×

ศุภวุฒิ-สันติธาร ชี้ปัญหาระยะสั้นเมืองไทยงานน้อย หนี้มาก พิธา ระบุขีดความอดทนประชาชนกับขีดความสามารถรัฐบาลมาถึงขีดสุดทั้งคู่

โดย THE STANDARD TEAM
26.11.2021
  • LOADING...
ศุภวุฒิ-สันติธาร

วันนี้ (26 พฤศจิกายน) ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021: The Great Reform: Thailand’s Tipping Point for a Sustainable Future ปฏิรูปประเทศไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน กับหัวข้อ ‘ยุทธศาสตร์เร่งด่วนและระยะยาวในการปฏิรูปประเทศไทย’ โดยพาร์ตแรกเป็นการพูดคุยกันของ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และผู้ก่อตั้งกลุ่ม CARE, ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการ Sea Group ประเทศสิงคโปร์ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล

 

โดยหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจจากเวทีนี้คือ การชวนมองภาพรวมปัจจุบันของโลกหรือในประเทศ ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวในระยะสั้น แม้หลายประเทศจะเกิดการระบาดอีกครั้งในช่วงเวลานี้ โจทย์ใหญ่ในเชิงระยะสั้น ประเทศไทยมีความท้าทาย โอกาส หรือสิ่งที่ควรจะแก้ไขอะไรบ้าง 

 

ดร.ศุภวุฒิ บอกว่า ตอนนี้เศรษฐกิจโลกกำลังดำเนินไปด้วยดี GDP ปีนี้น่าจะโตได้มากถึง 5% และน่าจะต่อยอดสู่ปีหน้าได้ในระดับหนึ่ง เพียงแต่ต้องระมัดระวังว่า เศรษฐกิจปีหน้าอาจจะขยายตัวช้าลง นโยบายการเงินก็มีแต่จะขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น ส่วนนโยบายการคลังต้องถอยลงมา 

 

โดยเฉพาะในยุโรปจะพบว่า เริ่มมีการกลับมาระบาดของโควิดในหลายประเทศ จนต้องมีการงัดมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การฟื้นตัวครั้งนี้ไม่ราบรื่นนัก แต่จะเป็นในแบบของการค่อยๆ ฟื้น เป็นไปแบบเรียบง่าย อาจจะมีการก้าวไปข้างหน้า 2 ก้าว ถอยหลังกลับมา 1 ก้าวก็ได้ ในส่วนนี้คือภาพรวมของโลกที่เราต้องเผชิญ

 

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ดร.ศุภวุฒิ ได้หยิบยกข้อมูลของสภาพัฒน์ที่ได้ไปสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมในไตรมาส 3 ปี 2564 มาฉายภาพให้เห็นควบคู่กับปัญหาระยะสั้นที่ไทยต้องเผชิญเป็นอย่างไร

 

ปัญหาหลักๆ ที่เกิดขึ้นคืองานมีไม่พอและหนี้เต็มกระเป๋า โดยยกตัวอย่างจากตัวเลขที่สำคัญก่อนคือ มีการประเมินเรื่องความยากจนของสภาพัฒน์ของปีที่แล้ว พบว่า คนยากจนในไทยมีอยู่ 4.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5 แสนคน ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก แต่เมื่อมองหาสาเหตุจะเห็นว่า เป็นเพราะภาครัฐได้อัดเงินเยียวยา ครอบคลุมไปเกือบ 40 ล้านคน หรืออาจจะมากกว่านั้น เฉลี่ยแล้วได้เงินจากรัฐคนละ 1,123 บาทต่อเดือน หรือ 13,473 ต่อปี เมื่อปีที่ผ่านมา และเมื่อถอยออกมาดูภาพกว้าง หากไม่มีการใช้เม็ดเงินรวมกว่า 4 แสนล้านบาท จะพบตัวเลขคนยากจนสูงกว่า 11.02 ล้านคน นั่นคือตัวเลขจากปีก่อน อีกทั้งปีนี้สถานการณ์แย่กว่าครั้งก่อน และคงต้องใส่เงิน 4 แสนล้านบาทเพื่อแก้ปัญหา ดังนั้นปัญหาภาระของรัฐบาลค่อนข้างหนักหน่วงทั้งในปีนี้และปีหน้า นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับภาครัฐ

 

ส่วนภาคประชาชน เส้นแบ่งความยากจนอยู่ที่ 2,762 บาทต่อเดือน ใครที่อยู่ด้วยเงินเท่าที่มีก็เหนื่อยมาก อีกทั้งข้อมูลระบุตัวเลขอัตราว่างงานอยู่ 870,000 คน ส่วนคนว่างงานส่วนใหญ่คือคนในกลุ่มอายุ 15-19 ปี ที่ 9.74% อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ถ้าคนอายุน้อยไม่มีงานทำ ที่จะไม่ได้กระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจ แต่จะกระทบต่อปัญหาสังคมในอนาคต โดยสรุปเราต้องสร้างงาน 1 ล้านตำแหน่งให้ได้เร็วที่สุด 

 

สิ่งที่ได้มาทำตอนนี้คือไม่ใช่การสร้างงาน แต่เป็นการเยียวยาผ่านโครงการคนละครึ่ง, เที่ยวด้วยกัน มันเป็นการเอาปลามาให้ประชาชน แต่ในความเป็นจริงควรสอนให้หาปลา มันต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นนโยบายที่ทำให้เกิดการจ้างงานให้ได้มากที่สุด ยกตัวอย่าง SMEs ที่เป็นหน่วยภาคการผลิตที่เร็วและเข้าถึงง่ายที่สุด ก็ควรให้การช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้หลายอย่าง รวมถึง ‘ภาวะหนี้’ ที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักที่ประชาชนเจออยู่ตอนนี้ 

 

“งานมีน้อยเกินไป หนี้มีมากเกินไป สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่รีบแก้ พวกเขาจะเดินต่อไปในอนาคตลำบาก เราก็จะฟื้นเศรษฐกิจลำบาก เพราะคนคือทรัพยากรหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และทุกอย่างนี้ทำเพื่อให้ทุกคนอยู่ดีกินดี” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว

 

ทางด้าน ดร.สันติธาร เสถียรไทย เห็นด้วยกับ ดร.ศุภวุฒิ กับการแก้ปัญหาที่ระบุไปข้างต้น แต่เมื่อกล่าวถึงการแก้ปัญหาในระยะสั้น ประเด็นที่ยังน่าเป็นห่วงที่สุด และใครหลายคนไม่อยากได้ยินคือ ‘โควิดยังไม่จบ’

 

ตอนนี้หลายฝ่ายเชื่อว่า การที่พาประชาชนฉีดวัคซีนกันได้เยอะแล้ว จะทำให้ปัญหาการระบาดจะหายไป เราต้องมองดูต่างประเทศ เพราะหลายประเทศดำเนินการฉีดวัคซีนกันเกือบทั้งประเทศก็มี แถมเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพสูง แต่ปัจจุบันยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ทั้ง อิสราเอล ฝั่งยุโรป หรือเพื่อนบ้านสิงคโปร์ ที่ฉีดไปแล้วกว่า 80% รวมถึงฉีดบูสเตอร์แล้วก็ยังมีปัญหาเหมือนเดิม ทำให้หลายประเด็นต้องถอยกลับไปสู้กันใหม่

 

ฉะนั้นการแก้ปัญหาที่ต้องทำให้ได้ คือต้องเก็งโจทย์สำหรับสู้ปัญหาโควิดในอนาคต ปีที่แล้วไทยปิดเมือง ประกาศล็อกดาวน์ ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นในระดับหนึ่งจนถึงขั้นยอดติดเชื้อเป็นศูนย์ แต่จากนั้นการระบาดกลับมาอีกครั้งและหนักกว่าเดิม สร้างผลกระทบประเทศไทยหนักกว่าเดิม เพราะมาถึงปี 2021 โจทย์เปลี่ยน กลายเป็นว่าใครมีวัคซีนเยอะสุดจะได้เปรียบ ในส่วนนี้ไทยทำได้ไม่ค่อยดี

 

ดังนั้น โจทย์ในปี 2022 ที่ประเทศไทยต้องมองข้างหน้า อาจจะไม่ใช่เรื่องวัคซีนแล้ว แต่อาจจะเป็นใครหาสูตรหรือเคล็ดลับที่อยู่กับโควิดได้ดีกว่ากัน 

 

“ขณะเดียวกันเราต้องไม่เข้าใจผิดว่าการอยู่กับโควิดไม่ได้หมายความว่าจะกลับมาเปิดเมืองและปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปแบบตามมีตามเกิด แต่เราต้องมีมาตรการที่ดีมากๆ เพื่อรับมือการระบาดที่อาจมีขึ้นมาอีก เราจะทำอย่างไร ซึ่งผมมองว่ามันมี 3 ส่วนต้องทำให้ได้ การสาธารณสุข เศรษฐกิจ และดิจิทัล” ดร.สันติธาร กล่าว

 

ดร.สันติธาร ขยายความต่อว่า เรื่องสาธารณสุข ประเด็นของวัคซีนยังสำคัญมาก ในการเร่งฉีดบูสเตอร์ให้ประชาชน แล้วถ้ายังมีการกลายพันธุ์ของไวรัสต่อไปเรื่อยๆ เราต้องมีการเตรียมพร้อมในรูปแบบนี้อีกหลายปี และอีกทางเลือกคือยารักษาโควิด ซึ่งสองสิ่งนี้ต้องสอดประสานและทำให้ได้ รวมถึงการเตือนภัยล่วงหน้าหรือการแกะรอยที่มาของโรคระบาด ทั้งหมดนี้เราต้องมีให้พร้อมสำหรับปีหน้า หรือให้ดีควรมีตั้งแต่ปลายปีนี้

 

ต่อมาคือเรื่องเศรษฐกิจ นโยบายการเปิดเมืองปัจจุบันคือนโยบายเศรษฐกิจไปแล้ว เราต้องต่อยอดว่าจะดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศอย่างไร ซึ่งไม่ได้ทำเพียงแค่การทำให้ประเทศมีความปลอดภัย แต่ต้องคุยกับประเทศอื่นด้วย เพื่อให้ประเทศไทยไปอยู่ในลิสต์ประเทศปลอดภัยในคู่มือประเทศอื่นๆ ต้องมีการเปิดเส้นทางใหม่ๆ ในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศต้องเข้าไปคุย อาจจะเริ่มได้ตั้งแต่ประเทศรอบตัว

 

สุดท้ายคือเรื่องของดิจิทัล เรื่องนี้ไม่ได้สำคัญเพียงแค่ในระยะยาว แต่ในระยะสั้นพบว่า ธุรกิจด้านดิจิทัลได้รับผลกระทบน้อยกว่าด้านอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสบายกว่า เทคโนโลยีไม่ได้แก้ทุกปัญหา ไม่ใช่ยาวิเศษ แต่ช่วยลดผลกระทบได้บางส่วน และจากผลสำรวจที่ทำกันในทีมส่วนตัวพบว่า มีประมาณ 50% สามารถค้นพบธุรกิจใหม่ สร้างแบรนด์ใหม่ ทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพ ขณะที่แม่บ้าน-นักเรียนก็หารายได้จากตรงนี้ได้ ฉะนั้นถ้าช่วยให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ สิ่งนี้จะคอยช่วยบรรเทาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นได้

 

“เพราะฉะนั้นมิติทั้ง 3 อย่างนี้ สาธารณสุข เศรษฐกิจ และดิจิทัล เราต้องทำทั้ง 3 อย่างนี้ได้ก่อน เราถึงจะพร้อมที่จะยืนอยู่กับโควิด และเป็นโจทย์สำคัญในปี 2022” ดร.สันติธาร กล่าว 

 

ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มองว่า ปัญหาระยะสั้นที่กัดกินอยู่คือเรื่องของขีดความอดทนของประชาชนและขีดความสามารถของรัฐบาลมาถึงขีดสุดทั้งคู่ สิ่งที่ประชาชนต้องเผชิญตอนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตามมากับวิกฤตโควิด แต่มันเป็นปัญหาฝังรากลึกมานานกว่านั้น ทั้งปัจจัยทางการเกษตร, ราคาน้ำมัน รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจที่มีผลต่อปาก-ท้องของพี่น้องประชาชนโดยตรง ขณะที่ฝั่งรัฐบาล สิ่งที่พอทำได้คือต้องเร่งเยียวยาประชาชนให้ได้ก่อน แต่เป็นที่เข้าใจว่าตอนนี้ขีดความสามารถในการเยียวยาของรัฐบาลเริ่มมาถึงขีดสุดเช่นกัน

 

ยกตัวอย่างการประกันราคาข้าวในช่วงน้ำท่วมแบบนี้ ก็ต้องพึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) แต่มันมีกฎหมายชื่อว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงิน-การคลัง ระบุว่า รัฐบาลห้ามเป็นหนี้รัฐวิสาหกิจเกิน 30% แต่ตอนนี้รัฐบาลเป็นหนี้เกินกว่า 30% ไปแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าแค่จ่ายเงินประกันน้ำท่วมราคาข้าวก็ช่วยไม่ได้ นำไปสู่การทำให้ประชาชนหมดความอดทน 

 

นอกจากนี้ประเด็นของน้ำมันที่เป็นข้อเรียกร้องหลักจากภาคธุรกิจคืออีกสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหา ถ้าเป็นรัฐบาลชุดก่อนอาจจะใช้วิธีลดภาษีสรรพสามิต หรือลดเงินเข้ากองทุนก็อาจจะลดได้แค่ 6 บาท ปัญหาคือมันมีราคาที่ต้องจ่ายหากแก้ปัญหาแบบเดิม 

 

โดยราคาที่ต้องจ่ายในส่วนนี้ เมื่อลดภาษีสรรพสามิตไป 1 บาท จะทำให้ภาษีของรัฐบาลหายไป 60,000 บาท ทั้งๆ ที่ทำงบประมาณขาดดุล 700,000 บาท และเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า 300,000 บาท ถ้ารองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ยังเดินหน้าทำการแบบนี้ต่อไป กับการตรึงราคาอยู่ที่ 28-30 บาท ทั้งที่มีประชาชนเรียกร้องขอให้อยู่ที่ 26 บาท 

 

“สิ่งเหล่านี้จะทำให้รัฐบาลสูญเสียความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาการเงิน กฎหมาย หรือการเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก อันนี้คือปัญหาระยะสั้น แต่หากถามถึงระยะยาว เหตุการณ์ที่เอ่ยถึงจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ของการบริหารจัดการ ถ้ารัฐยังคิดแบบเดิม ยึดกรอบเดิมจะกลายเป็นปัญหาในลักษณะนี้ และเป็นกลายเป็นงูกินหาง” พิธา กล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising