×

ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ?

21.08.2017
  • LOADING...

     เราพูดกันเสมอว่าคนที่ไม่เคยทำผิด อาจไม่เคยลงมือทำอะไรเลย แต่สำหรับมนุษย์ที่กล้าเปิดมุมมองสู่โลกทัศน์ใหม่ๆ ในชีวิตนี้ย่อมมีโอกาสสร้างเสริมประสบการณ์ที่ต่างไปจากขอบเขตคุ้นเคย แน่นอนว่ากระบวนการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ต้องอาศัยการปรับตัว ทัศนคติในทำนอง ‘ผิดเป็นครู’ อาจจะช่วยให้เราไม่ท้อถอย หากเราล้มเหลวในช่วงแรก แต่มนุษย์เราจะสามารถทำผิดพลาดเรื่องเดิมๆ ได้กี่ครั้ง

 

     ในการเรียนรู้เรื่องบางเรื่อง เราอาจจะต้องทำพฤติกรรมซ้ำๆ เพื่อให้สมองจดจำกระบวนการนั้นๆ จนขึ้นใจ เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะสามารถประยุกต์ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำกิริยานั้นๆ ได้เองแบบเป็นธรรมชาติ ดนตรี กีฬา และกิจกรรมทางกายภาพอื่นๆ จัดเข้าในกลุ่มนี้

 

     แต่กับเรื่องบางเรื่อง เมื่อได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นบทเรียนแล้ว เราไม่จำเป็นต้องก้าวพลาดหรือสร้างประวัติศาสตร์ให้ซ้ำรอย เพราะผลกระทบบางอย่างอาจลุกลามไปไกลกว่าเรื่องส่วนตัว

 

     103 ปีที่แล้ว มนุษย์เราได้รู้จักกับสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 3 ปีให้หลัง สยามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘มหาสงคราม’ จนเรามารำลึกถึงวาระครบรอบ 100 ปีกันในปีนี้ เมื่อมองย้อนกลับไป สยามและประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรอาจจะได้รับสิ่งตอบแทนในฐานะผู้ชนะ แต่ผลเสียหายที่เกิดขึ้นในคราวนั้นน่าจะเป็นเครื่องเตือนใจผู้นำทั่วโลกว่า ทุกฝ่ายที่กระโจนสู่สนามรบย่อมต้องประสบกับความสูญเสียมากน้อยเหมือนกัน จนเชื่อว่าสงครามแบบนี้ที่กินเวลา 4 ปี 4 เดือนคงจะไม่เกิดขึ้นอีก

 

     ผ่านไปไม่ถึง 21 ปี สงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดฉาก และลากยาวไป 5 ปีกว่า ก่อนจะปิดฉากด้วยความบอบช้ำของประเทศผู้เข้าร่วมเช่นเคย สัญลักษณ์ใดเล่าจะเป็นตัวแทนของการเข่นฆ่าห้ำหั่นระหว่างมนุษย์ร่วมโลกจากเหตุบาดหมางทางการเมืองได้ดีไปกว่าระเบิดปรมาณูที่กลายเป็นบทเรียนสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน

 

     กระนั้นก็ตาม ทุกวันนี้เรายังเห็นข่าวความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ทั้งในด้านเชื้อชาติ ศาสนา การเมือง และความเชื่อที่ลุกลามกลายเป็นประเด็นระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก ไม่นับการข่มขู่ชูความเหนือกว่าด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ของประเทศคู่ปรปักษ์ จนหลายคนเชื่อในสมมติฐานว่า สันติภาพบนโลกใบนี้ที่พูดกันปาวๆ คงไม่มีอยู่จริง ตราบใดที่มหาอำนาจยังทำกำไรจากการค้าอาวุธอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และคงไม่มีสนามทดลองขีดความสามารถของอาวุธต่างๆ ได้ดีเท่า ‘สงครามตัวแทน’ ที่เกิดขึ้นห่างไกลประเทศผู้ผลิต หรือมนุษย์เราอาจจะไม่ใส่ใจเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นก็เป็นได้ และในความเป็นจริง
คนยุคนี้ย่อมต้องพยายามสร้างผลงานที่ดีเด่นกว่าคนรุ่นเก่า ประสิทธิภาพของอาวุธสงครามในยุคใหม่
จึงย่อมมีฤทธิ์ทำลายล้างมากกว่าเดิม

 

     ถ้าพิจารณาว่า โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เคยทำในอดีต เราอาจจะมีความหวังพอที่จะมองโลกในแง่ดีได้ว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 คงจะไม่เกิดขึ้น แต่ใครจะรู้ว่าด้วยศักยภาพของอาวุธที่หลายประเทศครอบครองอยู่ เมื่อความขัดแย้งเดินหน้าไปไกลเกินกว่าที่สันติภาพจะฉุดรั้งไว้ได้  เราอาจจะกำลังนับถอยหลังสู่จุดจบของมวลมนุษยชาติบนโลกใบนี้ ทิ้งไว้ก็แต่แมลงสาบ ถ้าเราเชื่อตามสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่า นั่นคือเผ่าพันธุ์สุดท้ายที่จะหลงเหลืออยู่ เมื่อวาระสุดท้ายของโลกมาถึง

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising