ความเชื่อหนึ่งที่ไม่รู้เป็นการทำลายหรือส่งเสริมคนหนุ่มสาวก็คือ ความเชื่อที่ว่า วัย 20s เป็นวัยที่ทรงพลังที่สุด เป็นวัยที่สามารถทำอะไรก็ได้ มองเห็นว่าโลกเป็นเรื่องสนุก มีเรื่องใหม่ๆ ท้าทายให้ลองทำอยู่ตลอดเวลา คนในวัยนี้เติบโตพ้นความเป็นเด็กแล้ว แต่ก็ยังไม่เติบใหญ่ถึงขนาดเริ่มมองเห็นความโรยราของอายุ ดังนั้น 20s จึงน่าสนใจ
แต่นั่นเป็น ‘ความเชื่อ’ ในทางสังคมทั่วๆ ไป คำถามคือ แล้วในทางวิทยาศาสตร์ล่ะ มองคนวัย 20s อย่างไร เราลองมาพิจารณากันเป็นข้อๆ ดูดีไหมครับ
1. อย่างแรกสุด คือ คนวัย 20s จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางสมองที่ต่างไปจากวัยรุ่น มีงานวิจัย (สามารถอ่านงานวิจัยได้ที่นี่) บอกว่า สมองของวัยรุ่นเป็นสมองที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากสมองของเด็กหรือผู้ใหญ่ (ก็แหงล่ะสิ!) ในหลายด้าน แต่ด้านหนึ่งที่สำคัญก็คือ วัยรุ่นจะมีอาการ ‘ตระหนักถึงตัวตนของตัวเอง’ (เรียกว่ามี Self-Consciousness) สูงมาก
โดยการทดลองในงานวิจัยนี้ จะใช้วิธีสแกนสมองด้วย MRI เพื่อดูปฏิกิริยาต่างๆ ของผู้เข้าร่วมทดลองที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมทางสังคม เช่น พฤติกรรมที่ถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มเพื่อน ฯลฯ ซึ่งก็มีรายละเอียดต่างๆ หลายอย่าง แต่สรุปได้ว่า วัยรุ่นคือวัยที่ใส่ใจกับ ‘คนอื่น’ มาก (โดยเฉพาะการต้องทำให้เหมือนเพื่อน) แต่เมื่อถึงวัย 20s แล้ว สมองจะเริ่มเปลี่ยน การไม่ได้เป็นวัยรุ่นอีกต่อไปแปลว่าคุณจะสนใจคำหรือความเห็นของคนอื่นน้อยลง แต่หันมาใส่ใจความรู้สึกหรือความต้องการจริงๆ ของตัวเองมากขึ้น ในแง่หนึ่ง ชีวิตจึงดีขึ้นด้วย
2. แม้จะพ้นวัยรุ่นมาแล้ว แต่วัย 20s ก็ถือว่ายังไม่ได้เป็นหลักเป็นฐาน ยังตั้งตัวหรือสร้างเนื้อสร้างตัวให้มั่นคงไม่ได้อยู่ดี ทำให้พ่อแม่หลายคนเป็นกังวลว่าลูกตัวเองอายุ 20 กว่าแล้ว ยังไม่เป็นโล้เป็นพายอีก
แต่คุณรู้ไหมว่า นักวิทยาศาสตร์บางคน (เช่น ดร. เจย์ เกียดด์ (Jay Giedd) แห่งสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา) เขาบอกว่า ที่เป็นอย่างนี้ เป็นเพราะสมองของคนวัย 20s นั้น ‘ยังไม่เสร็จ’ (Unfinished) คือยังไม่ได้โตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ เขาบอกว่า บางคนกว่าสมองจะ ‘เสร็จ’ (คือเติบโตเต็มที่) ก็ต้องอายุ 25 ปีโน่น
แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ข้อเสียนะครับ นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ด้วยซ้ำ เพราะวัย 20s คือวัยแห่งการลองผิดลองถูก การที่สมองยังเติบโตและเปลี่ยนแปลงได้อีก ทำให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป (เช่น การเปลี่ยนงาน หรือ การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อซึมซับประสบการณ์) ได้ดีกว่า และนี่เป็นเหตุผลด้วยนะครับว่า ทำไมพอเลย 20s ไปแล้ว คนเราถึงปรับตัวยากกว่าเวลาต้องเปลี่ยนงานหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในชีวิต
บทความนี้ The Neuroscience of 20-Somethings ใน Scientific American เล่าถึงงานวิจัยของ โรบิน มาแรนต์ซ เฮนิก (Robin Marantz Henig) ที่สรุปเอาไว้ว่า คนในวัย 20s (ในสหรัฐอเมริกานะครับ) มีถึง 1 ใน 3 ที่ย้ายที่อยู่ใหม่ทุกปี ในจำนวนนี้ 40% ย้ายกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่อย่างน้อย 1 ครั้งด้วย และโดยเฉลี่ยมีการเปลี่ยนงานถึง 7 ครั้ง ในช่วงวัย 20s ถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่คนเราเปลี่ยนงานมากที่สุด ซึ่งไม่ได้แปลว่าจับจด เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่ออะไรทำนองนั้นนะครับ แต่เพราะวัย 20s ยังเป็นวัยที่ลองผิดลองถูกได้
3. ในเวลาเดียวกัน คนวัย 20s สมัยนี้ ก็ยังไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจกับการพยายามหาคู่ แต่งงาน และลงหลักปักฐานสร้างบ้านด้วยนะครับ เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สังคมทั่วไปเริ่มยอมรับว่าการแต่งงานช้า (หรือไม่แต่งงานเลยด้วยซ้ำ) เป็นเรื่องปกติ ในปี 1960 ผู้หญิงในอเมริกาที่ลุกขึ้นมาแต่งงานมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 20 ปี ผู้ชายอยู่ที่ 23 ปี แต่ตอนนี้อายุเฉลี่ยเวลาแต่งงานของผู้หญิงขยับไปที่ 26 ปี ส่วนผู้ชายอยู่ที่ 29 ปี นั่นทำให้คนวัย 20s ยุคนี้ มีเวลาค้นหาตัวเองนานขึ้นกว่าคนยุคก่อน
4. ในทางร่างกายแล้ว ใครๆ ก็คงรู้ว่าช่วงวัย 25-30 ปี เป็นช่วงที่ร่างกายของเราพัฒนามาถึงขีดสุดและยังไม่เสื่อม ผิวเปล่งปลั่งที่สุด ผมหนาดก กล้ามเนื้อยังไม่ฝ่อ กระดูกกระเดี้ยวไม่ปวดไม่ล้า แต่ที่หลายคนอาจจะชอบมากกว่าก็คือ ช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่ตับของคุณยังทำงานได้ดี คุณจึงจะพบว่าตัวเองสามารถไปปาร์ตี้ดื่มจนเมามายได้ โดยที่ตื่นขึ้นมาไม่เกิดอาการแฮงก์โอเวอร์ ทั้งนี้ก็เพราะตับของคุณกำจัดสารพิษออกไปได้เกือบหมด ไม่เหมือนตอนคุณอายุมากขึ้น
นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์นั้นจะแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราอายุมากขึ้น คือยิ่งแก่ก็ยิ่งแฮงก์โอเวอร์ได้ง่ายนั่นแหละครับ แต่ที่สำคัญก็คือ แม้ร่างกายคุณจะยังเจ๋งอยู่ คุณก็ต้องดูแลมันด้วยนะครับ ไม่ใช่ใช้งานมันหามรุ่งหามค่ำ (ไม่ว่าจะทำงานหรือปาร์ตี้) ไม่อย่างนั้นพอเลยวัยเลขสองไปแล้ว รับรองได้เลยว่าจะแย่
5. วัย 20s เป็นวัยสำคัญในการเตรียมพร้อมตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพิ่งมีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Neurology ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ของสถาบันประสาทวิทยาอเมริกัน (American Academy of Neurology) บอกว่า วัย 20s นี่สำคัญมากนะครับ เขาย้อนกลับไปดูข้อมูลของคน 518 คน ที่ปัจจุบันมีอายุเฉลี่ย 51 ปี คนเหล่านี้ได้รับการบันทึกเอาไว้หมดตั้งแต่น้ำหนัก ความสูง ความดันโลหิต คอเลสเตอรอล น้ำตาลในเลือด และมีการสัมภาษณ์เรื่องอาหารและการออกกำลังกายด้วย แล้วก็มีการตรวจร่างกายติดตามผลสม่ำเสมอทุกๆ 2-5 ปี รวมทั้งมีการสแกนสมองหลังผ่านไป 25 ปีด้วย
สิ่งที่ค้นพบนั้นน่าสนใจมากนะครับ เพราะเขาบอกว่า คนที่ในวัย 20s มีสุขภาพของหัวใจดี (ซึ่งเป็นผลมาจากการออกกำลังกายและการกินอาหารที่ดีกว่า) เมื่อเติบโตมาถึงวัยกลางคน (หรือวัย 40s) แล้ว พบว่า ‘ขนาด’ ของสมองเฉลี่ยจะใหญ่กว่าคนที่สุขภาพของหัวใจไม่ดี พูดง่ายๆ คือ ถ้าหัวใจสุขภาพดีในวัย 20s สมองก็จะดีในวัย 40s ไปด้วย ดังนั้น วัย 20s จึงสำคัญมากต่อชีวิตทั้งหมดของเรา
6. ในทางสังคมแล้ว นักจิตวิทยาคลินิกอเมริกันชื่อคุณ เม็ก เจย์ (Meg Jay) ผู้เขียนหนังสือชื่อ The Defining Decade เคยบอกเอาไว้ว่า ช่วงวัย 20s นั้นสำคัญมาก เพราะว่า 80% ของคนเราทั้งหมด มักจะ ‘นิยาม’ ตัวเองกันที่อายุ 35 ปี ดังนั้น ช่วงวัย 20s จึงสำคัญมากต่ออัตลักษณ์ของเรา เราเริ่มทำงานในวัย 20s มีความรักจริงจัง (หรือถึงขั้นแต่งงาน) ส่วนใหญ่ก็เกิดในวัย 20s วัยนี้จึงหล่อหลอมบุคลิกภาพของคนเราไปตลอดชีวิต ทศวรรษของวัย 20s จึงเป็นทศวรรษแห่งชีวิตที่สำคัญที่สุด
เอาเป็นว่า ถ้าตอนนี้คุณอยู่ในวัย 20s ละก็ ลองสำรวจและดูแลตัวเองดีๆ นะครับ มันคือช่วงวัยที่สำคัญมากๆ และจะเป็นรากฐานให้กับช่วงวัยถัดไป
แต่ถ้าตอนนี้คุณเลย 20s ไปแล้ว ก็ลองย้อนกลับไปดูว่า สิ่งที่คุณทำกับตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจในวัย 20s ส่งผลอะไรให้กับคุณในตอนนี้บ้าง
ตอนหน้า เรามาดูกันว่านักวิทยาศาสตร์พูดอะไรถึงคนวัย 30s บ้าง!
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai