เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พาทีมงาน THE STANDARD ไปเยี่ยมเยือน ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกสว่าง’ ผู้ผลิตข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ วิสาหกิจชุมชนเล็กๆ ในจังหวัดขอนแก่น ที่ทางโตโยต้าได้นำความรู้เกี่ยวกับระบบการผลิตไปประยุกต์และถ่ายทอดให้เหมาะกับบริบทของธุรกิจ ทั้งยังต่อยอดความสำเร็จสู่ชุมชนอื่นๆ ด้วยการเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ในนาม ‘ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์’ แห่งที่สองของประเทศไทยและแห่งแรกในภาคอีสาน
ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เกิดจากผลสำเร็จของโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ โดยทางโตโยต้าจะส่งพนักงานที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ มาสอนชุมชนให้รู้วิธีการทำธุรกิจแบบมืออาชีพ ลดต้นทุนการผลิต ลดความสูญเสีย เพิ่มพูนผลกำไร ฯลฯ โดยองค์ความรู้หลักที่นำมาใช้คือระบบการผลิตแบบโตโยต้า (TPS) เพื่อพัฒนาระบบการผลิตและการบริหารจัดการ และหลักการไคเซ็น (Kaizen) เพื่อให้ธุรกิจชุมชนสามารถแก้ไขปัญหา ปรับปรุง และพัฒนาธุรกิจได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง
“ช่วงแรกที่ทำวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกสว่าง เราก็คิดแต่ว่าอยากทำอะไรเพื่อชุมชนบ้าง อยากให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น ก็เลยทำข้าวแตนที่ชาวบ้านคุ้นเคยกันดี พอทำได้สักพักก็ประสบปัญหาเยอะ แต่เราก็คิดว่าทำดีที่สุดแล้วเท่าที่ความสามารถจะมี อยู่มาวันหนึ่งทางโตโยต้า ขอนแก่น เขาติดต่อมาว่าบริษัทกำลังหาชุมชนเข้าร่วมโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ทางเราสนใจไหม พี่ตอบตกลงทันทีแบบไม่ต้องคิดเลย” สายทิพย์ ลามา ประธานกลุ่มธุรกิจชุมชนกลุ่มข้าวแตนสมุนไพรสายทิพย์ เล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาและการเข้าร่วมโครงการกับทางโตโยต้า
สิ่งที่น่าประทับใจสำหรับโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ คือการสอนให้ชุมชนคิดเป็น หยิบยื่นองค์ความรู้ คอยแนะแนวมากกว่าแก้ปัญหาให้เสร็จสรรพแล้วชุมชนทำตามอย่างเดียว
“สิ่งที่เกิดขึ้นในโครงการคือเราคิดร่วมกัน ทางโตโยต้าจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาคอยแนะ คอยดู พอเขาเห็นปัญหา เขาจะให้การบ้านเราไปคิดว่าควรแก้ไขอย่างไร เช่น ทำอย่างไรไม่ให้ข้าวเสีย ทำอย่างไรให้แผ่นข้าวได้มาตรฐาน แผ่นข้าวไม่แตก ให้เราลองคิด ลองหาแนวทาง แล้วนำมาเสนอ ถกเถียง พูดคุยกัน เขาสอนให้เราคิดเป็น มองเห็นปัญหา เข้าใจในการทำธุรกิจ โตโยต้าได้นำองค์ความรู้และนวัตกรรมทางความคิดมาสอนให้แม่บ้านเพื่อที่จะไปต่อยอดทำต่อได้ เมื่อไรที่ไม่มีโตโยต้า เราก็สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง” สายทิพย์กล่าวเสริม
กระบวนการผลิตแบบโตโยต้าและไคเซ็นจะดำเนินการภายใต้แนวคิด 4 อย่าง ได้แก่ รู้ เห็น เป็น ใจ กล่าวคือลงพื้นที่สำรวจรายละเอียดเพื่อ ‘รู้’ ปัญหา เมื่อรู้แล้วก็ ‘เห็น’ แนวทางการแก้ปัญหา โดยใช้วิธีการแก้แบบไคเซ็น สร้างระบบมองเห็นให้ทุกคนมองเห็นปัญหาร่วมกัน หลังจากนั้นจึง ‘เป็น’ ทำเป็นด้วยตนเอง ใช้ไคเซ็นในการแก้ปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนได้หนทางที่ดีที่สุด และสุดท้าย ‘ใจ’ ทำทุกอย่างด้วยใจ เข้าใจ ใส่ใจ และถูกใจ
หลังจากเยี่ยมชมโรงงานการผลิต เรามองเห็นโรงงานทำขนมขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานราวกับโรงงานใหญ่ๆ ด้านในสะอาดและเป็นระบบระเบียบมาก มีการแบ่งเขตพื้นที่การทำงานอย่างชัดเจน โซนนี้ไว้หุงข้าว ตากข้าว โซนนี้ไว้ทอด ไว้แพ็กลงบรรจุภัณฑ์ สต๊อกของทุกกล่องระบุวันที่และจำนวน จัดสรรอย่างเป็นระบบ มองผิวเผินถ้าไม่บอกว่าทำขนม ผู้เขียนยังคิดในใจเลยว่าราวกับโรงงานของโตโยต้าไม่มีผิดเพี้ยน
สายทิพย์บอกกับเราว่าหลังเข้าร่วมโครงการ ทุกอย่างเป็นระบบขึ้นมาก โตโยต้าเข้ามาปรับกระบวนการให้เราผลิตได้เร็วขึ้น ทำงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้นกว่าเท่าตัว ความเสียหายจำพวกแผ่นข้าวแตก การบรรจุภัณฑ์ หรือสต๊อกข้าวดิบเก่าแทบเป็นศูนย์ ปริมาณแก๊สก็ใช้น้อยลง เขาสอนให้รู้จักระบบ Just in time เปลี่ยนมายด์เซตว่าเราไม่ใช่ผู้ผลิตข้าวแตน แต่เราคือธุรกิจอาหาร ผลิตได้เร็ว แต่ไม่จำเป็นต้องผลิตไว้เยอะ เพราะจะเป็นต้นทุนจม เราจึงใช้คำสั่งซื้อของลูกค้าเป็นตัวกำหนดการผลิต เมื่อมีเวลามากขึ้นก็นำเวลาเหล่านั้นไปพัฒนาสินค้า ตอนนี้นอกจากรสหวานที่เป็นรสดั้งเดิมแล้ว ข้าวแตนของชุมชนยังมีรสต้มยำกุ้ง รสทุเรียนกรอบ รสช็อกโกแลตชิป แต่ละรสเป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยมมาก มีออร์เดอร์จากลูกค้าตลอดเวลา
สำหรับโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ยังคงทำกิจกรรมต่อเนื่องอยู่ทุกปี โดยโตโยต้ามุ่งจะขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และชุมชนให้เติบโต มั่นคง และยั่งยืน
หากท่านใดสนใจสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่ www.toyota.co.th/tsi
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์