×

จับตา! ทรัมป์กับ 5 ชาติพันธมิตรคุยอะไร หลังเริ่มทริปทัวร์เอเชียสัปดาห์นี้

03.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • โดนัลด์ ทรัมป์ จะเดินทางเยือนชาติพันธมิตรในเอเชียอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่สุดที่จะถูกหยิบยกมาพูด คือ การป้องปรามและดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ หลังมีท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นตลอดช่วงปีที่ผ่านมา
  • นี่คือโอกาสครั้งสำคัญของสหรัฐฯ ในการกระชับและคงอิทธิพลไว้ภายในภูมิภาคแห่งนี้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความร่วมมือและข้อตกลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นสำคัญ

     ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีกำหนดการเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง หลังจากเมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เขาและเมลาเนีย ทรัมป์ สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ เดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อช่วงต้นปี 2017 ที่ผ่านมา

 

 

     โอกาสนี้ทรัมป์จะเดินทางเยือน 5 ประเทศพันธมิตรในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 5-13 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าประเด็นปัญหาสำคัญที่ต้องถูกหยิบยกมาพูดคุยคงหนีไม่พ้นเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ ในกรณีท่าทีของเกาหลีเหนือที่แข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น รวมถึงสงครามการค้าของสหรัฐฯ ภายในภูมิภาคนี้

 

 

     ญี่ปุ่น เป็นพันธมิตรชาติแรกที่ทรัมป์จะเดินทางไปเยือนในช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยผู้นำของทั้งสองประเทศจะหารือกันในเรื่องการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ภายหลังจากที่กองทัพโสมแดงยิงทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขีปนาวุธแล่นผ่านแผ่นดินญี่ปุ่นบริเวณทางตอนเหนือสุดของเกาะฮอกไกโดเป็นครั้งที่ 2 ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน ก่อนที่จะตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นระยะทางกว่า 3,700 กิโลเมตร ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีเพิ่มมากขึ้น

 

 

     ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่เพิ่งจะกวาดคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดไปอย่างถล่มทลาย ต้องการที่จะสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะต้องการหลักประกันที่จะยืนยันว่าชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จะเร่งเข้าช่วยเหลือญี่ปุ่น หากตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยคุกคามร่วมภูมิภาคอย่างเกาหลีเหนืออย่างทันท่วงที

     พร้อมกันนี้ยังจะมีการดำเนินนโยบายที่จะสนับสนุนความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ กับสหรัฐฯ รวมถึงประเทศอื่นๆ ภายในภูมิภาค เช่น จีนและรัสเซีย ในการป้องปรามและคว่ำบาตรเกาหลีเหนือตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอีกด้วย

     ขณะเดียวกัน ทรัมป์อาจจะให้การสนับสนุนจุดยืนของญี่ปุ่นต่อกรณีพิพาทดินแดนในทะเลจีนตะวันออกอย่างหมู่เกาะเซนกากุ หรือ หมู่เกาะเตียวหยู ที่ทั้งสองประเทศต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าว ซึ่งทรัมป์เองก็อาจจะต้องชี้แจงถึงเหตุที่ผลที่ตัดสินใจถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกภาคีของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ที่เป็นหนึ่งในวาระเป้าหมายทางด้านการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของบารัก โอบามา และญี่ปุ่นเองก็ทุ่มเงินลงทุนในความร่วมมือนี้เป็นจำนวนเงินไม่น้อย

 

 

     เกาหลีใต้ ถือเป็นชาติพันธมิตรสหรัฐฯ ที่เก่าแก่ที่สุดชาติหนึ่งในเอเชีย นับตั้งแต่ที่ทั้งสองประเทศเริ่มร่วมกันสู้รบกับเกาหลีเหนือและบรรดาชาติคอมมิวนิสต์ในสงครามเกาหลี ปี 1950 ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศก็เริ่มแน่นแฟ้นขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นของคู่ปรับเก่าอย่างเกาหลีเหนือที่เดินหน้าทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์อย่างก้าวกระโดดและประสบผลสำเร็จในที่สุด ทำให้สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และชาติพันธมิตรอื่นๆ ต่างต้องลงมาเล่นหมากกระดานเดิมกับกองทัพโสมแดงในฐานะ ‘คู่ขัดแย้งในสงคราม’ ที่ยังคงดำเนินมาเกือบ 7 ทศวรรษ

     มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้อาจจะใช้ช่วงเวลา 2 วันนี้ที่ทรัมป์เดินทางมาเยือน หารือและพูดคุยถึงจุดยืนเกี่ยวกับกรณีเกาหลีเหนืออีกครั้ง ภายหลังจากที่รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่สนับสนุนให้สหรัฐฯ ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้ เนื่องจากทรัมป์มองว่า ที่ผ่านมานโยบายด้านการป้องปรามของมุนแจอินโอนอ่อนต่อเกาหลีเหนือมากจนเกินไป

     โดยรัฐบาลเกาหลีมองว่า หากมีการติดตั้งเครื่องยิงขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้ อาจจะยิ่งทำให้ประชาชนกว่า 10 ล้านคนในกรุงโซลที่อยู่ห่างจากเขตปลอดอาวุธทางทหาร (Demilitarized Zone: DMZ) เพียง 50 กิโลเมตร มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่กองทัพโสมแดงจะใช้เป็นพิกัดในการโจมตีสูงขึ้น

     อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้จะยังคงเดินหน้าสนับสนุนสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอื่นๆ ในการป้องปรามรัฐอันธพาลอย่างเกาหลีเหนือที่กำลังสั่นคลอนความมั่นคงระหว่างประเทศเพิ่มมากยิ่งขึ้นในทุกขณะ

 

 

     จีน พญามังกรแห่งเอเชียที่มองกันตามตรงแล้วก็ถือเป็นหนึ่งประเทศคู่ปรับที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ มีความคิดและข้อถกเถียงจำนวนมากที่พยายามตั้งข้อสังเกตว่าจีนกำลังจะพุ่งทะยานขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกแซงหน้าสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

     แต่อย่างไรก็ตาม การเดินทางมาเอเชียครั้งแรกของทรัมป์ในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ผู้นำทั้งสองประเทศเจรจาหารือกันเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการให้สอดคล้องกับมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ประกาศยกระดับมาตรการคว่ำบาตรขั้นสูงสุดต่อเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ผู้นำสหรัฐฯ จะเร่งผลักดันให้จีนในฐานะประเทศพี่ใหญ่และชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดเพียงหนึ่งเดียวของเกาหลีเหนือ เดินหน้ากดดันคิมจองอึนมากยิ่งขึ้น แม้จะทราบดีว่าจีนเองก็มีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันอยู่ หากปล่อยให้เกาหลีเหนือถูกทำลายจนหายไปจากแผนที่โลก ในขณะที่ก็มีหน้าที่รักษาความมั่นคงระหว่างประเทศในฐานะ 1 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ เช่นเดียวกัน

     นอกจากนี้ทรัมป์ยังยืนยันว่า เขาจะนำเงินลงทุนมูลค่าหลายพันเหรียญสหรัฐไหลเข้าประเทศจากการเดินทางเยือนจีนในครั้งนี้อย่างแน่นอน โดยผู้ประกอบการและนักลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้บริหารบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Sinopec ตกลงที่จะทุ่มเงินลงทุนอย่างน้อย 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.3 แสนล้านบาท) ช่วยสร้างงานและสร้างสาธารณูปโภคในพื้นที่ภัยพิบัติที่ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์และเออร์มาในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา

 

 

     เวียดนาม 1 ใน 2 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ทรัมป์จะเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ ซึ่งเมื่อช่วงกลางปี 2016 เวียดนามกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลก หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ถอดสูทพับแขนเสื้อใช้ตะเกียบทานอาหารเวียดนามกับเชฟคนดังอย่าง แอนโทนี บอร์เดน ในร้านริมถนนในกรุงฮานอย ระหว่างการเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ สะท้อนความสมถะของประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ ที่ได้ใจคนเป็นจำนวนมาก และนี่คืออีกหนึ่งเหตุผลสำคัญว่า ทำไมผู้ชายคนนี้ถึงอยู่ในตำแหน่งนานถึง 2 สมัยเต็ม

 

 

     ทรัมป์จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ครั้งที่ 29 ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ซึ่งบรรดาผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยก็จะเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย ประเด็นสำคัญที่บรรดาชาติผู้นำชาติสมาชิกจะหารือกัน คือ วิสัยทัศน์ของ APEC หลังปี 2020 ซึ่งอาจมีส่วนสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ครั้งที่ 34 ของไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าไม่มากก็น้อย

     ทรัมป์อาจใช้เวทีการเจรจานี้พูดคุยและหาแนวร่วมในการป้องปรามเกาหลีเหนือเพิ่มมากขึ้น หลังจากนั้นจะบินกลับมาที่ฮานอย เพื่อเข้าพบ เจิ่นไดกวาง ประธานาธิบดีเวียดนาม พร้อมหารือและกระชับความร่วมมือทวิภาคีของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง รวมถึงกรณีพิพาทที่เวียดนามมีต่อจีนในประเด็นหมู่เกาะในทะเลจีนใต้

 

 

     ฟิลิปปินส์ จะเป็นชาติพันธมิตรสุดท้ายที่ทรัมป์จะเดินทางไปเยือน เพื่อปิดท้าย Trump’s Asian Tour ในครั้งนี้ลงอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาปลายสมัยของรัฐบาลโอบามา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ค่อนข้างจะห่างเหินและเจือจางลง หลังจากที่รัฐบาลโอบามาประณามและเรียกร้องให้รัฐบาลของดูเตร์เตยุติการใช้มาตรการตาต่อตา ฟันต่อฟัน และฆ่าตัดตอน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดและปัญหาอาชญากรรมภายในประเทศ ซึ่งการกระทำดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐฯ มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

     แต่ดูเหมือนว่า สถานะความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเริ่มดีขึ้น ภายหลังจากที่ทรัมป์กล่าวชื่นชมการทำงานของประธานาธิบดีดูเตร์เตที่ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ซึ่งส่งผลให้ปัญหานี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ประเด็นหลักที่ทั้งคู่จะหารือกันคงอยู่ที่ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงต่อเกาหลีเหนือ รวมถึงปัญหาการก่อการร้ายภายในฟิลิปปินส์ที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้ ก่อนที่จะควบคุมมาลาวี หนึ่งในฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มไอเอสภายในภูมิภาคนี้ไว้ได้ในที่สุด

     นอกจากนี้ทรัมป์ยังอาจจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 12 ที่ฟิลิปปินส์รับเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ซึ่งส่งผลให้แผนการเดินทางของทรัมป์ยืดออกไปอีก 1-2 วัน

     การเดินทางเยือนชาติพันธมิตรในเอเชียอย่างเป็นทางการครั้งแรกของทรัมป์นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์อันดีกับบรรดาชาติพันธมิตร รวมถึงเน้นย้ำจุดยืนของสหรัฐฯ ในการเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งต่อประเด็นต่างๆ ที่ประชาคมโลกต้องแก้ไขร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การเดินทางเยือนในครั้งนี้อาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบหรือมีพรมแดงผืนใหญ่ปูตอนรับเสมอไป นักเคลื่อนไหวกลุ่มต่างๆ ในแต่ละประเทศพันธมิตรต่างเริ่มรวมตัวกันประท้วงการเดินทางเยือนของทรัมป์ในครั้งนี้ โดยเฉพาะในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากที่ทรัมป์นำพาสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากการเป็นภาคีข้อตกลงปารีสเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา

     เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประธานาธิบดีผมทอง อดีตเจ้าของเวทีนางงาม ผู้มีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจมาเกือบทั้งชีวิตคนนี้คือหนึ่งในผู้นำโลกที่การตัดสินใจของเขาสามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของประชาคมระหว่างประเทศได้ตลอดเวลา ระเบียบโลกหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปก็ยากจะคาดเดา

 

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising