×

ผลสำรวจเผยบริการรถร่วมเดินทางแก้รถติดได้ 60% อูเบอร์หนุนคนใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น

07.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • อูเบอร์ (Uber) ผู้ให้บริการร่วมเดินทางหรือไรด์แชริ่ง (ride sharing) จากสหรัฐอเมริกาเปิดเผยผลสำรวจว่า คนไทยเสียเวลากับปัญหารถติดเฉลี่ย 72 นาทีต่อวัน และในหนึ่งปีคนกรุงเทพฯ จะเสียเวลาเฉลี่ย 24 วันกับปัญหารถติดและการหาที่จอดรถ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 2-5% ของ GDP ทั้งประเทศ
  • บริการร่วมเดินทางจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรแออัดได้เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นการส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีอยู่ดั้งเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยจะลดปริมาณรถบนถนนในเมืองได้ถึง 60%

     จากการเก็บข้อมูลโดย TomTom บริษัทผู้พัฒนาระบบนำทาง GPS ในเนเธอร์แลนด์พบว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีอัตราการจราจรสะสมหนาแน่นสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีระดับอัตราความหนาแน่นเฉลี่ยอยู่ที่ 61% ขณะที่อัตราความหนาแน่นบนท้องถนนในช่วงพีกตอนเช้าและค่ำอยู่ที่ 91% และ 118% ตามลำดับ เป็นรองเพียงแค่เมืองเม็กซิโกซิตีในประเทศเม็กซิโกเท่านั้น (ข้อมูลล่าสุดนับจนถึงวันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน 2560)

     ข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องการจราจรจริง และก็ดูเหมือนว่าเราไม่น่าจะแก้ปัญหานี้ได้ในเร็วๆ นี้แน่นอน!

     ด้านอูเบอร์ (Uber) ผู้ให้บริการร่วมเดินทางหรือไรด์แชริ่งจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทยกว่า 3 ปี (พ.ศ. 2557) เผยผลสำรวจจากการเก็บข้อมูลในไทยว่า

  • คนไทยเสียเวลากับปัญหารถติดเฉลี่ย 72 นาทีต่อวัน

  • ในหนึ่งปีคนกรุงเทพฯ จะเสียเวลาเฉลี่ย 24 วันกับปัญหารถติดและการหาที่จอดรถ ซึ่งค่าเสียเวลานี้คิดเป็นมูลค่าความเสียประมาณ 2-5% ของ GDP ทั้งประเทศ

  • ช่วงเวลาเร่งด่วน กรุงเทพฯ จะมีรถติดมากกว่าเดิม 2 เท่าของช่วงเวลาปกติและมีรถอยู่บนถนนมากถึง 160% ของปริมาณรถที่ถนนควรจะมี

  • ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีจำนวนรถมากถึง 5.8 ล้านคัน โดยการจะหาที่จอดรถให้เพียงพอต่อปริมาณรถดังกล่าวจะต้องใช้พื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิถึง 8 สนามบิน

     จากสถิติข้อมูลนี้ อูเบอร์เชื่อว่าบริการร่วมเดินทางจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรแออัดได้เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นการส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีอยู่ดั้งเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยจะลดปริมาณรถบนถนนในเมืองได้ถึง 60% เลยทีเดียว

ไรด์แชริ่งไม่ได้เข้ามาแย่งผู้โดยสารบริการรถสาธารณะ แต่เข้ามาช่วยส่งเสริมให้การเดินทางเกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

     ต้องบอกว่าตั้งแต่บริการจำพวกไรด์แชริ่งหรือรถร่วมเดินทางจำพวกอูเบอร์ และแกร็บ (Grab) เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทยก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หลากหลาย เพราะฝั่งผู้ใช้บริการก็บอกว่าตัวเองได้รับประโยชน์จากบริการรูปแบบนี้และถือเป็นตัวเลือกในการเดินทาง แต่ผู้ให้บริการหน้าเก่าเช่นเเท็กซี่กลับบอกว่าไรด์แชริ่งเป็นบริการผิดกฎหมาย ทั้งยังเข้ามา disrupt การประกอบอาชีพและแย่งลูกค้าของพวกเขาไปอย่างไม่เป็นธรรม

     ศิริภา จึงสวัสดิ์ ผู้จัดการอูเบอร์ไทยกล่าวภายในงาน Unlocking Bangkok ที่จัดขึ้นวันนี้ว่า บริการร่วมเดินทางจะช่วยให้ผู้คนเดินทางด้วยกันได้โดยใช้รถยนต์น้อยลง (carpool) ผ่านการนำสถิติข้อมูลต่างๆ ขึ้นมาประกอบเพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเชิงบวกที่จะเกิดขึ้นจากบริการร่วมเดินทาง เช่น การช่วยลดจำนวนรถยนต์ในกรุงเทพฯ ได้ถึง 60%

     เธอบอกว่า “ทางออกที่ดีของการแก้ปัญหาการเดินทางในกรุงเทพฯ คือการใช้บริการร่วมเดินทางกับระบบการขนส่งมวลชนร่วมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ปัญหารถติดและการหาที่จอดรถยาก”

     ไม่ต่างจาก มาเรียม จาฟฟาร์ กรรมการผู้จัดการ The Boston Consulting Group บริษัทรับให้คำปรึกษาข้อมูลด้านธุรกิจที่เห็นด้วยว่าประเทศต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งสาธารณะร่วมกับบริการร่วมเดินทางเพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรภายในประเทศได้

     เพราะไม่ว่าแต่ละประเทศจะลงทุนพัฒนาโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้นแค่ไหนก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วปริมาณความต้องการของผู้บริโภคในการเดินทางก็จะสูงขึ้นจนระบบขนส่งสาธารณะตามไม่ทันอยู่ดี โดยมาเรียมบอกว่าในปี 2561 ที่จะถึงนี้ ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มประเทศอาเซียนในการเดินทางจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 50% โดยวิธีที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้คือการเพิ่มระยะทางการเดินทางจาก ‘สินทรัพย์เดิม’ หรือบริการร่วมเดินทางที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเชิงการให้บริการที่มากกว่า โดยเธอยังได้ยกประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากบริการร่วมเดินทางจำนวน 5 ข้อดังนี้

     1. ความต้องการในการซื้อรถยนต์จะน้อยลง มีการสำรวจว่า 10-40% ของผู้ที่คิดจะซื้อรถใน 10 เมืองใหญ่ในหลายๆ ประเทศยินดีจะหันมาใช้บริการร่วมเดินทางแทนที่การซื้อรถยนต์ใหม่สักคัน

     2. จำนวนผู้โดยสารต่อคันมากขึ้น จากการเก็บข้อมูลพบว่าคนกรุงเทพฯ โดยเฉลี่ยจะใช้รถยนต์ประมาณ 2.1 คนต่อรถ 1 คัน แต่การใช้รถร่วมเดินทางจะทำให้เกิดการใช้ประสิทธิภาพจากรถยนต์มากขึ้นถึง 1.7 เท่า และจะเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดหากเป็นไรด์แชริ่งแบบ carpool ที่มีผู้ใช้บริการต่อรถยนต์หนึ่งคันใน 1 ทริปการเดินทางมากกว่า 1 คนขึ้นไป

     3. อัตราการใช้ยานพาหนะต่อกิโลเมตรมีประสิทธิภาพดีขึ้น ข้อมูลที่น่าสนใจระบุว่าในซานฟรานซิสโก จำนวนกิโลเมตรที่ยานพาหนะในโครงการไรด์แชริ่งวิ่งโดย ‘ไม่มีผู้โดยสาร’ น้อยกว่ายานพาหนะจำพวกแท็กซี่ถึงครึ่งหนึ่ง

     4. ช่วยส่งเสริมบริการรถสาธารณะ 40% ของผู้โดยสารในสหรัฐอเมริกา นิยมใช้ทั้งระบบขนส่งสาธารณะควบคู่กับบริการไรด์แชริ่ง

     5. ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของระยะเวลาในการลงทุน การหันมาใช้ไรด์แชริ่งมากขึ้นจะช่วยสร้างประโยชน์ทางอ้อมให้ภาครัฐสามารถปรับโครงสร้างขั้นพื้นฐานของระบบขนส่งมวลชนภายในประเทศได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

     ทั้งนี้มาเรียมมองว่าการจะส่งเสริมให้บริการร่วมเดินทางสามารถสร้างประโยชน์ให้พลเมืองในแต่ละประเทศ และแก้ไขปัญหาการจราจรได้จริงนั้นจะต้องเกิดความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและฝั่งเอกชนเสียก่อน

     ส่วน ภูรี สิรสุนทร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าประเทศไทยคุ้นเคยกับวัฒนธรรมการแบ่งปันมาต้ังแต่อดีตแล้ว พอยุคสมัยเปลี่ยนไปการแบ่งปันก็เกิดการวิวัฒนาการจนเกิดเป็นเศรษฐกิจแบบแบ่งปันหรือ ‘sharing economy’ ในที่สุดนั่นเอง โดยสิ่งที่จะช่วยเศรษฐกิจรูปแบบนี้เดินหน้าได้อย่างจริงจังก็คือเทคโนโลยี

     อาจารย์ภูรีมองว่าบริการร่วมเดินทางซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของธุรกิจเศรษฐกิจแบ่งปันจะสร้างประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้ในหลายๆ ด้าน ทั้งตัวผู้โดยสารเองที่จะได้ประโยชน์จากการเปรียบเทียบราคาผู้ให้บริการแต่ละราย ฝั่งผู้ให้บริการเองที่มีเเรงจูงใจและทางเลือกให้ตัวเองมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยก็จะได้รับประโยชน์จากการแก้ไขปัญหาการจราจรด้วย

     มากไปกว่านั้นเศรษฐกิจแบบแบ่งปันยังมีการเก็บ ‘ข้อมูล’ จากทั้งผู้ให้บริการและผู้บริโภค ซึ่งตรงกับแนวคิดที่ ศุภกร สิทธิไชย ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) กล่าวบนเวทีสัมมนา ว่าข้อมูลนี่แหละที่เป็นกุญแจสำคัญช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองธรรมดาๆ ไปสู่เมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ได้

     ปัจจุบันสถานะของบริการรถร่วมเดินทางในประเทศไทยยังไม่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ ศิริภา จึงสวัสดิ์ ก็ให้ข้อมูลความคืบหน้าเพิ่มเติมว่า ณ ขณะนี้ขั้นตอนการรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นเรื่องรับรองให้ไรด์แชริ่งถูกต้องตามกฎหมายถือว่าดำเนินการไปได้ด้วยดีแล้ว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising