×

สหรัฐฯ ฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน โหมเพลิงความขัดแย้งครั้งใหม่ให้โลก

11.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ปัญหานิวเคลียร์อิหร่านกลับมาเป็นประเด็นร้อนฉ่า หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงระดับนานาชาติ ถึงแม้ที่ผ่านมาอิหร่านจะปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยจำกัดกิจกรรมทางนิวเคลียร์ภายใต้การตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจาก IAEA ก็ตาม
  • ท่าทีที่เปลี่ยนไปของสหรัฐฯ ทำให้เกิดความไม่ลงรอยกับชาติพันธมิตรตะวันตกที่ต้องการให้ข้อตกลงฉบับเดิมมีผลบังคับใช้ต่อไป
  • การกลับลำของสหรัฐฯ ยังอาจทำให้ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ เกิดความชั่งใจว่าพวกเขาควรเก็บอาวุธนิวเคลียร์ไว้เป็นเกราะป้องกันตัวหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่มีการเจรจาหาทางออกกันมานานนับทศวรรษ เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงของ บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเขาสามารถบรรลุเงื่อนไขกับอิหร่านและ 4 ชาติมหาอำนาจในคณะมนตรีความมั่นคงแห่ง UN รวมถึงเยอรมนี จนสามารถคลี่คลายปัญหาตึงเครียดในตะวันออกกลางได้ในท้ายที่สุด  

 

แต่การประกาศคว่ำข้อตกลงของ โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้สหรัฐฯ และอิหร่านกลับมาเผชิญหน้ากันอีกครั้ง และมีทีท่าว่าจะทำให้การเจรจาในประเด็นขัดแย้งที่ซับซ้อนที่สุดในโลกกลับไปเริ่มต้นใหม่จากศูนย์

 

THE STANDARD ได้รวบรวมประเด็นที่มาที่ไปของปัญหารอบใหม่ ใครได้ประโยชน์และเสียประโยชน์หากดีลอิหร่านล่ม รวมถึงแนวโน้มผลลัพธ์ที่จะตามมา และโอกาสเกิดสงครามใหญ่ เพื่อทำความเข้าใจปัญหานิวเคลียร์อิหร่านในภาพรวมได้ดียิ่งขึ้น

 

 

ย้อนดูสาระสำคัญของข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน มูลเหตุสหรัฐฯ ถอนตัว

โดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่าแผนปฏิบัติการร่วมฉบับครอบคลุม หรือ Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) ซึ่งอิหร่านจัดทำขึ้นร่วมกับ 6 ชาติมหาอำนาจ ประกอบด้วย สหรัฐฯ, รัสเซีย, จีน, ฝรั่งเศส, อังกฤษ และเยอรมนี เมื่อปี 2015 เป็นข้อตกลงที่เลวร้ายและสร้างความวิบัติ เนื่องจากไม่สามารถหยุดยั้งอิหร่านให้เดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้จริง เพราะมีจุดบกพร่องตรงสาระสำคัญ

 

ในข้อตกลงดังกล่าว อิหร่านยอมรับเงื่อนไขโดยลดการสะสมแร่ยูเรเนียมบริสุทธิ์ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ ยอมลดจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยงที่ใช้สำหรับเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมในโครงการนิวเคลียร์ และยอมดัดแปลงโรงงานน้ำมวลหนักเพื่อไม่ให้สามารถใช้ผลิตพลูโตเนียมสำหรับระเบิดนิวเคลียร์ได้อีกต่อไป โดยข้อตกลงจำกัดการผลิตแร่ยูเรเนียมมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 15 ปี เพื่อแลกกับการให้นานาชาติยุติมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน

 

นอกจากนี้ เตหะรานยังย้ำว่าโครงการนิวเคลียร์ของพวกเขาเป็นโครงการสันติ เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจในเจตนารมณ์การพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน

 

อย่างไรก็ดี ทรัมป์มองว่าเงื่อนไขข้างต้นเป็นเพียงการจำกัดขอบเขตกิจกรรมทางนิวเคลียร์ของอิหร่านภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดเท่านั้น แต่ไม่มีกลไกห้ามปรามอิหร่านในการพัฒนาขีปนาวุธแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่สามารถตรวจสอบและควบคุมได้

 

นอกจากนี้ทรัมป์ยังวิจารณ์ว่าข้อตกลงนี้ไม่ควรมีขึ้นแต่แรก เพราะไม่ทำให้เกิดสันติภาพและความสงบสุข ไม่ว่าในอดีตที่ผ่านมาหรือในอนาคตข้างหน้า

 

อิสราเอลราดน้ำมันในกองไฟ

เป็นจังหวะเดียวกับที่หน่วยสืบราชการลับมอสสาด (MOSSAD) ของอิสราเอลได้จารกรรมและแฉข้อมูลลับเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งตอกย้ำว่าอิหร่านพูดปดและละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศโดยแอบลักลอบพัฒนานิวเคลียร์ตั้งแต่ก่อนปี 2003 นอกจากนี้อิหร่านยังครอบครองโนว์ฮาวเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่สร้างความหวาดระแวงให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ข้อกล่าวหาดังกล่าวเข้าทางทรัมป์ที่เชื่อว่าอิหร่านไม่จริงใจในการแก้ปัญหานิวเคลียร์

 

อย่างไรก็ดี อิหร่านแก้ต่างว่าเอกสารที่ถูกเปิดโปงเหล่านั้นเป็นข้อพิพาทเก่าที่มีการสะสางกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเป็นองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติไปก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ข้อตกลงนิวเคลียร์ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2015 ก็อยู่ภายใต้การกำกับตรวจสอบจาก IAEA อยู่ตลอด ขณะที่ IAEA เองก็ออกมายืนยันในเรื่องนี้ว่าที่ผ่านมาอิหร่านปฏิบัติตามกฎกติกาอย่างไม่มีบิดพลิ้ว

 

แล้วทรัมป์ต้องการอะไร

ผู้นำสหรัฐฯ ต้องการให้ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านนำมาซึ่งสันติภาพอย่างแท้จริง โดยเขาต้องการล้มโต๊ะเจรจาใหม่เพื่อจัดทำข้อตกลงฉบับถาวรที่มีผลบังคับผูกพันอย่างครอบคลุม ซึ่งไม่เพียงแต่หยุดยั้งโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเท่านั้น แต่ต้องป้องปรามการทดสอบขีปนาวุธและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย

 

และในระหว่างที่ยังไม่มีข้อตกลงฉบับใหม่ ทรัมป์จึงเล็งปัดฝุ่นมาตรการคว่ำบาตรขึ้นมาใหม่อีกครั้งด้วยบทลงโทษทางเศรษฐกิจแบบเดียวกับที่ใช้ก่อนหน้าการลงนามในข้อตกลง JCPOA เมื่อปี 2015

 

ล่าสุดกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ประกาศคว่ำบาตรบุคคลชาวอิหร่าน 6 คน และบริษัท 3 แห่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (IRGC) โดย สตีเฟน มนูชิน ขุนคลังสหรัฐฯ ระบุว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับ IRGC โดยมีการส่งเงินจำนวนหลายล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่ไม่ประสงค์ดี

 

ขณะที่ธนาคารกลางอิหร่านก็ถูกกล่าวหาด้วยว่าคอยให้ความช่วยเหลือ IRGC ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐ

 

 

“อย่าไว้ใจอเมริกา”

อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เตือนว่าทรัมป์ได้ทำสิ่งที่ผิดพลาด หลังตัดสินใจถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ พร้อมกับวิจารณ์สหรัฐฯ ออกสื่อว่า “ผมบอกแต่แรกแล้วว่าอย่าได้ไว้ใจอเมริกา”

 

ถ้อยแถลงของคาเมเนอีเป็นการตอกย้ำจุดยืนว่าอิหร่านจะไม่กลับเข้าโต๊ะเจรจาเพื่อร่างข้อตกลงใหม่อีกครั้งหากทรัมป์คว่ำข้อตกลงเดิม ซึ่งถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสายตาประเทศพันธมิตรที่ร่วมเจรจาอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี

 

ด้าน จอห์น เบรนแนน อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (CIA) ให้ความเห็นว่าความบ้าบิ่นของทรัมป์ได้ทำลายความเชื่อมั่นที่ประเทศต่างๆ มีต่อพันธสัญญาที่สหรัฐฯ ให้ไว้กับประชาคมโลก ไม่เว้นแม้แต่พันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ ที่ต่างก็รู้สึกระแคะระคายกับการตัดสินใจของทรัมป์ในหลายๆ ครั้ง

 

ในกรณีข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านก็เช่นเดียวกัน เป็นอีกครั้งที่สะท้อนถึงความไม่ลงรอยในการกำหนดนโยบายของอเมริกาและประเทศในยุโรป ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏไม่บ่อยครั้งนักในสมัยประธานาธิบดีคนก่อนๆ ของสหรัฐฯ

 

ขณะที่ ศาสตราจารย์ไวพิน นาราง แห่งคณะรัฐศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ให้ทัศนะว่าการกลับลำของสหรัฐฯ จะเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับทุกประเทศทั่วโลกว่าข้อตกลงต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้และมีวันหมดอายุ แต่อาวุธนิวเคลียร์จะเป็นหลักประกันความมั่นคงไปชั่วชีวิต

 

จากกรณีข้างต้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่อิหร่านอาจตัดสินใจรื้อฟื้นโครงการนิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่อีกครั้งเพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวและสร้างอำนาจต่อรอง ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นยังอาจสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงคาบสมุทรเกาหลี เนื่องจากเกาหลีเหนือได้เห็นตัวอย่างการพลิกลิ้นของทรัมป์ และความเอาแน่เอานอนไม่ได้ในการกำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

 

ดังนั้นจึงอาจเป็นเครื่องหมายคำถามสำหรับคิมจองอึนว่าการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรจะทำให้เกาหลีเหนือสูญเสียหมากต่อรองในอนาคตหรือไม่

 

แต่ไม่ว่าสหรัฐฯ จะหันหลังให้กับข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ ประเทศคู่สัญญารายอื่นๆ ต่างยืนยันว่าพวกเขาจะยึดมั่นในพันธกรณีของสัญญาฉบับเดิม โดย อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กแห่งเยอรมนี ได้ออกมาให้คำมั่นว่าประเทศของเธอจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้อิหร่านยึดมั่นในข้อตกลงเดิมต่อไปเช่นเดียวกับรัฐบาลอังกฤษ

 

ขณะที่ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ได้ตำหนิการตัดสินใจของทรัมป์ว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ ถึงแม้เขาจะเคยเกลี้ยกล่อมให้ทรัมป์ใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล

 

เช่นเดียวกับจีนและรัสเซีย สองชาติสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็แสดงความเสียใจกับการตัดสินใจของทรัมป์ครั้งนี้

 

ใครได้ใครเสีย หากดีลอิหร่านล่ม

ทุกการตัดสินใจย่อมนำมาซึ่งผลลัพธ์ไม่ว่าดีหรือร้าย ในกรณีการถอนตัวของสหรัฐฯ ถูกมองว่าอาจส่งผลเสียต่อทรัมป์มากกว่าผลดี

 

โพลสำรวจความเห็นล่าสุดบ่งชี้ว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด แต่การที่สหรัฐฯ ถอนตัวจะทำให้เกิดความขัดแย้งทางการทูตกับชาติพันธมิตรบางประเทศ

 

นอกจากนี้ผลพวงจากการคว่ำข้อตกลงของทรัมป์ยังสร้างแรงบีบคั้นให้อิหร่านหันไปใช้ไม้แข็ง โดยรื้อฟื้นโครงการนิวเคลียร์ หรือปิดประตูเจรจา ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อสหรัฐฯ เลย

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากอิหร่านยอมเปิดการเจรจารอบใหม่ ย่อมหมายถึงการที่อิหร่านต้องยอมอ่อนข้อมากกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ เป็นฝ่ายได้เปรียบ และสามารถทำข้อตกลงที่ช่วยสร้างสันติภาพได้อย่างยั่งยืนมากกว่าข้อตกลงฉบับเก่า

 

ส่วนผู้ชนะอย่างแท้จริงในเกมกระดานนี้คืออิสราเอล ซึ่งเป็นหัวหอกโจมตีโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านมาตั้งแต่แรก โดยนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู พูดเสมอมาว่าอิหร่านไม่ใช่พันธมิตรที่ไว้ใจได้ และมีการปกปิดเกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์เรื่อยมา ขณะที่อิสราเอลมองอิหร่านเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวที่สุดในโลก เนื่องจากมีอิทธิพลสูงในตะวันออกกลาง

 

นอกจากอิสราเอลแล้ว ซาอุดีอาระเบียถูกมองเป็นผู้ชนะในเกมนี้ด้วย เนื่องจากซาอุฯ ให้การหนุนหลังสหรัฐฯ ในการถอนตัวจากข้อตกลง ดังนั้นเมื่ออิหร่านถูกตัดความช่วยเหลือจากนานาประเทศ ซาอุฯ ก็จะเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ ด้วยเหตุที่ซาอุฯ มองอิหร่านเป็นคู่แข่งในโลกมุสลิมต่างนิกาย อีกทั้งหวาดระแวงอิหร่านที่กำลังขยายอิทธิพลในเลบานอน ซีเรีย เยเมน และอิรัก

 

สำหรับยุโรปถูกมองว่าเป็นผู้แพ้ในเกมนี้ เพราะทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ต่างพยายามผลักดันข้อตกลงนี้จนเกิดขึ้นแต่แรก แต่เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัว ประเทศเหล่านี้กลับคว้าน้ำเหลวในการโน้มน้าวให้ทรัมป์เปลี่ยนใจ

 

 

แต่ก็มีข่าวดีอยู่บ้าง แม้ว่าประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี จะขู่เดินเครื่องเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมอีกครั้ง แต่เขาแย้มว่าหากประเทศอื่นๆ ยังยึดถือหลักปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับเดิม อิหร่านก็พร้อมทำตามกฎกติกาเดิมต่อไป

 

ส่วนคนที่จนแต้มในเกมนี้คือประธานาธิบดีโรฮานี เพราะเขาเป็นคนยอมตกลงระงับโครงการนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการยกเว้นมาตรการคว่ำบาตร และหวังจะพัฒนาความสัมพันธ์กับนานาชาติเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น แต่การที่สหรัฐฯ ถอนตัวอาจทำให้ชะตากรรมข้อตกลงเกิดความไม่แน่นอนและชะงักงันได้

 

โอกาสเกิดสงครามและการแข่งขันสะสมนิวเคลียร์

หากมีการยกเลิกข้อตกลง JCPOA แล้วอิหร่านเดินเครื่องผลิตยูเรเนียมสำหรับระเบิดนิวเคลียร์ ย่อมบีบให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอยากครอบครองนิวเคลียร์เพื่อถ่วงดุลอำนาจทางทหาร โดยหนึ่งในนั้นคือซาอุดีอาระเบียที่ประกาศตัวไปก่อนแล้วว่าจะพัฒนานิวเคลียร์แน่ หากอิหร่านเดินหน้าโครงการต่อ

 

ดังนั้นการแข่งขันสะสมอาวุธจึงกลายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะจุดชนวนสู่สงครามใหญ่หรือไม่ นักวิเคราะห์ต่างประเทศมองว่ายังเป็นเรื่องที่ห่างไกล แต่หากมีเหตุกระทบกระทั่งรุนแรงที่คาดไม่ถึงก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามขึ้นได้เช่นกัน เนื่องจากไม่มีกฎกติกาเป็นตัวควบคุม

 

คำถามใหญ่คือในยามที่ไร้หัวเรือใหญ่อย่างสหรัฐฯ ฉันทามติจากประเทศคู่เจรจาจะมีความหมายมากพอในการสานต่อเจตจำนงนานาชาติเพื่อสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนได้หรือไม่ หากทำได้ย่อมหมายถึงการสร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นในโลกพหุนิยมที่มีหลายขั้วอำนาจ แต่สิ่งนี้ยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป

 

แน่นอนว่ายุโรปกำลังเอือมระอาเต็มที เพราะทั้งฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ ต่างก็มองว่าพวกเขาไม่อาจพึ่งพาสหรัฐฯ ได้อีกต่อไปในการแก้ปัญหาพิพาทที่ดำเนินยืดเยื้อมานานนับทศวรรษดังเช่นกรณีนิวเคลียร์อิหร่านนี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising