×

ทีทีบี ประเมินหนี้เสียทั้งระบบพุ่งต่อ หลังสิ้นสุดมาตรการของแบงก์ชาติ ขณะที่ดอกเบี้ยระดับสูงเพิ่มภาระผู้บริโภค ส่งผลยอดการยึดรถ-บ้านเพิ่ม

05.03.2024
  • LOADING...

ทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี (ttb) เดินหน้ายกระดับ 4 กลุ่มลูกค้า ระบุหนี้ครัวเรือน-ดอกเบี้ยสูงเพิ่มภาระหนี้ผู้บริโภค ส่งผลยอดการยึดรถยนต์-บ้านทะยานต่อ พร้อมประเมิน NPL ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มต่อเนื่อง 

 

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี (ttb) เปิดเผยว่า ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบยังมีทิศทางปรับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สิ้นสุดลง ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูง จึงเป็นปีที่ยากลำบากของลูกหนี้

 

และจากทิศทางดังกล่าว สอดคล้องกับหนี้เสียของธนาคารที่คาดว่าจะขยับเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ยังอยู่ในกรอบบริหารจัดการได้ที่ระดับ 2.9% และคาดว่าอัตราการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 150% ซึ่งเพียงพอรองรับสถานการณ์ระยะข้างหน้า และถือว่าสูงเมื่อเทียบกับระบบที่เกิน 120% ประกอบกับโจทย์ใหญ่ของธนาคารปีนี้คือการช่วยเหลือลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ และลดภาระหนี้ของลูกค้าผ่านการรวบหนี้ (Debt Consolidation) ด้วย

 

“การบริหารหนี้เสียของธนาคารยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่น่าห่วงคือกลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน และกลุ่มที่กู้บ้านเกิน 3 ล้านบาทที่เห็นผลกระทบจากการชำระหนี้มากขึ้น ส่งผลให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อสำหรับกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่มีภาระมากขึ้น ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้ก้อนใหญ่อยู่ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ”

 

อย่างไรก็ตาม ทีทีบียังไม่มีแผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์ หรือ JV AMC แต่ก็ไม่ได้ปิดโอกาส โดยปิติอธิบายเพิ่มว่า ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นในการจัดตั้ง เนื่องจากปริมาณหนี้และวิธีการบริหารจัดการหนี้ของธนาคารยังเพียงพออยู่

 

ซึ่งธนาคารก็มีการตัดขายหนี้ โดยจะเป็นหนี้ในกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารไม่ค่อยชำนาญ หรือลูกค้าไม่ให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ ในปี 2566 ธนาคารได้มีการตัดขายหนี้ไปกว่า 6-7 พันล้านบาท สำหรับในปี 2567 อาจจะไม่ได้มีการตัดขาย เพราะทั้งระบบจะมีการตัดขายออกมาค่อนข้างเยอะ และทำให้ราคาต่ำเกินไป

 

สำหรับการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) นั้น ธนาคารมองว่าสิ่งที่ธนาคารกำลังทำอยู่เป็นการขับเคลื่อนสู่ Virtual Bank แต่การเป็น Virtual Bank อาจจะไม่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกรณี แต่เป็นการตอบโจทย์บางกลุ่ม ซึ่งการที่ธนาคารนำธุรกรรมขึ้นไปอยู่บน Moblie Banking ลูกค้าสามารถทำได้ 7 วัน 24 ชั่วโมง

 

ขณะเดียวกันธนาคารก็อยู่บนโลกดั้งเดิม (Physical) เพราะลูกค้าบางรายยังต้องการติดต่อหรือเจอมนุษย์อยู่ ดังนั้นธนาคารยังต้องอยู่บน 2 โลก

 

กลยุทธ์ปี 2567 LEAD the CHANGE 

 

ปิติกล่าวว่า ในปี 2567 นี้ธนาคารได้เดินหน้าที่จะ LEAD the CHANGE หรือเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า โดยเร่งทรานส์ฟอร์ม (Transform) องค์กรแบบรอบด้าน นำดิจิทัลมาดูแลลูกค้าทุกกลุ่มในทุกช่วงชีวิต โดยเฉพาะ 4 กลุ่มลูกค้าหลักที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญ ภายใต้แนวคิด Ecosystem Play ได้แก่ กลุ่มคนมีรถ คนมีบ้าน พนักงานเงินเดือน และลูกค้า Wealth โดยมีแอป ttb touch เป็นแพลตฟอร์มหลักในการเชื่อมต่อโซลูชันและสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากพันธมิตรชั้นนำของธนาคาร เพื่อส่งมอบประสบการณ์ทางการเงินในระดับเฉพาะบุคคล หรือ Segment of One เพื่อให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นแบบรอบด้าน

 

มุ่งทรานส์ฟอร์ม 4 ด้านสำคัญเพื่อเดินหน้า LEAD the CHANGE

 

  1. Digital Transformation เพื่อสร้าง New Business Model ใหม่ๆ

 

  1. Revenue Model Transformation มุ่งเน้นเสริมสร้างให้เกิด Ecosystem Play เพื่อส่งมอบโซลูชันและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ ตรงใจ ช่วยให้ลูกค้าแต่ละ Ecosystem มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นแบบรอบด้านในทุกช่วงเวลา

 

  1. Channel & Process Transformation ธนาคารต้องการยกระดับความสะดวกสบายของลูกค้าในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการส่งมอบ Digital-First Experience ซึ่งวันนี้ 94% ของธุรกรรมที่สาขาพร้อมยกระดับสาขาให้เป็น Digital Branch ที่มีเครื่องมือดิจิทัลในการอำนวยความสะดวก และให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อ

 

  1. Organizational Transformation ธนาคารได้สร้างทีมดิจิทัลที่แข็งแกร่ง หรือ ttb spark เพื่อพัฒนาแอป ttb touch และทีม ttb spark academy พัฒนา (Upskill) และยกระดับทักษะ (Reskill) ให้กับบุคลากรทั้งองค์กร

 

ผลลัพธ์จากการทรานส์ฟอร์มอย่างต่อเนื่องจะทำให้เราสามารถ LEAD the CHANGE เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่แตกต่างและเหนือกว่าผ่านแอป ttb touch ผ่านกลยุทธ์ Ecosystem Play บน 4 กลุ่มลูกค้าหลักที่ธนาคารมีความชำนาญ โดยเน้นความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในการนำเสนอโซลูชันต่างๆ ที่มากกว่าการธนาคาร เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าอย่างครบวงจร

 

“ทีทีบีเชื่อมั่นว่าการทรานส์ฟอร์มทั้งหมดนี้ และเสริมแกร่งด้วยพันธมิตรที่หลากหลายผ่านการสร้าง Ecosystem Play จะทำให้ธนาคารนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการครบวงจรมากยิ่งขึ้น พร้อมเดินหน้าสู่ธนาคารที่เป็นผู้นำด้านการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งในวันนี้และอนาคต” ปิติกล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising