×

ทำไมปีนี้เวลาผ่านไปช้า แต่คนอื่นกลับบอกว่าเร็ว? ทฤษฎีว่าด้วยเรื่องเวลาสองรูปแบบ

โดย THE STANDARD TEAM
26.12.2020
  • LOADING...
ทำไมปีนี้เวลาผ่านไปช้า แต่คนอื่นกลับบอกว่าเร็ว? ทฤษฎีว่าด้วยเรื่องเวลาสองรูปแบบ

HIGHLIGHTS

4 mins read
  • เวลานั้นแบ่งออกเป็นสองรูปแบบ นั่นก็คือ Objective Time ซึ่งเป็นเวลาที่ปรากฏตามจริงบนนาฬิกา ปฏิทิน หรือตารางเดินรถไฟ และ La Durée (แปลว่า Duration) หรือเรียกอีกอย่างว่า Lived Time ซึ่งก็คือ ‘ระยะเวลา’ ที่เรา ‘รู้สึก’ ผ่านประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าในช่วงเวลาเดียวกันระยะเวลามันสั้นและยาวไม่เท่ากับคนอื่น
  • ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระยะเวลาของแต่ละคนสั้นยาวเร็วช้าไม่เท่ากัน ได้แก่ ความรู้สึกและความทรงจำในอดีตที่มีอิทธิพลต่อประสบการณ์ปัจจุบันของเรา เช่น คนที่ไม่เคยรับมือกับผลกระทบเชิงลบจากโควิด-19 อาจรู้สึก ‘แปลกใหม่’ ในช่วงกักตัว พวกเขาจึงหาอะไรสนุกๆ ทำอย่างการออกกำลังกาย เข้าคอร์สเรียนภาษา เริ่มทำขนมเป็นครั้งแรก เวลาแต่ละวันอาจจบลงในระยะเวลาเพียงสั้นๆ
  • แต่สำหรับคนที่ดิ้นรนเพื่อที่จะเอาชีวิตรอดในช่วงนั้น การเผชิญหน้ากับการตกงาน การหาเงินซื้อหน้ากากอนามัยและของกักตุน เวลาของพวกเขาอาจเดินช้ากว่า

อีกไม่กี่สัปดาห์ปฏิทินเดือนสุดท้ายของปี 2020 ก็จะถูกฉีกทิ้งไป พร้อมที่จะตั้งปฏิทินอันใหม่ไว้บนโต๊ะทำงาน แต่เดี๋ยวนะ เผลอแป๊บเดียวปีนี้ก็จะผ่านไปแล้วหรือ? ยังไม่ทันได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย

 

นาฬิกาบนโต๊ะก็ยังทำงานปกติดี และ 1 นาทีก็ยังมี 60 วินาทีเหมือนเดิม แต่ทำไมเราถึงได้รู้สึกว่าปีนี้ผ่านไปรวดเร็ว จำได้ว่าเมื่อไม่นานนี้ยังเป็นเดือนมกราคมอยู่เลย รู้สึกตัวอีกทีก็เตรียมจะเคานต์ดาวน์ปีใหม่เสียแล้ว 

 

พอเอาเรื่องนี้ไปบ่นกับคนอื่น ส่วนมากก็เห็นด้วยกับเรา แต่น่าแปลกใจที่สำหรับบางคน พวกเขาบอกว่าปีนี้เวลาเหมือนถูกแช่แข็งเลย แค่ปีเดียวแต่รู้สึกราวกับว่านานเป็นชาติ แล้วสรุปปีนี้ผ่านไปเร็วหรือช้ากันแน่ล่ะ?

 

ทฤษฎีว่าด้วยเรื่องเวลาสองรูปแบบ

จริงๆ แล้วความรู้สึกเกี่ยวกับช่วงเวลาของแต่ละคนในปีนี้ไม่มีถูกและไม่มีผิด เพราะการรับรู้เวลาผ่าน ‘ประสบการณ์’ ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แม้จะใช้นาฬิกาเรือนเดียวกันเพื่อบอกเวลาก็ตาม 

 

โดยปรากฏการณ์นี้สามารถอธิบายได้ด้วยหลักปรัชญาของ เฮนรี เบิร์กสัน (Henri Bergson) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่เสนอแนวคิดเรื่องเวลาที่เรียกว่า ‘La Durée’

 

 

เบิร์กสันได้กล่าวไว้ว่า จริงๆ แล้วเวลานั้นแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ นั่นก็คือ Objective Time ซึ่งเป็นเวลาที่ปรากฏตามจริงบนนาฬิกา ปฏิทิน หรือตารางเดินรถไฟ และ La Durée (แปลว่า Duration) หรือเรียกอีกอย่างว่า Lived Time ซึ่งก็คือ ‘ระยะเวลา’ ที่เรา ‘รู้สึก’ ผ่านประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าในช่วงเวลาเดียวกันระยะเวลามันสั้นและยาวไม่เท่ากับคนอื่น

 

เบิร์กสันได้สังเกตว่ามนุษย์เรามักจะไม่ใส่ใจกับเวลาแบบที่สองเท่าไรนัก เพราะรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็น เนื่องจากเราคิดว่าอาศัยการดูนาฬิกาเอาก็พอจะรู้ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไรแล้ว แต่จริงๆ การจำแนกความแตกต่างของเวลาสองรูปแบบนี้ไม่ได้ยากขนาดนั้น 

 

ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาบนนาฬิการะหว่าง 15.00-16.00 น. กับ 20.00-21.00 น. นั้นมีระยะที่เท่าไร นั่นก็คือ 1 ชั่วโมง แต่ระยะเวลาในความรู้สึกไม่เป็นเช่นนั้น สมมติว่าช่วงเวลา 15.00 น. เรากำลังรอคิวเข้าพบแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ และช่วง 20.00 น. เรากำลังอยู่ในปาร์ตี้ที่สนุกสุดเหวี่ยงกับเพื่อนๆ หลายคนอาจรู้สึกเหมือนกันว่า แม้จะเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แต่ช่วงเวลาตอนรอคิวที่โรงพยาบาลนานกว่าตอนกำลังเต้นอยู่ในร้านเหล้าเป็นไหนๆ

 

ตัวอย่างนี้ไม่ได้ถูกกล่าวถึงโดยเบิร์กสันเท่านั้น แต่ในแอนิเมชันเรื่อง Antz ที่ฉายในปี 1998 ก็มีฉากหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นความแตกต่างของเวลาสองรูปแบบนี้เช่นกัน ก็คือตอนที่เจ้ามดสองตัวกำลังติดอยู่ใต้พื้นรองเท้าของเด็กชายคนหนึ่ง ซึ่งระหว่างนั้นก็มีบทสนทนาของเจ้ามดร่วม 2 นาที แต่เมื่อตัดไปที่ภาพของเด็กชาย ปรากฏว่าเขาแค่เดินไปได้ 4-5 ก้าวเอง

 

ฉากของเรื่อง Antz ที่ว่านี้ ผู้สร้างตั้งใจทำให้แต่ละก้าวของเด็กชายเคลื่อนไหวช้าๆ แบบสโลว์โมชัน เนื่องจากเขาต้องการเน้นไปที่บทสนทนาแบบเรียลไทม์ของเจ้ามดสองตัว ซึ่งสิ่งนี้เราไม่สามารถจับได้ด้วยนาฬิกาจับเวลา หรือดูความแม่นยำระหว่างตำแหน่งรองเท้ากับบทสนทนา เนื่องจากเวลาตามความเป็นจริงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด เพราะผู้สร้างต้องการให้โฟกัสที่ประสบการณ์ที่เจ้ามดสองตัวนี้เจอมากกว่า

 

 

เวลาที่ช้า-เร็วเกินไป ‘โรคระบาด’ อาจเป็นสาเหตุ

ในปี 2020 นี้ ไม่ใช่แค่เรา แต่คนทั่วโลกต่างก็รับรู้กันดีว่าเกิดเหตุการณ์ครั้งใหญ่อะไรบ้าง ที่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เวลาผ่านไปแบบแปลกๆ ซึ่งหลักๆ ก็คงจะเป็น ‘โรคระบาดโควิด-19’ ที่เข้ามามีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของทุกคนแบบแตกต่างกัน

 

ถ้าลองสลับจากการดูเวลาแบบทั่วไป มาเป็นการดูเวลาตามความรู้สึก เราจะเห็นถึงความแปลกประหลาดของช่วงเวลาในปีนี้ได้อย่างชัดเจน ยังจำกันได้ไหมว่าช่วงกักตัวจากโรคระบาดโควิด-19 เราเป็นอย่างไรกันบ้าง? เชื่อว่าหลายเดือนนั้นคนส่วนใหญ่น่าจะรู้สึกว่าเวลาช้าลงเยอะอย่างสัมผัสได้ 

 

เบิร์กสันอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระยะเวลาของแต่ละคนสั้นยาวเร็วช้าไม่เท่ากัน ได้แก่ ความรู้สึกและความทรงจำในอดีตที่มีอิทธิพลต่อประสบการณ์ปัจจุบันของเรา เช่น คนที่ไม่เคยรับมือกับผลกระทบเชิงลบจากโควิด-19 อาจรู้สึก ‘แปลกใหม่’ ในช่วงกักตัว พวกเขาจึงหาอะไรสนุกๆ ทำอย่างการออกกำลังกาย เข้าคอร์สเรียนภาษา เริ่มทำขนมเป็นครั้งแรก เวลาแต่ละวันอาจจบลงในระยะเวลาเพียงสั้นๆ แต่สำหรับคนที่ดิ้นรนเพื่อที่จะเอาชีวิตรอดในช่วงนั้น การเผชิญหน้ากับการตกงาน การหาเงินซื้อหน้ากากอนามัยและของกักตุน เวลาของพวกเขาอาจเดินช้ากว่า

 

 

นอกจากนี้การมองอนาคตหรืออดีตตาม ‘ความสำคัญ’ ของเหตุการณ์ ก็ยังสามารถส่งผลต่อระยะเวลาด้วยเช่นกัน บางคนอาจจะลืมไปว่ามีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในปีนี้ แต่ด้วยการกักตัวในบ้านที่ยาวนาน และโรคระบาดครั้งนี้ก็เป็นวาระสำคัญของคนทั้งโลก ทำให้เราลืมไปว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในปีเดียวกัน และเกิดก่อนช่วงกักตัวไม่นาน เช่น เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่ออสเตรเลีย

 

เช่นเดียวกับเวลาที่เราเฝ้าคอยเหตุการณ์ในอนาคต เวลาระหว่างตอนนี้กับในอนาคตก็จะผิดเพี้ยนไป เช่น ตอนที่เราคิดว่าเมื่อไรจะถึงวันหยุด เมื่อไรจะได้เจอครอบครัว เมื่อไรเกรดจะออก ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น และไม่มีป้ายบอกว่าเราควรจะรออีกนานแค่ไหน เราจะรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นสำคัญมาก และการรออย่างใจจดใจจ่อทำให้เรารู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้าเหลือเกิน แต่เมื่อเรารู้ระยะเวลาที่แน่ชัดแล้วว่าอีก 2 วันเกรดจะออก อีก 3 เดือนจะได้เจอพ่อแม่ เราจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วขึ้น หรือใครเคยบ้าง เวลาที่เดินตามหาร้านอาหารที่ยังไม่รู้พิกัด ขาไปย่อมรู้สึกยาวนานกว่าขากลับ เพราะขากลับเรารู้ระยะทางที่แน่ชัดแล้ว

 

จริงๆ แล้วยังมีทฤษฎีเกี่ยวกับช่วงเวลาอีกมากมายที่น่าสนใจ การที่เรารู้สึกช้าเร็วต่างกันอาจเกิดจากรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างอารมณ์ ความเร่งรีบ ความใส่ใจ ซึ่งเราเรียกมันว่าภาพลวงตาของเวลา (The Illusion of Time) ใครอยากลองทำแบบทดสอบเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ก็สามารถเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ https://graphics.reuters.com

 

ฉะนั้นในทุกๆ ปีก็คงจะแตกต่างกันไปแบบนี้แหละ เพราะทฤษฎีเกี่ยวกับระยะเวลา สามารถใช้ได้กับทุกช่วงเวลาและทุกสถานการณ์ แต่ในปี 2020 ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย อาจทำให้เราเห็นปรากฏการณ์นี้ชัดมากขึ้น ซึ่งการเดินของนาฬิกาหรือ Objective Time ก็แทบจะไม่มีผลกับการใช้ชีวิตมากเท่ากับความรู้สึกของเราสักเท่าไร

 

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนก็คงเข้าใจกันแล้วแหละว่าทำไมเวลาของตัวเองถึงเดินช้าหรือเร็วต่างจากคนอื่น สุดท้ายก็คงไม่มีคำตอบที่ตายตัว เพราะมันขึ้นอยู่กับความรู้สึก ความทรงจำ และประสบการณ์ที่แต่ละคนเจอนั่นเอง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising