×

เอาชนะ ‘Imposter Syndrome’ กับแนวคิดที่จะทำให้เรากลับมามองเห็นคุณค่าในตัวเอง

12.03.2021
  • LOADING...
เอาชนะ ‘Imposter Syndrome’ กับแนวคิดที่จะทำให้เรากลับมามองเห็นคุณค่าในตัวเอง

ในสังคมที่นิยมการแข่งขัน การเปรียบเทียบ และความสำเร็จ ‘ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ’ จึงเป็นหนึ่งแนวคิดที่มาแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนเกิดเป็นกระแส ทักษะเป็ดชนะทุกสิ่ง, ชีวิตไม่หยุดเรียนรู้ หรือล่าสุดอย่างการ ใช้เวลาช่วงโควิด-19 ในการพัฒนาตนเอง ทั้งยังมีกระแสจากแนวคิดตรงข้ามที่วิพากษ์กระแสการใช้เวลาอย่างเข้มงวดพัฒนาตนเองช่วงโควิด-19 และล็อกดาวน์ว่า “ชีวิตคนจำเป็นแค่ไหนที่ต้องพัฒนาตลอดเวลา และเก่งในสายตาคนอื่น” จนกลายเป็นเรื่องราวดราม่าบนโลกออนไลน์

 

ไม่เพียงกระแสนิยมความเก่งจากโลกภายนอกเท่านั้น การนิยมความเก่ง การชื่นชมตนเอง การรู้สึกดีกับคุณค่าเชิงความสามารถของตนเองของโลกภายใน ผ่านการตัดสินจากเกณฑ์ที่เข้มงวดของตนเอง ก็ส่งผลต่อมุมมองที่มีต่อตนเอง ทำให้เกิดอารมณ์เชิงลบ และอาจกระทบการแสดงความสามารถที่แท้จริง 

 

รู้จัก Imposter Syndrome

เมื่อไรก็ตามที่คุณเริ่มเกิดความคิดวนไปมาต่อความสามารถ เกิดความรู้สึกสงสัยในตนเอง ได้ยินคำชมเชย หรือมีผลงานที่ประจักษ์แต่ไม่สามารถรู้สึกยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่สามารถเห็นข้อดี และมักคิดว่าตนไร้ซึ่งความสามารถ ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ หรือมักมีความคิดว่าความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาได้มาจากโชคหรือการเอื้ออำนวยจากคนอื่นมากกว่าความสามารถของตนเอง จนมักกังวลอยู่เสมอว่าคนอื่นจะจับได้ว่าตนไม่มีความสามารถหรือไม่ดีพอในงาน หากมีลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นกับคุณบ่อยครั้งและควบคุมความคิดได้ยาก คุณอาจมีอาการของ Imposter Syndrome อาการที่มักคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มีค่าในสายตา ‘ตัวเอง’

 

ซึ่งหากความรู้สึกเหล่านี้สะสมเป็นระยะเวลานาน และไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม อาจพัฒนาไปสู่โรคทางอารมณ์อื่นๆ เช่น วิตกกังวลหรือซึมเศร้าได้ เราจึงอยากชวนคุณผู้อ่านมาทำความรู้จัก พร้อมทั้งเรียนรู้แนวความคิดรับมือไปพร้อมๆ กัน 

 

กลุ่มบุคคลที่สุ่มเสี่ยงต่อโรค Imposter Syndrome

โดยส่วนใหญ่แล้วอาการนี้พบได้กับทุกคน แต่มักพบในบุคคลที่ได้รับการเลี้ยงดูปกป้องช่วยเหลือมากเกินไป จนสงสัยในความสามารถที่แท้จริงของตัวเอง หรือได้รับการให้มุมมองถึงความสมบูรณ์แบบในชีวิตมาอย่างเข้มงวด ทำให้มักมีรูปแบบความคิดนิยมความสมบูรณ์แบบทั้งผลงานและภาพลักษณ์ ได้รับความคาดหวังจากบริบท กังวลและมีมุมมองแง่ลบต่อความผิดพลาด จนอาจมองไปว่าไม่อาจยอมรับความผิดพลาดในงานได้แม้แต่เล็กน้อย ทำให้มักกดดันตนเองให้ทำงานอย่างหนักเพื่อความสำเร็จและสมบูรณ์ รวมทั้งการปฏิเสธที่จะร่วมงานกับคนอื่น หากประเมินแล้วมีความเสี่ยงที่จะทำให้งานมีคุณภาพที่ต่ำลง กระตุ้นตนเองให้มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลา  

 

ซึ่งบุคลิกภาพและการใช้ชีวิตดังกล่าวยิ่งจะส่งผลต่อความรู้สึกที่มีต่อตนเอง และประสิทธิภาพในการทำงานซ้ำแล้วซ้ำอีก เกิดเป็นวงจรของความคิดและพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาวะ

 

วิธีรับมือกับวงจรความคิดและพฤติกรรม “ฉันไม่เก่ง” 

 

1. รู้ทันความคิดอัตโนมัติที่ผ่านเข้ามา โดยเฉพาะความคิดอัตโนมัติเชิงลบที่เกี่ยวกับตนเองและคุณค่าในงาน โดยการรู้เท่าทันความคิดเป็นทักษะที่ฝึกฝนได้ผ่านการทบทวนและจดบันทึก

 

2. ทบทวนความคิด เพราะความคิดว่าฉันไม่เก่งเกิดจากความขัดแย้งกับความเชื่อในตัวเองและการวางเงื่อนไขที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น หากฉันได้รางวัลแสดงว่ากรรมการตัดสินผิด, ที่ฉันทำได้ดีเพราะโชคช่วย ฯลฯ ให้ลองทำตารางแล้วเขียนสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ว่าส่วนไหนของความคิดเป็นส่วนที่เป็นจริง ส่วนไหนไม่เป็นจริง หลังจากทบทวนความคิดตามความเป็นจริงแล้ว กลับมาสังเกตความรู้สึกต่อตนเองว่าเปลี่ยนไปอย่างไร

 

3. จากการทบทวนความคิดที่มีต่อตนเองอาจพบได้ว่า มีความคิดบางส่วนไม่เป็นความจริง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความผ่อนคลายทางอารมณ์ได้ระดับหนึ่ง ในส่วนความจริงที่อาจจะเป็นจริงว่า “ฉันมีส่วนไม่เก่ง” อันเกิดจากความผิดพลาด อาจฝึกการยอมรับว่า ความสมบูรณ์แบบไม่มีจริง แม้จะตั้งใจทำอย่างดีที่สุด การเกิดข้อผิดพลาดบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา ความผิดพลาดคือการเรียนรู้ และการยอมรับในความผิดพลาดเป็นหนึ่งวิธีในการพัฒนาตนเอง 

 

4. นอกเหนือจากความสุขในผลงาน มองหาความสุขจากการลงมือทำ ความตั้งใจ ความรู้สึกดีในความพยายามและความสำเร็จทางใจจากการทำงานหรือการเรียนที่ยุ่งยากและมีอุปสรรค ความร่วมมือกับตนเอง ความช่วยเหลือและเอื้ออำนวยจากผู้อื่น ล้วนแล้วแต่เป็นมุมมองความรู้สึกดีที่อาจถูกละเลยไป   

 

5. ความสำเร็จไม่ได้มาจาก ‘เรา’ เท่านั้น เพราะปัจจัยของความสำเร็จอาจประกอบด้วยหลายอย่าง ทั้งความสามารถ ทีมงาน หรือจังหวะเวลา การมองปัจจัยของความสำเร็จได้ตามความเป็นจริงจะช่วยลดความกังวลต่อความสามารถตนเองได้

 

6. สื่อสารความต้องการ อุปสรรค และความผิดพลาด ที่ได้เรียนรู้กับผู้ร่วมงาน เพื่อเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะในบางงานปัจจัยของความสำเร็จขึ้นอยู่กับทั้งตนเองและผู้อื่น การสื่อสารระหว่างกันเป็นระยะก่อนการต้องแสดงผลงานอาจช่วยให้เราเกิดประสบการณ์ทางความคิดต่อเรื่องความสำเร็จในรูปแบบใหม่ 

 

7. ลดการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ เพราะในโลกออนไลน์ที่คนมักแสดงความสำเร็จให้ผู้อื่นเห็น อาจมีที่มาที่ไปที่ยากลำบากโดยที่เราไม่เข้าใจทั้งหมด ความสำเร็จที่เรามองเห็นอาจไม่จริงเสมอไปในแบบที่เรากำลังรับรู้ 

 

8.ในฐานะพ่อแม่ ควรให้คำชมและตำหนิลูกตามความเป็นจริง ไม่พร่ำเพรื่อ ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ควรระมัดระวังการตีตราลูกและลดการเปรียบเทียบ เพราะมนุษย์แต่ละคนมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน และความสำเร็จไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้คนเรามีความสุข

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising