×

สิ่งที่เรารู้ ก่อนเปิดฉากเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ 9 พ.ค.

06.05.2022
  • LOADING...
สิ่งที่เรารู้ ก่อนเปิดฉากเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ 9 พ.ค.

ประชาชนชาวฟิลิปปินส์กว่า 67.5 ล้านคนเตรียมเข้าคูหาเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ เพื่อเฟ้นหาผู้นำคนใหม่ที่จะมาเข้ารับตำแหน่งแทนที่ โรดริโก ดูเตร์เต ผู้นำคนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 6 ปีลงในอีกไม่ช้า

 

ศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เพียงแต่ชี้ชะตาผู้นำประเทศเท่านั้น แต่ยังมีการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่รัฐอีกหลายตำแหน่งด้วยกัน ตั้งแต่รองประธานาธิบดีไปจนถึงวุฒิสมาชิก ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่นอีกกว่า 18,000 คน ซึ่งรวมถึงนายกเทศมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัด

 

ทั้งนี้ คูหาเลือกตั้งจะมีกำหนดปิดทำการในเวลา 19.00 น. ของวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น แต่คณะกรรมการเลือกตั้งระบุว่า อาจมีการขยายเวลาการลงคะแนนเสียงเพิ่มเติม ถ้ายังมีประชาชนมารอลงคะแนนอยู่นอกคูหา และจะเริ่มนับคะแนนหลังจากปิดหีบทันที ซึ่งคาดว่าจะทราบผลของผู้ที่คว้าชัยในศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

  • ‘มาร์กอส จูเนียร์’ ตัวเต็งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ปีนี้

 

สำหรับตัวเต็งในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ได้แก่ ‘เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์’ หรือ ‘บองบอง’ วัย 64 ปี บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของอดีตผู้นำเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งมีคะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับหนึ่งในผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงของตระกูลมาร์กอสนั้นเป็นที่จดจำในฐานะผู้นำเผด็จการที่พาฟิลิปปินส์ไปสู่ยุคที่มืดมนมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ โดยมีการทุจริตเงินไปหลายพันล้านดอลลาร์ ขณะประชาชนอดอยาก และได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง

 

มาร์กอส จูเนียร์ มีอายุ 28 ปีในขณะที่บิดาของเขาถูกโค่นอำนาจจากการลุกฮือของประชาชนในปี 2529 โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ตระกูลมาร์กอสถูกเนรเทศและต้องลี้ภัยไปยังต่างแดน ซึ่งผู้สังเกตการณ์เล่าว่า นับตั้งแต่นั้นมา ครอบครัวมาร์กอสก็ตั้งความหวังที่จะได้กลับไปมีอำนาจในฟิลิปปินส์เช่นดังเดิม 

 

และในช่วงปี 90 ตระกูลมาร์กอสก็ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับมายังแผ่นดินเกิดได้อีกครั้ง ยกเว้นผู้เป็นบิดาซึ่งเสียชีวิตในต่างประเทศไปก่อนหน้านี้ ภายหลังจากที่ได้เดินทางกลับมายังมาตุภูมิ ครอบครัวมาร์กอสก็พยายามสร้างชื่อเสียงบนเส้นทางการเมืองอีกครั้ง โดยมาร์กอส จูเนียร์ได้รับเลือกตั้งให้เป็นทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอิโลกอส นอร์เต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ส่วนในปี 2559 เขาได้ตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับ เลนี โรเบรโด ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งในปีนี้เธอก็เป็นคู่ต่อสู้คนสำคัญของเขาในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

 

ทั้งนี้ อิเมลดา มารดาของมาร์กอส จูเนียร์ เคยกล่าวไว้ว่า การเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ถือเป็น ‘ชะตากรรม’ ของบุตรชายที่ถูกกำหนดไว้แล้ว

 

สำหรับแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งของมาร์กอส จูเนียร์ มาในสโลแกน “เราจะรุ่งเรืองไปด้วยกันอีกครั้ง” (Together we will rise again) พร้อมให้คำมั่นว่าจะแก้ปัญหาค่าครองชีพและตลาดแรงงาน

 

อย่างไรก็ตาม มาร์กอส จูเนียร์ ไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์เลวร้ายที่บิดาของเขาเคยก่อไว้ในอดีต อีกทั้งยังได้พัฒนาโซเชียลมีเดียที่เปิดทางให้ครอบครัวมาร์กอสได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่อีกด้วย นอกจากนี้ เขายังไม่ยอมเข้าร่วมการดีเบตกับผู้สมัครรายอื่นๆ ทั้งยังเลี่ยงที่จะตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับประเด็นร้อนแรงต่างๆ เช่น มรดกที่ได้รับตกทอดมาจากบิดา ความมั่งคั่งร่ำรวยของตระกูลที่มาจากเงินทุจริตแผ่นดิน (มูลค่าราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) รวมถึงการเลี่ยงภาษี

  • ผู้สมัครรายอื่นๆ ที่น่าจับตามอง

 

ส่วนผู้สมัครรายอื่นๆ ที่น่าจับตานั้นคือ เลนี โรเบรโด รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งเธอเป็นสตรีเพียงหนึ่งเดียวที่ลงชิงตำแหน่งผู้นำประเทศในปีนี้ และมีคะแนนนิยมรองมาจากมาร์กอส จูเนียร์

 

ก่อนหน้านี้ โรเบรโดชนะการเลือกตั้งและได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในปี 2559 ซึ่งเธอมีอุดมการณ์อยู่คนละขั้วกับดูเตร์เตอย่างสิ้นเชิง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เธอได้โจมตีนโยบายการทำสงครามกับยาเสพติดของดูเตร์เต ด้วยเหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้เธอยังได้กล่าวเตือนถึงความเสี่ยงที่เกิดจากปัญหาผู้นำประชานิยม พร้อมประณามการตัดสินใจฝังศพอดีตผู้นำมาร์กอสในสุสานวีรบุรุษอีกด้วย ซึ่งในฟิลิปปินส์ การเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะแยกกันชัดเจน โดยไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นคู่รันนิงเมตของกันและกัน

 

โรเบรโดให้คำมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันทางการเมือง โดยเธอมาพร้อมกับสโลแกน “รัฐบาลโปร่งใสเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน” (Honest government, a better life for all) และถึงแม้มาร์กอส จูเนียร์ จะมีคะแนนนำในผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน แต่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนั้น โรเบรโดก็ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมจากกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อเร็วๆ นี้ รวมถึงบรรดาอาสาสมัครกว่า 2 ล้านคนที่พยายามชักจูงให้ประชาชนที่ยังไม่มีตัวเลือกในใจหันมาเลือกเธอเป็นผู้นำหญิงคนใหม่ของประเทศ

 

ผู้สมัครอีกคนที่น่าสนใจคือ แมนนี ปาเกียว อดีตนักมวยชื่อดังขวัญใจชาวฟิลิปปินส์ โดยเขาได้เข้าสู่เส้นทางการเมืองเมื่อปี 2553 และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกในปี 2559 ทั้งนี้ ปาเกียวเคยเป็นพันธมิตรของดูเตร์เต ก่อนที่ความสัมพันธ์อันแสนหวานของทั้งสองจะแปรเปลี่ยนเป็นขม เนื่องจากปาเกียวมองว่า ดูเตร์เตออกนโยบายที่เอาใจจีนมากเกินไป และให้สัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาการทุจริต

 

นอกจากนี้ยังมีอิสโก โมเรโน อดีตนักแสดงชื่อดังและนายกเทศมนตรีกรุงมะนิลาคนปัจจุบัน เขาเติบโตขึ้นมาในย่านที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ก่อนที่จะมีแมวมองเห็นพรสวรรค์และผลักดันให้เขาเริ่มต้นอาชีพในสายโทรทัศน์และภาพยนตร์ อย่างไรก็ตาม ดูเตร์เตเคยเย้ยหยันโมเรโนเกี่ยวกับอดีตของเขาในวงการบันเทิง ถึงขั้นกล่าวว่าโมเรโนเป็น “ผู้ชายขายบริการ” จากภาพถ่ายเซ็กซี่เมื่อสมัยทำงานในวงการ

 

โมเรโนให้คำมั่นว่า เขาจะใช้ไม้แข็งต่อปัญหาการรุกรานของจีนในทะเลจีนใต้ พร้อมสานต่อโครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มมาตั้งแต่ยุคของดูเตร์เต

 

ส่วนคนสุดท้ายคือแพนฟิโล แลคสัน สมาชิกวุฒิสภาและอดีตผู้บัญชาการตำรวจ โดยเขาเป็นผู้สมัครที่มีจุดยืนแก้ไขปัญหาด้านอาชญากรรมชัดเจน และสนับสนุนกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่มีหมายศาล และเปิดทางให้เจ้าหน้าที่กักขังบุคคลใด ๆ เป็นเวลาหลายสัปดาห์ได้แม้จะยังไม่มีการตั้งข้อหา ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมากในฟิลิปปินส์

  • ดูเตร์เต อำลาตำแหน่ง

 

แม้ในช่วงการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีดูเตร์เตจะเต็มไปด้วยปัญหาวุ่นวาย รวมถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน แต่การแก้ปัญหาที่เด็ดขาดของเขาก็ยังทำให้เขาได้รับความนิยมจากชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งบรรดาผู้สนับสนุนระบุว่า ดูเตร์เตได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตั้งแต่ที่ได้นั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ ทั้งการแก้ปัญหาอาชญากรรม และการทุจริตคอร์รัปชัน

 

ภาพลักษณ์ของชายชาตรีสุดแข็งแกร่ง และการพูดจาอย่างตรงไปตรงมาของเขายังคงครองใจประชาชนหลายคน อีกทั้งดูเตร์เตยังสามารถรักษาระดับความนิยมไว้ได้ดีแม้ในช่วงที่ฟิลิปปินส์ต้องล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสื่อคาดการณ์ว่า ซารา ดูเตร์เต บุตรสาวของเขาจะได้ประโยชน์จากชื่อเสียงของผู้เป็นบิดาให้สามารถคว้าตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนใหม่ได้

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศต่างออกโรงวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศแบบเผด็จการของดูเตร์เต รวมถึงประเด็นการฆ่าตัดตอนเพื่อทำสงครามกับยาเสพติด โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ศาลอาญาระหว่างประเทศประกาศว่ากำลังสอบสวนประเด็น “สงครามยาเสพติด” ของเขา ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 30,000 คน

 

ภาพ: Ezra Acayan / Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising