“คุณผ่านพ้นช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาได้อย่างไร”
นั่นเป็นคำถามที่ทีมงานใช้เปิดบทสนทนาครั้งหนึ่งในช่วงที่เรามีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลในสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อจัดทำฉบับพิเศษในช่วงเดือนตุลาคมเลยไปจนถึงต้นเดือนหน้า
คำถามเดียวกันเรียกคำตอบยาวที่มีเสียงสั่นเครือเป็นช่วงๆ ขณะทีมงานก้มหน้างุดๆ สูดน้ำมูกในบางจังหวะ และสกัดกั้นอาการรื้นที่ขอบตา เพื่อไม่ให้การสัมภาษณ์ต้องหยุดกลางคัน
อาการแบบนี้เกิดขึ้นทุกครั้งในการสัมภาษณ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจ พระเมตตา และพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
นั่นสินะ เราทั้งประเทศผ่านปีที่เศร้าที่สุดมาได้อย่างไร
นับตั้งแต่วันนั้น ย่ำค่ำวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เชื่อว่า แต่ละคนต้องผ่านประสบการณ์แห่งความสูญเสียร่วมกันไม่มากก็น้อย
เราได้เห็นเพื่อนบางคนพูดอธิบายความรู้สึกได้ไม่จบประโยค เราอยู่ในภาวะที่พร้อมจะหลั่งน้ำตาเมื่อได้อ่าน ได้ยิน และได้เห็นเรื่องราวที่สื่อทยอยนำออกมาเผยแพร่ เราทั้งประเทศได้ทบทวนและเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจตลอดรัชสมัยของพระองค์ และได้ประจักษ์ในใจจนเด่นชัดอีกครั้งว่า มหาราชพระองค์นี้ทรงควรค่าแก่การเทิดทูนและจงรักภักดีเพียงใด
ท่ามกลางความสูญเสียใหญ่หลวงที่เกิดขึ้น เราได้เข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ในทางธรรม ขณะที่ในทางโลกเราได้เห็นแง่มุมที่งดงามของการร่วมแรงร่วมใจถวายอาลัย และการตั้งปณิธานที่จะสานต่อ ‘สิ่งที่พ่อทำ’ จากความตระหนักแก่หัวใจไทยแล้วว่าทรงวางรากฐานด้านการพัฒนาไว้ในทุกด้าน
เหมือนอย่างที่หลายท่านซึ่งให้สัมภาษณ์กับทีมงานในช่วงที่ผ่านมาไว้ว่า เราคงไม่สามารถจะทำอะไรเพื่อประเทศได้มากมายอย่างที่พระองค์ทรงทำ แต่เราสร้างการเปลี่ยนแปลงได้แน่ หนึ่งปีที่เศร้าที่สุดผ่านมาแล้ว เมื่อเสร็จสิ้นวาระสำคัญในช่วงปลายเดือน เป็นโอกาสที่เราจะเปลี่ยนความเศร้าโศกให้เป็นพลังในด้านบวกแล้วก้าวเดินต่อไป เพื่อให้สิ่งที่พ่อสร้างไว้ยั่งยืน