×

บนความแตกต่างระหว่าง ‘หลักการ’ ของเทน ฮาก และปอสเตโคกลู

15.01.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ให้ความยุติธรรมกับ เอริก เทน ฮาก แมนฯ​ ยูไนเต็ดในเกมนี้ก็ไม่ได้ถึงกับเลวร้ายเหมือนในช่วงเดือนที่แล้ว เราได้เห็นเกมรับที่เหนียวแน่นพอประมาณ และความพยายามที่จะทำเกมรุกบุกใส่สเปอร์สอยู่บ้าง แต่ในภาพรวมแล้วทีมของ แอนจ์ ปอสเตโคกลู ทำได้ดีกว่า อาจจะไม่ชัดเจนในเรื่องของคุณภาพแต่อย่างน้อยในเรื่องของปริมาณซึ่งสะท้อนผ่านทางตัวเลขสถิติที่เราได้เห็น
  • สเปอร์สมี ‘พิมพ์เขียว’ (Blueprint) ที่ชัดเจนตั้งแต่การเปิดเกมจากผู้รักษาประตู การหาวิธีแก้เพรส การเปลี่ยนจังหวะเกม (Transition) ไปจนถึงการแก้ทางเกมรับของคู่ต่อสู้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้พวกเขาทำให้เห็นมาตั้งแต่ช่วงของการพรีซีซัน
  • ในฤดูกาลที่แล้วซึ่งเทน ฮาก ที่กำลังไฟแรงแต่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากเพราะแมนฯ ยูไนเต็ด แพ้หมดรูปใน 2 นัดแรกของฤดูกาลต่อไบรท์ตันและเบรนท์ฟอร์ด สุดท้ายเทน ฮาก เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงหลักการของตัวเองด้วยการให้ทีมหันมาเล่นบอลยาว

แต่ก่อนแต่ไรมาคำขวัญประจำสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดนั้นนำมาจากคำขวัญประจำเมืองในสมัยก่อน

 

“ส้มโอขาว ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย”

 

ไม่ใช่สิ นั่นมันคำขวัญประจำจังหวัดนครปฐม! คำขวัญประจำเมืองแมนเชสเตอร์เป็นภาษาละตินกล่าวเอาไว้ว่า “Concilio et Labore” ซึ่งแปลแล้วได้ความหมายที่สละสลวยว่า “ด้วยปัญญาและความพยายาม”

 

น่าเสียดายที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงสองสิ่งนี้สักเท่าไรในเกมที่ เอริก เทน ฮาก บอกว่าแอบผิดหวังกับผลการแข่งขัน เพราะพวกเขาเป็นฝ่ายที่เล่นได้ดีกว่า ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ในเกมนี้

 

ทั้งๆ ที่นี่คือเกมสำคัญที่เปรียบได้ดังวันแสงแรกอรุณรุ่งของยุคสมัยใหม่ที่ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ เข้ามาชมเกมของทีมรักในสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นครั้งแรกในฐานะเจ้าของสโมสร ไม่ใช่แฟนฟุตบอลเรดอาร์มี

 

เกมที่เราได้เห็นความแตกต่างของสองผู้จัดการทีม

 

ระหว่างเทน ฮาก กับ แอนจ์ ปอสเตโคกลู ดูเหมือนความหมายของคำว่า ‘หลักการ’ ระหว่างเราไม่เท่ากัน

 

 

การปรากฏตัวของ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะแม้ว่าจะยังไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการจากพรีเมียร์ลีกในเรื่องของการเข้าซื้อหุ้นสโมสรแมนฯ ยูไนเต็ดจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ ต่อจากครอบครัวเกลเซอร์ (ซึ่งมีการเปิดเผยว่าจะมีการรับรองภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์)  

 

แต่นี่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของทีมที่จะได้ทีมงานชุดใหม่เข้ามาบริหารหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

 

แรตคลิฟฟ์ยังเลือกเชิญ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของสโมสรมานั่งชมเกมไปด้วยกัน ซึ่งเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์อย่างหนึ่งว่าเป้าหมายของเศรษฐีอันดับหนึ่งของอังกฤษคือการพาแมนฯ ยูไนเต็ดกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่ที่ ‘เฟอร์กี’ เคยสร้างไว้ให้

 

 

ยิ่ง ราสมุส ฮอยลุนด์ เริ่มแสดงให้เห็นถึงสัญชาตญาณความเป็นศูนย์หน้าระดับพระกาฬด้วยการทำประตูขึ้นนำอย่างสุดสวยตั้งแต่นาทีที่ 2 ของการแข่งขันด้วยการแต่งบอลและตวัดเท้ายิงเร็วอย่างหนักหน่วงชนิดตาข่ายแทบขาด หมดสิทธิ์ที่ กูเยลโม วิคาริโอ จะป้องกันได้

 

มันควรจะเป็นวันธงชัย เป็นวันดีของชาวยูไนเต็ดทั้งผองที่จะได้ฉลองไปด้วยกัน

 

แต่หลังจากนั้นสิ่งที่แรตคลิฟฟ์ เฟอร์กี และเรดอาร์มีทั้งที่อยู่ในสนามและที่พยายามส่งใจไปให้จากหน้าจอได้เห็นคือแมนฯ ยูไนเต็ดที่ไม่ได้แตกต่างอะไรจากที่ผ่านมาสักเท่าไร

 

ไม่มีทั้ง Concilio หรือปัญญา

 

และไม่มีทั้ง Labore หรือความพยายาม

 

ให้ความยุติธรรมกับเอริก เทน ฮาก แมนฯ​ ยูไนเต็ดในเกมนี้ก็ไม่ได้ถึงกับเลวร้ายเหมือนในช่วงเดือนที่แล้ว นอกจากประตูของฮอยลุนด์ และการประสานงานแบบไม่แน่ใจว่าตั้งใจจะประสานงานไหมจากหัวหอกชาวเดนมาร์กให้ มาร์คัส แรชฟอร์ด ยิงประตูแรกในโอลด์แทรฟฟอร์ดได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว เราได้เห็นเกมรับที่เหนียวแน่นพอประมาณ และความพยายามที่จะทำเกมรุกบุกใส่สเปอร์สอยู่บ้าง

 

แต่ในภาพรวมแล้วทีมของ แอนจ์ ปอสเตโคกลู ทำได้ดีกว่า อาจจะไม่ชัดเจนในเรื่องของคุณภาพแต่อย่างน้อยในเรื่องของปริมาณซึ่งสะท้อนผ่านทางตัวเลขสถิติที่เราได้เห็น

 

 

โดยเฉพาะในเรื่องของสไตล์และแนวทางในการเล่นฟุตบอลของสเปอร์สที่ขาดแกนหลักไปร่วมครึ่งทีม (ซนฮึงมิน, เดยัน คูลูเซฟสกี, ปาเป ซาร์, เจมส์ แมดดิสัน,​ อีฟส์ บิสซูมา) เล่นได้น่าดูและเป็นเรื่องเป็นราวกว่าแมนฯ ยูไนเต็ดมาก

 

เรื่องนี้ถึงจะไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายหรือน่าประหลาดใจ เพราะมันก็เป็นสิ่งที่เราเห็นกันตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แต่มันก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจแทนแฟนแมนฯ ยูไนเต็ด

 

ปอสเตโคกลูใช้เวลาแค่ 7 เดือนในการเปลี่ยนแปลงสเปอร์สให้กลับมาเป็นทีมที่ดี

 

เทน ฮาก ผ่านมาแล้ว 18 เดือน แค่เรื่องพื้นฐานอย่างการแก้เพรสซิง กับรูปแบบการเข้าทำในเกมรุกยังไม่มีให้เห็นแม้แต่น้อย

 

แม้แต่สิ่งที่ควรจะเป็นแง่บวกที่เก็บเกี่ยวได้จากเกมนี้อย่างประตูจากฮอยลุนด์และแรชฟอร์ดก็ไม่ได้มาจากการเล่น Open Play ที่เป็นแบบแผน แต่เป็นจังหวะความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่แมนฯ ยูไนเต็ดพึ่งพาอาศัยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคของโอเล กุนนาร์​ โซลชา ผ่านมาถึง ราล์ฟ รังนิก และเทน ฮาก

 

แมนฯ​ ยูไนเต็ด เป็นทีมที่พึ่งพาอาศัยความหวังมากกว่าจะกำหนดโชคชะตาด้วยมือของพวกเขาเอง

 

มันแตกต่างจากปอสเตโคกลูที่ต่อให้เป็นผู้เล่นที่ไม่ใช่ตัวหลัก หรือผู้เล่นที่ย้ายเข้ามาใหม่อย่าง ติโม แวร์เนอร์ ต่างรู้ว่าตัวเองต้องเล่นอย่างไรในเกม

 

 

สเปอร์สมี ‘พิมพ์เขียว’ (Blueprint) ที่ชัดเจนตั้งแต่การเปิดเกมจากผู้รักษาประตู การหาวิธีแก้เพรส การเปลี่ยนจังหวะเกม (Transition) ไปจนถึงการแก้ทางเกมรับของคู่ต่อสู้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้พวกเขาทำให้เห็นมาตั้งแต่ช่วงของการพรีซีซัน

 

ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ทุกคนคาดหวังจากเทน ฮาก ก็คือสิ่งที่พวกเขาได้เห็นจากสเปอร์สของปอสเตโคกลู

 

และมันก็เป็นคำถามโลกแตกที่หาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมเขาไม่สามารถทำให้แมนฯ ยูไนเต็ด เล่นแบบมีสไตล์ได้เหมือนอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม?

 

บ้างก็บอกว่าก็นักเตะแมนฯ​ ยูไนเต็ด ไม่ได้ดีเหมือนอาแจ็กซ์

 

บ้างก็บอกว่ามีปัญหาตัวผู้เล่นบาดเจ็บเยอะเกินไป โดยเฉพาะ ลิซานโดร มาร์ติเนซ ที่เจ็บตั้งแต่ต้นฤดูกาล

 

แต่สเปอร์สนั้นปอสเตโคกลูเองก็รับมรดกตกทอดส่วนใหญ่จากฤดูกาลที่แล้วเหมือนกัน อาจจะมีเติมนักเตะใหม่เข้ามาบ้างแต่ไม่ได้ถึงขนาดเปลี่ยนแปลงทีมอย่างสิ้นเชิง

 

ส่วนตัวเจ็บอย่างที่บอกไว้ตอนต้นแล้วว่าสเปอร์สขาดผู้เล่นสำคัญเยอะกว่ายูไนเต็ดด้วยซ้ำในเกมนี้ และความจริงพวกเขาขาดคีย์แมนที่ทำให้ทีมเคยขึ้นนำจ่าฝูงในช่วงต้นฤดูกาลอย่าง เจมส์ แมดดิสัน มาหลายเดือน ก่อนที่คนอื่นๆ จะสลับผลัดกันเจ็บไปเรื่อย

 

แต่ทีมจากลอนดอนที่เคยเป็นทีมที่ไม่เป็นโล้เป็นพายนักแม้กระทั่งในยุคของ อันโตนิโอ คอนเต กลับยังรักษามาตรฐานการเล่นเอาไว้ได้ดีพอสมควร

 

 

หลักใหญ่ใจความคือการที่ปอสเตโคกลูมีแนวทางการทำทีมที่ชัดเจนและได้ส่งต่อ ‘ไอเดีย’ ของเขาให้นักเตะทุกคนในทีมได้รู้ ว่านับจากวันที่เขาเข้ามาสเปอร์สจะเป็นทีมที่เล่นฟุตบอลแบบไหน เล่นด้วยความรู้สึกไหน และอยากเห็นทีมไปถึงจุดไหน

 

ก่อนที่จะใช้ทักษะในการถ่ายทอดลงไปในรายละเอียดการฝึกซ้อม ซึ่งเป็นที่จับตามองกันตั้งแต่ช่วงพรีซีซันที่แฟนๆ ตื่นเต้นกับการเห็นวิงแบ็กอย่างอูโดกี และ เปโดร ปอร์โร หุบเข้ามายืนตรงกลางสนาม ขณะที่การผ่านบอลขึ้นหน้าก็ใช้จินตนาการนำทาง และเน้นการออกบอลที่เฉียบคม

 

เล่นแบบนี้เหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย

 

ปอสเตโคกลูยังยึดมั่นในสไตล์ของเขาอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าจะเริ่มถูกจับทางได้บ้าง ถูกคู่แข่งหาทางเล่นงานได้บ้าง ไปจนถึงในวันดวงแตกที่ต้องเหลือผู้เล่นแค่ 9 คนในการเจอกับเชลซี ก็ยังยืนหยัดจะต่อสู้ด้วยวิธีการในแบบของตัวเอง

 

วันนั้นสเปอร์สอาจจะแพ้ 4-1 แต่ปอสเตโคกลูมองว่านี่แหละคือวันที่ทุกคนในทีมได้ข้อความเดียวกันว่าเราจะยึดมั่นใน ‘หลักการ’

 

มันชวนย้อนกลับไปคิดถึงในฤดูกาลที่แล้วซึ่งเทน ฮาก ที่กำลังไฟแรงแต่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากเพราะแมนฯ ยูไนเต็ด แพ้หมดรูปใน 2 นัดแรกของฤดูกาลต่อไบรท์ตันและเบรนท์ฟอร์ด

 

 

สุดท้ายเทน ฮาก เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงหลักการของตัวเองด้วยการให้ทีมหันมาเล่นบอลยาว ‘Run and Gun’ หวังใช้ความสามารถเฉพาะตัวของแรชฟอร์ด หรือ บรูโน แฟร์นันด์ส คว้าชัยชนะให้กับทีม ซึ่งก็ทำได้สำเร็จด้วยการล้มลิเวอร์พูล 2-1 เสียงกู่ร้องกึกก้องโรงละครแห่งความฝัน

 

แต่นับจากนั้นแมนฯ​ ยูไนเต็ดไม่เคยกลับมาเล่นในแบบที่เทน ฮากอยากเห็นหรืออยากให้เป็นอีกเลย ทั้งๆ ที่เวลาก็ผ่านมาเนิ่นนานมิใช่น้อย

 

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ตอนนี้เชื่อว่าได้เกิดคำถามในหัวของแรตคลิฟฟ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising