ตลอดปี 2566 การเมืองไทยยังคงร้อนแรง เริ่มต้นปีด้วยการเข้าสู่โหมดหาเสียง ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปรอบใหม่ หลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศยุบสภา และจัดให้มีการกาบัตรในเดือนพฤษภาคม เป็นศึกเลือกตั้งที่สร้างเซอร์ไพรส์ทางการเมือง เมื่อพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่คว้าชัยอันดับ 1 ได้สำเร็จ หลังสู้กันอย่างดุเดือดกับพรรคเพื่อไทย และกลายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองในรอบ 2 ทศวรรษ ที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้คว้าชัยเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้ง
ปี 2566 ถือเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงของประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งถือเป็นการก้าวเข้าสู่หน้าใหม่ของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ปิดฉากคู่ขัดแย้งเดิม เปิดหน้าคู่ต่อสู้หรือพันธมิตรใหม่
ปี 2566 ประเทศไทยเปลี่ยนผู้นำประเทศครั้งแรกในรอบ 9 ปี จาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สู่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากพลเรือนชื่อ เศรษฐา ทวีสิน และเป็นการปิดฉากการสืบต่ออำนาจของ คสช. ด้วย
และนี่คือ 66 ภาพข่าวการเมืองที่ช่างภาพ THE STANDARD คัดสรรมาให้ผู้อ่านได้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์สำคัญตลอดปี
ภาพที่: 1
3 เมษายน 2566: คู่พ่อลูก พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง พรรครวมไทยสร้างชาติ กับ ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนร่วมกัน สำหรับการเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) เป็นวันแรก โดยใช้พื้นที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 เป็นสถานที่รับสมัคร สำหรับบรรยากาศการรับสมัครเป็นไปอย่างคึกคัก
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/atmosphere-candidates-registration/
ภาพที่: 2
3 เมษายน 2566: เศรษฐา ทวีสิน กล่าวถึงรายละเอียดโครงการ Digital Wallet หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะเติมเงินเข้าไปในกระเป๋าดิจิทัลให้ประชาชนจำนวน 10,000 บาท สำหรับประชาชนชาวไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้บริโภคในชีวิตประจำวันภายใน 6 เดือน โดยสามารถใช้จ่ายกับร้านค้าที่มีรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่อาศัย ในงานเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคเพื่อไทย 3 คนอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย แพทองธาร ชินวัตร, เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/sretta-paetongtarn-chaikasem/
ภาพที่: 3
7 เมษายน 2566: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พร้อมด้วยผู้สมัคร สส. กทม. พรรครวมไทยสร้างชาติ ถ่ายรูปหมู่ร่วมกัน ในงานเปิดตัวผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้ง 33 เขตเลือกตั้ง ที่บริเวณลานอัฒจันทร์กลางแจ้ง สวนเบญจกิติ พร้อมชี้แจงนโยบายด้านต่างๆ ของพรรค พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ของพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวระหว่างปราศรัยตอนหนึ่งว่า “ถ้าอยากให้พรรครวมไทยสร้างชาติทำต่อ สิ่งที่ผมและทีมงานทำแล้ว ทำอยู่ ไม่สูญเปล่า ต้องเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ เบอร์ 22 เป็นรัฐบาล เลือกผมเป็นนายกรัฐมนตรี”
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/ruam-thai-sang-chart-party-070466/
ภาพที่: 4
20 เมษายน 2566: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชวนพีระพันธุ์และแกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมเตะตะกร้อกับประชาชนที่มาออกกำลังกาย โดยโชว์ลีลาการเตะและโหม่งลูกตะกร้อ ใช้เวลาราว 10 นาที ก่อนจะลงไปนั่งเรือเป็ดเหลืองปั่นในสระน้ำภายในสวนลุมพินี ลงพื้นที่พบปะประชาชนที่มาออกกำลังกายบริเวณสวนลุมพินี และขอคะแนนเสียงให้กับ ศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพมหานคร เขต 2 ของพรรครวมไทยสร้างชาติ
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/prayuth-campaign-lumpini-park/
ภาพที่: 5
23 เมษายน 2566: ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) นครราชสีมา ช่วยพยุง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก่อนการขึ้นปราศรัยที่ลานตลาดเซฟวัน จังหวัดนครราชสีมา พล.อ. ประวิตรกล่าวด้วยว่า ตนพูดไม่เก่ง แต่ทำงานประสานประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายได้ นำพาคนเก่งมาร่วมมือกันก้าวข้ามความขัดแย้ง ผู้สมัคร สส. จังหวัดนครราชสีมาของพรรคพลังประชารัฐ ที่ยืนอยู่ตรงนี้จะรับใช้ประชาชนอย่างจริงจัง ตนขอประกาศว่าพวกเราทำได้ พร้อมแล้วที่จะรับใช้ประชาชน ขอฝากชาวอีสานทุกคนด้วย
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/prawit-korat-rally/
ภาพที่: 6
23 เมษายน 2566: พรรคก้าวไกลจัดเวทีปราศรัยใหญ่ พรรคก้าวไกล รัฐบาลก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ที่บริเวณลานหน้าสามย่านมิตรทาวน์ กทม. มีแกนนำที่ขึ้นเวทีปราศรัย ปิดท้ายเวทีด้วย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง ได้กล่าวย้ำถึงการสร้างประเทศไทยที่ดีกว่านี้ และพรรคก้าวไกลจะยอมโดดเดี่ยวจากนักการเมืองที่ไม่มีอุดมการณ์
ขณะที่พิธากล่าวถึงกระแสพรรคที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขอให้วางใจในพรรคก้าวไกล เพราะพรรคก้าวไกลคือความเปลี่ยนแปลงที่ไว้ใจได้ ตรงไปตรงมา พร้อมยืนยันว่า ‘มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง’ โดยในช่วงปิดท้ายเวที มีการให้มวลชนที่มาฟังปราศรัยเปิดแฟลชเพื่อถ่ายรูปร่วมกันอีกด้วย
- ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
- https://thestandard.co/move-forward-party-samyan-mitrtown/
ภาพที่: 7
3 พฤษภาคม 2566: ตู้ล็อกเกอร์มีการล็อกกุญแจและปิดเทปผนึกไว้ พร้อมเจ้าหน้าที่เขตและตำรวจเซ็นกำกับภายในห้องที่จัดเก็บอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ทั้งหมดมีกล้องวงจรปิดคอยจับภาพ ที่สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ เตรียมมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เป็นการทั่วไปล่วงหน้า เพื่อรักษาความปลอดภัย โดยระบบเป็นแบบออนไลน์ เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบและบันทึกภาพได้แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงมีเจ้าหน้าที่เฝ้าบริเวณทางเข้า-ออก
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/pre-election-check/
ภาพที่: 8
3 พฤษภาคม 2566: ครอบครัวชินวัตร นำโดย คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ พร้อมด้วย พินทองทา ชินวัตร พา ‘พฤจ์ธาษิณ สุขสวัสดิ์’ ลูกของแพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง ซึ่งนับเป็นหลานคนที่ 7 ของทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน มาพบพี่น้องสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก ที่โรงพยาบาลพระรามเก้า
แพทองธารเปิดเผยว่า การคลอดเป็นไปด้วยความปลอดภัยและแข็งแรงทุกประการ สำหรับชื่อ ธาษิณ-พฤจ์ธาษิณ สุขสวัสดิ์ แพทองธารระบุว่า เป็นชื่อที่ตั้งเอง จึงเป็นความหมายที่นิยามด้วยตนเอง โดย ‘จ์’ มาจาก ‘พจมาน’ หรือคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ผู้เป็นยาย และ ‘ธาษิณ’ มาจาก ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นตา
- ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
- https://thestandard.co/shinawatra-7th-baby-with-paethongthan/
ภาพที่: 9
5 พฤษภาคม 2566: ที่ลานพาร์คพารากอน ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ลงพื้นที่รณรงค์ต่อต้านกัญชาเสรี ซึ่งพรรคเพื่อไทยจัดกิจกรรม ‘เพื่อเศรษฐกิจ เพื่อคุณภาพชีวิต เพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่อไทย’ โดยมาดักรอพบ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เพื่อถามจุดยืนกัญชาเสรี
ชูวิทย์กล่าวว่า เศรษฐาเป็นคนดี ค้าขายเจริญรุ่งเรือง จึงอยากถามเศรษฐาว่า พรรคเพื่อไทยมีนโยบายอย่างไรต่อกัญชาเสรี จะปล่อยให้กัญชามามอมเมาเยาวชนหรือไม่
ด้านเศรษฐาตอบทันทีว่า ไม่เอานโยบายกัญชาเสรี เอาแค่นโยบายกัญชาทางการแพทย์ และกัญชาจะอยู่ในการควบคุมของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ชัดเจน “เมื่อคุณเศรษฐาไม่สนับสนุนกัญชา ผมขอสนับสนุนพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยก็ต้องเป็นแลนด์สไลด์ ขออวยพรให้เศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย” ชูวิทย์กล่าว
- ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
- https://thestandard.co/chuwit-announces-support-pheu-thai/
ภาพที่: 10
5 พฤษภาคม 2566: จินนี่-ยศสุดา ลีลาปัญญาเลิศ บุตรสาว คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย น.ต. ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย สุพันธุ์ มงคลสุธี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย และทีมโฆษกพรรค ลงพื้นที่หาเสียงย่านสยามสแควร์ โดยวันนี้มีการจัดเตรียมป้าย ‘กาพรรคแม่ยาย’ และ ‘เข้าคูหา กาแม่ยาย’ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การหาเสียงของพรรคไทยสร้างไทย เนื่องจากจินนี่เป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ และเดินสายหาเสียงช่วยคุณหญิงสุดารัตน์ หรือแม่หน่อย มาโดยตลอด
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/yossuda-thai-sang-thai-siam-square-campaign/
ภาพที่: 11
7 พฤษภาคม 2566: ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ยกมือไหว้อธิษฐานก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้งลงหีบ โดยเมื่อถึงช่วงเวลาเปิดหีบเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งเซ็นทรัล พระราม 2 ในเวลา 08.00 น. มีผู้ที่ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งมารอเป็นจำนวนมาก สำหรับหน่วยเลือกตั้งแห่งนี้มีผู้ลงทะเบียนของใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 23,112 คน แต่ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้เตรียมการรับมือและจัดระเบียบให้เป็นไปตามขั้นตอน
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/central-rama-2-advance-election/
ภาพที่: 12
7 พฤษภาคม 2566: ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ใส่เสื้อยืดลายบิกินี ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง โดยมีประชาชนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทยอยเดินทางมาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า
ทั้งนี้ ด้วยพื้นที่สถานที่จัดให้ลงคะแนนอยู่ภายในอาคารและมีขนาดใหญ่ จึงยังไม่พบปัญหาความแออัดของผู้ที่เดินทางมาหรือสภาพอากาศร้อน เนื่องจากหน่วยเลือกตั้งอยู่ในร่ม ภาพรวมยังคงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในจุดนี้มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิที่ 25,383 คน
- ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
- https://thestandard.co/advance-election-2566-thai-jap-din-daeng/
ภาพที่: 13
7 พฤษภาคม 2566: ช่างภาพข่าว THE STANDARD ที่ลงพื้นที่ติดตามมาตั้งแต่ช่วงเช้าเปิดหีบเลือกตั้ง รายงานว่าภายหลังการจัดเก็บอุปกรณ์ เจ้าหน้าที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้มีการตรวจสอบถุงผ้าที่บรรจุบัตรลงคะแนนโดยละเอียดก่อนการเคลื่อนย้าย ซึ่งทุกใบจะต้องมีรหัสประจำถุงและสายรัดประจำถุงที่ตรงกัน และแต่ละถุงจะมีบัตรลงคะแนนไม่เกิน 1,000 ชุด ที่หน่วยเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ภายหลังที่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งปิดรับลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าตามเวลาที่กำหนด พร้อมเก็บอุปกรณ์และคัดแยกบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง เพื่อส่งมอบให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ดำเนินการต่อ
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/advance-election-070566-2/
ภาพที่: 14
12 พฤษภาคม 2566 พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมแกนนำของพรรค กล่าวปราศรัยพร้อมย้ำจุดยืนก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่ ในเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งที่บริเวณอาคารกีฬาเวสน์ 2 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ในช่วงท้าย พล.อ. ประวิตร ที่เดินขบวนโบกธงเปิดตัวเข้ามายังเวทีปราศรัย พร้อมกล่าวว่า วันนี้จะเป็นเวทีปราศรัยสุดท้าย ทุกนโยบายที่เราหาเสียงไว้ ขอสัญญาว่าเราจะทำให้สำเร็จ บางช่วงของการปราศรัย พล.อ. ประวิตรได้สอบถามประชาชนที่ร่วมรับฟังการปราศรัย โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีเสียงปรบมือและส่งเสียงให้กำลังใจตลอด ในช่วงท้าย พล.อ. ประวิตรถ่ายรูปร่วมกับบรรดาผู้สมัคร สส. และแกนนำพรรค พร้อมเซลฟีกับประชาชนที่เข้าร่วมปราศรัยด้วย
- ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
- https://thestandard.co/closing-stage-of-the-final-speech-pprp/
ภาพที่: 15
12 พฤษภาคม 2566: เวทีปราศรัยใหญ่เวทีสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย ภายใต้ธีม ‘เลือกเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ประเทศไทยเปลี่ยนทันที’ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
แพทองธาร ชินวัตร ย้ำว่า ไม่ว่าใครได้เป็นนายกฯ แคนดิเดตอีก 2 คนจะช่วยสนับสนุนตลอด จนนโยบายที่สัญญากับประชาชนไว้สำเร็จทุกนโยบาย
ในช่วงท้าย เศรษฐา ทวีสิน กล่าวว่า ผมขอให้ทุกคนลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย ทั้ง สส. เขต และพรรคเบอร์ 29 ให้แลนด์สไลด์ทั้งประเทศ เพื่อให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ ให้พวกเราไปรับใช้ประชาชน ไปทำความหวังของทุกคน เปลี่ยนประเทศให้ได้จริง และส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกหลาน”
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/pheu-thai-closes-the-big-speech/
ภาพที่: 16
12 พฤษภาคม 2566: การปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนเข้าคูหาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ของพรรคก้าวไกล ภายใต้แคมเปญ ‘คำตอบสุดท้าย กาก้าวไกลทั้งแผ่นดิน’ ประชาชนและกลุ่มผู้สนับสนุนเข้าร่วมฟังการปราศรัยเต็มอาคารกีฬาเวสน์ 1 ทำให้ต้องปิดประตูตั้งแต่ก่อนเริ่มปราศรัย และให้ผู้ที่เดินทางมาหลังเวลา 18.00 น. ไปนั่งฟังการปราศรัยที่สนามฟุตบอลด้านข้างอาคารกีฬาเวสน์ 1
สำหรับงานวันนี้ ปิดท้ายเวทีปราศรัยด้วย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ปราศรัยระบุว่า พร้อมเป็นนายกฯ คนใหม่ของประเทศ ตอนนี้เหลือเวลาอีกเพียง 2 วันเท่านั้น ขอให้คำตอบสุดท้ายกาก้าวไกลทั้งแผ่นดิน และร่วมกันขีดเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ของไทยให้ไม่เหมือนเดิม ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็สามารถฝากความหวังและความฝันได้
- ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
- https://thestandard.co/the-final-answer-vote-mfp/
ภาพที่: 17
12 พฤษภาคม 2566: นี่คือสีหน้าของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะปราศรัยใหญ่ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ใจความสำคัญของการปราศรัยคือ พล.อ. ประยุทธ์ ประกาศย้ำว่าจะไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยนประเทศไทยแบบพลิกฟ้าคว่ำดิน ทำลายรากเหง้า ทำลายคุณค่าอันดีงามของสังคมไทยของเรา และตลอดระยะเวลาที่ปราศรัย พล.อ. ประยุทธ์ ยังมีดวงตาแดงก่ำ และสะอื้นหลั่งน้ำตาเป็นบางช่วง อีกทั้งแกนนำที่ร่วมฟังการปราศรัยหลายคนก็มีน้ำตา
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/the-expression-of-prayuth/
ภาพที่: 18
14 พฤษภาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่เต็นท์บริเวณที่จอดรถธนาคารออมสินภาค 2 ปากซอยสุขุมวิท 39 หน่วยเลือกตั้งที่ 10 แขวงคลองตันเหนือ เขตเลือกตั้งที่ 4 (วัฒนา) กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า ทำเต็มที่กับสิ่งที่ผ่านมาแล้ว และคาดหวังกับผลลัพธ์ที่ออกมาวันนี้ แต่ตอนนี้ยังไม่คิดถึงเกี่ยวกับพรรคเท่าไร ตนอยากให้ประชาชนคนไทยออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันให้มาก
- ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
- https://thestandard.co/election-day-2566-13/
ภาพที่: 19
14 พฤษภาคม 2566: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลงมาจากที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติเพื่อเดินทางกลับ หลังเข้ามาติดตามผลการนับคะแนนการเลือกตั้งที่ทำการพรรคตั้งแต่ช่วงเย็นที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ พยายามเดินออกจากที่ทำการพรรคท่ามกลางการรุมล้อมของช่างภาพและสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ โดยมีสื่อมวลชนพยายามตั้งคำถามถึงจุดยืนของพรรค กรณีที่พรรคเพื่อไทยมาเป็นพรรคอันดับ 1 ได้จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ และคำถามว่า พรรคก้าวไกลได้คะแนนขนาดนี้ จะนำไปสู่การปฏิวัติหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ไม่ตอบคำถามดังกล่าว โดยพยายามแหวกวงล้อมไปขึ้นรถเดินทางกลับทันที
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/election-day-2566-55/
ภาพที่: 20
14 พฤษภาคม 2566: เศรษฐา ทวีสิน พร้อมด้วย อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อถามถึงกรณีความเป็นไปได้ หากพรรคก้าวไกลได้คะแนนอันดับ 1 ยินดีเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ทั้งคู่ยืนยันยึดหลักประชาธิปไตย และให้สิทธิของผู้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนสูงสุด ย้ำว่าพรรคที่ได้อันดับ 1 จะต้องเป็นผู้เสนอชื่อนายกฯ และยังไม่มีการพูดคุยกับพรรคก้าวไกล ที่ศูนย์รายงานข่าวการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ชั้น 7
- ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
- https://thestandard.co/election-day-2566-62/
ภาพที่: 21
14 พฤษภาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล เดินทางลงมาชั้น 1 ณ ที่ทำการพรรคก้าวไกล สำนักงานใหญ่ เพื่อพบปะพูดคุยกับประชาชน ภายหลังแถลงข่าวการติดตามการนับคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าอย่างไม่เป็นทางการมาตลอด 5 ชั่วโมง เมื่อพิธาพบกองเชียร์ที่มาให้กำลังใจ กองเชียร์ตะโกนส่งเสียงเรียกพิธาว่า “นายกฯ นายกฯ” พิธากล่าวว่า ที่ประชาชนเรียกนายกฯ ส่วนตัวรู้สึกอยากจะเข้าไปทำงานให้เร็วที่สุดตามที่ก้าวไกลได้สัญญากับประชาชนไว้ ตำแหน่งเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่การนับคะแนนยังไม่จบสมบูรณ์ แต่ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมาย
- ภาพ: อาดิศ สัมปัตตะวนิช
- https://thestandard.co/election-day-2566-68/
ภาพที่: 22
15 พฤษภาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวที่พรรคก้าวไกล หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ สรุปว่าพรรคก้าวไกลได้จำนวน สส. เป็นอันดับ 1 ว่าเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพี่น้องประชาชนได้แสดงเจตจำนงผ่านคูหาเลือกตั้งให้พรรคก้าวไกลได้คะแนนเป็นอันดับ 1 จึงขอประกาศว่าพรรคก้าวไกลพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล น้อมรับฉันทมติของพี่น้องประชาชน พลิกขั้วเปลี่ยนข้างจากฝ่ายค้านเดิมในการจัดตั้งรัฐบาล
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/pita-ready-to-form-government/
ภาพที่: 23
15 พฤษภาคม 2566: พรรคเพื่อไทยแถลงยืนยันโหวตพิธาเป็นนายกฯ หลังเป็นพรรคแกนนำอันดับ 1 ยืนยันไม่มีแนวคิดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แพทองธาร ชินวัตร และ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พร้อมด้วยแกนนำพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวผลการเลือกตั้ง และการเตรียมความพร้อมหลังการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย
“เมื่อพรรคก้าวไกลได้อันดับ 1 เราแสดงความยินดีด้วย แล้วเราก็เชียร์เพื่อประชาธิปไตย เพื่อประเทศชาติที่จะไปต่อได้ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว มันเป็นเรื่องของการเมือง ทุกคนต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยกันค่ะ” แพทองธารกล่าว
ด้านเศรษฐากล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ควรเฉลิมฉลองให้กับเสียงของประชาชนที่เชื่อในประชาธิปไตย และยินดีกับพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้ง พวกเราพรรคเพื่อไทยสนับสนุนให้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
- ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
- https://thestandard.co/phue-thai-confirmed-vote-pita-new-pm/
ภาพที่: 24
15 พฤษภาคม 2566: เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมกับสมาชิกพรรคก้าวไกล ขึ้นรถแห่คาราวาน ขอบคุณประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน โดยเคลื่อนขบวนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มุ่งหน้าไปตามเส้นทางสนามหลวง พิธาขอบคุณทุกคะแนนเสียงจากประชาชนที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ ขอบคุณคะแนนเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกลเป็นว่าที่ สส. ทั้ง 32 เขต พร้อมทั้งแจกลายเซ็นอย่างต่อเนื่อง
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/pita-move-forward-party-caravan/
ภาพที่: 25
17 พฤษภาคม 2566: แกนนำทั้ง 6 พรรคจับมือโชว์สื่อมวลชน หลังการพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 309 เสียง ที่ร้านอาหารบริเวณถนนสุโขทัย โดยนัดหมายกันในเวลา 16.00 น. นำโดยพรรคก้าวไกล การพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล ผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง เวลาประมาณ 17.50 น. แกนนำจาก 6 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเป็นธรรม เดินลงมาด้านล่างของร้านอาหารซึ่งสื่อมวลชนรอทำข่าวอยู่
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/photos-6-parties-to-form-government/
ภาพที่: 26
17 พฤษภาคม 2566: แกนนำ 6 พรรคการเมืองกินข้าวร่วมกันโดยมีบรรยากาศชื่นมื่น ก่อนทยอยออกมาจากร้านเพื่อเดินทางกลับหลังพูดคุยจัดตั้งรัฐบาล ก่อนแถลงทางการพรุ่งนี้ การพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 310 เสียง ที่ร้านอาหารบริเวณถนนสุโขทัย
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/6-parties-dinner-17052566-2/
ภาพที่: 27
18 พฤษภาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, วสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง, ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม และ เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ แถลงข่าวประกาศตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน ซึ่งจากผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นทางการ มีจำนวนผู้แทนราษฎรรวมกันทั้งสิ้น 313 คน
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/pita-announces-peoples-government/
ภาพที่: 28
22 พฤษภาคม 2566: พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นัดพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคเพื่อไทรวมพลัง, พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล สำหรับบันทึกความเข้าใจร่วมกันนี้ ทำเพื่อสร้างพื้นฐานของรัฐบาล และการทำงานร่วมกันระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคร่วม ที่ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพมหานคร
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/6-parties-dinner-17052566-2/
- https://thestandard.co/move-forward-and-7-parties-mou/
ภาพที่: 29
29 พฤษภาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พูดคุยกันบนเวทีระหว่างร่วมกิจกรรมแคมเปญ The Road to Bangkok Pride 2023 ที่สกายวอล์ก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงเย็นวันนี้ โดยในกิจกรรมดังกล่าวมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคมต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/pita-chadchart-launch-bangkok-pride/
ภาพที่: 30
30 พฤษภาคม 2566: พล.อ. ประยุทธ์ไม่ตอบคำถาม แต่หันมาทำท่าตั้งการ์ดแบบมวยไทยเลิศฤทธิ์ใส่ผู้สื่อข่าว เป็นสัญลักษณ์ว่าไม่ตอบถึง 2 ครั้ง หลังผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ได้ติดตามสถานการณ์การเมืองและผลฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ กับเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่ประเทศอังกฤษหรือไม่ ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/prayut-shows-his-boxing-guards/
ภาพที่: 31
30 พฤษภาคม 2566: ช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวภายหลังจากการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ทำมือประกบกันเป็นรูปหัวใจ สยบข่าวลือดีลการตั้งรัฐบาลลับ ยืนยันว่าจากนี้พรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนดีลลับให้กลายเป็นดีลรักทั้งหมด ที่พรรคประชาชาติ ที่ประชุมมีมติร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ประกอบด้วยบุคลากรจากทุกพรรคการเมือง คือพรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคเพื่อไทรวมพลัง, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่
- ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
- https://thestandard.co/coalition-parties-formed-7-working-groups/
ภาพที่: 32
4 มิถุนายน 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ แพทองธาร ชินวัตร ร่วมงาน ‘บางกอกนฤมิตไพรด์’ โบกมือทักทายและให้กำลังใจร่วมผู้เดินขบวน บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าสยามเซ็นเตอร์ ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาล ‘Bangkok Pride 2023’ ขบวนพาเหรดอย่างยิ่งใหญ่และมีความสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิดสุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ มุ่งหวังให้มีความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในทุกด้าน ทั้งเพศ เชื้อชาติ สุขภาพ อย่างเท่าเทียม
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/paetongtarn-pita-bangkok-pride-month/
ภาพที่: 33
6 มิถุนายน 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ลงมาซื้อเครื่องดื่มช็อกโกแลตมินต์ เมนูยอดฮิตตามคำแนะนำของแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งซื้อเมนูกาแฟส้ม ซึ่งเป็นเมนูโปรดที่ร้าน ThinkLab Creative Space and Cafe ของพรรคเพื่อไทย ภายหลังจากการประชุมของทั้ง 8 พรรคร่วมเสร็จสิ้น
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/pita-loves-chocolate-mint/
ภาพที่: 34
27 มิถุนายน 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำ สส. พรรคก้าวไกล 150 คน เดินทางมายังอาคารรัฐสภา เพื่อรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยสวมเสื้อยืดสีขาวที่มีข้อความว่า ‘เราคือผู้แทนราษฎร เรามาจากประชาชน’ พิธาระบุว่า การเลือกมารายงานตัววันนี้ก็เพราะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เป็นวันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/150-mfp-mps-to-report/
ภาพที่: 35
8 กรกฎาคม 2566: ป้ายไวนิลพื้นขาวตัวอักษรสีแดง ระบุข้อความว่า ‘หมดศรัทธาพรรคเพื่อไทย’ ที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าร้าน ‘คุณเล็ก’ ขายเสื้อผ้าพื้นเมือง บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าบุรีสแควร์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นป้ายไวนิลขนาดใหญ่ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน และเป็นที่สนใจของผู้ที่สัญจรผ่านไปมา ด้าน พลวัต มงคล กล่าวว่า “การแสดงออกครั้งนี้เพื่อต้องการสื่อสารและเป็นเสียงสะท้อนไปยังพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ทราบว่ามีวิกฤตศรัทธาของผู้สนับสนุนพรรค”
- ภาพ: พงศ์มนัส ทาศิริ
- https://thestandard.co/pheu-thai-fc-lose-faith-in-party/
ภาพที่: 36
9 กรกฎาคม 2566: พรรคก้าวไกลจัดกิจกรรม ‘ขอบคุณประชาชน ฟังเสียงทุกคนก่อนโหวตนายกฯ’ โดยมี สส. พรรคก้าวไกล มาร่วมงานอย่างคึกคัก พิธาขึ้นปิดท้ายเวที กล่าวว่า “ครั้งนี้คือโอกาสประวัติศาสตร์ที่สมาชิกทั้ง 750 คนในรัฐสภาจะคืนความปกติให้การเมืองไทย ให้ประเทศไทยเดินหน้า ให้เราเท่าเทียมกันและเท่าทันโลก” ขณะที่บรรยากาศช่วงที่พิธาปราศรัยที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หน้าจอโดยรอบศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ขึ้นสีส้มทุกจอ
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/mfp-stage-in-front-of-central-world/
ภาพที่: 37
12 กรกฎาคม 2566: วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ปดิพัทธ์ สันติภาดา, พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภา ขึ้นนั่งบัลลังก์ครั้งแรก เพื่อเป็นประธานในการประชุม สส. ชุดที่ 26 นัดแรก ซึ่งก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ที่ประชุมได้รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารรัฐสภา
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/house-of-representatives-meeting-12072566/
ภาพที่: 38
13 กรกฎาคม 2566: รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล แสดงอาการออกทางหน้าตาระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้มี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียงผู้เดียว โดยไม่มีสมาชิกพรรคการเมืองอื่นเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีขึ้นมาแข่ง
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-13072023-15/
ภาพที่: 39
13 กรกฎาคม 2566: ชาดา ไทยเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขต จังหวัดอุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นอภิปรายก่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นคนแรก ถึงแถลงการณ์จุดยืนของพรรคภูมิใจไทยว่า ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนการแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อมทั้งเรียกร้องไปยังพรรคร่วมรัฐบาล และขอเรียกร้องพรรคร่วมรัฐบาลร่วมแสดงจุดยืนเรื่องมาตรา 112 ด้วย
ชาดากล่าวอีกว่า พิธาอ้างว่าต้องทำเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเจตนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ตนเองและพรรคภูมิใจไทยไม่เชื่อ และเป็นสิทธิของพรรคภูมิใจไทยที่ขอไม่เชื่อ เนื่องจากพฤติกรรมมีความชัดเจนมาโดยตลอด พร้อมตั้งข้อคำถามไปถึง 7 พรรคร่วมรัฐบาลว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-13072023-15/
ภาพที่: 40
13 กรกฎาคม 2566: การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมเริ่มเข้าสู่กระบวนการโหวตให้ความเห็นชอบ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล โดยมีผู้ให้ความเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง จากนั้น วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แจ้งต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า พิธาได้รับคะแนนเห็นชอบไม่มากกว่ากึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ จึงถือว่ามติที่ประชุมไม่เห็นชอบในการแต่งตั้ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 (1)
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-13072023-50/
ภาพที่: 41
16 กรกฎาคม 2566: อานนท์ นำภา ปราศรัยกล่าวถึงกรณี 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่จะเสนอชื่อให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ พร้อมระบุด้วยว่า ให้ทั้ง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจับมือกันให้แน่น ใครแตกแถวก่อนคือเผด็จการ ในกิจกรรมคาร์ม็อบ Respect My Vote ซึ่งนัดหมายที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมี อานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร และกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ เข้าร่วม เพื่อส่งสารเรียกร้องถึงผู้นำเหล่าทัพที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยตำแหน่ง ซึ่งไม่ได้ไปลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ลาออกจากตำแหน่ง
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/arnon-car-mob-16072566-2/
ภาพที่: 42
18 กรกฎาคม 2566: สว. กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ รับดอกไม้จากมวลชนที่มาให้กำลังใจด้านหน้าอาคารรัฐสภา นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ โดยมีการยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง สว. เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ ก่อนที่ในวันที่ 19 กรกฎาคม จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 สำหรับกลุ่มที่มาให้กำลังใจ เช่น กลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน และกองทัพธรรม
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/people-give-senate-flowers-to-vote-no-for-pita/
ภาพที่: 43
19 กรกฎาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินออกจากห้องประชุมรัฐสภา พร้อมชูกำปั้นท่ามกลาง สส. พรรคก้าวไกลทั้งหมดที่ลุกขึ้นยืนปรบมือให้ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องกรณีหุ้น ITV ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และมีมติตามเสียงข้างมาก (7:2) มีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันนี้ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-19072023-27/
ภาพที่: 44
19 กรกฎาคม 2566: ผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจต่อคำสั่งภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสั่งให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยุติปฏิบัติหน้าที่ สส. หลังถูกร้องกรณีถือหุ้น ITV ด้วยมติเสียงข้างมาก 7:2 บริเวณประตูรั้วรัฐสภา อีกทั้งมวลชนบางส่วนยังได้เขย่าประตูรั้วรัฐสภาจนโอนเอนไปมา ท่ามกลางการห้ามปรามจากเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมบางส่วน ขณะที่ด้านในรั้วของรัฐสภาเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) เข้าตรึงกำลังควบคุมสถานการณ์
- ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
- https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-19072023-24/
ภาพที่: 45
22 กรกฎาคม 2566: อนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ชนแก้วรับประทาน ‘ช็อกโกแลตมินต์’ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตประจำพรรคเพื่อไทย และนั่งพูดคุยกันกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และแกนนำพรรค ภายหลังการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย ที่ร้าน ThinkLab Creative Space and Cafe โดยอนุทินกล่าวชมว่ารสชาติอร่อยดี ให้คะแนน 11 เต็ม 10
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/anutin-chocolate-mint-drink/
ภาพที่: 46
22 กรกฎาคม 2566: พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะนั่งอยู่ที่ร้าน ThinkLab Creative Space and Cafe เพื่อร่วมรับประทาน ‘ช็อกโกแลตมินต์’ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตประจำพรรคเพื่อไทย หลังการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคเพื่อไทยในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตและหาทางออกของประเทศร่วมกัน
ภาพที่: 47
23 กรกฎาคม 2566: บรรยากาศที่พรรคเพื่อไทย ระหว่างการหารือกันของแกนนำพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐอยู่นั้น กลุ่มทะลุวัง นำโดย ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, หยก เยาวชนอายุ 15 ปี และ สายน้ำ-นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์
ได้เดินทางมาชูป้ายกระดาษคัดค้านการหารือการร่วมมือกันของพรรคเพื่อไทย โดยสั่งช็อกมินต์มาชิมและระบุว่า ช็อกมินต์จะไม่เหมือนเดิมหากร่วมจับมือพลังประชารัฐ ก่อนสาดแป้งเป็นสัญลักษณ์ พร้อมประกาศว่าถ้ามีการยืนยันว่าจับมือกันตั้งรัฐบาล ก็จะกลับมาทันที ไม่คิดว่าพรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนจุดยืนได้เร็วขนาดนี้ ซึ่งแป้งได้กระจายไปยังสื่อมวลชนรวมถึง สันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังเดินทางกลับพร้อมคณะ ซึ่งไม่ได้ปะทะกับกลุ่มทะลุวังแต่อย่างใด
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/thaluwang-invaded-pheu-thai-office-3/
ภาพที่: 48
29 กรกฎาคม 2566: กลุ่มมวลชนนำโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด จัดกิจกรรม #พร้อม2 ด้วยการเดินเท้าจากอโศกสู่ราชประสงค์ เพื่อแปรอักษรเป็นตัว ‘ห’ สื่อถึง ‘การเห็นหัวประชาชน’ พร้อมอ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งมีใจความว่า ขอให้สมาชิกวุฒิสภาเห็นหัวประชาชน อย่าเห็นแก่ตัว
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/prom-2-asoke-to-ratchaprasong/
ภาพที่: 49
2 สิงหาคม 2566: กลุ่มทะลุวัง เผาหุ่นฟางสาดสี แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ หน้าพรรคเพื่อไทย ในกิจกรรม ‘CAR MOB แห่มาลัยวิวาห์ ยื่นรายชื่อประชาชน คล้องใจ 8 พรรคการเมือง’ จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป้าหมายหลักคือการส่งรายชื่อที่ได้รวบรวมจากประชาชนไปยัง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อส่งสัญญาณให้ร่วมรับรู้ว่าประชาชนทุกคนมุ่งหวังที่จะเห็นรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ 8 พรรคร่วมที่ลงนาม MOU ร่วมกัน
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/masses-parade-to-pheu-thai-party/
ภาพที่: 50
3 สิงหาคม 2566: ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ แถลงข่าวโดยนำข้อมูลเอกสารหลักฐาน อ้าง เศรษฐา ทวีสิน เลี่ยงภาษีโอนที่ดิน ทำรัฐสูญเงินกว่า 500 ล้านบาท ที่โรงแรมเดอะเดวิส สุขุมวิท 24 ในประเด็นการอภิปรายคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ‘มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์หรือไม่’ และจะนำข้อมูลเอกสารหลักฐานที่แถลงวันนี้ไปยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประธานรัฐสภา และกรมสรรพากร เพื่อให้นำข้อมูลนี้ไปประกอบในการพิจารณาโหวต เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี
- ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
- https://thestandard.co/chuwit-srettha-land-trading-tax/
ภาพที่: 51
4 สิงหาคม 2566: สส. พรรคก้าวไกล ทำท่าทางแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หลังประธานรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ได้ใช้อำนาจตามข้อบังคับที่ 22 ขอเลื่อนการประชุมรัฐสภาในวันนี้ออกไปก่อน จากนั้นปิดการประชุมทันที ในการประชุมร่วมรัฐสภาวาระเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไม่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง เพื่อรอให้องค์ประชุมครบ จึงสามารถเปิดประชุมได้ ทั้งนี้ รังสิมันต์ โรม สมาชิกพรรคสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติด่วนให้ทบทวนมติรัฐสภากรณีเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซ้ำได้หรือไม่ โดยที่ประชุมได้อภิปรายจากทาง สส. และ สว. อย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/council-debate-move-forward-party-vote-pm/
ภาพที่: 52
7 สิงหาคม 2566: พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล หลังแถลงจบ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ยกมือไหว้ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
ในช่วงแถลง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในนามพรรคเพื่อไทยต้องขอบคุณพรรคภูมิใจไทยที่รับคำเชิญในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะวิกฤตรัฐธรรมนูญที่เป็นเดดล็อก และเงื่อนไขให้พวกเรามีความยุ่งยากมากในการจัดตั้งรัฐบาล
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/pheuthai-bhumjaithai-212-coalition-2/
ภาพที่: 53
13 สิงหาคม 2566: ผู้ชุมนุมใช้ถาดติดกาวดักหนูปาใส่ป้ายที่ทำการพรรคภูมิใจไทย โดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำจัดกิจกรรมชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบ ‘เราจะไปไล่หนูท่อ หมอเก๊ พ่อค้ากัญชาเถื่อน แล้วไปดัดสันหลังเพื่อนรว๊ากส์ ที่หักเหลี่ยมกันหน้าด้านๆ’ มีจุดประสงค์เพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ขับไล่ และส่งเสียงสะท้อนความไม่พอใจไปยังกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลล่าสุดซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/carmob-bhumjaithai-13082566/
ภาพที่: 54
13 สิงหาคม 2566: ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยกรีดเสื้อแดง นปช. ซึ่งมีภาพใบหน้าของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ มวลชนได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์หน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย เช่น ปาแก้วที่ระลึกให้แตก ฉีกเสื้อสีแดงสมัย นปช. ปี 2553 ฉีกปฏิทินปี 2563 และกล่าวว่าคนเสื้อแดงมันเจ็บใจ
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/red-shirt-people-head-phue-thai/
ภาพที่: 55
21 สิงหาคม 2566: นพ.ชลน่าน อ่านแถลงการณ์ว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองรวม 11 พรรค จำนวน 314 เสียง ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล และมีมติร่วมกันเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยต่อรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี ที่รัฐสภา
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/pheu-thai-government-with-314-votes/
ภาพที่: 56
21 สิงหาคม 2566: แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และ พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาว ร้องไห้ด้วยความปลื้มใจระหว่างที่กลุ่มมวลชนเสื้อแดงร้องเพลงอวยพรวันเกิดในวันที่แพทองธารมีอายุครบ 37 ปี รวมทั้งมวลชนร่วมแสดงความยินดีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับประเทศด้วย ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/red-shirts-happy-birthday-paethongthan/
ภาพที่: 57
22 สิงหาคม 2566: ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับถึงประเทศไทยโดยเครื่องบินส่วนตัว หลังใช้ชีวิตในต่างประเทศถึง 17 ปี นับแต่ถูกรัฐประหารในปี 2549 ถือเป็นการกลับประเทศไทยตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อผ่านขั้นตอนในการตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ทักษิณได้เดินทางมาที่อาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล โดยมี พานทองแท้ ชินวัตร, พินทองทา ชินวัตร และ แพทองธาร ชินวัตร เดินออกมาพร้อมกันด้วย จากนั้นทักษิณได้ก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ก่อนจะเดินเข้ามาทักทายกับบรรดาแกนนำและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ที่มาให้การต้อนรับ
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/pictures-of-thaksin-stepping-on-the-thailand/
ภาพที่: 58
22 สิงหาคม 2566: เศรษฐา ทวีสิน ว่าที่นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่า วันนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ คนที่ 30 ผมอยากขอขอบคุณประชาชนคนไทยทุกคน พรรคร่วมรัฐบาล สส. และ สว. ทุกท่านที่ร่วมโหวตในวันนี้ ผมพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด จะลืมความเหน็ดเหนื่อยที่ผ่านมา ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยทุกคน ภายหลังแถลงเสร็จสิ้นได้เดินทางไปพบมวลชนที่มาให้กำลังใจพรรคเพื่อไทย โดยมวลชนต่างตะโกนว่า “นายกฯ เศรษฐา” อย่างต่อเนื่อง ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย
- ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
- https://thestandard.co/srettha-thavisin-thanks-the-people/
ภาพที่: 59
22 สิงหาคม 2566: ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงภายหลังที่ประชุมรัฐสภามีมติโหวตเลือก เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าวันนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนี้ และการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากวันนี้ มิได้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง
ชัยธวัชกล่าวว่า การทำงานในฐานะฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลจะทำอย่างสร้างสรรค์ ยึดหลักการและเหตุผลเป็นตัวตั้ง ตนคิดว่าสิ่งที่จะล้มรัฐบาลชุดนี้ได้ คือศรัทธาของพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ แม้เราเป็นฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะบริหารประเทศให้ดีที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้า นี่คือเป้าหมายของเรา
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/mfp-opposition-party/
ภาพที่: 60
24 สิงหาคม 2566: ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลัง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ยกมือไหว้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ก่อนเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล หลังการพูดคุยเข้าหารือ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เยี่ยมชมภายในตึกไทยคู่ฟ้าและตึกภักดีบดินทร์ โดย พล.อ. ประยุทธ์ ได้มอบแจกันดอกไม้สีม่วงเหลืองแสดงความยินดีที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ คนที่ 30 ของไทย พร้อมนำชมและเดินมาส่งเศรษฐาขึ้นรถยนต์ ซึ่งเศรษฐาได้โบกมือทักทายสื่อมวลชน ก่อนจะเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลไปในทันที
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/srettha-talks-prayut-24082566/
ภาพที่: 61
30 สิงหาคม 2566: นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แถลงข่าวลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมกล่าวว่า วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายตามที่เคยบอกไว้ ในฐานะกรรมการบริหารพรรค หากดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นแล้วจะประกาศต่อหน้าสื่อมวลชนว่าจะลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามที่เคยพูดไว้เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ในเวทีดีเบตที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่เคยลั่นวาจาไว้ว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยและกรรมการบริหารพรรคมีมติจะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ จับมือกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตนเองจะขอลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามที่เคยประกาศไว้ ณ บัดนี้
- ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา
- https://thestandard.co/chonlanan-resigns-as-leader-pheuthai/
ภาพที่: 62
31 สิงหาคม 2566: พล.อ. ประยุทธ์ โบกมือส่งสัญลักษณ์ I Love You ให้กับสื่อมวลชน ก่อนขึ้นห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า และช่วงที่ขึ้นไปยังห้องทำงานยังหยุดแล้วโบกมือลาสื่อมวลชนอีกครั้ง ก่อนขึ้นไปสักการะพระพรหมเจ้าที่บนตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้นข้าราชการและลูกจ้างภายในทำเนียบรัฐบาลนำดอกไม้เข้าอำลานายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้โอวาทและถ่ายรูปร่วมกัน พร้อมเดินออกจากตึกไทยคู่ฟ้าไปทักทายแฟนคลับที่มารอในโอกาสอำลาตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นวันสุดท้าย
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/media-gov-officials-give-flowers-to-prayuth/
ภาพที่: 63
2 กันยายน 2566: ชายสวมเสื้อแดงรายหนึ่งเข้าไปโผกอด ด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค สมาชิกกลุ่มแคร์ โดยพยายามห้ามปรามให้ดวงฤทธิ์หยุดกิจกรรมดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ได้นำตัวออกจากพื้นที่ ในกิจกรรม Letter to Freedom จดหมายสู่อิสรภาพ ‘Freedom to Be, Freedom to Act’ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเอง หลังเคยทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ (X) ประกาศว่า “ถ้าเพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐ ผมจะยอมให้เอาขี้ปาหัว”
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/letter-to-freedom-duang-duangrit/
ภาพที่: 64
5 กันยายน 2566: ก้าวแรกของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เดินตามทางเชื่อมระหว่างตึกไทยคู่ฟ้ามาที่ตึกสันติไมตรี ด้วยการสวมชุดปกติขาว เพื่อเข้าไปถ่ายภาพประจำตัวติดบัตรคณะรัฐมนตรี โดยได้ทักทายสื่อมวลชนด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ดี
- ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
- https://thestandard.co/srettha-first-step-in-parliament-as-prime-minister/
ภาพที่: 65
5 กันยายน 2566: เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พร้อมแถลงภายหลังนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ว่า “ผมขอยืนยันว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของประชาชน และทุกท่านในที่นี้ มาวันนี้ มาที่นี่เพื่อเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนทุกคน รัฐบาลนี้เรามีความตั้งใจ ปัญหามีมากมาย เราจะทำงานอย่างลืมความเหน็ดเหนื่อย ทุกวัน ทุกนาที เราจะเอาความต้องการของพี่น้องประชาชนทุกคนเป็นที่ตั้ง”
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/srettha-1-cabinet-photo/
ภาพที่: 66
11 กันยายน 2566: เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงห้องประชุมรัฐสภา พร้อมนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และทดสอบไมโครโฟน เพื่อแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมีการประชุม 2 วัน คือวันที่ 11-12 กันยายน ทั้งนี้ถ้อยแถลงนโยบายต่อรัฐสภา สาระสำคัญในการวางกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศ ตามกรอบความเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
- ภาพ: ฐานิส สุดโต
- https://thestandard.co/parliament-policy-110966-5/