×

THE MAJESTIC FAREWELL

โดย
24.10.2017
  • LOADING...

     ในช่วงเวลาสำคัญที่ผองพสกนิกรชาวไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบนิรันดร์ ทีมงาน THE STANDARD รวบรวมประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ที่จะเดินทางไปร่วมถวายความอาลัยตามจุดต่างๆ รวมทั้งผู้ที่จะรับชมการถ่ายทอดทางสื่อต่างๆ ได้เตรียมพร้อมก่อนถึงวันจริง

     พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชพิธีที่รัฐบาลไทยจัดขึ้น  โดยกำหนดระหว่างวันที่ 25–29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เพื่อถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแด่พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นวันถวายพระเพลิง

 

ราชรถ ราชยาน

เครดิตภาพ : งานพระศพสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พ.ศ. 2472

ภาพ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ.003 หวญ 33/7/37

 

     ราชยาน หมายถึง พาหนะสำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศ์

     คำว่า ‘ยาน’ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง เครื่องนำไปหรือพาหนะต่างๆ เช่น รถ เกวียน เรือ เป็นต้น เมื่อสมาส     กับคำว่า ‘ราช’ ซึ่งหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน จึงหมายถึง พาหนะสำหรับพระมหากษัตริย์นั่นเอง

     ราชรถ คือ พาหนะของพระมหากษัตริย์ นักวิชาการส่วนใหญ่กล่าวว่า พัฒนารูปแบบมาจากเกวียน 2 ล้อ ขนาดเล็ก นั่งได้เพียงคนเดียว เทียมด้วยม้าหรือสัตว์อื่นๆ เช่น วัว ควาย ลา ล่อ หรือแม้แต่คน

 

1.

     พาหนะสำหรับโดยสารไปยังที่ต่างๆ ในสมัยโบราณมีหลายรูปแบบ แล้วแต่ฐานะของผู้ใช้ มีทั้งแบบใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน หรือพาหนะที่แสดงถึงตำแหน่งทางราชการของผู้เป็นเจ้าของ

 

2.

     ราชรถที่เทียมด้วยม้ามักเป็นรถศึก ส่วนรถที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้เมื่อเสด็จฯ นอกพระราชวัง ถ้าหากเป็นราชรถที่ลากด้วยคนจะมีขนาดใหญ่ และใช้ในการพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีพระบรมศพ

 

 

3.

     ยาน เป็นเครื่องประกอบยศของบุคคลชั้นสูงในสังคมสมัยโบราณ เป็นเครื่องแสดงถึงฐานะและอำนาจที่ต่างจากสามัญชนทั่วไป

 

4.

     หลักฐานการใช้ราชรถในราชสำนักปรากฏชัดเจนในสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น การใช้ราชรถในการอัญเชิญผ้าพระกฐิน การอัญเชิญพระราชสาส์นจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ​. 2230

 

5.

     ในสมัยกรุงธนบุรีไม่ปรากฏว่ามีการสร้างราชรถเพื่อใช้ในการพระเมรุ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า-จุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. ​2325 จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างราชรถขึ้นมา 7 องค์ เพื่อถวายพระเพลิงพระอัฐิสมเด็จ-พระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) เมื่อ พ.ศ.​ 2339 ราชรถ ราชยาน จึงกลายเป็นหนึ่งในเครื่องประกอบในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ​ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสืบมา

 

6.

     เพื่อถวายพระเกียรติแก่พระบรมศพตามโบราณราชประเพณีซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จะต้องใช้พระมหาพิชัยราชรถสำหรับอัญเชิญพระบรมศพ

 

7.

     พระมหาพิชัยราชรถ อยู่ในริ้วขบวนที่ 2 เป็นราชรถทรงบุษบก ทำด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ประดับกระจก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ใช้เพื่ออัญเชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระ-ปฐมบรมมหาชนกออกพระเมรุ เมื่อ พ.ศ.​2339 ต่อมาใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระมหากษัตริย์และพระโกศพระบรมวงศ์จนถึงปัจจุบัน

 

8.

     พระมหาพิชัยราชรถเป็นราชรถที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในริ้วขบวนพระบรม-ราชอิสริยยศ ด้วยความสูง 11.20 เมตร กว้าง 4.84 เมตร ยาว 18 เมตร และหนักถึง 13.7 ตัน ต้องใช้พลฉุดชักทั้งหมด 216 นาย แบ่งออกเป็นส่วนด้านหน้า 172 นาย ด้านหลัง 44 นาย และพลควบคุม 5 นาย

 

 

9.

     พระยานมาศสามลำคาน อยู่ในริ้วขบวนที่ 1 มีคานหามขนาดใหญ่ทำด้วยไม้จำหลักลวดลายลงรักปิดทอง มีพนักอยู่โดยรอบ 3 ด้าน มีคานหาม 3 คาน มีความยาวพร้อมคานหาม 7.73 เมตร สูง 1.78 เมตร น้ำหนัก 700 กิโลกรัม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมโกศ รัชกาลที่ 1 เป็นครั้งแรก

 

10.

     พระยานมาศสามลำคานเป็นพระ-ราชยานสำหรับอัญเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถที่จอดเทียบรออยู่ใกล้กับพลับพลายกบริเวณทิศตะวันออกของวัดพระเชตุพน-วิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

 

 

11.

     ราชรถปืนใหญ่ อยู่ในริ้วขบวนที่ 3 มีความยาว 7 เมตร สูง 1.85 เมตร เป็นราชรถที่เชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ที่ทรงรับราชการทหารเมื่อครั้งดำรงพระชนม์ชีพแทนพระยานมาศ-สามลำคานตามธรรมเนียมเดิมจากพระบรมมหาราชวังสู่พระเมรุมาศและแห่อุตราวัฏ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุมาศ 3 รอบ ใช้จำนวนพล 40 นาย แบ่งเป็นพลฉุดชัก 30 นายพลบังคับเลี้ยว 2 นาย พลประคองกลาง 6 นาย พลประคองท้าย 2 นาย

 

12.

     พระที่นั่งราเชนทรยาน ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 มีลักษณะเป็นทรงบุษบกย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น สร้างด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก มีคานหาม 4 คาน ใช้คนหาม 56 คน พระราชพิธีครั้งนี้พระที่นั่งราเชนทรยานเป็นพระราชยานประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิ อยู่ในริ้วขบวนที่ 4 และ 5

 

13.

     พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย อยู่ในริ้วขบวนที่ 4 สร้างขึ้นใหม่ในปีนี้โดยใช้รูปแบบและลวดลายเดียวกับพระที่นั่งราเชนทรยาน แต่มีขนาดเล็กกว่า และใช้สำหรับอัญเชิญพระบรมราช-สรีรางคาร

พระเมรุมาศ

เครดิตภาพ : พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภาพ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ.003 หวญ. 11/20/1

 

     พระเมรุมาศ​ คือสถาปัตยกรรมชั่วคราว สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง สำหรับการตายที่ใช้ราชาศัพท์ว่า ‘สวรรคต’

 

1.

     ภายในพระเมรุมาศมีพระเมรุทอง ลักษณะของพระเมรุมาศที่ปรากฏการสร้างมี 2 รูปแบบคือ พระเมรุมาศทรงปราสาท ที่สร้างมาแต่โบราณ มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร พระเมรุมาศทรงบุษบก ที่เริ่มใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ที่มีพระราชดำริว่า การพระราชพิธีพระบรมศพอย่างโบราณสิ้นเปลืองแรง พระราชทรัพย์ จึงใช้พระเมรุมาศทรงบุษบกมาตลอด และยังถือเป็นแบบพระเมรุมาศเฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น

     พระเมรุมาศรัชกาลที่ 9 เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด ตามโบราณราชประเพณี โดยนายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบพระเมรุมาศทรงบุษบกยกสูง 50.49 เมตร (ต่อมาได้ขยายเป็น 53 เมตร) มีชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 60 เมตร  

 

     นายก่อเกียรติ ทองผุด กล่าวว่า ได้สเกตช์ภาพพระเมรุมาศยอดบุษบกไว้ 3 รูปแบบ คือ หนึ่ง พระเมรุมาศทรงบุษบกยอดเดียว คล้ายกับของรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 8  สอง พระเมรุมาศทรงบุษบก 5 ยอด คล้ายกับพระเมรุมาศของรัชกาลที่ 5 สาม พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์มาก่อน และตัวเขาเองชอบทรงบุษบก 9 ยอดมากที่สุด เพราะสื่อถึงรัชกาลที่ 9

 

3.

     สีของพระเมรุมาศจะมีทั้งสิ้น 5 สี คือ สีทอง คือ สีประจำวันพระราชสมภพ

     สีขาว คือ ธรรมแห่งการปกครอง สีน้ำเงิน คือ พระมหากษัตริย์ สีชมพู คือ การเสริมความมงคล และสีเขียว คือ ทรงนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่แผ่นดินไทย

 

 

4.

     พระเมรุมาศตั้งอยู่บนฐานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้น

     ทั้ง 4 ทิศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันออกติดตั้งลิฟต์ และทิศเหนือติดตั้งสะพานเกรินสำหรับเชิญพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนพระเมรุมาศ

 

5.

     โครงสร้างพระเมรุมาศ ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

     ลานอุตราวัฏ หรือพื้นรอบฐานพระเมรุมาศ มีสระอโนดาตทั้ง 4 ทิศ และเขามอจำลอง ภายในสระประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ ช้าง โค สิงห์  ม้า และสัตว์หิมพานต์ตระกูลต่างๆ

     ฐานชาลาชั้นที่ 1 เป็นชั้นล่างสุด มีฐานสิงห์เป็นรั้วราชวัตร ฉัตรแสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ และมีเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรก ส่วนมุมทั้งสี่ของฐานมีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลประทับยืนหันหน้าเข้าสู่บุษบกองค์ประธาน

     ฐานชาลาชั้นที่ 2 มีหอเปลื้องทรงบุษบกรูปแบบเดียวกันตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และพระโกศไม้จันทน์ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับงานพระราชพิธี

     ฐานชาลาชั้นที่ 3 ฐานบุษบกประธานประดับประติมากรรมเทพชุมนุมจำนวน 132 องค์โดยรอบ รองรับด้วยฐานสิงห์ ซึ่งประดับประติมากรรมครุฑยุดนาคโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มุมทั้งสี่ของฐานชั้นที่ 3 นี้ เป็นที่ตั้งของทรงบุษบกยอดมณฑป

     ชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ใช้สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับ นั่งสวดอภิธรรมสลับกันไปตลอดนับตั้งแต่พระบรมศพประดิษฐานบนพระจิตกาธาน กระทั่ง ถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จ

     จุดกึ่งกลางชั้นบนสุด มีบุษบกองค์ประธานตั้งอยู่ เป็นอาคารทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น โดยภายในมีพระจิตกาธานเป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ ผนังโดยรอบเปิดโล่ง ติดตั้งพระวิสูตร (ม่าน) และฉากบังเพลิง เขียนภาพพระนารายณ์อวตารตอนบน และภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตอนล่าง และที่ยอดบนสุดประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น)

 

 

6.

     พระจิตกาธาน คือเชิงตะกอน หรือฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ เป็นคำที่ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรม-วงศานุวงศ์ ประกอบด้วย แท่นฐานสำหรับเผาทรงสี่เหลี่ยม ภายในใส่ดิน

     เสมอปากฐานสำหรับวางฟืน ไม้จันทน์ พระจิตกาธานมักประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีและเครื่องสด เช่น ดอกไม้ ใบไม้ ใบตอง หยวกกล้วย และผลไม้บางชนิด เป็นต้น สำหรับเป็นเครื่องกันไฟ

 

7.

     ดร. พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ดูแลการวางผังของพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 ได้กล่าวถึงแนวคิดเรื่องการวางผังพระเมรุมาศว่า มีความเชื่อมโยงกับศาสนสถานโบราณสำคัญที่อยู่บริเวณรอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยกำหนดที่ประดิษฐานของบุษบกองค์ประธาน ที่ตั้งของพระจิตกาธานสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ จากจุดตัดของเส้นทิศเหนือ-ใต้ ซึ่งลากจากยอดพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับเส้นทิศตะวันออก-ตะวันตก ที่ลากจากเขตพุทธาวาส วัดมหาธาตุยุวราช-รังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร หากมองพระเมรุมาศจากกึ่งกลางทางเข้าด้านทิศเหนือ (หันหน้าเข้าพระบรมราชวัง) จะมองเห็นยอดพระศรีรัตนเจดีย์ของวัดพระแก้วซ้อนอยู่ในบุษบกองค์ประธาน เป็นความงามทางภูมิสถาปัตย์ที่น่าประทับใจยิ่ง นับเป็นความตั้งใจของกรมศิลปากร หน่วยงานรับผิดชอบการจัดสร้างเพื่อให้พระเมรุมาศมีความงดงาม ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติของรัชกาลที่ 9

 

     กรมศิลปากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดสร้างพระเมรุมาศ เริ่มดำเนินงานเตรียมการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2559 ด้วยความตั้งใจให้พระเมรุมาศงดงาม ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติรัชกาลที่ 9   มากที่สุด

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

เครดิตภาพ : พระมหาพิชัยราชรถอัญเชิญพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ภาพ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภ.003 หวญ. 30/6/55

 

     ‘ริ้วขบวน’ ตามโบราณราชประเพณี หมายถึง ขบวนพระราชอิสริยยศในการอัญเชิญพระบรมศพจากพระมหาปราสาทไปสู่พระเมรุมาศ หรืออัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศมาสู่พระบรมมหาราชวัง หรือพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุหรือลอยพระอังคาร เป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามคติความเชื่อของไทย ที่ยกย่องพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ หมายถึงเป็นเทวดาจุติมายังโลกมนุษย์ เมื่อสวรรคตจึงหมายถึงการเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์

 

ริ้วขบวนในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9 มีด้วยกัน
ทั้งหมด 6 ริ้วขบวน ประกอบด้วยการอัญเชิญพระบรมศพ, พระบรมอัฐิ, พระบรมราชสรีรางคาร

 

2.

     ในริ้วขบวนจะมีเครื่องประกอบพระอิสริยยศมากมาย มีฉัตรซึ่งเป็นเครื่องสูง หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ เช่น พระมหาเศวตฉัตร 9 ชั้น นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีเครื่องสูงประกอบพระราชอิสริยยศอื่นๆ อีกด้วย เช่น บังพระสูริย์ บังแทรก จามร เชิญไปในขบวนเพื่อกันแสงแดด รวมถึงพุ่มดอกไม้เงิน พุ่มดอกไม้ทอง เป็นริ้วแถวสองข้างขบวน สมมติเป็นพุ่มดอกไม้จากสวรรค์

 

3.

     ความหมายของฉัตรเป็นคติความเชื่อที่สืบทอดมาแต่โบราณ ทั้งจากจีนและอินเดีย โดยเชื่อว่าพัฒนามา
จากร่ม ซึ่งบุคคลระดับหัวหน้าจะมีคนกางให้ ร่มจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีอำนาจมาแต่โบราณ

4.

     อินเดียโบราณมีความเชื่อเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่มีชัยทั้ง 8 หรือ 10 ทิศ ทั้งสวรรค์และบาดาล ความยิ่งใหญ่ดังกล่าวจึงถูกสะท้อนผ่านจำนวนร่มศัตรูที่ยึดได้ในสงคราม โดยคติความเชื่อนี้แผ่ขยายมาสู่ไทย จึงนำร่มของเมืองขึ้นทั้ง 8 ทิศ มาซ้อนเป็นชั้น และเพิ่มทิศของตนเองอีก 1 ทิศ รวมเป็น 9 ทิศ เป็นเศวตฉัตร 9 ชั้น สำหรับพระมหากษัตริย์ จัดว่าเป็นเครื่องสูงที่มีความสำคัญสูงที่สุด เรียกว่า ‘พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร’

 

5.

     พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร มีชื่อย่อว่าพระมหาเศวตฉัตร เป็นฉัตรผ้าขาว 9 ชั้น ใช้แขวนหรือปักในสถานที่และโอกาสต่างๆ เช่น ใช้ปักเหนือราชบัลลังก์ในท้องพระโรง, ใช้แขวนเหนือพระบรมโกศทรงพระบรมศพ, ใช้ปักบนพระยานมาศสามลำคานในการเชิญพระบรมศพ เป็นต้น

 

6.

     พระเสลี่ยงกลีบบัว เป็นพระราชยานสำหรับสมเด็จพระสังฆราชหรือพระราชาคณะนั่งอ่านพระอภิธรรม นำพระโกศพระบรมศพ

 

7.

     ริ้วขบวนที่ 1 วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เชิญพระโกศทองใหญ่โดยพระยานมาศสามลำคาน มาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ผ่านทางประตูเทวาภิรมย์ แล้วใช้เส้นทางถนนมหาราช เลี้ยวเข้าถนนท้ายวัง มุ่งหน้าถนนสนามไชย จากนั้นเชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ บริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราช-วรมหาวิหาร รวมระยะทาง 817 เมตร ใช้เวลาราว 30 นาที

 

8.

     เกรินบันไดนาค คืออุปกรณ์ที่ใช้เชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นหรือลงจากราชรถและพระเมรุมาศ แทนการใช้นั่งร้านไม้ต่อยกสูงแบบสมัยโบราณ ที่ใช้กำลังคนยกขึ้นลง โดยทำเป็นรางเลื่อนขึ้นลงด้วยกว้านหมุนลักษณะ
เหมือนลิฟต์ในปัจจุบัน ราวสองข้าง
ตกแต่งเป็นรูปพญานาคเป็นที่มาของชื่อเรียกเกรินบันไดนาค

 

 

9.

     ริ้วขบวนที่ 2 วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัย-ราชรถโดยเกรินบันไดนาค จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราช-วรมหาวิหาร ยาตราขบวนจากถนนสนามไชยเข้าสู่ถนนราชดำเนินใน จากนั้นขบวนพระบรมราชอิสริยยศแห่เชิญพระโกศทองใหญ่เข้าสู่ท้องสนามหลวง รวมระยะทาง 890 เมตร ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง

 

10.

     ริ้วขบวนที่ 4 วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานบุษบกพระที่นั่งราเชนทร-ยาน เชิญพระบรมราชสรีรางคารขึ้นประดิษฐานในพระที่นั่งราเชนทร-
ยานน้อย จากนั้นเคลื่อนขบวน พระที่นั่งราเชนทรยานน้อยมุ่งหน้าสู่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพักไว้ที่
พระศรีรัตนเจดีย์ ส่วนขบวนพระโกศพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน เคลื่อนเข้าสู่ประตูพิมานไชยศรี เชิญพระโกศพระบรมอัฐิเข้าสู่บริเวณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทประดิษฐานที่บุษบกแว่นฟ้าทอง รวมระยะทาง 1,074 เมตร ใช้เวลาราว 30 นาที

 

11.

     ริ้วขบวนที่ 5 วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เชิญพระโกศพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท รวมระยะทาง 63 เมตร ใช้เวลาราว 10 นาที

 

12.

     ริ้วขบวนที่ 6 วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ขบวนกองทหารม้าเชิญพระบรม-

     ราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์
พระที่นั่งออกจากพระบรมมหาราชวัง ทางด้านประตูวิเศษไชยศรีไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร จากนั้นขบวนกองทหารม้าเชิญ
พระบรมราชสรีรางคารจากวัดราช-
บพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร โดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปบรรจุ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

มหรสพสมโภช

เครดิตภาพ : มหรสพงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา

กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ภาพ วารสารโดยสำนักงาน กปร. ฉบับที่ 3/2551

 

     การถวายพระเพลิงพระบรมศพแต่ครั้งโบราณจัดเป็นงานใหญ่ มีมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุพระบรมอัฐิเป็นแบบแผนสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีถือว่าเป็นงานออกทุกข์ ทั้งยังถือเสมือนเป็นการแสดงพระกฤดาธิการของพระมหากษัตริย์

 

1.

     ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการจัดมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุ
ตามแบบแผนประเพณีเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่1 ในงานออกพระเมรุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรม-มหาชนก พ.ศ. 2339

 

2.

     งานแสดงมหรสพสมโภชในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพถือเป็นสัญลักษณ์ของงานออกทุกข์ หรือการออกพระเมรุ โดยในอดีตประกอบไปด้วยการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงในราชสำนัก และการแสดงมหรสพจากต่างชาติอย่างเช่น งิ้วและรำญวน เข้ามาผสมผสาน

 

3.

     ละครหุ่นหลวงจะแสดงในเรื่องรามเกียรติ์ ตอน หนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2559 กรมศิลปากร

     มีโครงการรื้อฟื้นจัดทำหุ่นหลวง 3 ตัว คือ ตัวหนุมาน ตัวมานพ และตัวนาง จึงได้เลือกมาจัดเป็นชุดการแสดงในพระราชพิธีครั้งนี้ และถือเป็นโอกาสรื้อฟื้นหุ่นหลวงอีกครั้ง ความพิเศษของหุ่นหลวงคือ เครื่องแต่งกาย และความสามารถของผู้เชิดที่ใช้สายใยในการชักจำนวนมาก

 

 

4.

     การแสดงหุ่นกระบอก จะแสดงเรื่องพระอภัยมณี ตอน สุดสาครจับม้านิลมังกร โดยจัดอยู่ในเวทีที่ 2 ทางด้านทิศเหนือ ท้องสนามหลวง ซึ่งหุ่นหลวงใช้เวลา 20 นาที หุ่นกระบอก ใช้เวลา 40 นาที

 

5.

     การแสดงอื่นๆ ในเวทีที่ 2 อีก คือการแสดงละครเรื่อง พระมหาชนก รำกิ่งไม้เงินทอง ละครใน เรื่อง อิเหนา ตอน บุษบาชมศาล-อิเหนาตัดดอกไม้-ฉายกริช ท้าวดาหาบวงสรวง และละครเรื่อง มโนห์รา

 

6.

     การแสดงหุ่นหลวง เป็นมหรสพหลวง ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ก่อนจะสูญไปเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากติดขัดเรื่ององค์ประกอบต่างๆ ของตัวหุ่น จำเป็นต้องใช้ผู้มีความสามารถสูงในการเชิด จึงมีหุ่นเล็กและหุ่นกระบอกขึ้นมาแทน

 

7.

     สมัยรัตนโกสินทร์ การแสดงมหรสพสมโภชถูกยกเลิกไปในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 5 ด้วยพระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ลดทอนความใหญ่โตในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์ออก ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการลดทอนงานมหรสพออกไปด้วย

 

8.

     พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรื้อฟื้นการประโคมดนตรีและการมหรสพอีกครั้งในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมา

 

9.

     สำหรับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9 ได้จัดให้มีการแสดงมหรสพสมโภชทั้งหมด 3 เวที ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของสนามหลวง

 

10.

     การแสดงมหรสพสมโภชทั้งหมดใช้นักแสดงกว่า 3,000 คน เริ่มแสดงทุกเวทีพร้อมกันตั้งแต่เวลา 18.00 น. ในวันที่ 26 ตุลาคม จนถึงเวลา 06.00 น. ของเช้าวันที่ 27 ตุลาคม (การแสดงของทุกเวทีจะหยุดการแสดงเมื่อมีพระราชพิธีในพระเมรุมาศ)

 

11.

     นอกจากเวทีด้านทิศเหนือแล้ว ยังมีการแสดงหน้าพระที่นั่งทรงธรรม หรือพระเมรุมาศ หรือที่เรียกกันว่า โขนหน้าไฟ เรื่อง รามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร-ยกรบ และการแสดงชุดรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่จะจัดแสดงไปพร้อมกัน

 

 

12.

     ผู้แสดงโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร-ยกรบ รำลึกเป็นนาฏศิลปินจากสำนักการสังคีต นักเรียน นักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลปทั่วประเทศ 12 แห่ง และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รวมกว่า 89 คน ผู้พากย์ ผู้บรรเลง ขับร้อง และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 360 คน พร้อมประพันธ์บทขึ้นใหม่ เพื่อเทิดพระเกียรติ และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

 

13.

     สำหรับการแสดงทั้ง 3 เวที ที่เปิดให้ประชาชนเข้าชม ประกอบด้วย

เวทีที่ 1 หนังใหญ่ โขน

เวทีที่ 2 พระมหาชนก หุ่นหลวง

หุ่นกระบอก รำกิ่งไม้เงินทอง ละครใน เรื่อง อิเหนา ละคร เรื่อง มโนห์รา เวทีที่ 3 ดนตรีสากล บัลเลต์ เรื่อง

มโนห์รา

 

*หาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการแสดงทั้ง 3 เวทีได้ทาง www.thestandard.co

 

  • กำหนดการพระราชพิธี •

พุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

  • 17.30 น. พระราชพิธีพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ ณ พระที่นั่งดุสิต-มหาปราสาท

 

พฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

  • 07.00 น. พระราชพิธีเชิญพระบรมศพรัชกาลที่ 9  ออกพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง โดยริ้วขบวนที่ 1 ริ้วขบวนที่ 2 และริ้วขบวนที่ 3
  • 17.30 น. พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9
  • 22.00 น. พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9 จริง

ศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560

  • 08.00 น. พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ และเชิญพระบรมอัฐิสู่พระบรม-มหาราชวัง โดยริ้วขบวนที่ 4

 

เสาร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2560

  • 17.30 น. พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่ง-ดุสิตมหาปราสาท

 

อาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560

  • 10.30 น. พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลและเชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยริ้วขบวนที่ 5
  • 17.30 น. พระราชพิธีเชิญพระบรม-ราชสรีรางคารไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธฯ และวัดบวรนิเวศฯ โดยริ้วขบวนที่ 6

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising