×

ดีลควบรวม ‘TRUE-DTAC’ ยังระทึก บอร์ด กสทช. จ่อถกอีกรอบ หลัง AIS ยื่นหนังสือคัดค้าน

06.04.2022
  • LOADING...
ดีลควบรวม ‘TRUE-DTAC’ ยังระทึก บอร์ด กสทช. จ่อถกอีกรอบ หลัง AIS ยื่นหนังสือคัดค้าน

แม้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของทั้ง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) จะอนุมัติแผนการควบรวมกิจการไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าดีลนี้ยังคงไม่จบลงโดยง่าย เพราะยังมีผู้ยื่นร้องเรียนให้คัดค้านดีลดังกล่าวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อาจต้องเรียกประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีกรอบในวันที่ 7 เมษายนนี้

 

โดยล่าสุด ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัทพ์เคลื่อนที่ในนาม AIS ได้ทำหนังสือถึงประธาน กสทช. เพื่อชี้แจงผลกระทบและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC 

 

สำหรับหนังสือที่ยื่นชี้แจงครั้งนี้มีความยาวรวม 11 หน้า เนื้อหาภายในระบุว่า ดีลการควบกิจการของทั้ง 2 รายนี้ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาด และกระทบต่อผู้บริโภคอย่างร้ายแรง ทั้งยังขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ และขัดต่อหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ด้วย 

 

สาเหตุเพราะการปล่อยให้เกิดการควมรวมกิจการของทั้ง 2 แห่ง จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน ทำให้สภาพตลาดมีการกระจุกตัวสูง อีกทั้งยังเป็นการกีดกันการเข้าสู่ตลาดของผู้แข่งขันรายใหม่ และการเติบโตของผู้แข่งขันรายเล็ก 

 

นอกจากนี้การปล่อยให้เกิดการควบรวมกิจการ ยังทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบด้วย เพราะทำให้ทางเลือกของผู้ใช้บริการเหลือน้อยลง ผู้บริโภคอาจต้องรับภาระค่าบริการที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ลดลง 

 

ในหนังสือดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การอนุญาตให้ TRUE และ DTAC ควบรวมธุรกิจจะก่อให้เกิดการกระจุกตัวของคลื่นความถี่ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ และขัดต่อหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมา 

 

ทั้งนี้ เนื้อหาในหนังสือยังระบุอีกว่า กสทช. มีหน้าที่ในการพิจารณาสั่ง ‘อนุญาต’ หรือ ‘ไม่อนุญาต’ ในการควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามมาตรา 60 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งความถี่และสิทธิ์ในการเข้าถึงวงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน 

 

นอกจากนี้ตาม มาตรา 274 ยังกำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่โดยตรงในการรับผิดชอบ และกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ ดังนั้นเมื่อพิจารณาองค์ประกอบทั้งสองมาตราข้างต้น กสทช. จึงมีหน้าที่ในการกำกับดูแลคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ทั้งยังต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น รวมทั้งการป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ตามมาตรา 60 ดังกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising