×

“เราไม่ใช่คนดี” คอลัมนิสต์ The Guardian เขียนบทความ ตั้งคำถามการทำงานของสื่อในห้องแถลงข่าว ที่ทำให้ นาโอมิ โอซากะ ถอนตัวเฟรนช์โอเพ่น

02.06.2021
  • LOADING...
นาโอมิ โอซากะ

โจนาธาน หลิว คอลัมนิสต์กีฬาจาก The Guardian สำนักข่าวจากประเทศอังกฤษ เขียนในบทความตั้งคำถามการทำงานของสื่อด้วยกันเองภายในห้องแถลงข่าวระหว่างทัวร์นาเมนต์ของการแข่งขันกีฬาชนิดต่างๆ หลังจากที่ นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิส มือ 2 ของโลกตัดสินใจถอนตัวออกจากการแข่งขันเทนนิส เฟรน์โอเพ่น 2021แกรนด์สแลม รายการที่ 2 ของปี หลังจากที่เธอถูกฝ่ายจัดการแข่งขันปรับเป็นเงินจำนวน 15,000 ดอลาร์สหรัฐ จากการปฏิเสธเข้าร่วมการแถลงข่าวหลังจบแมตช์แรกของเธอ 

 

โดยโอซากะให้เหตุผลถึงการตัดสินใจไม่เข้าร่วมงานแถลงข่าวในทัวร์นาเมนต์นี้เนื่องจากผลกระทบที่มีต่อสภาพจิตใจของเธอ ซึ่งล่าสุดโอซากะยังได้ออกมายอมรับว่า เธอเป็นซึมเศร้ามาตั้งแต่ศึกยูเอสโอเพ่นเมื่อปี 2018 และหลังจากที่ถอนตัวจากการแข่งขันเฟรนช์โอเพ่นปีนี้ เธอขอใช้เวลาห่างจากสนามแข่งขันเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ 

 

หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นมีเสียงสะท้อนออกจากการตัดสินใจของเธอ ทั้งจากนักกีฬาที่ให้การสนับสนุน และหลายฝ่ายที่ยืนยันว่าการพูดคุยกับสื่อมวลชนระหว่างการแข่งขันเป็น ‘ส่วนหนึ่งของอาชีพนักกีฬา’ ที่ต้องโปรโมตการแข่งขันผ่านความเคลื่อนไหวในงานแถลงข่าวแต่ละครั้ง 

 

แต่ทางด้าน โจนาธาน หลิว จาก The Guardian มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสสำคัญที่สื่อจะหันกระจกสะท้อนสังคมกลับมาสะท้อนการทำงานของตัวเองที่ผ่านมา โดยเฉพาะภายในงานแถลงข่าว จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของโอซากะ 

 

โดยหลิวได้เขียนบทความที่มีชื่อว่า We’re not the good guys: Osaka shows up problems of press conferences โดยเขาได้อธิบายถึงการทำงานต่างๆ ที่ผ่านมาของสื่อมวลชนภายในห้องแถลงข่าว

 

“ปัญหาที่แท้จริงสำหรับผมคือ ไม่ใช่โอซากะหรือนักข่าวที่ให้ความสำคัญกับตัวเอง แต่คือการแถลงข่าว เพราะหากคุณคิดถึงความเป็นจริงในปัจจุบัน มันเป็นไอเดียที่แปลก และเป็นหนึ่งในฟังก์ชันที่ไม่ตอบโจทย์ เพราะหลักการของงานแถลงข่าวคือ การสื่อจากนักกีฬาไปสู่สังคมวงกว้าง ที่เราเป็นผู้สื่อสาร ด้วยการเป็นหูเป็นตาให้กับสังคม 

 

“แต่หากคุณได้สังเกต นี่ไม่ใช่ความเป็นจริงมาสักพักใหญ่แล้ว นักกีฬามีช่องทางของพวกเขาเองสู่สังคมวงกว้าง และขอเฉลยว่าช่องทางนั้นไม่ใช่พวกเรา แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อ หน้าที่หลักของโอซากะคือการลงเล่นเทนนิสตามเวลาที่กำหนด ไม่ใช่การถูกบังคับให้มานั่งอยู่ในห้องที่ไม่มีหน้าต่างและเต็มไปด้วยชายวัยกลางคน 

 

“และในการแถลงข่าวยุคปัจจุบัน แทบจะไม่มีการสื่อสารที่มีความหมาย แต่กลับเป็นการสื่อสารในมาตรฐานที่ต่ำ และส่วนใหญ่มักจะเป็นเกมของการเก็บเกี่ยวเนื้อหาจากแหล่งข่าวให้ได้มากที่สุด เช่น ข่าวลือเท่ากับดี อาการโมโหเท่ากับดี ความขัดแย้งท่ากับดี ร้องไห้เท่ากับดี การสูญเสียเท่ากับดี 

 

“ระหว่างนั้นเองนักกีฬาเยาวชนที่อยู่ในช่วงอารมณ์ของชัยชนะและความพ่ายแพ้ การถูกคาดหวังให้ตอบคำถามที่กดดันภายใต้สถานการณ์ตึงเครียดต่อหน้าคนแปลกหน้า ขณะที่ด้านหลังก็เต็มไปด้วยป้ายของโลโก้ผู้สนับสนุน 

 

“คำถามคือมันมีหนทางไหนที่จะจัดแถลงข่าวได้ดีกว่านี้ไหม นักกีฬาไม่ใช่นักการเมืองที่มาอยู่จุดนี้เพราะการเลือกตั้ง พวกเขาเป็นเพียงคนที่พัฒนาศักยภาพทางร่างกายและความฟิตที่เหนือกว่า แล้วมานั่งพูดคุยกับเรา 

 

“สิ่งเหล่านี้ยิ่งถูกทำให้แย่ลงในวงการเทนนิสหญิง ที่มีนักข่าวถามคำถามนักเทนนิสหญิงเช่น ‘ผมเห็นคุณทวีตภาพ คุณเตรียมพร้อมแล้วหรือยังที่จะเป็นเซ็กซ์ซิมโบลในอนาคต’ (คำถามจากสื่อถึง ยูจินี บูชาร์ด เมื่อปี 2013) ‘ตอนนี้มีภาพโปสเตอร์ของคุณแล้ว โดยเฉพาะในอังกฤษ นั่นเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ คุณรู้สึกดีกับมันหรือไม่?’ (คำถามจากสื่อถึง มาเรีย ชาราโปวา ในวัย 17 ปี เมื่อปี 2004 ที่วิมเบิลดัน) และแน่นอน มีนักข่าวอีกหลายคนที่ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม 

 

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะสังเกตมองไปรอบๆ ห้อง เราไม่ใช่คนดี เราไม่ได้มีอำนาจอีกต่อไป และจากการที่หนึ่งในนักกีฬาที่ดีที่สุดในโลกได้ตัดสินใจที่ถอนตัวจากการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลมแทนที่จะพูดคุยกับสื่อมวลชน

“แทนที่เราจะตั้งคำถามกับตัวของเธอจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นี่อาจเป็นเวลาที่เราจะตั้งคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันบ่งบอกอะไรเกี่ยวกับพวกเรา” 

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising