×

Toxic Thinking: วิธีคิดแบบ Toxic กับอาการเสพติดพิษร้ายในสมอง

19.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • คำว่า Toxic ที่หมายถึงคนแย่ๆ พวกที่ชอบ talk shit ถึงคนอื่น ใครๆ ก็คงบอกคุณใช่ไหมว่าอย่าไปอยู่ใกล้คน Toxic แต่ปัญหาของคำว่า Toxic ก็เหมือนทุกเรื่องนั่นแหละ คือเราแต่ละคนมีนิยามคำว่า Toxic ที่ไม่เหมือนกัน
  • ความ Toxic ไม่ได้แปลว่าคนคนหนึ่งจะ Toxic ไปทุกมิติ แต่สิ่งที่ Toxic ก็คือ ‘พฤติกรรม’ ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์หนึ่งๆ ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ แต่จะ Toxic จนสังเกตได้ก็เพราะเรา ‘เสพติด’ อาการ Toxic นั้น
  • นักจิตวิเคราะห์อย่าง โจดี เกล บอกว่าคนที่ Toxic คือคนที่ชอบสร้างดราม่าให้ตัวเองและคนรอบข้าง ชอบควบคุมคนอื่น เรียกร้องความสนใจจากคนอื่น ใช้คนอื่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตัวเอง เป็นคนช่างวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นแบบเกินจริง ขี้อิจฉาริษยา ชอบบ่นว่าโชคร้ายของตัวเอง บางทีก็ถึงขั้นชอบทำร้ายตัวเองและทำร้ายผู้อื่นด้วย
  • คนโดยทั่วไปมีความ Toxic พวกนี้อยู่ในตัว แต่ปัญหาของคนที่ Toxic มากๆ หรือ Toxic เป็นประจำก็คือคนเหล่านี้ ‘เสพติด’ อาการ Toxic โดยไม่รู้ตัว

คำว่า Toxic หมายถึงเป็นพิษ สมัยก่อนใช้กับสารพิษต่างๆ นี่ล่ะครับ แต่ใน 2-3 ปีหลังเริ่มมีคนนำคำนี้มาใช้กับคนอื่นที่มีพฤติกรรมแย่ๆ ต่างๆ

 

ถ้าดูวิวัฒนาการของคำนี้ ต้องบอกว่าน่าสนใจมากนะครับ เพราะเข้าใจว่าครั้งแรกที่มีการนำคำนี้มาใช้กับคนในวงกว้างน่าจะเป็นเพราะเพลงของ บริตนีย์ สเปียร์ส ที่ชื่อ Toxic ซึ่งบันทึกเสียงกันตั้งแต่ปี 2003 เป็นเพลงที่ทำให้บริตนีย์ได้รับรางวัลแกรมมี่ด้วย แต่คำว่า Toxic ในเพลงนั้นไม่ได้หมายถึงเรื่องร้ายนะครับ เพราะเธอหมายถึงคนรักที่มี ‘พิษร้าย’ เสียจนเธอต้องยอมมอบกายถวายตัวให้เพื่อลิ้มรสของ ‘พิษแห่งสวรรค์’

 

คำว่า Toxic ที่หมายถึงคนแย่ๆ พวกที่ชอบ talk shit ถึงคนอื่น (รวมไปถึงอีกหลายพฤติกรรมซึ่งจะพูดถึงต่อไป) น่าจะเริ่มขึ้นหลังปี 2010 เพราะในราวปี 2013-2014 เริ่มมีบทวิเคราะห์ถึงคน Toxic กันแล้ว แต่คำนี้น่าจะเพิ่งเริ่มฮิตในไทยราวปีนี้นี่เอง

 

ใครๆ ก็คงบอกคุณใช่ไหมครับว่าอย่าไปอยู่ใกล้คน Toxic แต่ปัญหาของคำว่า Toxic ก็เหมือนทุกเรื่องนั่นล่ะ คือเราแต่ละคนมีนิยามคำว่า Toxic ที่ไม่เหมือนกัน คนคนหนึ่งทำแบบหนึ่ง บางคนบอกว่า Toxic แต่อีกคนอาจจะบอกว่าเป็น ‘พิษแสนหวาน’ (แบบบริตนีย์ สเปียร์ส) ก็ได้ ดังนั้นความ Toxic จึงเป็นเรื่องที่ต้องมานั่งคุยกันว่าแค่ไหนท็อกฯ แค่ไหนไม่ท็อกฯ

 

และอันที่จริงแล้วที่เราบอกคนอื่นว่า “แกช่าง Toxic กับชีวิตฉันเหลือเกิน แกต้องออกไปจากชีวิตฉัน” นั่นน่ะ แท้จริงแล้ว ‘แก’ ที่ว่าอาจจะเป็น ‘แก’ ที่หมายถึงตัวเราเองก็ได้ เพราะคนที่ชอบบอกว่าคนอื่น Toxic ส่วนใหญ่มักเป็นมนุษย์ Toxic ที่ยังไม่รู้ตัว

 

ความ Toxic ไม่ได้แปลว่าคนคนหนึ่งจะ Toxic ไปทุกมิตินะครับ แต่สิ่งที่ Toxic ก็คือ ‘พฤติกรรม’ ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์หนึ่งๆ ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ แต่จะ Toxic จนสังเกตได้ก็เพราะเรา ‘เสพติด’ อาการ Toxic นั้น และส่วนใหญ่เป็นการเสพติดอาการ Toxic นั้นโดยไม่รู้ตัวด้วย

 

นักจิตวิเคราะห์อย่าง โจดี เกล จากซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย บอกว่าคนที่ Toxic นั้นมักจะมีลักษณะทำนองนี้ (ไม่ได้แปลว่าต้องมีทุกอย่างนะครับ) คือชอบสร้างดราม่าให้เกิดขึ้นกับตัวเองและคนรอบข้างบ่อยๆ รวมถึงชอบควบคุมคนอื่น เป็นคนที่เรียกร้องความสนใจจากคนอื่น ใช้คนอื่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตัวเอง เป็นคนช่างวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นแบบเกินจริง ขี้อิจฉาริษยา ชอบบ่นว่าโชคร้ายของตัวเอง (หรือบางคนต่อให้โชคดีก็จะหาช่องร้ายๆ มาบ่นจนได้) รวมทั้งบางทีก็ถึงขั้นชอบทำร้ายตัวเองและทำร้ายผู้อื่นด้วย แล้วก็ไม่ยอมขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ไม่ยอมไปรับการรักษาทางจิต อะไรทำนองนั้น

 

ฟังดูแล้วเยอะแยะซับซ้อนไปหมด แต่เราจะพบคนที่มีลักษณะแบบนี้ในชีวิตประจำวันได้บ่อยมาก บางคนก็เป็นอย่างสองอย่าง บางคนก็เป็นหลายอย่าง ที่สำคัญคือถ้าเราย้อนกลับมาดูตัวเอง เราจะพบว่าลักษณะพวกนี้ไม่ได้ห่างไกลเลย อยู่ในตัวเราเองก็มี

 

ในทางจิตวิทยา พฤติกรรม Toxic เกิดจากรูปแบบความคิด (Thinking Patterns) ที่ก่อให้เกิดอารมณ์เข้มข้นรุนแรง โดยอารมณ์พื้นฐานที่ว่ามีอยู่ 3 อย่างคือ ความกลัว (Fear) ความโกรธ (Anger) และความอับอายหรือรู้สึกผิด (Guilty) แต่แค่เกิดอารมณ์พวกนี้ขึ้นมายังไม่เรียกว่า Toxic นะครับ เพราะคนที่ Toxic จะต้องมีอาการ ‘เสพติด’ ความกลัว ความโกรธ หรือความอับอายและรู้สึกผิดของตัวเองด้วย

 

คุณอาจจะถามว่าคนเราจะไปเสพติดกับอาการพวกนี้ได้อย่างไร ทั้งที่ความกลัว ความโกรธ ความรู้สึกผิดพวกนี้ไม่น่าเป็นสิ่งพึงปรารถนาสักเท่าไร มันไม่เจ็บปวดหรอกหรือ

 

ใช่ครับ มันเป็นเรื่องเจ็บปวด แต่ถ้าย้อนกลับไปในวิวัฒนาการของมนุษย์ เราจะพบว่าความรู้สึกพวกนี้คือ ‘กลยุทธ์’ ในการป้องกันตัวเองที่เกิดขึ้นในสมอง พฤติกรรมพวกนี้ (กลัว โกรธ รู้สึกผิด) ล้วนแต่เป็นพฤติกรรมที่ทำให้เราเอาตัวรอดมาได้เป็นแสนๆ ปี คือเวลามีอะไรมากระตุ้นเรา เราก็จะชักใบกลไกป้องกันตัวเองขึ้นมา ซึ่งสมัยโบราณเราอาจแสดงออกกับหมี เสือ หรือพายุใหญ่อะไรทำนองนั้น แต่ในปัจจุบันเรานำมาแสดงออกกับ ‘มนุษย์’ ด้วยกัน

 

นั่นทำให้ ‘คนอื่น’ เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรม Toxic แต่สำหรับคนที่แสดงพฤติกรรมนั้นๆ อยู่ รู้ไหมครับว่ามันทำให้พวกเขา ‘รู้สึกดี’ หรือ Feel Good

 

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

 

ย้อนกลับไปในอดีตแห่งวิวัฒนาการ เวลามนุษย์เผชิญหน้ากับภัยอันตราย สมองของเราจะปล่อยสารสื่อประสาทและฮอร์โมนต่างๆ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกกลัว (หรือโกรธ) แล้วร่างกายก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่างๆ เช่น หัวใจเต้นแรงขึ้น เลือดสูบฉีด ฯลฯ

 

นักประสาทวิทยาบอกว่าความกลัวนั้นไม่ได้มาเดี่ยวๆ แต่มันมีกลไกการทำงานที่ซับซ้อน และจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับความรู้สึกดีด้วย โดยสารเคมีในร่างกายของเราที่กระตุ้นให้เกิดความกลัวจะทำงานร่วมไปกับสารเคมีที่ทำให้เกิดความสุข โดยทั้งสองอย่างไปขับเน้นศูนย์รางวัล (Reward Centers) ในสมอง

 

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ถ้าเราเห็นสิ่งที่น่ารักใคร่ยินดี สารเคมีจะหลั่งออกมาทำให้เรารู้สึกเหมือนได้รับรางวัล แต่ถ้าเราเห็นสิ่งที่เรากลัว สารเคมีจะหลั่งออกมาเพื่อให้ร่างกายเราเตรียมพร้อม แต่ในเวลาเดียวกันก็ไปกระตุ้นศูนย์รางวัลในสมอง (แบบเดียวกับเวลาเราเห็นสิ่งที่น่ารัก) ด้วย

 

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

 

ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะความกลัวไม่ได้เกิดขึ้นมาแค่เพื่อให้เรากลัวเฉยๆ แต่การจะทำให้เรารอดพ้นจากภัยอันตรายหรือสิ่งที่ทำให้เรากลัวได้ (เช่น ไปเจอหมีขวางหน้าอยู่) เราก็ต้อง ‘เรียนรู้’ ว่าจะจัดการกับสิ่งที่ก่อให้เกิดความกลัวนั้นอย่างไร (เช่น เรียนรู้ว่าจะจัดการกับหมีอย่างไร เราต้องทำอย่างไรถึงจะรอด)

 

นักประสาทวิทยาอธิบายว่า เวลาที่เรากลัว ร่างกายของเราจะอยู่ในสภาวะ ‘พร้อมเรียนรู้’ (Receptivity to Learning) มากที่สุด โดยความกลัวไปกระตุ้นให้เราเรียนรู้ และเปิดโอกาสให้การเรียนรู้นั้นฝังลึกลงไปในความทรงจำระดับจิตใต้สำนึกของเราด้วย (ลองนึกดูนะครับว่าเราจะจำเรื่องที่เรารู้สึกกลัวหรือโกรธมากๆ ได้ไม่ลืมเลย) นั่นเพราะสมองของเราบันทึกประสบการณ์นั้นเอาไว้ในระดับจิตใต้สำนึก ในที่ทางพิเศษ ซึ่งจะเป็นตัวการทำให้เรามีพฤติกรรมบางอย่างเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและรวดเร็วที่สุดเพื่อจะได้หนีพ้นจากความกลัวนั้นโดยไม่เสียเวลา

 

ร่างกายของเรานั้นมหัศจรรย์ เพราะมันจัดการให้เรา ‘อยาก’ เรียนรู้ด้วยการให้ ‘รางวัล’ ไปพร้อมกับเตรียมการให้ร่างกายของเราพร้อม ดังนั้นความกลัว (ซึ่งก็รวมถึงความโกรธและความละอายด้วย) จึงเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนมาก และเกิดขึ้นกับสมองส่วนต่างๆ หลายส่วน

 

เวลาเราตอบสนองต่อความกลัว ความโกรธ หรือความละอาย พฤติกรรมที่เราแสดงออกมักจะถูกคนอื่นมองว่าแย่ (หรือ Toxic) ทั้งนี้ก็เพราะกลไกสู้หรือหนีมันทำงาน (แต่แทนที่เราจะหาไม้มาตีหมี เราก็จิกด่าเพื่อนแทน) อย่างที่บอกว่ากลไกนี้ในสมองของเราทำงานโดยเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ในอดีตที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใต้สำนึก ส่วนใหญ่จึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและทรงพลังมากอย่างที่เราแทบไม่ได้หยุดคิด และคนเรา Toxic ก็เพราะเราไม่ได้คิดนี่ล่ะครับ ถ้าคิดก็คงไม่ Toxic เท่าไร

 

คนโดยทั่วไปมีความ Toxic พวกนี้อยู่ในตัวนะครับ แต่ปัญหาของคนที่ Toxic มากๆ หรือ Toxic เป็นประจำก็คือคนเหล่านี้ ‘เสพติด’ อาการ Toxic เหตุผลก็คือสารเคมีในร่างกายที่กระตุ้นให้เรากลัวนั้นมันไปกระตุ้นศูนย์รางวัลในสมองด้วย ดังนั้นพอ Toxic ไปแล้ว (เช่น บ่น ด่า เมาท์ วีน ฯลฯ) เราจะเกิดความรู้สึกพึงพอใจในตัวเองขึ้นมาเหมือนได้รับรางวัล แต่นักจิตวิทยาบอกว่ามันเป็นความรู้สึกดีแบบเทียม (Pseudo Feel Good) เพราะว่าไม่ได้เกิดจากการกระตุ้นของสารเคมีที่เกิดจากการได้เห็นสิ่งที่ตัวเองยินดีจริงๆ แต่เกิดจากด้านตรงข้าม

 

วิธีคิดแบบ Toxic และอาการรู้สึกดีเทียมที่เกิดขึ้นจึงไปบล็อกการเปลี่ยนแปลงและการเยียวยาตัวเอง เราจะไม่เห็นว่าตัวเองแย่หรือ Toxic เพราะเราเสพติดอาการ Toxic ไปแล้ว อาการ Toxic จึงเป็นเหมือนสารเสพติด เราจะคิดว่ามันคือ ‘ทางออก’ ของปัญหา ทั้งที่จริงๆ แล้วมันคือสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหา

 

และเมื่อเราไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาตั้งแต่ต้นว่าตัวเรา Toxic เราก็มีแนวโน้มจะเห็นแต่ความ Toxic ของคนอื่นและตอบโต้ต่ออาการ Toxic ของคนอื่น (ซึ่งก็ต้องบอกอีกนั่นล่ะครับว่าคนอื่นอาจจะไม่ได้ Toxic ก็ได้ แต่เป็นการรับรู้ของเราเอง) ด้วยความกลัว โกรธ หรืออับอาย อันจะไปขับเน้นอาการ Toxic ของตัวเองให้มากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็กลายเป็นวงจรแห่งความ Toxic ที่เข้มข้นและเปลี่ยนแปลงยากขึ้นเรื่อยๆ

 

ที่หลายคนแนะนำว่าไม่ควรไปอยู่ใกล้คน Toxic ก็เพราะคนที่ Toxic เป็นประจำนั้นหายได้ยากมาก เนื่องจาก Toxic แบบไม่รู้ตัว

 

คำถามก็คือ แล้วเราจะจัดการกับอาการ Toxic ของเราได้อย่างไร

 

ต้องบอกว่าเรื่องนี้ไม่ง่ายเลยครับ และดังนั้นจึงต้องบอกแบบ Toxic ว่าเอาไว้ติดตามต่อในตอนหน้าแล้วกันนะครับ!

 

ภาพประกอบ: Pichamon W.

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X