×

แนวโน้มและโอกาสการลงทุนของไทย ‘ในต่างประเทศ’

14.06.2023
  • LOADING...
การลงทุนของไทย

ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ ไม่เพียงแต่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่รวมถึงประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการของตนเองออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เงินลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีการชะลอลงในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด สำหรับในระยะต่อไปนักลงทุนไทยมีแนวโน้มออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อตอบโจทย์การแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ๆ และการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 

 

ย้อนรอยการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทย

ในช่วงปี 2548-2553 การลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ (Thai Direct Investment Abroad: TDI) อยู่ในระดับต่ำกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของยอดการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) และจุดหมายปลายทางส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาเซียน (40%) รองมาเป็นสหภาพยุโรป (8%) และตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ยอด TDI เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดอยู่ที่ราว 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และขยับสูงสุดแตะระดับเกือบ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2556 สะท้อนถึงภาพรวมธุรกิจไทยมีการมองหาโอกาสด้านการลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตเพิ่มขึ้นชัดเจนมากขึ้น  

 

สำหรับในปี 2563-2564 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด การลงทุน TDI ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2565 TDI ยังคงลดลง 9.7% จากปี 2564 เป็นผลจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ รวมทั้งเผชิญกับการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออย่างรุนแรงและอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกขยับสูงขึ้น ณ ปัจจุบันโครงสร้างการลงทุนยังปักหมุดเป็นกลุ่มอาเซียน (28%) สหภาพยุโรป (9%) สหรัฐอเมริกา (8%) ญี่ปุ่น (7%) และจีน (3%) ประเภทธุรกิจที่ไปลงทุนในรูปแบบ TDI ประกอบด้วยการผลิต (20%) ซึ่งได้แก่ อาหาร อุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ รองลงมาเป็นภาคการค้าขายส่ง-ขายปลีก (10%) กิจกรรมภาคการเงิน (8%) การทำเหมืองแร่ ภาคบริการในกลุ่มโรงแรม ขนส่ง และอสังหาริมทรัพย์ (4%)

 

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมแม้ยอด TDI จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณาในมุมยอดคงค้างการลงทุนต่างประเทศสุทธิพบว่า ยอดลงทุนในต่างประเทศยังคงน้อยกว่าการลงทุนจากต่างประเทศในไทย (net TDI stock ซึ่งคำนวณจาก TDI stock หักด้วย FDI stock ยังคงติดลบ) แต่ net TDI stock เริ่มมีทิศทางสูงขึ้นหรือติดลบน้อยลง ซึ่งเป็นพัฒนาการที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ กล่าวคือเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดีต่อเนื่องและ FDI สูงถึงระดับหนึ่งแล้ว บริษัทในประเทศมีแนวโน้มออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ที่มียอดคงค้างของการลงทุน TDI สูงกว่า FDI ที่สะสมในประเทศแล้ว และคงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้หากไทยจะก้าวไปสู่จุดนั้นในอนาคต จากปัจจุบันยอดคงค้าง TDI และ FDI อยู่ที่ 1.8 และ 3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

 

TDI ตอบโจทย์การขยายตลาดและลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจของไทยในปัจจุบัน   

หากดูรูปแบบที่ธุรกิจไทยลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (TDI) ส่วนใหญ่ออกไปทำธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว หรือเป็นการต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายตลาดไปยังประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง หรือเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าแรง อัตราภาษี แรงงานทักษะสูง ในระยะต่อไปบริษัทไทยมีแนวโน้มลงทุนในรูปแบบ TDI มากขึ้น เพื่อเข้าถึงตลาดและแหล่งทรัพยากรที่ไทยมีจำกัด รวมถึงขยายแบรนด์สินค้า และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาบริษัทไทยให้แข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น รวมทั้งเห็นแนวโน้มการเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่สอดคล้องกับความยั่งยืนหรือเป็นธุรกิจสีเขียวมากขึ้น

 

ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่ลงทุนในต่างประเทศ โดยบริษัทขนาดกลางมีแนวโน้มไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น สะท้อนจากข้อมูลในปี 2563 มูลค่าการลงทุนทางตรงในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) รวมทั้งสิ้น 1.39 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนของตลาดหลักทรัพย์ mai (ตามนิยามหมายถึงธุรกิจที่มีศักยภาพขนาดกลางและเล็ก ซึ่งมีทุนชำระแล้วหลังการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ IPO ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยเน้นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง และมีแนวโน้มการเติบโตดีในอนาคต) จำนวน 27 บริษัท มูลค่า TDI ราว 2 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการบริการมากที่สุด โดยรวมแล้วภูมิภาคที่เป็นเป้าหมายการลงทุนของบริษัททั้งสองตลาดคือกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1.32 แสนล้านบาท

 

แนวโน้มการเติบโตของ TDI ของไทยในปี 2566 และในอนาคตยังคงเป็นภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน  

จากแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน (มีสัดส่วนในการลงทุน TDI เกือบ 30%) มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงกว่าภูมิภาคอื่น โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market and Developing Economies) เติบโต 3.9% โดยกลุ่มอาเซียน-5 (สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์) จะเติบโตโดดเด่นที่ 4.5% ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเติบโตในอัตราชะลอลงที่ 2.8% 1.6% และ 0.8% ตามลำดับ  

 

นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว อาเซียนเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับนักลงทุนไทย เมื่อพิจารณาจากจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสะท้อนภาพกำลังซื้อที่ดี และการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเห็นภาพของอาเซียนมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในอนาคต สอดคล้องกับสถานการณ์เงินลงทุนจากบริษัททั่วโลกในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาพบว่า กระแสการลงทุนไหลสู่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากที่สุด และที่สำคัญคือเป็นการลงทุนจากประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน 

 

นอกจากนี้ อินเดียเป็นประเทศที่นักลงทุนทั่วโลกจับตามอง คาดว่าในอนาคตนักลงทุนไทยจะสนใจไปลงทุนในอินเดียเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ TDI ไปอินเดียอยู่ในระดับ 1% ของยอด TDI ทั้งหมด ด้วยปัจจัยหนุนด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ IMF คาดการณ์ที่ 5.9% และศักยภาพด้านกำลังซื้อที่เติบโตก้าวกระโดดจากชนชั้นกลางที่มีอยู่กว่า 600 ล้านคน อีกทั้งมีฐานการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเครื่องผลิตไฟฟ้า และยังเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจที่ลงทุนไปยังประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงจะเป็นโอกาสสำหรับภาคส่งออกของไทย ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตช้าลงในระยะข้างหน้า และเป็นทางเลือกทดแทนของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และจีน รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงในอนาคตด้วย 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising