×

2 อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ชี้ กสทช. มีอำนาจพิจารณาดีล TRUE-DTAC ปริญญาเตือนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อาจโดน ม.157

โดย THE STANDARD TEAM
08.09.2022
  • LOADING...
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

วานนี้ (7 กันยายน) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา ‘กสทช. มีอำนาจจัดการควบรวม ทรู-ดีแทคหรือไม่’ ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค 

 

ผศ.ดร.ปริญญา ระบุว่า จากสถานการณ์การควบรวมกิจการในธุรกิจ หากย้อนไปดูตัวกฎหมายการก่อตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สาเหตุที่ต้องให้มีองค์กรอิสระขึ้นมากำกับดูแลทรัพยากรคลื่นความถี่ของชาติ ก็เพื่อตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งตามข้อ 9 ของประกาศดังกล่าวยังระบุว่า การรายงานตามข้อ 5 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 

 

ดังนั้น กสทช. มีอำนาจในการสั่งห้ามการควบรวมนี้ได้ หากเข้าข่ายเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน สำหรับที่มีการโต้แย้งว่า ที่ผ่านมามีการควบรวมกิจการในประเทศผ่านมาแล้ว 9 ดีล ก็ใช้ประกาศ กสทช. พ.ศ. 2561 ใช้คำว่า การรายงานการรวมธุรกิจ นั่นหมายความว่า เมื่อยึดตามประกาศล่าสุดเท่ากับว่าบริษัทผู้ประกอบการไม่ต้องขออนุญาต ทำแค่เพียงการรายงานให้ทราบเท่านั้น เพราะ กสทช. ไม่ได้มีอำนาจกระทำอันใด

 

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่อไปว่า ดีล TRUE ควบรวม DTAC ไม่สามารถเทียบได้กับดีลที่เคยผ่านมา เพราะมันเข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาด ถือครองคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรของชาติ ถือส่วนแบ่งเกินครึ่ง มีอำนาจเหนือตลาดชัดเจน และทำไมถึงใช้ระบบรายงานภายหลังควบรวมไม่ได้

 

เนื่องจาก 9 ดีลที่ระบุนั้น มี 7 ดีลเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้รับใบอนุญาตที่เป็นบริษัทในกลุ่มหรือบริษัทในเครือเดียวกัน 1 ดีล, เป็นการรวมธุรกิจที่หลังการรวมมีสินทรัพย์ไม่เกินวงเงินที่ประกาศกำหนด 1 ดีล, เป็นการควบรวมของรัฐวิสาหกิจคือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT รวมกันเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

 

ดังนั้น การควบรวมที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดแล้วทำให้เอกชนมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกว่า 50% เข้าข่ายเป็นทุนนิยมผูกขาด ร้ายแรงยิ่งกว่าเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเสียอีก กสทช. ในฐานะองค์กรของรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลคลื่นความถี่ รวมถึงการให้บริการโทรคมนาคม จึงมีหน้าที่ตามมาตรา 27 (11) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม รวมถึงป้องกัน หรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค และขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมตามแนวนโยบายแห่งรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดอีกด้วย 

 

“กสทช. อาจจะไม่มั่นใจในอำนาจของตัวเอง เพราะนี่เป็นดีลใหญ่ก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่ที่ผ่านมามีทั้งศาลปกครอง คณะอนุกฎหมายก็ชี้แล้วว่า กสทช. มีอำนาจเรื่องนี้ การทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้แล้วไปถามกฤษฎีกา อาจจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติโดยมิชอบ มาตรา 157” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

 

ด้าน รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ธุรกิจโทรคมนาคมต้องใช้ทุนประกอบกิจการมหาศาล และเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของรัฐและผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งหน่วยงานที่กำกับดูแลจำเป็นต้องดูแลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เห็นได้ชัดตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจน จึงต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐที่มีอิสระประโยชน์สาธารณะกับในการนี้ องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคหรือเอาเปรียบผู้บริโภค

 

ดังนั้น สถานะของ กสทช. ที่เป็นองค์กรอิสระ จัดตั้งขึ้นมาตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และได้รับการรับรองความเป็นอิสระโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 60

 

อีกทั้งตามมาตรา 6 รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ตามวรรค 1 ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย

 

“การกำกับดูแลธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ชาติมันต้องเข้มข้น เพราะยิ่งเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ทุกอย่างต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและชาติ เขาถึงได้ให้อำนาจเฉพาะมากับ กสทช. ดังนั้น หากถามว่า กสทช. มีอำนาจที่จะพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ ก็ตอบง่ายๆ ว่ามีอย่างเต็มเปี่ยม” รศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising