×

พายุ ‘บารีจัต-มังคุด’ เข้าจีน กระทบไทยฝนตกหนัก เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง-เขื่อนน้ำมาก

โดย THE STANDARD TEAM
12.09.2018
  • LOADING...

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศระบุว่า เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันนี้ (12 ก.ย.) พายุโซนร้อน ‘บารีจัต’ บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 20.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.0 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนผ่านเกาะฮ่องกงและเกาะไหหลำ ประเทศจีน ในช่วงวันที่ 13-14 กันยายน 2561 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

       

สำหรับพายุไต้ฝุ่น ‘มังคุด’ บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกมีแนวโน้มการเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ และเกาะไต้หวัน ในช่วงวันที่ 14-15 กันยายน 2561 หลังจากนั้นจะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน และเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 16-18 กันยายน 2561 ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

 

ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่ม

       

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 13-18 กันยายน 2561 ไว้ด้วย

      

วันเดียวกันนี้ นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยว่า ศูนย์เฉพาะกิจฯ ประเมินสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังฝนตกหนัก เนื่องจากอิทธิพลพายุดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายขอบของประเทศบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันตก ที่อาจได้รับผลกระทบในพื้นที่เดิม รวมถึงเขื่อนต่างๆ ที่ยังมีปริมาณน้ำมากกว่าเกณฑ์ควบคุมหรือเต็มในขณะนี้ ซึ่งอาจจะมีน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการระบายจากอ่างเก็บเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำซ้ำพื้นที่น้ำท่วมบริเวณเดิม เช่น เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเตรียมแผนรองรับล่วงหน้าด้วย

 

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ในการป้องกันสาธารณภัยบรรเทาผลกระทบ และการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบล่วงหน้าให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising