวร้ายสุดผ่านพ้นไปแล้ว
วันนี้ (14 ธันวาคม) สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 10.7% จากปีก่อนหน้า ลดลงจากระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ที่ระดับ 11.1% ในเดือนตุลาคม และต่ำกว่าคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษในเดือนที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้น 10.9% บ่งชี้ว่า วิกฤตค่าครองชีพครั้งเลวร้ายที่สุดของสหราชอาณาจักรกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว
อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อเดือนที่ผ่านมา อาจไม่ช่วยเปลี่ยนแนวทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เนื่องจากเจ้าหน้าที่ BOE คาดว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศน่าจะยังคงสูงกว่าเป้าหมาย 2% ไปจนถึงปี 2024 แม้ว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยก็ตาม
Suren Thiru ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์จาก Institute of Chartered Accountants ในอังกฤษและเวลส์ กล่าวว่า แม้ว่าตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่เงินเฟ้อก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างแท้จริงต่อผู้คนและภาคธุรกิจ และด้วยแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ดูเป็นวงกว้างมากขึ้น จังหวะของการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ BOE น่าจะดำเนินไปอย่างช้าๆ
โดยตลาดคาดการณ์ว่า BOE น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 9 ในรอบปี ในวันพฤหัสบดีนี้ (15 ธันวาคม) เพื่อพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้ฝังรากลึก
เจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอังกฤษ กล่าวในถ้อยแถลงว่า ตนรับรู้ว่าครอบครัวและธุรกิจต่างๆ ในสหราชอาณาจักรกำลังประสบกับความยากลำบาก พร้อมทั้งย้ำว่าการทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงเพื่อให้ค่าจ้างของผู้คนเพิ่มขึ้น เป็นวาระสำคัญที่สุดของตน
โดยอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันและรถยนต์มือสองที่ลดลง รวมถึงราคายาสูบ เสื้อผ้า เกมคอมพิวเตอร์ และราคาที่พักโรงแรม
ขณะที่ Yael Selfin หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก KPMG คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังคงดำเนินต่อไปในวิถีขาลง และกลับสู่เป้าหมายของ BOE ที่ 2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 แต่ก็มีความเสี่ยงที่ภาวะเงินเฟ้อสูงอาจคงอยู่ต่อไปด้วย เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นถูกส่งต่อไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงต่ำกว่าเป้าหมายได้
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาพลังงาน อาหาร แอลกอฮอล์ และยาสูบ ชะลอตัวลง โดยเพิ่มขึ้น 6.3% ในเดือนพฤศจิกายนจาก 6.5% ในเดือนตุลาคม
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อภาคบริการยังคงทรงตัวที่ระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี อยู่ที่ 6.3% ทำให้เกิดความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมายจะยังคงอยู่ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รายงานชี้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยสกัดเงินเฟ้อ ตราบใดที่การใช้จ่ายภาครัฐยังอยู่ในระดับสูง
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ ‘หดตัว’ สองไตรมาสต่อเนื่อง เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ขณะที่ NBER ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ
อ้างอิง: