×

พิภพ อุดร กับภารกิจเปลี่ยนคณะบัญชี ธรรมศาสตร์ ให้เป็นเรือใบยุค 5G [PR NEWS]

โดย THE STANDARD TEAM
30.05.2019
  • LOADING...

โลกสมัยใหม่ที่เราพูดมาทั้งหมด ลักษณะร่วมของมันคือความหลากหลาย เราต้องยอมรับก่อนว่าคนที่เข้ามหาวิทยาลัยมานั้นต่างกันหมด แล้วเราไม่ต้องการที่จะลดความหลากหลายที่ทำให้ทุกคนออกไปแล้วเหมือนกัน เราต้องการรักษาหรือเพิ่มความหลากหลายด้วยซ้ำไป

 

ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของโลก ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของประชากร ความกังวลกับอนาคตที่ไม่แน่นอน สารพัดสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกประเทศ ทุกหน่วยงานต่างพากันปรับตัว ยกระดับองค์กรเพื่อให้สามารถขึ้นไปอยู่เหนือคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ และหน่วยงานสำคัญที่ผลิตบุคลากรให้กับประเทศมายาวนานกว่า 80 ปีอย่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่นี้อย่างไร


รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้บริหาร ในฐานะอาจารย์ และในฐานะคนไทยคนหนึ่ง จะมาฉายภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ และการปรับตัวของสถาบันการศึกษาให้กลายเป็นหน่วยงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งภารกิจนี้ไม่ใช่งานง่าย และเดิมพันที่มีก็พลาดไม่ได้เช่นกัน กับการ ‘เปลี่ยน’ สถาบันเก่าแก่แห่งนี้ให้ทันสมัย ก้าวทันโลก ตั้งแต่วิธีคิด วิธีทำงาน วิธีการสอน วิธีการวัดผล เพื่อให้ได้ลูกศิษย์ที่เก่งและหลากหลายพอที่จะออกไปเผชิญโลกธุรกิจที่มีแต่ความไม่แน่นอน เชื่อเถอะว่าถึงแม้เรื่องภายในคณะจะไม่เกี่ยวอะไรกับคุณเลยก็ตาม แต่เลกเชอร์นอกห้องเรียนของอาจารย์นั้นเป็นประโยชน์กับทุกคนในยุคนี้อย่างแน่นอน

 

Thammasat Business School

 

เราต้องมองภาพกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร เพราะทุกอย่างตอนนี้ดูเหมือนจะวุ่นวายไปหมด

คือถ้าเราจะมองการเปลี่ยนแปลง เราต้องมองไปถึงการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลกจะมีอยู่ 3-4 เทรนด์ใหญ่ๆ ด้วยกัน เทรนด์แรกก็คือการเปลี่ยนแปลงเชิงประชากร อัตราการเกิดน้อย อัตราการตายน้อยกว่า รูปทรงของพีระมิดประชากรมันก็กลับด้าน แปลว่าภาระในการดูแลผู้สูงวัยจะมากขึ้น คือเทคโนโลยีทางการแพทย์นั้นก้าวหน้าไปมาก ก็เลยทำให้คนเราไม่แก่ ถึงแม้ว่าอายุเยอะขึ้นก็ไม่แก่ มีงานวิจัยบอกว่าคนที่เกิดหลังปี 2007 มีแนวโน้มว่าประมาณครึ่งหนึ่งจะอยู่ถึงอายุ 100 ปี จึงเริ่มมีการกำหนดว่าผู้สูงวัยหรือคนแก่จะนับที่อายุ 80 ปี แต่เดิมคือ 60 ปี ดังนั้นการเกษียณอายุก็อาจจะอยู่ที่ 75-80 ปี แล้วถ้าเราเกิดมีอายุยืนถึง 100 ปี อายุ 60 ปีเราก็เกษียณไม่ได้นะ ไม่อย่างนั้นเราจะไปทำอะไร มีเวลาตั้ง 40 ปี แล้วอีกประการหนึ่งคือถ้าจะให้เรียนถึงอายุประมาณ 25 ปีเพื่อจะมาทำงานใช้ชีวิตไปอีกตั้ง 40-50 ปีก็เป็นไปไม่ได้อีก เพราะฉะนั้นโลกของการเรียนรู้มันจึงเปลี่ยน

“คนจะถูกจำกัดเรื่องการเรียนรู้ด้วยเรื่องเดียวคืออยากหรือไม่อยาก มันกลับไปที่ตัวเขาแล้วว่าเขาอยากเรียนเรื่องนี้ไหม ถ้าเขาอยากเรียน เขาต้องได้เรียน”

แนวทางการเรียนรู้ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

หนึ่ง มันไม่ใช่การเรียนรู้ครั้งเดียวอีกต่อไปแล้ว มันจะเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เราอาจจะมองได้ว่าคนเรียนรู้ครั้งแรกแล้วออกไปทำงานสักพักหนึ่ง สัก 20-30 ปีก็ต้องกลับมาเรียนรู้ใหม่ ภาษาอังกฤษเขาเรียก Reskill สองคือ Upskill เป็นการฝึกให้ทำสิ่งที่เป็นอยู่แล้วให้เก่งขึ้น ลึกขึ้น แปลว่ารูปแบบของการเรียนรู้มันจะเปลี่ยนแน่ๆ เพราะว่าเราไม่สามารถให้สถาบันการศึกษาสอนคนแล้วออกไปทำงานยาวนาน 40-50 ปี ซึ่งก็คือเทรนด์ที่หนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องประชากรหรือ Demographic

 

ถัดมาก็คือปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่ทำให้กำแพงในการเรียนรู้ 5 อย่างใหญ่ๆ สูญสลายไป ได้แก่ เวลา ที่ไม่ต้องกำหนดตายตัวว่าต้องเรียนตอนไหน เวลาไหน, พื้นที่ แต่เดิมที่นั่งมีจำกัด ตอนนี้มันถูกทลายไปแล้วด้วยดิจิทัล ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องมานั่งเรียนที่นี่เท่านั้น คุณอยู่ที่ไหนในโลกก็เรียนได้, ค่าเล่าเรียนที่มีต้นทุนถูกลง เพราะเราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย, ภาษา แต่เดิมการเรียนถูกจำกัดด้วยภาษา คุณต้องเรียนด้วยภาษานั้นภาษานี้ เทคโนโลยีก็สามารถทำให้กำแพงทางภาษาหายไปได้

 

และสุดท้ายคือวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างในแต่ละประเทศ ในแต่ละพื้นที่ ก็ไม่มีความหมายอีกต่อไปแล้วในตอนนี้ ผมคิดว่า 5 กำแพงใหญ่ทางการศึกษาเหล่านี้จะหายหมด คนจะถูกจำกัดเรื่องการเรียนรู้ด้วยเรื่องเดียวคืออยากหรือไม่อยาก มันกลับไปที่ตัวเขาแล้วว่าเขาอยากเรียนเรื่องนี้ไหม ถ้าเขาอยากเรียน เขาต้องได้เรียน

 

Thammasat Business School

 

แล้วโลกของการจ้างงานจะเป็นอย่างไร

การจ้างงานก็จะเปลี่ยนไปอีกเหมือนกัน มันจะไม่ขึ้นอยู่กับว่าคุณจบอะไรมา จบที่ไหนมาก็ไม่เกี่ยว ปัจจุบันเรายังมีการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยทั้งโดยรวม ทั้งแยกด้าน ซึ่งการจัดอันดับพวกนี้ไม่มีวันเท่ากัน พอเปลี่ยนคนจัด อันดับมันก็เปลี่ยน ดังนั้นจริงๆ แล้วเรียนอะไรมาก็ไม่มีความหมาย จบจากที่ไหนมาก็ไม่มีความหมาย มีความหมายอย่างเดียวคือทำอะไรเป็น แล้วก็ไม่ใช่เรื่องความรู้ แต่เป็นเรื่องทักษะ

 

ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องสอนก็คือทักษะ ไม่ใช่สอนความรู้ ความรู้มันหาได้ไม่ยาก แต่การขยับขึ้นมาว่าสามารถเอาความรู้ไปทำอะไรได้บ้าง อันนั้นเป็นทักษะ อย่างทักษะในการทำงาน ทักษะในการสื่อสาร ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องฝึก ยิ่งทำซ้ำยิ่งเกิดความเชี่ยวชาญ เพราะฉะนั้นทักษะไม่เหมือนความรู้ ความรู้คือเรียน แล้วก็รู้ แล้วก็ลืม แล้วก็เรียนใหม่ แต่ทักษะถ้าไม่ทำซ้ำๆ ก็จะไม่เชี่ยวชาญ การทำให้คนมีทักษะที่ดีพร้อมสำหรับทำงานจึงเป็นการฝึกเขา

 

มหาวิทยาลัยจึงเปลี่ยนสถานะจากสถานที่ให้ความรู้เป็นที่ฝึกฝนทักษะ แล้วถ้าจะสามารถฝึกฝนทักษะได้ก็ต้องไม่ไปเน้นที่บทเรียน ไม่ได้เน้นที่แบบฝึกหัด แต่เน้นโจทย์ เน้นวิธีการทำงาน เน้นการให้คำปรึกษา เน้นการกำกับดูแล แปลว่าบทบาทอาจารย์เปลี่ยนไป วิธีการเรียนของนักศึกษาก็เปลี่ยนไป ถ้าคุณจะให้เขาทำซ้ำ มีวิธีเดียวคือต้องคิดโจทย์ให้เขาทดลองทำ ให้เขาเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก ภาษาอังกฤษเรียกว่า Trial & Error หรือ Experiential Learning พอได้เรียนรู้จากการลงมือทำมันก็จำได้โดยอัตโนมัติ

 

Thammasat Business School

 

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ก็ต้องเปลี่ยนตั้งแต่บทบาทของอาจารย์ในการเรียนการสอนเลยใช่หรือไม่

ใช่แล้ว คือหน้าที่ของอาจารย์จะเปลี่ยนไป อาจารย์จะต้องคิดโจทย์ ต้องทำให้เด็กได้เรียนรู้ ต้องออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ กำกับดูแล ให้คำปรึกษา แล้วเราเริ่มทำเรื่องพวกนี้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาได้พักใหญ่แล้ว สมัยที่ผมเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สิ่งที่ทำคือเรายกเครื่องวิชาพื้นฐานหรือ General Education จากเดิมก็คือภาษาไทย สังคม วิทยาศาสตร์ ตอนนี้หายหมดแล้ว เปลี่ยนมาเรียน Social Life Skills เรียนเรื่องความงาม เรียนเรื่องประเทศไทย อาเซียน และโลก เรียนเพื่อเข้าใจประเทศ เข้าใจภูมิภาค เข้าใจโลก หมายความว่าทำอย่างไรให้คนเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตแล้วประสบความสำเร็จในการทำงาน นี่คือสิ่งที่เราทำในระดับหนึ่ง

 

แล้วผู้เรียนแต่ละคนมีพื้นฐานติดตัวมาไม่เท่ากัน ความสนใจไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนย่อมต้องมีจุดแข็งของตัวเองเสมอ เราไม่ต้องการทำการศึกษาที่ครอบทุกคนแล้วออกมาเหมือนกันหมด เมื่อก่อนมหาวิทยาลัยทำหน้าที่นั้นเป๊ะเลย แต่ตอนนี้สิ่งแรกที่มหาวิทยาลัยทำก็คือเราต้องรู้จักคุณ เราต้องทดสอบความสามารถ แล้วเราก็ออกแบบหลักสูตรให้เติมเต็มความสามารถที่คุณอยากมี แต่คุณขาด เราแยกความสามารถได้เป็นหลายขั้น ความสามารถแรกคือความรู้ ถัดมาคือทักษะ ขั้นบนสุดเลยคือเรื่องแรงจูงใจ การจะทำให้เรารู้สึก การมองโลก มองสังคมอย่างไร มองตัวเองอย่างไร คิดต่อตัวเองอย่างไร มีความมุ่งหวังหรือความฝันที่อยากจะทำอะไร

 

ผมคิดว่าโลกในอนาคต ทุกคนเข้ามหาวิทยาลัยแล้วจะจบด้วยปริญญาที่ตัวเองเป็นคนออกแบบ จะเรียกปริญญาอะไรก็ได้ แต่ที่สำคัญคือคุณทำอะไรอย่างที่คุณอยากจะทำเป็นหรือเปล่า ถ้าทำเป็นคุณก็จบ เราก็วัดผลตามนั้น ทุกคนไม่จำเป็นต้องเรียนเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเท่ากัน ถ้าคุณเข้ามารุ่นเดียวกับใครก็ตาม คุณอาจจะเจอเขาบ้างในบางวิชา หรืออาจจะไม่เจอกันเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณสนใจอะไร สิ่งที่เราพยายามทำก็คือต้องเปิดทางเลือก โลกสมัยใหม่ที่เราพูดมาทั้งหมด ลักษณะร่วมของมันคือความหลากหลาย เราต้องยอมรับก่อนว่าคนที่เข้ามหาวิทยาลัยมามันต่างกันหมด แล้วเราไม่ต้องการที่จะลดความหลากหลายที่ทำให้ทุกคนออกไปแล้วเหมือนกัน เราต้องการรักษาหรือเพิ่มความหลากหลายด้วยซ้ำไป

“เราอย่าประนีประนอม เราไม่ต้องการสร้างคนกลางๆ ที่ไม่แย่ แต่ก็ไม่โดดเด่น ผมคิดว่าคนกลางๆ เป็นอาชญากรรมทางการศึกษา เราเอาคนมารวมกัน เก่งกับไม่เก่งปนๆ กัน แล้วผลิตออกมาเป็นคนกลางๆ เราไม่ต้องการอย่างนั้น”

เมื่อคณะมีแนวคิดแบบนี้แล้วจะต้องทำการเรียนการสอนอย่างไร  

แนวทางการเรียนการสอนแบบได้ทำจริงมันก็ต้องมีโจทย์จริงๆ มีผู้ได้รับประโยชน์จากการแก้โจทย์ ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน จะมีอะไรดีไปกว่าการเรียนรู้โดยเอาโจทย์ของประชาชนให้นักศึกษานำไปแก้

 

เราเป็นคณะที่ศึกษาด้านธุรกิจ ปัญหาธุรกิจชุมชนทั่วประเทศเหมือนกันหมดคือสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่มีแบรนด์ ไม่มีช่องทางการตลาด ไม่รู้ต้นทุน ตั้งราคาไม่เป็น ไม่สามารถขายออนไลน์ได้ ของพวกนี้ทั้งหมดคือเรื่องที่เราสอนเด็กอยู่แล้ว เราเอาโจทย์พวกนี้มา ไปคุยกับชุมชน แล้วให้นักศึกษาแก้โจทย์ภายในหนึ่งเทอม เราไม่ได้ให้ไปทำแค่แผนธุรกิจนะ แต่นักศึกษาต้องดำเนินการวางแผน วัดด้วยยอดขายและกำไรที่เปลี่ยนแปลง ต้องงอกเงยแบบมีนัยสำคัญด้วย จะมาเพิ่ม 10-20% มันไม่พอ ต้องเพิ่มเป็นหลายร้อย เพิ่มเป็นพันเปอร์เซ็นต์

 

อย่างที่สองคือมันยั่งยืนไหม คุณเรียนจบได้เกรดมา ถามว่าแล้วชุมชนเดินต่อได้ไหม ที่สำคัญคือผลิตภัณฑ์ที่ไปช่วยพัฒนามันตั้งอยู่บนพื้นฐานภูมิปัญญาของชุมชนไหม ถ้าคุณไปให้เขาทำของที่เขาไม่สนใจ ไม่เก่ง ทำไปเขาก็เลิก ที่สำคัญเรามีพาร์ตเนอร์ที่เป็นองค์กรอย่างธนาคารออมสิน ซึ่งมีฐานลูกค้าเป็นธุรกิจชุมชนทั่วประเทศ อีกกลุ่มหนึ่งคือสมาคมเพื่อนชุมชนที่ตั้งอยู่ที่ระยอง เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรใหญ่ 5 แห่ง และภายหลังมีสมาชิกสมทบเพิ่มประมาณ 11 บริษัท ที่ผ่านมาเขาก็แค่รับซื้อผลผลิตจากชุมชน มันก็ไปต่อไม่ได้ แต่พอเราลงไปทำงาน ชุมชนก็เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ยั่งยืน ยอดขายของเขากว่าครึ่งมาจากนอกพื้นที่

 

พอเราทำร่วมกับธนาคารออมสิน 2-3 ปี ธนาคารออมสินก็เอาแนวคิดนี้ไปขยายผลกับมหาวิทยาลัยอื่นอีก 10 แห่งทั่วประเทศ เราก็เลยเอางานของเราไปส่งประกวดที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาการจัดการแห่งยุโรป (European Foundation for Management Development – EFMD) ก็ได้รางวัล Silver Award ด้านการพัฒนา Learning Ecosystems ซึ่งในประเทศไทยยังไม่เคยมีใครได้เลย เพราะเราเข้าไปสร้างระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ โดยมี 3 ฝ่ายหลักๆ ได้แก่ ธรรมศาสตร์ องค์กร และชุมชน ทั้ง 3 ส่วนร่วมมือกันสร้างระบบการเรียนรู้จากการลงมือทำ โดยมีผลลัพธ์ทำให้ธุรกิจชุมชนเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

 

Thammasat Business School

 

เมื่อใช้วิธีการเรียนการสอนแบบนี้ เด็กได้ฝึกอะไรบ้าง

ถ้าเราเอาเด็กไปลงชุมชน ปัญหาที่เกิดขึ้นมันมาเป็นร้อยแปดอย่าง มันคุมไม่ได้ ไม่เหมือนในห้องเรียน คุณเจอกับผู้ใหญ่บ้าน เจอกับสมาชิกชุมชน คุณจะปรับภาษาที่ใช้อย่างไรเพื่อสื่อสารกับเขา คุณจะทำเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับเขาได้อย่างไร คุณจะกระตุ้นผลักดันเขาอย่างไรให้เดินไปตามแนวทางที่คุณวางไว้ ประเด็นสำคัญคือคุณยังไม่จบปริญญาตรี ทำอย่างไรชุมชนถึงจะเชื่อคุณ และทำอย่างไรให้เขาเดินต่อได้ มีปัญหาสารพัดในแทบทุกด้าน ทั้งคน ทรัพยากร และเวลา มีข้อจำกัดมากมายที่เป็นของจริง นี่คือสิ่งที่ยากกว่าการเรียนในห้องเรียน

 

ทักษะที่นักศึกษาจะได้คือการบริหารโครงการ เราไม่สนใจรายงาน แต่เราสนใจผลลัพธ์ เราให้นักศึกษาทำคลิปสรุป 3 นาที ให้เขียนบทความเล่าเรื่องทั้งหมด ส่งเป็นไฟล์ PDF ไม่ต้องปรินต์ให้เปลืองทรัพยากร แล้วเราให้ชุมชนประเมิน ชุมชนก็น้ำหูน้ำตาไหล ซึ้งใจ เพราะเขาบอกว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่ผ่านมาก็มาเรียนรู้ปัญหาของชุมชนแล้วก็ไป แต่ของเราคือลงไปแก้ เด็กๆ เขาก็ทุ่มเทเต็มที่ไปกับคนในชุมชน เขาผูกพันกับชุมชนแม้ว่าเรียนจบไปแล้ว มันกลายเป็นธรรมเนียมของคณะไปเลยว่านักศึกษาจะได้ทำโปรเจกต์ลงชุมชน เด็กๆ ก็ตั้งตารอ เพราะเขาอยากจะไปพิสูจน์ฝีมือ คือเรามองว่าเด็กเหมือนกระท้อน ต้องทุบถึงจะหวาน เราอย่าเป็นคนง่ายๆ ส่งงานมาแล้วบอกว่าดีๆ ใช้ได้ๆ แบบนั้นไม่ได้ แต่เราต้องท้าทายเขาไปอีก แบบนี้ก็ดี แต่ได้แค่ C นะ เด็กที่ไหนจะไปยอม ไปแก้มาอีก พองานสุดท้ายก็เปลี่ยนไป คือดีขึ้นมาก เด็กเขาก็พูดเองเลยว่าถ้าอาจารย์ไม่ผลักดันขนาดนั้น พวกเราก็คงไม่มาถึงขนาดนี้

 

ผมคิดว่าเราอย่าประนีประนอม เราไม่ต้องการสร้างคนกลางๆ ที่ไม่แย่ แต่ก็ไม่โดดเด่น ผมคิดว่าคนกลางๆ เป็นอาชญากรรมทางการศึกษา เราเอาคนมารวมกัน เก่งกับไม่เก่งปนๆ กัน แล้วผลิตออกมาเป็นคนกลางๆ เราไม่ต้องการอย่างนั้น เราต้องการให้ทุกคนเก่ง แต่เก่งไม่เหมือนกัน แล้วทำงานเป็นทีม มีเป้าหมายชัด แต่วิธีการคือยืดหยุ่น นี่คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เป้าหมายชัด กฎกติกาน้อย

 

ในเมื่อการเรียนรู้ไม่มีขอบเขต การทำงานต้องใช้หลายๆ ศาสตร์ ต่อไปคณะในมหาวิทยาลัยยังจำเป็นต้องมีไหม

ไม่จำเป็น เพราะความรู้ต้องข้ามศาสตร์ ข้ามสาขา มหาวิทยาลัยในไทยเปิดสาขาใหม่ ตั้งคณะใหม่ตลอดเวลา จะสอนเรื่องใหม่ก็ตั้งสาขาใหม่ อย่างต่างประเทศเขาไม่ค่อยเปิดคณะใหม่ บางมหาวิทยาลัยเขามีอยู่ 7 คณะ ถ้าอยากตั้งสาขาใหม่ให้อยู่ภายใต้ 7 คณะนี้ คือจริงๆ แล้วคณะมันเป็นโครงสร้างเพื่อให้คนมารวมตัวกัน แต่ศาสตร์ความรู้มันควรเปิดออกหมด สมมติเด็กเราไปทำโครงการขายน้ำพริก สิ่งสำคัญคือต้องยืดอายุน้ำพริกให้ได้ เพราะถ้าอยู่ได้แค่ 7 วันมันจะไปขายใครได้ แล้วทำอย่างไรถึงจะอยู่ได้ 2-3 เดือน คือคณะเราไม่ได้สอนเรื่องพวกนี้ แต่เด็กเขาสามารถไปหาวิธีเองจากผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น การสอนเป็น Project-based เด็กจะมีความรู้หลากหลายสาขามาก เพราะฉะนั้นเอาเข้าจริงการมีคณะเยอะๆ ไม่ดี เพราะการมีคณะก็จะเป็นการขีดเส้นแบ่ง ศาสตร์ทั้งหลายในโลกมันต้องหลอมรวมกัน แต่บ้านเราถนัดสร้างเส้นแบ่ง ไม่ถนัดลบเส้นแบ่ง ซึ่งจริงๆ มันก็เป็นทั้งประเทศนั่นแหละ เวลาจะทำอะไรทีก็ตั้งหน่วยงานใหม่ที

 

Thammasat Business School

 

อยากให้อาจารย์ช่วยวิเคราะห์ถึงศักยภาพของประเทศไทยว่าเราจะไปต่อกันอย่างไรในอนาคตอันไม่แน่นอนนี้

ประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจ ความแตกต่างคือ หนึ่ง เราเงินน้อยกว่า สอง คนน้อยกว่า เราจึงต้องทำอะไรอย่างมีกลยุทธ์ ประเทศที่ใหญ่ คนเยอะ เงินเยอะ เขาก็สามารถสร้างนวัตกรรมที่มันเจาะลึก เมื่อสำเร็จเขาก็ขยายผลไปได้ไกล ตลาดเขาใหญ่ ผมมองว่าบ้านเราควรลงทุนกับ Applied Science ในสัดส่วนที่มากกว่า Natural Science ในเมื่อเรามีเงินน้อย เราก็ต้องเอาเงินไปลงกับสิ่งที่คุ้มค่า เราไปเอาเทคโนโลยีที่เขาคิดค้นมาแล้ว เราไปเอาโปรแกรมที่เขาคิดมาแล้วมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในตลาดโลกดีกว่า คือความสามารถเราสู้เขาได้ แต่เราต้องไปอย่างมีกลยุทธ์ เราต้องเลือก เราต้องไม่เป็นทุกอย่างสำหรับทุกคน

 

ประเทศไทยมีจุดแข็งคือ หนึ่ง ทำเลใจกลางเมือง สอง ความหลากหลายทางชีวภาพเราดีมาก อาหารและพืชพันธุ์ของเราดีหมด สาม คนไทยมีความสามารถในการเรียนรู้ไม่ต่างจากที่อื่นนะ แต่คนไทยติดสบายหน่อยๆ เรามีความกดดันน้อย เรามีความสุขง่าย ไม่ดิ้นรนมาก ไม่ตั้งความหวังมาก

 

สิ่งที่เราควรทำคือต่อยอดด้านอาหาร ด้านวัฒนธรรม อะไรที่เป็นจุดแข็งของเรา เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเราเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวอาเซียนได้ แต่เราต้องเป็นจุดเชื่อมโยงนะ ไม่ใช่แค่มุ่งให้เขามาที่เราเท่านั้น เราต้องทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารของเราไปทั่วโลกให้ได้ เราต้องทำให้คนคิดว่าก่อนตายต้องกินข้าวหอมมะลิพันธุ์สุดยอดของไทยสักครั้งให้ได้ นี่คือสิ่งที่เราทำได้ ถ้าเราทำได้ ประเทศไทยก็จะมั่งคั่งอย่างมโหฬาร เราไม่ต้องอยากไปเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย หรือไปเป็นเมืองแฟชั่น เราไปไม่ได้ แต่ถามว่าเราเป็นครัวของโลกได้ไหม เป็นได้นะ ไม่ใช่ว่าคุณต้องมาที่ครัว แต่เราจะส่งผลผลิตจากครัวไปที่คุณ ไทยต้องตั้งกลยุทธ์ให้ชัด แล้วสร้างคนเพื่อรองรับ แต่ปัจจุบันเรายังไม่ไปไหน แล้วเราก็ไม่อดตายหรอก เพราะประเทศเราอุดมสมบูรณ์ แต่อย่างที่รู้ก็คือเมื่อแรงกดดันน้อย แรงขับมันก็น้อย การไม่มีกลยุทธ์ทำให้เราสะเปะสะปะไร้ทิศทาง

 

 

สมัยก่อนเรามีจุฬาฯ สร้างข้าราชการ เรามีธรรมศาสตร์สร้างผู้นำภาคสังคมและการเมือง  เรามีมหิดลทำเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข เรามีเกษตรศาสตร์ทำเรื่องการเกษตร เรามีหอการค้าไทยทำเรื่องค้าขาย มาถึงวันนี้ทุกที่ทำเหมือนกันหมด ผมว่ามันเป็นตัวอย่างของการผิดทิศผิดทาง ใครทำอะไรเราก็ทำหมด รัฐมีเงินจำกัด ควรทุ่มเงินไปแต่ละที่ที่มีความชำนาญ ไม่ใช่กระจายเป็นเบี้ยหัวแตก เมื่อก่อนมหาวิทยาลัยอยากเปิดสาขาใหม่ คิดแค่ว่าเปิดไปเถอะ เดี๋ยวคนมาเรียนก็มีงานทำ แต่เดี๋ยวนี้เรายังไม่รู้เลยว่างานในอนาคตคืองานอะไร อาจารย์จำนวนมากอยากสอนแบบเดิม เพราะเหนื่อยน้อยกว่าการสอนแบบลงพื้นที่ ทำเคสจริงมันเหนื่อยกว่า มันต้องเตรียมตัวใหม่ทุกปี คุณต้องออกไปหาประสบการณ์เหมือนกับเด็ก แต่มันไม่ใช่วิถีของอาจารย์สมัยก่อน เราจึงต้องค่อยๆ เปลี่ยนทีละส่วน

 

จบบทสนทนาสุดท้ายนี้แล้วทำให้เราตระหนักได้ว่าความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน คำกล่าวที่เหมือนจะกำปั้นทุบดิน แต่ก็เป็นสัจธรรมที่เราต่างรู้กันดี การเปลี่ยนแปลงมีได้ทั้งสองทางคือพัฒนาและถดถอย จะเปลี่ยนตั้งแต่ตอนที่ยังมีทางเลือก หรือจะปล่อยไปจนถึงจุดที่โดนบังคับให้เปลี่ยน นี่คือสิ่งที่ต้องตระหนัก การเริ่มต้นทำในสิ่งที่ยากก็เหมือนการบังคับให้ทุกคนกินยาขม อาหารที่มีประโยชน์อาจจะรสชาติไม่อร่อย แต่ดีต่อสุขภาพ การทำในสิ่งที่ยากย่อมให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรง สถาบันการศึกษาก็เปรียบเสมือนภาพจำลองของประเทศและสังคม นักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่และอาจารย์ที่เป็นคนยุคเก่าต้องเปลี่ยนไปพร้อมๆ กัน เมื่อทุกภาคส่วนของสังคมสามารถยกระดับให้เท่าทันโลกได้ ประเทศของเราก็น่าจะยืนหยัดต่อไปได้อย่างมั่นคง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising