×

คว้าโอกาสหรือตกขบวน ประเทศไทยพร้อมเข้าสู่ยุค AI หรือยัง?

โดย THE STANDARD TEAM
23.11.2023
  • LOADING...
ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้ง Vialink และกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา, ดร.ศุภศรณ์ สุวจนกรณ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิทยสิริเมธี และธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

วันนี้ (23 พฤศจิกายน) ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023: FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยไล่ล่าอนาคต เวที Thailand’s Roadmap for Generative AI ความพร้อมประเทศไทยในโลก Generative AI ซึ่งร่วมแลกเปลี่ยนโดย ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้ง Vialink และกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา, ดร.ศุภศรณ์ สุวจนกรณ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิทยสิริเมธี และธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด 

 

ภายใต้การมาของ Generative AI ที่หลายประเทศกำลังคว้าโอกาส หลายภาคส่วนกำลังได้รับผลกระทบนั้น เมื่อมองประเด็นนี้ในไทย ดร.ณภัทร กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการที่อยู่ในแวดวงนี้ ประเทศไทยเรายังไม่ถึงจุด AI Transformation ด้วยซ้ำ เรายังอยู่ในจุด Digital Transformation ไทยจึงควรตั้งต้นที่จะเข้าไปให้ถึงจุดที่รู้จักและเริ่มใช้ AI ก่อน เพราะนี่เป็นโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้ โดยไม่เบียดเบียนแรงงาน และมีพื้นที่ที่ทำให้ผู้ถือหุ้นและแรงงานมีความสุขทั้งสองฝ่าย 

 

อีกเรื่องคือตลาดแรงงานไทยน่าเป็นห่วงมาก ไทยยังมีการเก็บข้อมูลน้อยเกินไปว่าตอนนี้ตลาดแรงงานเป็นอย่างไร ซึ่งในสหรัฐอเมริกา ข้อมูลเมื่อปี 2019 พบว่า บริษัทที่หันไปใช้ AI 3% ส่งผลกระทบต่อแรงงานถึง 13% ปัจจุบันตัวเลขอาจสูงกว่านี้ และหมายความว่าแรงงานจะได้รับผลกระทบในวงกว้างเพิ่มขึ้นไปอีก การที่ไทยยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้จึงอาจกระทบต่อการกำหนดนโยบายได้ 

 

อย่างไรก็ตาม ดร.ณภัทร เชื่อว่าไทยมีศักยภาพเพียงพอในด้าน AI เพียงแค่ทำอย่างไรให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ควรดึงดูดแรงงานด้าน AI หรือเทคโนโลยีเข้ามาในไทยมากขึ้นด้วย 

 

ทางด้าน ดร.ศุภศรณ์ มองว่า วันนี้ไทยต้องตามโลกให้ทัน ไทยควรสนับสนุนให้มีการใช้ AI มากขึ้นมากกว่าควบคุมกำกับดูแล แต่สิ่งที่น่ากังวลต่อจากนี้คือ AI กับระบบการศึกษาไทย เพราะ ChatGTP ไม่ได้ทำได้แค่สรุปเป็น แต่สามารถคิดวิเคราะห์ได้ทุกอย่างเหมือนที่หลักสูตรไทยพยายามสอน สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ ถ้านักเรียนหรือผู้ใช้พึ่งพา AI มากเกินไป ก็อาจส่งผลให้พวกเขาไม่ได้ใช้ความสามารถของตัวเองเลย ดังนั้นทักษะที่ทุกคนควรมีต่อจากนี้คือตั้งคำถามเป็น เราต้องตั้งคำถามกับ AI อยู่เสมอว่าเชื่อถือได้หรือไม่

 

ส่วนธนวัฒน์มีความเห็นว่า AI ไม่ได้จะมาแทนเรา แต่เป็นคนที่ใช้ AI ต่างหากที่จะมาแทนที่ เมื่อวันนี้ทั้งโลกเริ่มใช้ AI กันแล้ว ถ้าหากไทยไม่ใช้ AI ก็อาจไม่รอด และเรามีโอกาสที่จะยกระดับแรงงานทักษะต่ำให้สามารถมีผู้ช่วยที่มีทักษะสูงได้ แต่โอกาสนั้นจะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบเสมอ เราต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า AI จะยังอยู่ในกรอบที่มนุษย์สามารถควบคุมได้ ให้เป็นการสร้างโอกาสมากกว่าสร้างผลกระทบ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising