×

ครม. อนุมัติ 6.6 หมื่นล้าน สร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ‘บ้านไผ่-นครพนม’ เริ่มสร้างปี 2564

โดย THE STANDARD TEAM
28.05.2019
  • LOADING...

วันนี้ (28 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม วงเงิน 66,848.323 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบประมาณ 2561-2568) โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e- bidding)

สำหรับโครงการนี้เป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่จำนวน 2 ทาง ความกว้างของรางขนาด 1 เมตร ระยะทางประมาณ 355 กิโลเมตร มีสถานีใหม่ 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองเก็บตู้สินค้า 3 แห่ง ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 70 ตำบล 19 อำเภอ 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ยโสธร, มุกดาหาร และนครพนม

 

คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนมกราคม 2564 จะเปิดให้บริการได้ในเดือนมกราคม 2568 และจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟช่วงชุมทางจิระ – ขอนแก่น, ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ, ศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนมที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และโครงการรถไฟช่วงแม่สอด – ตาก – กำแพงเพชร – นครสวรรค์ – บ้านไผ่ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบโครงการ

 

นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการเชื่อมโยงจากท่าเรือย่างกุ้งและท่าเรือมะละแหม่งในประเทศเมียนมา ไปยังท่าเรือดานังและท่าเรือไฮฟองในประเทศเวียดนาม และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนได้ด้วย คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 3,835,260 คนในปี 2569 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.37% ต่อปี และมีปริมาณการขนส่งสินค้า 748,453 ตันในปี 2569 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.19% ต่อปี โครงการนี้จะมีผลตอบแทนทางการเงินที่ 0.42% และผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ที่ 13.49%

                  

ในส่วนของแหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการนั้น กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณมีความเห็นสอดคล้องกันว่าให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณประจำปีให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นค่าที่ปรึกษาสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืน ค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ และค่าจ้างที่ปรึกษาประกวดราคา วงเงินรวม 10,255.33 ล้านบาท สำหรับค่าก่อสร้าง จำนวน 55,462 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 1,131 ล้านบาท (รวมเป็นเงิน 56,543 ล้านบาท) ให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้จากแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม และให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกู้ต่อ โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญในการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ตามความเหมาะสมและจำเป็นต่อไป และให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นงบชำระหนี้ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อใช้ชำระหนี้คืนแก่แหล่งเงินโดยตรงทั้งในส่วนของเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการและอนุมัติให้กู้เงินแล้ว ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเสนอความต้องการกู้เงินเพื่อบรรจุโครงการเงินกู้ไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising