×

THE ROHINGYA CRISIS

19.09.2017
  • LOADING...

     ความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจากับ ชาวพุทธและรัฐบาลเมียนมาเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน เหตุรุนแรงที่ปะทุขึ้นรอบใหม่ทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจประเด็นนี้อย่างจริงจังอีกครั้ง

     THE STANDARD รวบรวมประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งประวัติศาสตร์การมีอยู่ของชนกลุ่มนี้ ที่มาของปัญหา มุมมองของนักวิชาการหลากหลายสาขา และปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสังคมโลก โดยไม่ชี้แนะตัดสินว่าฝ่ายใดผิด ฝ่ายใดถูก โดยหวังอย่างยิ่งว่าความรุนแรงจากเหตุปะทะจะส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้เกี่ยวข้องน้อยที่สุด

 

 

     การปะทะกันระหว่างกองกำลังปลดปล่อยโรฮีนจาแห่งอาระกัน หรือ ARSA กับกองกำลังทหาร เมียนมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปฏิบัติการเข้าปราบปรามกลุ่มมุสลิมโรฮีนจาที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่อย่างหนักหน่วง จนเป็นเหตุให้ชาวโรฮีนจาเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 1,000 คน และอีกหลายแสนต้องอพยพหนีตายออกจากพื้นที่

     ตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคราวชะตากรรมของชาวโรฮีนจาครอบครองพื้นที่สื่ออย่างต่อเนื่อง มีการนำเสนอหลากหลายแง่มุมผ่านช่องทางต่างๆ จนอาจทำให้ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระจัดกระจาย คล้ายกับจิกซอว์หลายชิ้นที่ยังไม่มีการนำมาเชื่อมให้ติดกัน

     เมื่อหลายคนยอมรับว่าเหตุการณ์นี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อหาทางแก้ไข เราจำเป็นต้องเข้าใจภาพรวมของปัญหาให้ชัดเจนเสียก่อน THE STANDARD จึงขอชวนคุณมาเล่นต่อจิกซอว์โดยหยิบยกหลากหลายมุมมองที่สะท้อนให้เห็นประเด็นนี้ในภาพใหญ่ ถึงแม้ ปัญหาจะยังไม่หมดไป แต่อย่างน้อยคุณก็น่าจะ เข้าใจอะไรๆ ได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

 

 

THAILAND’S VIEWPOINT

     มองมุมไทย – ภัยค้ามนุษย์กำลังจะกลับมา

     เมื่อคนนับแสนคนต้องเร่ร่อนจากถิ่นฐาน ที่เคยอยู่อาศัย ซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากชายแดนประเทศไทย แม้ปลายทางจะอยู่ไกลถึงบังกลาเทศ แต่ก็น่าคิดว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มากน้อยแค่ไหน

 

 

     ในมุมมองของผู้ติดตามเรื่องนี้อย่าง ใกล้ชิด พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญ ด้านสิทธิมนุษยชน องค์การฟอร์ติฟายไรท์ ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เข้าขั้น ‘วิกฤตที่สุด’ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2555 ที่มีการปะทะกันระหว่างชาวมุสลิมโรฮีนจาและชาวพุทธในรัฐยะไข่

     เมื่อวิกฤตครั้งนี้รุนแรงกว่าที่เคยเป็นมา แต่ทำไมภาพผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่ล่องเรือมาสู่น่านน้ำประเทศไทยถึงยังไม่เกิดขึ้น

     พุทธณีให้คำอธิบายว่า เป็นเพราะเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ เมื่อผู้อพยพกำลังตกอยู่ในสภาพ ‘หนีตาย’ จึงไม่มีทางเลือก มากนัก นอกจากจะเดินทางไปยังพื้นที่ปลอดภัยที่ใกล้ที่สุด นั่นคือประเทศบังกลาเทศ ที่มีแม่น้ำเพียงสายเดียวเป็นชายแดนกั้นกลางอยู่

     “ถ้าดูจากบทเรียนครั้งที่แล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยังมาไม่ถึงประเทศไทยภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นสักระยะ เมื่อไปถึงบังกลาเทศแล้ว ก็ต้องดูต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น เพราะศักยภาพในการรองรับผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศมีไม่มากนัก และสภาพภูมิประเทศก็ถือว่าลำบาก”

 

 

     เช่นเดียวกับ ศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ เจ้าของงานวิจัย โรฮิงยา: คนไร้รัฐในรัฐต่างแดน ที่มองว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ‘น่ากลัว’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลเมียนมาประกาศให้พื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ 3 เมือง เป็นเขตปฏิบัติการทางการทหาร และให้อำนาจกองทัพเมียนมาปราบปรามกลุ่มมุสลิมโรฮีนจาได้อย่างเต็มที่ นั่นหมายความว่าหลังจากนี้ยังจะมีผู้ลี้ภัยอีกเป็นจำนวนมากที่หนีตายออกจากประเทศต้นทาง

     “โจทย์ตอนนี้คือ เรามีคนกลุ่มใหม่ที่กำลังทะลักเข้าไปในบังกลาเทศ แต่อีกกลุ่มที่สำนักข่าวต่างๆ ยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนักคือ ชาวโรฮีนจาดั้งเดิมที่สูญเสียบ้านไปตั้งแต่เหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2555 ที่ต้องอาศัยอยู่ในแคมป์ทางตอนกลางของรัฐยะไข่จำนวนกว่า 150,000-200,000 คน ซึ่งที่ผ่านมาเขาต้องพึ่งพาอาหารจากหน่วยงานภายนอกมาโดยตลอด แต่ตอนนี้หน่วยงานภายนอกไม่สามารถขนอาหารไปให้พวกเขาในแคมป์ได้

     “ผมไม่แน่ใจว่าเขาจะอดทนอยู่ในแคมป์ได้นานแค่ไหน” ศิววงศ์แสดงความกังวลกับ THE STANDARD

     ความกังวลดังกล่าวยังไม่นับรวมผู้ลี้ภัยที่หนีเข้าบังกลาเทศ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ศิววงศ์มองว่า
เมื่อมีการจัดตั้งค่ายที่พักชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศเรียบร้อยแล้ว แต่ในระยะยาว ด้วยสภาพความเป็นอยู่ลำบาก
อาจบีบบังคับให้ชาวโรฮีนจาจำนวนมากต้องหลบหนีเอาชีวิตรอดอีกครั้ง

     “หลังจากนี้ 3-6 เดือน ผมคิดว่าเราคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ยูเอ็นที่อยู่ในพื้นที่ว่ามีผู้ลี้ภัยหลบหนีจากค่ายเยอะแค่ไหน ซึ่งเมื่อหลบหนีออกมาแล้ว เป้าหมายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็คือ การอพยพไปยังมาเลเซีย ฉะนั้นเส้นทางหลบหนีน่าจะเป็นเส้นทางเดิม คือต้องผ่านประเทศไทยในท้ายที่สุด”

     ที่สำคัญ คราวนี้ประเทศไทยต้องรับมือกับวิกฤตการณ์นี้เพียงลำพัง ต่างจากครั้งที่แล้วที่มีประเทศอย่างสหรัฐอเมริกายื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

     “ที่ผ่านมาเราได้รับความช่วยเหลือจากอเมริกาในการรับคนบางส่วนที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วให้เข้าไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3 แต่ในอนาคตคงไม่น่าจะมีแล้ว เพราะเมื่อปี 2555 อเมริกามีรัฐบาลเป็นพรรคเดโมแครต ซึ่งมีทีท่าด้านบวกในการช่วยเหลือผู้อพยพ แต่ในวันนี้เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ผมไม่กล้าคิดว่าถ้าเกิดมีผู้อพยพเข้ามาในไทยจริงๆ แล้วเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่คงไม่ง่ายที่เราจะจัดการกับปัญหานี้”

     ไม่เพียงแต่ปัญหาผู้ลี้ภัยที่ประเทศไทยอาจต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ แต่ชาวโรฮีนจาจำนวนมหาศาลที่หลบหนีจากประเทศเมียนมาในคราวนี้อาจทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ที่เคยเป็นมะเร็งร้ายบั่นทอนประเทศไทยคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

     “หลังจากที่เกิดคดีประวัติศาสตร์และมีคำพิพากษาลงโทษขบวนการค้ามนุษย์ไปเมื่อเดือนที่แล้ว เราคิดว่าขบวนการค้ามนุษย์จะหยุดชะงักลงแต่กลายเป็นว่าเร็วๆ นี้ เราเพิ่งได้ข้อมูลใหม่ว่ามันยังไม่ได้หยุด แต่กำลังมีการทยอยขนคนเข้ามาเป็นกองทัพมด ไม่ได้เอิกเกริกเหมือนที่เคยจับได้ ดังนั้นคงต้องเฝ้าระวังว่าขบวนการนี้จะพัฒนาไปได้ใหญ่แค่ไหน คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าจะมีขบวนการค้ามนุษย์เกิดขึ้นอีกไหม เพราะมันมีการนำคนเข้ามาแล้ว มีแคมป์ที่พักที่ปาดังเบซาร์เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่เยอะมาก จากนี้ถ้าหน่วยงานรัฐที่บังคับใช้กฎหมายเกิดการหละหลวม ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” ศิววงศ์ให้ความเห็น

     ขณะที่พุทธณีให้ความเห็นว่า ถ้าให้ประเมินตอนนี้ถือว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ขบวนการค้ามนุษย์จะกลับมาอีกครั้ง เพราะแม้แต่ชาวบังกลาเทศเองยังต้องเร่ร่อนเป็นมนุษย์เรือเดินทางไปหางานทำที่ต่างแดน เพราะฉะนั้นชาวโรฮีนจาที่เพิ่งอพยพเข้าไปใหม่ก็คงมีสภาพไม่ต่างกัน

     “คนบังกลาเทศเองที่ไม่ได้เผชิญปัญหาเรื่องการรุกไล่ หรือภัยประหัตประหาร เขายังต้องเป็นแรงงานข้ามประเทศเลย นั่นหมายความว่าบังกลาเทศก็ไม่พร้อมที่จะรับประชากรใหม่ๆ ตอนนี้เรายังบอกไม่ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่พูดจากประสบการณ์ระยะสั้น บังกลาเทศอาจจะพอรองรับผู้ลี้ภัยได้ แต่ระยะยาวคงต้องช่วยกันคิด และนี่อาจเป็นคำถามสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย”

 

 

ASEAN’S STANDPOINT

     มองมุมอาเซียน – รากเหง้าของปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรม

     การที่ชาวโรฮีนจานับแสนต้อง ‘หนีตาย’ ออกจากพื้นที่เพื่อลี้ภัยไปยังประเทศใกล้เคียง เรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัญหาภายในประเทศเมียนมาเท่านั้น เพราะการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ล่าสุดนี้ยังส่งผลกระทบต่อประเทศรอบๆ เมียนมา โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ทั้งไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่เคยต้องรับมือกับปัญหาผู้อพยพมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

     ดร. ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ฉายภาพย้อนกลับไปในวิกฤตโรฮีนจาปี พ.ศ. 2555 ว่า ขณะนั้น ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนในปีสุดท้าย ได้พยายามผลักดันให้ปัญหานี้เป็นวาระเร่งด่วนที่ประเทศอาเซียนต้องร่วมกันหาทางออก เพราะหากไม่แก้ไขปัญหานี้ ในระยะยาวอาจมีความเป็นไปได้ที่ชาวโรฮีนจาจะเปลี่ยนสถานะจาก ‘ผู้ถูกกระทำ’ กลายมาเป็นกองกำลังติดอาวุธที่หยิบอาวุธลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อรักษาชีวิตของตนเอง

     ตัดภาพย้อนกลับมาในปัจจุบัน สิ่งที่ ดร. สุรินทร์ เคยแสดงความกังวลไว้ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว แต่ดูเหมือนการหาทางออกร่วมกันของประเทศอาเซียนจะยังไม่เป็นรูปธรรม ปัญหาคืออะไร

     ดร. ศรีประภา เปิดเผยว่ามุมมองที่ประเทศอาเซียนมีต่อปัญหาโรฮีนจามีทั้งประเด็นความมั่นคง และประเด็นวิกฤตด้านมนุษยธรรม ซึ่งที่ผ่านมาไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียมีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการพูดคุยกับเมียนมาเพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ติดปัญหาตรงที่ว่ากรอบการเจรจายังแตะอยู่แค่เรื่องการค้ามนุษย์ และการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติทางทะเลเท่านั้น ทั้งที่รากเหง้าของปัญหาคือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และการก่ออาชญากรรมกับมนุษยชาติ หรือ Crimes Against Humanity ตามรายงานของยูเอ็นเอชซีอาร์ หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

     “เหตุผลที่กรอบการเจรจายังแตะอยู่แค่เรื่องการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และการค้ามนุษย์ เป็นเพราะกรอบเจรจานี้เป็นกรอบที่รับกันได้มากที่สุดในอาเซียน ซึ่งตราบใดที่ยังพูดคุยกันในกรอบเจรจาแบบนี้ ประเด็นปัญหาของโรฮีนจาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข เพราะจริงๆ แล้วรากเหง้าของปัญหาคือการเลือกปฏิบัติต่อพี่น้องชาวโรฮีนจาในประเทศเมียนมา การที่พวกเขาถูกถอนสัญชาติโดยใช้กฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา รวมถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น อันนั้นคือรากเหง้าที่แท้จริง ฉะนั้นไม่ว่าเราจะพูดถึงปัญหาความมั่นคง หรือวิกฤตมนุษยธรรม แต่หากเราไม่ได้เอ่ยอ้างถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง การหนีภัยความตายของชาวโรฮีนจาก็จะคงดำรงอยู่ต่อไป” ดร. ศรีประภาให้ความเห็น

 

 

THE MUSLIM OUTLOOK

     มองมุมมุสลิม – ความอยุติธรรมที่ชาวโรฮีนจาได้รับอาจนำไปสู่ปัญหาก่อการร้ายข้ามชาติ

     อีกมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาของชาวโรฮีนจาคงหนีไม่พ้นมุมมองจากโลกมุสลิม ซึ่งจากข่าวที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าบรรดาผู้นำประเทศมุสลิมต่างออกมาแสดงความกังวล และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยสันติโดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตุรกี ซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน หรือแม้แต่อิหร่าน

     ด้านเครือข่ายประชาสังคมของโลกมุสลิมก็มีการออกมาเดินขบวนเคลื่อนไหวในหลายประเทศ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการเข่นฆ่าชาวโรฮีนจา ดร. ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับโลกมุสลิมว่า เมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาชายแดนภาคใต้ในประเทศไทย และปัญหามุสลิมโมโร ในฟิลิปปินส์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่โลกมุสลิมภายนอกกลับไม่ลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องใดๆ ต่างจากปัญหาของชาวโรฮีนจาในขณะนี้ เพราะปัญหาโรฮีนจากำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญและอ่อนไหวอย่างมากในโลกมุสลิม เนื่องจากสภาพการณ์ต่างๆ ของโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในโลกไร้พรมแดน เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาได้รับการนำเสนอไปทั่วโลก การสร้างเครือข่ายของชาวมุสลิมที่มีจุดร่วมเดียวกันกับปัญหานี้จึงเกิดขึ้นตามมาในท้ายที่สุด

     “ผมเชื่อว่าการสร้างเครือข่ายของประชาคมมุสลิมในขณะนี้คงจะไม่พัฒนาแค่การพูดถึงประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนในโลกมุสลิมเท่านั้น แต่ในอนาคตจะขยายประเด็นไปสู่ปัญหาสิทธิมนุษยชนของคนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ด้วย”

     ดร. ศราวุฒิ ยังมองว่าปัญหาโรฮีนจาอาจเป็นชนวนเหตุที่นำไปสู่ปัญหาการก่อการร้ายในตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องเฝ้าระวังต่อไปในอนาคต

     “น่าห่วงว่าประเด็นนี้จะกลายเป็นประเด็นปัญหาความรุนแรงในลักษณะของกลุ่มหรือขบวนการติดอาวุธข้ามชาติ เนื่องจากกลุ่มตาลีบัน อัลกออิดะห์ หรือแม้แต่ไอเอสในปัจจุบัน เขาพยายามจะใช้ประเด็นโรฮีนจามาอธิบายถึงความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดเป็นปัญหาของโลกมุสลิมด้วย

     “เราจึงต้องระวังให้ดี โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มันอาจจะลุกลามบานปลายกลายเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง เราเห็นตัวอย่างของซีเรีย อิรัก ที่เริ่มต้นขึ้นจากการทำร้าย ฆ่าฟัน ระหว่างชาวมุสลิมด้วยกัน แต่กรณีโรฮีนจาถือว่าน่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะมีหลายคนพยายามโยงประเด็นให้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างพุทธกับมุสลิม ทั้งที่จริงมันเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่า เราต้องพยายามคลี่คลายปัญหานี้ให้เร็วที่สุด และพยายามอย่าให้พื้นที่นี้กลายเป็นสมรภูมิของนักรบจีฮัด”

     นอกจากนี้ ดร. ศราวุฒิ ยังเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่าขณะนี้มีเยาวชนในอินโดนีเซียหลายคนแสดงตัวว่าต้องการเข้าร่วมรบกับพี่น้องโรฮีนจาในดินแดนอาระกันแล้ว เช่นเดียวกับตาลีบัน หรือแม้แต่กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในเชชเนีย ซึ่งอยู่ห่างไกลแต่พร้อมต่อสู้เพื่อชาวโรฮีนจาที่กำลังตกเป็นผู้ถูกกระทำ

 

MYANMAR’S VIEW

     มองมุมเมียนมา – กระบวนการชวนเชื่อ ที่นำไปสู่ความเกลียดชัง

     อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ปัญหาโรฮีนจาลุกลามบานปลาย และหลายแสนคนต้องตกอยู่ในสภาพหนีตายคือ กระบวนการสร้างความเกลียดชัง โดยทำให้ชาวโรฮีนจามีสถานะ ‘เป็นอื่น’ ในสายตาของคนเมียนมา

     ประเด็นนี้สอดคล้องกับความเห็นของ Khin Maung Myint นักการเมืองประจำพรรคประชาธิปไตยเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (NDPD) ที่ให้สัมภาษณ์กับ กานต์กลอน รักธรรม ผู้สื่อข่าวพิเศษของ THE STANDARD ว่า

     “สื่อชวนเชื่อทั้งจากรัฐและพระสงฆ์หัวรุนแรงสร้างความเข้าใจให้กับชาวเมียนมามาโดยตลอดว่า ชาวมุสลิมจะมาทำลายเมียนมา และชาวพุทธจะต้องปกป้องแผ่นดินของตัวเอง ซึ่งผมคิดว่านี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการต่อต้านชาวโรฮีนจาในเมียนมา”

     นับตั้งแต่นายพล เน วิน เข้ามายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนายอู นุ ในปี พ.ศ. 2505 และใช้ระบอบเผด็จการอิงสังคมนิยมแบบพุทธ โดยมีกองทัพเป็นศูนย์กลาง ‘ความเป็นอื่น’ ที่แตกต่างจากพุทธของชาวโรฮีนจาจึงถูกขยายความมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อเมืองในภาษาดั้งเดิมของชาวโรฮีนจาจาก ‘อัคยับ’ กลายเป็น ‘ซิตต่วย’ รวมถึงชื่อรัฐ ‘อาระกัน’ ที่ถูกเปลี่ยนเป็นรัฐ ‘ยะไข่’ ในภาษาเมียนมา การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ชาวโรฮีนจาถูกกีดกันออกจากพื้นที่ทางการเมืองและสังคมของเมียนมาอย่างสิ้นเชิง

     เหตุผลนี้เองทำให้ชาวเมียนมาหลายคน ‘นิ่งเฉย’ ต่อความรุนแรงที่รัฐบาลทหารเมียนมากระทำต่อชาวโรฮีนจา จนคล้ายกับว่าพวกเขาไม่ใช่มนุษย์

     ศิววงศ์ให้ความเห็นต่อแนวคิดดังกล่าวว่า “ถึงวันนี้ผมคิดว่ามันคือความสำเร็จของทางการเมียนมาแล้วด้วยซ้ำ เพราะไม่ใช่แค่รัฐบาลเท่านั้น แต่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาล้วนมีเจตจำนงเดียวกันที่จะเอาคนกลุ่มนี้ออกนอกประเทศให้ได้

     “อาชญากรรมจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเรายังมองไม่เห็นผู้ถูกกระทำ เช่นเดียวกับคนเมียนมาเองที่ไม่ได้มองว่าชาวโรฮีนจาเป็นผู้ถูกกระทำ ฉะนั้นอาชญากรรมที่รัฐบาลเมียนมากระทำต่อชาวโรฮีนจาจึงเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสายตาของพวกเขา เพราะทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยกับสิ่งนี้”

     ขณะที่ Khin Khin Kyaw นักวิจัยชาวเมียนมา ที่ขอไม่เปิดเผยชื่อสถาบันมองต่างออกไปว่า ชาวพุทธส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับชาวพุทธหัวรุนแรง

     “ฉันคิดว่าความขัดแย้งไม่ได้เกิดขึ้นจากศาสนาโดยตรง แต่เป็นความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ที่สถานการณ์ถูกทำให้รุนแรงขึ้นไปอีกด้วยเหตุผลทางการเมืองจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ บทบาทของประชาคมนานาชาติที่ไม่เป็นกลางในความขัดแย้งนี้อาจส่งผลให้ชาวพุทธสายกลางกลายเป็นหัวรุนแรง และทำให้การแก้ไขความขัดแย้งยากขึ้น เราต้องแยกชาวโรฮีนจาบริสุทธิ์กับผู้ก่อความไม่สงบให้ชัด เราต้องไม่มองว่าการกระทำของชาวโรฮีนจาบางคนถูกต้องจากการที่ชาวโรฮีนจาหลายคนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน”

 

 

THE ROHINGYA’S PERCEPTION

     มองมุมโรฮีนจา – ‘นี่คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

     ในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ให้นิยามคำว่า ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ว่าหมายถึง “การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเชื้อชาติ กลุ่มชนในชาติ หรือกลุ่มชนทางศาสนาทั้งกลุ่มหรือส่วนใหญ่ เป็นต้นว่า ฆ่าสมาชิกของกลุ่ม กระทำให้สมาชิกของกลุ่มถึงแก่พิกลพิการอย่างหนักทางกายภาพหรือจิตภาวะ กระทำโดยไตร่ตรองหรือโดยคาดการณ์ไว้แล้ว เพื่อให้เกิดแก่หรือนำพามาสู่สมาชิกของกลุ่มซึ่งทุกข-เวทนาในสภาพความเป็นอยู่ กระทำโดยมาตรการใดๆ เพื่อกันมิให้มีการถือกำเนิดของทารกภายในกลุ่ม หรือใช้กำลังนำพาผู้เยาว์ในกลุ่มไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง”

     ส่วนรายงานเรื่อง Countdown to Annihilation: Genocide in Myanmar ที่ศึกษาโดย International State Crime Initiative ของมหาวิทยาลัยควีนแมรี ได้สรุปผลการศึกษาว่า กรณีความทุกข์ยากของชาวโรฮีนจาถือเป็น ‘กระบวนการของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ และชาวโรฮีนจากำลังเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน 2 ระยะสุดท้าย คือการทำลายล้าง และลบล้างชาวโรฮีนจาออกจากประวัติศาสตร์เมียนมา

 

 

     ขณะที่คนทั้งโลกกำลังถกเถียงว่า สรุปแล้วสิ่งที่รัฐบาลทหารเมียนมากระทำต่อชาวโรฮีนจาถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ ฮัจยี อิสมาอีล ผู้จัดการสมาคมโรฮีนจาเพื่อสันติแห่งประเทศไทย กลับให้คำตอบชัดๆ โดยไม่ต้องเปิดตำราเล่มไหนดูว่า “นี่คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” อย่างจริงแท้แน่นอน

     เพราะถึงแม้เขาจะลี้ภัยมาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่เมื่อ 22 ปีที่แล้ว แต่ถึงวันนี้เขาก็ยังเป็น ‘คนวงใน’ ที่ติดตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่อย่างใกล้ชิด เพราะนอกจากจะตามข่าวในฐานะเพื่อนร่วมเชื้อชาติเดียวกันแล้ว เขายังต้องคอยอัพเดตสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนาทีต่อนาที เพื่อที่จะได้รู้ว่าคุณพ่อวัย 70 กว่าปี และญาติสนิทของเขาอีกหลายคนที่ยังอยู่ระหว่างการลี้ภัยจากยะไข่ไปบังกลาเทศยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

     “จริงๆ แล้วญาติผมตายไปหลายสิบคนแล้ว ก่อนทหารจะเข้ามาในหมู่บ้าน ก็จะกราดยิงคนในหมู่บ้านก่อน ยิงเสร็จแล้วค่อยเข้ามา ถ้าใครยังไม่ตายก็จะถูกเชือดคอ พอตายหมดก็จะเผาหมู่บ้าน คนที่รอดก็จะหนีไป ทุกวันนี้ทหารก็ไล่เผาหมู่บ้านของชาวโรฮีนจาไปเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่ครอบครัวผมเล่าให้ฟัง”

     เมื่อถามว่าชินไหมที่ต้องคอยรับรู้ข่าวคราวที่คนรู้จักค่อยๆ ทยอยล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ฮัจยีบอกว่า “ชิน” ก่อนจะเสริมว่า “เพราะเขาทำแบบนี้มานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งทำครั้งแรก ปี 2555 ก็เหมือนกัน หรือต่อให้ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้ เขาก็ฆ่ารายวันอยู่แล้ว อาทิตย์ละคน เดือนละคนสองคน ก็ทำมาเรื่อยๆ คนไหนมีความรู้นิดหน่อย เขาก็จับไปฆ่า”

     แม้จะมีข่าวถึงความเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธชาวโรฮีนจา แต่ในใจของฮัจยีกลับมั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์ว่า ชาวโรฮีนจาไม่มีอาวุธจะไปต่อสู้กับทหารเมียนมาอย่างแน่นอน

     “ผมเชื่อว่าชาวโรฮีนจาทุกวันนี้ไม่มีอาวุธครับ ไม่มีเลย กองกำลังของชาวโรฮีนจาก็ไม่มี ปืนกระบอกเดียวก็ไม่มี แต่มีกลุ่มที่รับใช้ทหาร ชาวโรฮีนจาไม่ใช่คนรวย หาเช้ากินค่ำ ทำไร่ทำนา ทำมาหากินไปวันๆ ถ้าจะซื้ออาวุธต้องใช้เงินมหาศาล คงไม่สามารถเก็บเงินไปซื้ออาวุธได้ มีดยาวๆ ยังไม่มีเลย เพราะทหารมาตรวจในหมู่บ้านบ่อย ถ้าเห็นก็ยึดหมด เวลามีข่าวว่าชาวโรฮีนจาไปสู้กับทหาร ผมงงมากว่าจะเอาอะไรไปสู้”

     ถึงวันนี้นอกจากจะขอให้คุณพ่อและญาติๆ ปลอดภัย ไม่มีใครต้อง
ถูกเข่นฆ่าแล้ว สิ่งที่ฮัจยีต้องการมีเพียงอย่างเดียวคือ สิทธิที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะได้

     “ผมอยากบอกว่าชาวโรฮีนจาคือมนุษย์ พี่น้องชาวโรฮีนจาทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน มนุษย์แค่อยากได้สิทธิของมนุษย์ มนุษย์คนหนึ่งมีสิทธิอะไรบ้าง เราก็อยากได้สิทธิแบบนั้น ฉะนั้นขอให้สนับสนุนและยืนข้างชาวโรฮีนจา ช่วยเหลือให้ชาวโรฮีนจาได้รับสิทธิของมนุษย์ แค่นี้ผมก็พอใจแล้ว”

     มุมมองเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่สะท้อนให้เห็นภาพรวมของวิกฤตโรฮีนจาคราวนี้ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่ายังมีอีกหลายมุมมองที่ขาดหายไป ซึ่งหลังจากนี้คงต้องขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าจะเลือกหยิบจิกซอว์ชิ้นไหนขึ้นมาต่อให้ภาพเหตุการณ์ครั้งนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ต้องไม่ลืมหยิบชิ้นส่วนมุมมองของความเป็นมนุษย์ด้วยกันขึ้นมาใช้ เพราะสุดท้ายปัญหาโรฮีนจาก็คือปัญหาของคนหลายแสนคนที่มีชีวิตจิตใจและมีเลือดเนื้อที่ไม่ต่างกันกับเรา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising